เปิดประวัติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล จากเซลล์บริษัทน้ำมัน สู่ ผบ.ตร. คนที่ 14

ภาพจาก มติชนออนไลน์

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ “บิ๊กต่อ” เกิด 27 มกราคม 2507 เป็นน้องชาย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ปฏิบัติภารกิจสำคัญในฐานะราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จบมัธยมโรงเรียนโยธินบูรณะ รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงห์แดงรุ่น 38 ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณทิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม

สำหรับเส้นทางการดำรงตำแหน่งในอดีต
1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 – ผู้บังคับการกองบังคับการถวายปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และ กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ ตามลำดับ)
1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 – รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2563 – ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
1 ตุลาคม พ.ศ. 2564 – ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
1 ตุลาคม พ.ศ. 2565 – รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

มีผลงานการพัฒนาบุคลากร จัดฝึกอบรม “แอคทีฟ ชูตเตอร์” ให้ความรู้ตำรวจทั้งสายงานปราบปราม-หน่วยปฏิบัติการพิเศษเกี่ยวกับการเข้าระงับเหตุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรับมือเหตุเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเหตุกราดยิง ควบคู่กับการต่อยอดความรู้ไปยังสถานศึกษา

ผู้จุดประกายนำ “ปืนช็อตไฟฟ้า” ลดความสูญเสียของผู้ปฏิบัติ กระทั่งการได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานแก้ปัญหาปืนหลวง ปัดฝุ่นระเบียบปืนสวัสดิการ นำคิวอาร์โค้ดมาใช้ตรวจสอบและติดตามแก้ปัญหาลอบนำปืนหลวงออกไปขาย

ได้รับฉายา “มือปราบสายธรรมะ” และ “โรโบคอปสายบุญ”

“มติชนออนไลน์” เคยสัมภาษณ์พิเศษเมื่อปี 2561 ถึงด้านหนึ่งของชีวิต พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ที่สะท้อนถึง ฉายามือปราบสายธรรมะ

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  เล่าว่า อยากเป็นตำรวจตั้งแต่เด็ก ผ่านโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน บ่อยๆ เห็นพี่ ๆ ใส่เครื่องแบบตำรวจ อยากจะเป็นแบบเขาบ้าง แต่ชีวิตพลิกผันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ไม่ได้เข้าโรงเรียนเหล่า

เป็นหนุ่มสิงห์แดง รุ่นที่ 38 จบจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนจบออกมาชีวิตยิ่งออกห่างโลกของตำรวจ เข้าทำงานเป็นเซลล์ ในบริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ เงินเดือนตอนนั้นมากกว่าเงินเดือนข้าราชการตำรวจเท่าตัว มีรถยนต์ใช้ไปทำงาน

“จุดเริ่มต้นการทำงานตอนนั้นได้เรียนรู้การให้บริการ ความรู้ในเรื่องของ Products Knowledge (ความรู้ของนักขายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์) การอ่อนน้อมต่อผู้อื่น ทำงานที่บริษัทได้ประมาณ 7 ปี 6 เดือน ขณะนั้นได้เงินเดือนประมาณ 80,000 บาท รวมทุกอย่างเกือบ 100,000 บาท แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะใจของเราอยากเป็นตำรวจตั้งแต่ยังเด็ก ภาพพี่ๆ ตำรวจในโรงเรียนนายร้อย สวมเครื่องแบบเป็นภาพที่ฝังใจเรา จึงลาออกมาสานฝันให้สำเร็จ”

“ด้วยวาสนาและความประจวบเหมาะ มีการเปิดสอบตำรวจสายสอบสวน เราก็สอบติด จึงได้เข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร สายสอบสวน (กอต. )รุ่นที่ 4 จนได้สวมเครื่องแบบตำรวจอย่างที่ตั้งใจไว้ เมื่อศึกษาจบก็ได้เข้ารับตำแหน่งที่ตำรวจ 191 ในปี 2540 อยู่หน่วย 191 ปีกว่า ในปี 2543 ก็เข้าโรงเรียนสอบสวน เรียนจบสอบได้ที่ 3

กติกาคือเขาคัดเลือกคนที่ได้ที่ 1-2 มาอยู่กองปราบ แต่คนที่ได้ที่ 1 อยู่กองปราบอยู่แล้ว ส่วนที่ 2 ท่านเป็นครู เราจึงได้ย้ายอยู่ในสังกัดกองปราบปราม เป็นห้วหน้าชุดสืบ อยู่งานแผนก 3 กอง 2 รถวิทยุ อยู่ในสังกัดนี้มาประมาณ 18 ปี ออกไปเป็นสารวัตรที่ตำรวจท่องเที่ยวแค่ 1 ปี อยู่สถานี 3 กองกำกับการ 1 ดูแลรถวิทยุฝั่งธน แต่สุดท้ายก็ได้กลับมาเป็น ผบ.ร้อย 3 ที่คอมมานโดคุมภาคเหนือ”

“ผมเป็นสารวัตร 7 ปี ก็เริ่มถวายงานรักษาความปลอดภัยเป็นต้นมา จากนั้นขึ้นรองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ 2 ปี และรักษาการผู้กำกับการอีก 2 ปี จนกระทั่งครบ 4 ปี ก็ขึ้น ผกก.ปพ. และสุดท้ายก็ได้รับความไว้วางใจให้รับตำแหน่งรองผบก.ป.” รองต่อเล่าถึงเส้นทางชีวิตจากเซลล์หนุ่มสู่นายตำรวจใหญ่

“หากเราเป็นผู้นำที่ดีก็จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาซึมซาบพฤติกรรมนั้น นอกจากนี้ก็ยังทำให้ประชาชนเห็นถึงแง่มุมที่ดีของตำรวจ เสียงตำรวจเสียงเดียวมันไม่ดัง แต่เสียงของพี่น้องประชาชนดังเสมอ”

“ตำรวจก็เหมือนผ้าขาว ผ้าดี ในหน้าหนาวก็สามารถเป็นผ้าห่มที่อบอุ่นให้ประชาชนได้ หน้าร้อนก็เหมือนผ้าแพร กันแดดกันฝนให้กับประชาชนได้ แต่มันดันมีจุดหมึกที่มันเปื้อนเพียงแค่จุดเดียว แต่คนก็โฟกัสเพียงแค่จุดหมึกนั้นว่าแล้วก็บอกว่า ผ้านั้นมันสกปรกแต่ทำไมเราไม่มองผ้าทั้งผืนล่ะว่าผ้านั้นมันสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมันไม่ยุติธรรม แต่การที่จะทำให้จุดหมึกนั้นมันจางลง เราก็ต้องใส่ไฮเตอร์ เข้าไป ซึ่งเปรียบเสมือนในชีวิตจริงของคนเรานั้นคือการปฏิบัติธรรม” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เปรียบเปรย

และบอกว่า เสร็จจากภารกิจหรือยามว่างก็จะต้องปฏิบัติธรรม ไม่ใช่แค่ตนเอง ทีมงานน้องๆ จะต้องบวชอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อสร้างเสริมให้มีใจใฝ่ธรรมะยิ่งขึ้น

“ทุกความสำเร็จนั้นไม่ใช่เพราะเราเป็นคนทำทั้งหมด แต่เพราะองค์กรมันขับเคลื่อน ระบบการทำงานของตำรวจก็เหมือนเข็มนาฬิกา มีเข็มนาที เข็มวินาที ชั้นประทวนคือเฟือง ดังนั้นจึงสอนลูกน้องทุกคนว่าให้ดูลงไปถึงข้างล่าง เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มาก”

พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ถ่ายทอดแนวคิด แนวทำ แนวทาง สะท้อนให้เห็น เหตุและผลที่ทำให้วันนี้ นายตำรวจชื่อ “ต่อศักดิ์ สุขวิมล” ถูกพูดถึงและน่าจับตามากที่สุดคนหนึ่ง