มหา’ลัยส่งสัญญาณ ถึงขั้วจัดตั้ง ‘รัฐบาลใหม่’ ของบวิจัยเพิ่ม-ปลดล็อกระเบียบ

ถือเป็นสัปดาห์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หยุดการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)

นอกจากนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ยังมีมติ 395 เสียง ต่อ 312 เสียง ว่าการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำ เพื่อโหวตเป็นนายกฯ รอบที่ 2 “ทำไม่ได้” เพราะขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ให้ลงมติให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ได้ในสมัยประชุมนี้ หลังถกเถียงกันยาวนานกว่า 7 ชั่วโมง ว่าการนำชื่อนายพิธามาให้รัฐสภาลงมติอีกครั้ง ถือเป็น “ญัตติ” และผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 หรือไม่

ถือเป็นการ “ปิดสวิตช์” นายพิธา ในการก้าวสู่การเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ได้นัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกฯ รอบ 3 ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2566

ส่วนการโหวตรอบนี้ พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 ที่พลิกขึ้นมาเป็นแกนนำในการจัดรัฐบาล จะเสนอชื่อใคร? ในการโหวตนายกฯ รอบ 3 จะใช่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ คนที่ 1 ของ พท.หรือไม่ โปรดอย่ากะพริบตา

เพราะการเมืองยุคนี้ พลิกไปมาแบบนาทีต่อนาที

 

คนในแวดวงการศึกษาไทย ต่างก็ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะ “ลุ้น” ว่า “ใคร” จะมาเป็นนายกฯ คนที่ 30 แล้ว ยังต้องลุ้นว่าใครจะมาเป็นเจ้ากระทรวงด้านการศึกษา ทั้งตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)”

แล้วยังต้องลุ้นด้วยว่า พรรคที่กำกับดูแลกระทรวงด้านการศึกษา จะมีนโยบาย หรือทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาอย่างไร!!

เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาได้ทันที ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่มี นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธาน ทปอ. ได้เตรียมจัดทำ “ข้อเสนอ” ให้รัฐบาลใหม่ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย อาทิ การทำงานวิจัย หรือการเดินหน้าพัฒนาการศึกษาในหลายๆ ด้าน ที่อาจติดกฎระเบียบบางเรื่อง ซึ่ง ทปอ.จะเสนอให้รัฐบาล “ปลดล็อก” เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในทางปฏิบัติ

โดยเฉพาะเรื่องการทำ “งานวิจัย” ทปอ.อยากให้รัฐบาลใหม่มองมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งว่ามี “บริบท” ที่แตกต่างกัน แต่อยากพัฒนางานวิจัยเพื่อช่วยพัฒนาประเทศ และไม่อยากให้ใช้ “ระเบียบ” เดียวกันกับทุกมหาวิทยาลัย เพราะจะขัดขวางการพัฒนาพื้นที่

และขอให้มี “งบประมาณ” สนับสนุนงานวิจัยที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบในการนำองค์ความรู้ที่มีไปใช้ประโยชน์ และพัฒนางานวิจัยต่อยอดความรู้ใหม่ๆ

ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ยกมือเชียร์ อย่าง ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนงบฯ วิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น เพิ่มทุนการศึกษาระดับปริญญาโท และเอก

รวมถึงดึงคนเก่งๆ จากประเทศต่างๆ เข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัยไทย เพราะแม้ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา แต่งบฯ ที่ให้มหาวิทยาลัยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับอาจารย์ที่มีทั้งระบบ

รวมทั้งอยากให้ยืดหยุ่นในการจัดการศึกษา และอย่าออกกฎระเบียบต่างๆ ที่ขัดขวางการพัฒนาใหม่ๆ ทางด้านการศึกษา!!

หากย้อนไปเมื่อต้นปี 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) 31,100 ล้านบาท ในปี 2567 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เสนอ ซึ่งกองทุนแบ่งการใช้งบฯ เป็น 3 ส่วน ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้แก่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ภาวะฉุกเฉิน และเพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมถึงการพัฒนาความรู้ขั้นแนวหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมให้ตอบสนองต่อโอกาส และความท้าทายในอนาคต

โดยงบฯ ในส่วนนี้ จะกระจายให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาวิทยาศาสตร์ 188 หน่วยงาน และจัดสรรใน 2 รูปแบบ ได้แก่

1.งบฯ เพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ 60-65% เพื่อสนับสนุนการวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศตามแผนด้าน ววน.

และ 2. งบฯ เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน 35-40% เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานตามพันธกิจการพัฒนาประเทศ โดยปี 2567 จะเพิ่มการขับเคลื่อนผลงานวิจัยตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 และการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม 5,000 ล้านบาท

ซึ่งการอัดฉีดงบฯ วิจัยเพิ่ม ก็เพื่อให้ไทยไปสู่เป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางภายในปี 2580 เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจฐานราก และเลื่อนอันดับดัชนีการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการปรับตัวสู่อนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบสุขภาพ อาหารแห่งอนาคต ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบรางและโลจิสติกส์ รวมถึง การพัฒนาบุคลากรคุณภาพสูง การผลิตบัณฑิตทักษะสูง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การใช้งบฯ วิจัยของมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่านำไปใช้ในการทำงานวิจัย เพื่อให้ “ผู้วิจัย” นำผลงานไปยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ ทั้งระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.)

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็มุ่งใช้ผลงานวิจัย สำหรับการ “จัดเรตติ้ง” มหาวิทยาลัยโลกของสำนักต่างๆ เพื่อขยับอันดับมหาวิทยาลัยของตนเอง ให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นทุกปี!!

 

ประเด็นเหล่านี้ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา มองว่า ทปอ.ควรตระหนัก และเรียนรู้ ว่ามหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่การหางบฯ วิจัยเท่านั้น เพราะในฐานะกรรมการสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ข้อมูลกับอธิการบดีแต่ละมหาวิทยาลัย ว่างบฯ วิจัยที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้รับ มีจำนวนมหาศาล บางมหาวิทยาลัยได้รับงบฯ วิจัยหลายพันล้านบาท แต่ผลการวิจัยกลับไม่ตอบโจทย์ประเทศ เพราะ 50-60% ถูกนำไปใช้ในงานวิชาการ สำหรับการตีพิมพ์ การขอตำแหน่งทางวิชาการ และการจัดอันดับ ซึ่งกลายเป็นคนในแวดวงวิชาการ และผู้บริหาร ที่ได้ประโยชน์

แต่งานวิจัยที่ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง มีเพียง 7% และเกิดประโยชน์กับชุมชน 30% เท่านั้น

ส่วนงบฯ วิจัยที่มหาวิทยาลัย “อ้างว่า” เอาไปช่วยพัฒนาประเทศนั้น ศ.ดร.สมพงษ์ระบุว่า “ต่ำมาก” ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะผลของการศึกษาวิจัย ต้องไม่ใช่แค่เรื่องของการตีพิมพ์ และการได้ตำแหน่งทางวิชาการ แต่ต้องเกิดประโยชน์อะไรกับสังคม และประเทศชาติ

พร้อมทิ้งท้ายว่า ท่าทีของ ทปอ.จึงไม่ใช่แค่เรียกร้องขอเงินจำนวนมากเพื่อทำวิจัย และตอบโจทย์บุลคากรในมหาวิทยาลัย แต่ต้องทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของประเทศชาติ และตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่างๆ แต่ ทปอ.ยังมองแต่ตัวเอง และไม่เปลี่ยนความคิด

ขณะที่ รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) เห็นว่าการจัดสรรงบฯ วิจัยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนวิธีใหม่ จากเดิมรัฐบาลจัดสรรงบฯ วิจัยผ่านงบฯ ประจำปี เป็นจัดสรรงบฯ วิจัยไปที่หน่วยวิจัย โดยมี วช.ดูแล หน่วยวิจัยต่างๆ จะไปยื่นของบฯ วิจัยเฉพาะทาง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ ทำให้งบฯ วิจัยเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ซึ่ง “มหาวิทยาลัย” จะต้อง “ปรับตัว” ด้วยเช่นกัน…

ต้องรอดูท่าทีของ “รัฐบาลใหม่” ว่าจะมีทิศทาง หรือผลักดัน “งบฯ วิจัย” อย่างไร!! •

 

| การศึกษา