คุยกับทูต | มุฮัมมัด อับดุล ฮัย บังกลาเทศ มุ่งสร้างวัฒนธรรมในเวทีโลก (1)

“ผมเคยมาอยู่เมืองไทยในฐานะอัครราชทูตที่ปรึกษา และรองผู้แทนถาวรของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UNESCAP) ซึ่งรับผิดชอบประเทศ กัมพูชาด้วยใน ระหว่างปี 2004-2007”

“จากที่มีความคุ้นเคยกับประเทศไทย ทำให้ผมได้รับโอกาสมาประจำที่นี่อีกวาระหนึ่ง คราวนี้ในฐานะเอกอัครราชทูต มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2020 เป็นต้นมา”

นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย มีบุคลิกเรียบร้อย อ่อนโยน ค่อนข้างพูดน้อย เปิดเผยว่า

“ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของผมแตกต่างจากการเป็นทูตอย่างสิ้นเชิง เพราะแท้จริงผมเป็นคนสบายๆ อิสระ ไม่ค่อยกังวลกับพิธีรีตองและพิธีการทางสังคมมากมายนัก”

“ที่แน่ๆ คือ การสื่อสารกับคนไทยเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด เพราะผมไม่รู้ภาษาไทยเลย”

นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย

เป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างบังกลาเทศและไทย

“เป้าหมายหลักในการทำงานของสถานทูต คือการสร้างความสัมพันธ์ที่นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนแล้ว ยังรวมถึง การศึกษา และวัฒนธรรม”

“ส่วนการท่องเที่ยวและการบริการเป็นภาคส่วนพิเศษในความคิดของเรา เนื่องจากเราต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์ของไทยในภาคการท่องเที่ยวและการบริการที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ”

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ เนื่องจากมีส่วนในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจด้านอื่นๆ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจการขนส่งและธุรกิจการโรงแรม เป็นต้น ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้การท่องเที่ยวพร้อมทั้งเพิ่มอัตราการจ้างงานและสร้างอาชีพให้กับประชากรในประเทศ

เป็นอุตสาหกรรมที่จะสะท้อนภาพลักษณ์การรับรู้ภายในประเทศของตนออกสู่สายตาประเทศภายนอก

เอกอัครราชทูตบังคลาเทศเยี่ยมคารวะ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร หารือการดำเนินงานระบบ National Single Window (NSW) ของกรมศุลกากร

ความสัมพันธ์ของบังกลาเทศและไทยในปัจจุบัน

“ความสัมพันธ์ของเรากับประเทศไทยดีขึ้นทุกๆ วัน และต่างมีความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างแท้จริงโดยมีความสัมพันธ์ระดับประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะไทยเป็นจุดหมายที่เป็นที่นิยมของชาวบังกลาเทศซึ่งชื่นชอบการมาเที่ยวทะเล และรับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยด้วย”

ไทยกับบังกลาเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 1972 มีความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกัน มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ การแสดงไมตรีจิตต่อกันเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ และไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่บังกลาเทศตลอดมา

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงธากา ยังได้จัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาประเทศแบบอย่างยั่งยืน

อาทิ การนำคณะผู้แทนระดับสูงของบังกลาเทศเดินทางมาศึกษาดูงานตามโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศไทย

นายมุฮัมมัด อับดุล ฮัย (H.E. Mr. Mohammed Abdul Hye) เอกอัครราชทูตบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทางด้านการค้า

“การค้าระหว่างไทยกับบังกลาเทศอยู่ที่ประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีก 2 ถึง 5 พันล้านในอนาคตอันใกล้นี้ โดยความตกลงการค้าเสรีจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมและผลักดันการค้าระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

บังกลาเทศกับนโยบายมองตะวันออก (Look East)

“นโยบายมองตะวันออกของบังกลาเทศ หมายถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศทางตะวันออกของเรา ภายใต้นโยบายนี้เราพยายามที่จะจัดหาแหล่งลงทุนทางเศรษฐกิจในประเทศของเราจากประเทศต่างๆ เช่น ไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นต้น”

วันที่ 26 มีนาคม ตรงกับวันเอกราชและวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในส่วนตะวันตกของภูมิภาคเบงกอล บังกลาเทศ จึงหมายถึงประเทศแห่งอ่าวเบงกอล และอาณาเขตของบังกลาเทศถูกล้อมรอบด้วยอินเดีย 3 ทิศทาง ยกเว้นพรมแดนใต้ติดอ่าวเบงกอล และเขตแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ติดกับประเทศเมียนมา

บังกลาเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบการตลาด มุ่งเน้นการส่งออก และให้ความสำคัญในเรื่องเสรีภาพทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีสหรัฐเป็นผู้ลงทุนหลัก และประเทศอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

ชาตียสังสัท คือ รัฐสภาแห่งชาติ ภาพโดย Jatiya Sangsad Bhaban

รัฐบาลชุดล่าสุดของบังกลาเทศ ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มุ่งเสริมสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบมุ่งตะวันออก (Look East) เป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ไทย พม่า และสมาชิกอาเซียน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของนโยบายต่างประเทศบังกลาเทศ

การเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชียของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศอย่างต่อเนื่อง นับเป็นประจักษ์พยานที่ดีต่อการเสริมสร้างนโยบายต่างประเทศที่มุ่งสนับสนุนผลประโยชน์ของบังกลาเทศในประเทศใหม่ๆ เหล่านี้

นอกจากนี้ บังกลาเทศมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์กับตะวันออกกลาง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจบังกลาเทศในด้านพลังงาน การส่งออกแรงงาน และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศ และในฐานะที่เป็นประเทศ OIC

กรุงธากา โดย Pinu Rahman

ปัจจุบัน บังกลาเทศเป็นสมาชิก BIMSTEC, ACD, SAARC, NAM และ ARF และเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในการสนับสนุนภารกิจการรักษาสันติภาพ มีทหารบังกลาเทศจำนวน 9,758 ราย ปฏิบัติใน 12 ภารกิจทั่วโลก (ร้อยละ 14 ของกองกำลังรักษาสันติภาพทั้งหมด) ซึ่งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของบังกลาเทศในทางที่ดี

ทั้งนี้ บังกลาเทศยังให้การสนับสนุนไทยเป็นอย่างดีในการดำเนินกิจกรรมของ BIMSTEC ซึ่งทั้งไทยและบังกลาเทศต่างเป็นผู้ก่อตั้ง BIMSTEC เมื่อปี 1997 ทั้งสองประเทศต่างส่งเสริมความร่วมมือผ่านกรอบ BIMSTEC ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำในช่วงปลายปี 2023

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation: BIMSTEC) หรือกรอบความร่วมมือบิมสเทค เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคในอนุทวีปเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มโดยไทย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย เมียนมา เนปาล และภูฏาน เพื่อต้องการให้อนุภูมิภาคนี้เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ

ภูมิภาคอ่าวเบงกอล ถือเป็นพื้นที่เป้าหมายที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากความใกล้ชิดในฐานะเพื่อนบ้านแล้ว ภูมิภาคอ่าวเบงกอลยังเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เอกอัครราชทูตมุฮัมมัด อับดุล ฮัย ชี้แจงถีงความร่วมมือเหนืออ่าวเบงกอล บังกลาเทศกับ BIMSTEC ว่า

“BIMSTEC ได้นำการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจากอินเดียมาสู่สยาม ซึ่งบังกลาเทศและพม่าตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคอินโดสยามนี้ การบูรณาการทางเศรษฐกิจภายใต้ BIMSTEC จึงเป็นเหมือนตัวเปลี่ยนเกมในการยกระดับเศรษฐกิจของบังกลาเทศ” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin