คุยกับทูต | ฟาคริดิน ซุลตานอฟ จากดินแดนบนเส้นทางสายไหม อุซเบกิสถาน (1)

ประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลกไม่เพียงแต่ในด้านมรดกทางประวัติศาสตร์ของอารยธรรมอิสลามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงศาสนาอื่นๆ ด้วย เช่น ศาสนาคริสต์ ศาสนาพุทธ และศาสนายูดาห์ หรือศาสนายิว

หลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1991 ไทยประกาศรับรองอุซเบกิสถานในวันที่ 26 ธันวาคม 1991 และได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอุซเบกิสถานเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1992 โดยไทยมอบหมายให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกดูแลอุซเบกิสถาน ส่วนอุซเบกิสถานเปิดสถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1996

“ผมเดินทางมาถึงประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2007 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของสายการบินอุซเบกิสถาน (Uzbekistan Airways) สำนักงานกรุงเทพฯ ทำหน้าที่หลายตำแหน่ง จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทั่วไปตั้งแต่ปี 2016-2021”

นายฟาคริดิน ซุลตานอฟ (Mr. Fakhriddin Sultanov) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย เล่าความเป็นมา

“กลางปี 2021 รัฐบาลอุซเบกิสถานก็ได้มอบหมายให้ผมดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย ในฐานะผู้สมัครที่มีความคุ้นเคยกับสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับผมที่ได้เป็นตัวแทนของประเทศในเวทีการเมืองของราชอาณาจักรไทย”

นายฟาคริดิน ซุลตานอฟ (Mr. Fakhriddin Sultanov) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

ความแตกต่างระหว่างสถานกงสุลและสถานทูต

“ตามกฎแล้ว สำหรับภารกิจทางการทูต สถานทูตจะเป็นตัวแทนสูงสุดของประเทศบ้านเกิด ในขณะที่สถานกงสุลเป็นภารกิจทางการทูตเพิ่มเติม”

“แต่สำหรับสถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถานในกรุงเทพฯ นั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิง สถานกงสุลใหญ่ไม่ใช่สถาบันเพิ่มเติมสำหรับสถานทูต หากแต่เป็นสำนักงานตัวแทนหลักของอุซเบกิสถานในประเทศไทย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย คือกัมพูชา ลาว และเมียนมา”

“ซึ่งไม่เพียงแต่ประเด็นในด้านกงสุลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเมือง การค้า การลงทุน และวัฒนธรรม”

หน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่

“งานของกงสุลใหญ่อุซเบกิสถานในประเทศไทย คือการเป็นตัวแทนของรัฐบาลอุซเบกิสถานในแง่ที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของอุซเบกิสถาน”

“กงสุลใหญ่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของอุซเบกิสถานในคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิกในเครือสหประชาชาติ (UN ESCAP) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ”

“การช่วยดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนและแหล่งเงินลงทุน เป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของกงสุลใหญ่ในเวลาเดียวกัน”

“การให้ความคุ้มครองแก่พลเมืองอุซเบกิสถาน รวมทั้งความคุ้มครองทางกฎหมายก็เป็นส่วนสำคัญของงานนี้เช่นกัน”

“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทยและอุซเบกิสถานให้ความสนใจในการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงาน บังคับใช้กฎหมายด้านการย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ตลอดจนความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวซึ่งได้รับการพัฒนามากขึ้น”

นายฟาคริดิน ซุลตานอฟ (Mr. Fakhriddin Sultanov) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกงสุลกิตติมศักดิ์

“กงสุลกิตติมศักดิ์ให้บริการในขอบเขตที่จำกัด และทำงานโดยไม่ได้รับการจ้างงานจากรัฐบาล เราจึงเรียกว่า กงสุลกิตติมศักดิ์”

“ในปี 2021 นางนภา จามิกรณ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์อุซเบกิสถานประจำจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา”

“นอกเหนือจากงานทั่วไปของกงสุลกิตติมศักดิ์ในการพัฒนาความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวแล้ว ภารกิจหลักยังช่วยให้ผู้แทนธุรกิจไทยมีความรู้ที่ดีมากขึ้นเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจในอุซเบกิสถาน และช่วยในการสร้างการติดต่อทางธุรกิจ”

“ในขณะนี้ เรากำลังดำเนินการจัดตั้งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในจังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทย และในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาว”

ส่วนความสัมพันธ์ของอุซเบกิสถานกับประเทศไทยในช่วงเวลาสองปีที่เข้ามารับหน้าที่กงสุลใหญ่ประจำประเทศไทยนั้น

“ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เราได้นำความสัมพันธ์ของเราไปสู่ระดับใหม่ในหลายๆ ด้าน อุซเบกิสถานและไทยให้การสนับสนุนระหว่างกันในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด”

“มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง การเจรจาหารือทวิภาคีระหว่างผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ การค้า การศึกษา การท่องเที่ยว หอการค้าอุตสาหกรรม หน่วยงานนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสถาบันวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ ข้อตกลงใหม่ที่ได้รับการพัฒนาระหว่างรัฐบาล รวมทั้งการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์อุซเบกิสถาน จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทราดังที่กล่าวมา”

“ในด้านวัฒนธรรม เราได้เริ่มดำเนินโครงการสำคัญๆ ร่วมกับกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีแผนที่จะดำเนินการขุดค้นและบูรณะร่วมกับนักโบราณคดีอุซเบกิสถาน-ไทย บริเวณพื้นที่ที่มีศาสนสถานทางพุทธศาสนาในอุซเบกิสถาน โดยเฉพาะในแหล่งโบราณคดีคาราเทปา (Karatepa) ในเขตซูร์คันดาเรีย (Surkhandarya) ซึ่งในอดีตเป็นอารามหลวง”

นายฟาคริดิน ซุลตานอฟ (Mr. Fakhriddin Sultanov) กงสุลใหญ่อุซเบกิสถานประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างอุซเบกิสถานและอาเซียน (ASEAN)

“นอกจากประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนแล้ว อุซเบกิสถานยังดำเนินงานในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย”

“ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายชัฟคัต มีร์ซีโยเยฟ (Shavkat Mirziyoyev) ความสัมพันธ์ของอุซเบกิสถานกับประเทศในกลุ่มอาเซียนได้ก้าวมาถึงขั้นใหม่ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประธานาธิบดีอุซเบกิสถานเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคม 2023 และในเดือนพฤษภาคม 2023 ประธานาธิบดีฮาลิมา ยาคุบ (Halima Yakub) แห่งสิงคโปร์ก็ได้ไปเยือนอุซเบกิสถาน”

“ความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียนจะดำเนินการภายใต้กรอบของแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องสำหรับปี 2023-2028”

“ความร่วมมือยังขยายตัวภายในกรอบขององค์กรระดับภูมิภาค เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ซึ่งกัมพูชาเข้าร่วมในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ ประเด็นความร่วมมือในการฝึกอบรมบุคลากรด้านไอทีอยู่ในวาระของเราที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา”

“ส่วนการพัฒนาเส้นทางขนส่งระหว่างเอเชียกลางและอาเซียน ซึ่งผ่านเส้นทางขนส่งโดยทางรถไฟของลาวอยู่ในวาระการประชุม ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) โดยจีนกำลังให้การสนับสนุนโครงการริเริ่มในการขยายเส้นทางคมนาคมขนส่ง”

“ในปฏิญญาซีอาน (Xi’an Declaration) ว่าด้วยการประชุมสุดยอดเอเชียกลาง-จีนซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2023 ในเมืองซีอาน (Xi’an) ยังได้เห็นพ้องที่จะพัฒนาเส้นทางคมนาคมเพิ่มเติมอีกด้วย”

“มีการสร้างเส้นทางขนส่งผ่านท่าเรือของปากีสถานที่เชื่อมต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนกับอุซเบกิสถานและเอเชียกลางทั้งหมด”

อุซเบกิสถานกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

“การเป็นสมาชิก WTO สำหรับอุซเบกิสถานนั้น จะช่วยเพิ่มการคาดการณ์นโยบายเศรษฐกิจของประเทศและความเชื่อมั่นในนโยบายดังกล่าว ซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะมุ่งเน้นการเติบโต เนื่องจากการเข้าถึงตลาดที่กว้างขึ้นในระบบการค้าที่มั่นคงและคาดการณ์ได้”

“ในทางกลับกัน ความเสถียรและความสามารถในการคาดการณ์ได้ มีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตามกฎแล้วจะกระตุ้นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งสามารถเป็นแรงผลักดันเพิ่มเติมในการเติบโตของตลาดภายในประเทศ”

“ประเทศไทยเป็นสมาชิกคณะทำงานว่าด้วยกระบวนการภาคยานุวัติเข้าเป็นสมาชิก WTO ของอุซเบกิสถานด้วย และการที่ไทยแสดงความสนใจในตลาดอุซเบกิสถาน จึงถือเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อชุมชนธุรกิจอย่างแน่นอน”

“ในขณะที่ไทยกำลังเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับปากีสถานและตุรกี ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นประตูสู่การคมนาคมขนส่ง เส้นทางสู่ตลาดอุซเบกิสถานและเอเชียกลางทั้งหมด”

ความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจ

“อุซเบกิสถานและไทยมีความสัมพันธ์ทางการค้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-19 ซึ่งในช่วงเวลานั้น เอมิเรต บูฆอรอ (Bukhara Emirate) และราชอาณาจักรไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าต่อกัน สินค้าหลักคือ ทองคำ”

“ในศตวรรษที่ 19 พระเจ้าแผ่นดินแห่งประเทศไทยได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกแก่ Emir of Bukhara ซึ่งบ่งชี้ว่า นอกจากศาสนา อารยธรรม ค่านิยม การค้าขายแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็อยู่ในระดับสูง”

“ปัจจุบัน อุซเบกิสถานเป็นหนึ่งในพันธมิตรชั้นนำในเอเชียกลางของประเทศไทย แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2020 จะเกิดขึ้นทั่วโลก แต่ปริมาณการค้าต่างประเทศระหว่างประเทศของเราได้เพิ่มขึ้นถึงสามเท่า และมีมูลค่ามากกว่า 111 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 โดยมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 66 ล้านเหรียญสหรัฐ”

“ผมมีความยินดีที่เราสามารถบริหารจัดการสินค้าที่หลากหลายจากการค้าร่วมกันในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากสินค้าแบบดั้งเดิมของอุซเบกิสถานที่ส่งออกมายังประเทศไทย เช่น ผลิตภัณฑ์เคมี โลหะเหล็ก เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว และผลไม้แห้ง ตั้งแต่ปีที่แล้วยังมีการส่งออกอาร์ทีเมียซีสต์ (Artemia Cyst) สำหรับโรงฟักกุ้ง และ ‘ชอร์ทอค’ (Chortoq) น้ำแร่ธรรมชาติสำหรับดื่มซึ่งมีคุณภาพดีที่สุด”

“นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นฤดูผลไม้ของอุซเบกิสถาน เราสามารถจัดหาเชอรี่ออร์แกนิกส์ให้แก่ตลาดไทยจากความร่วมมือของกรมวิชาการเกษตรแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้ผู้ซื้อชาวไทยมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นอย่างน้อย 2 เดือน”

“สินค้าส่งออกของไทย เป็นผลิตภัณฑ์เคมี เครื่องจักร น้ำมัน โลหะที่ไม่ใช่เหล็กและเหล็ก และผลิตภัณฑ์พลาสติก ทั้งนี้ ชาวอุซเบกิสถานยังต้องการนำเข้าเครื่องสำอางของไทย ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ รวมทั้งอาหารจากประเทศไทยด้วย”

“เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุผลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียกลาง ตั้งแต่ปี 2022 ผู้ประกอบการจากอุซเบกิสถานเริ่มให้ความสนใจในการซื้อน้ำตาล ข้าว กระดาษ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากประเทศไทย ซึ่งนับเป็นการเปิดตลาดใหม่และโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทย”

“ปัจจุบัน มีกิจการของ 6 วิสาหกิจทุนไทยอยู่ในอุซเบกิสถาน โดยในครึ่งแรกของปี 2023 โครงการที่เงินทุนไทยเข้าร่วมมีมากกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมโรงแรม อาหาร และบริการด้านสุขภาพ ส่วนโครงการด้านพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในระหว่างการเจรจา” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin