“ไม่คิดว่าตัวเองผิด แต่คิดว่าตัดสินใจผิด” บันทึกคำให้การ สุจินดา คราประยูร

ทหารใจร้าย

หลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 สงบลงไม่กี่วัน หน้า 1 บางกอก โพสต์ ก็ตีพิมพ์รูปถ่ายของ “บุคคลที่คนไทยเกลียดที่สุด 10 อันดับ” พลเอกสุจินดา คราประยูร ติดลำดับแรก ส่วนผม (พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์) นั้นรั้งท้ายลำดับที่ 10

และในช่วงเวลาหลังจากนั้นเล็กน้อย เมื่อผมกับครอบครัวไปหาซื้อของกินของใช้ที่สยามจัสโก้ หลักสี่ ระหว่างที่กำลังเข็นรถเข็นอยู่ในซุปเปอร์ สโตร์ ผมสวนกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ท่าทางเรียบร้อย เขามองหน้าผมอย่างตั้งใจแล้วเอ่ยขึ้นมาลอยๆ ว่า “ทหารใจร้าย” จากนั้นก็เดินผ่านไป ผมหยุดรถเข็นดูลำหักลำโค่นของเขาแล้วจึงเดินย้อนตามไปถามตรงๆ ว่า “คุณว่าผมหรือ”

เขาทำท่าเจื่อนๆ แล้วตอบเสียงสั่นๆ หน้าซีดว่า “เปล่า” ผมจึงเดินแยกจากมา

ภรรยาบ่นผมว่า-ดุจังพล.อ.

หลังเหตุการณ์สงบลง ปรากฏข่าวต่อต้านทหารจากส่วนต่างๆ ของสังคมไทยอย่างหนาหู ซึ่งมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่ถูกแต่งเติมเสริมต่อ เช่น หมอและพยาบาลปฏิเสธการรักษาทหารและครอบครัว แท็กซี่ไม่รับผู้โดยสารที่เป็นทหาร ทหารในเครื่องแบบในที่สาธารณะถูกเยาะเย้ยถากถางเหมือนอย่างที่ผมโดนด้วยตัวเองในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ทหารจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จึงหลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการแต่งพลเรือนระหว่างเดินทางแล้วเปลี่ยนเป็นเครื่องแบบเมื่อถึงที่ทำงาน ซึ่งคล้ายกับสถานการณ์หลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลามคม 2516

ช่วงนี้ผมกลับไปทำงานที่สำนักงานเลขานุการกองทัพบกในตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการฯ ตามปกติ ทุกคนในสำนักงานให้การต้อนรับและแสดงความเห็นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่ชายที่แสนดี-พลตรีอนุสรณ์ กฤษณเศรณี เลขานุการกองทัพบก กรุณากล่าวให้กำลังใจผมทำหน้าที่ต่อไป “น้องทำดีที่สุดแล้ว”

เรื่องไม่แต่งเครื่องแบบผมไม่เห็นด้วย เหมือนกับเรื่องใช้โทรศัพท์ของตัวเองไม่ได้ แต่เรื่องนี้ใหญ่กว่ามาก ในทัศนะของผม ทหารไม่กล้าแต่งเครื่องแบบมันอดสูและดูถูกตัวเองเกินไป ผมจึงไม่ทำตามใครต่อใครทั้งๆ ที่หลายคนเป็นห่วงและกล่าวเตือน เนื่องจากผมเป็นคนที่ใครต่อใครรู้จักกันดีทั้งจากจอโทรทัศน์และภาพในหน้าหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าสิ่วหน้าขวานระหว่างเหตุการณ์บนถนนราชดำเนิน ผมขอบคุณในความห่วงใยเหล่านั้น แต่ก็แต่งเครื่องแบบตามปกติเต็มภาคภูมิ เพียงแต่หลีกเลี่ยงไม่ไปตามที่สาธารณะถ้าไม่จำเป็น จากบ้านเข้าที่ทำงาน จากที่ทำงานกลับบ้าน

ครั้งหนึ่ง เครื่องปั๊มพ์น้ำที่บ้านเสีย หลังเลิกงานผมจึงต้องไปซื้ออะไหล่ที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างแห่งหนึ่งแถวสะพานพระราม 6 ผมในเครื่องแบบพันเอกกองทัพบกเดินเข้าไปในร้านแล้วถามหาอุปกรณ์ที่ต้องการ เจ้าของร้านเป็นชายวัยกลางคน มองหน้าผมอยู่เนิ่นนานแล้วถามว่า พันเอกบัญชรใช่ไหม ผมตอบรับ แล้วลุ้นระทึกว่าอะไรจะตามมา เขานิ่งไปครู่หนึ่งแล้วพูดต่อว่า

“เห็นใจ พลเอกสุจินดา ครับ…ฝากให้กำลังใจท่านด้วย บ้านเมืองนี้คนดีอยู่ไม่ค่อยได้”

เขายังลดราคาให้ผม 20 เปอร์เซ็นต์ด้วย

 

จำลองไม่ยอมจับมือ

พลเอกสุจินดา คราประยูร ย้อนความหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีรับสั่งให้ท่านและ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าในคืนวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 กับ วาสนา นาน่วม ว่า

“เราเป็นคนเสนอเองนะวิธีการนี้ เพราะทุกคนหาทางออกไม่ได้ เพราะ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ท่านก็โยนให้ป๋าเปรม ทุกคนก็นั่งเฉย เราเป็นคนเสนอเองว่า เอาออกทีวีคู่กันครับ ออกมาพูด เพราะพระเจ้าอยู่หัวฯ รับสั่งให้หาทาง อาจารย์สัญญาก็ไม่รู้จะทำยังไงก็มาบอกป๋าเปรม เพราะเห็นว่าป๋าเปรมเป็นทหารให้จัดการ แต่ไม่มีใครออกความเห็น เราก็เลยบอกว่าเอาอย่างนี้ดีกว่า ผมกับจำลองออกทีวีด้วยกัน ป๋าเปรมท่านก็บอกว่าดีๆ”

พลเอกสุจินดากล่าวถึงเบื้องหลังว่า หลังจากเข้าเฝ้าแล้วออกมา ตนเองได้ขอจับมือกับพลตรีจำลองเพื่อยุติศึก แต่ก็ต้องผิดหวัง โดยพลเอกสุจินดาเล่าว่า

“เราขอจับมือกับจำลอง เขายังไม่ยอมจับด้วยเลย เราบอกว่าจำลองจับมือกันนะ เขาไม่ยอมจับด้วย”

หลังจากการเข้าเฝ้าฯ กลางดึกคืนนั้น ต่อมาเมื่อ 24 พฤษภาคม 2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

บทสรุปของ พลเอกสุจินดา คราประยูร

หลังก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็แทบจะไม่แสดงทัศนะใดๆ ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเลย จนกระทั่งผ่านไปถึง 7 ปีต่อมาท่านจึง “เปิดใจ” กับ วาสนา นาน่วม เมื่อ 6 ตุลาคม 2542 ในประเด็นต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านดังนี้

เริ่มจาก “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

“ผมยอมรับว่า การที่บอกว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมารับ มีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสต่อต้าน เพราะเราไม่สามารถจะแก้ตัวอะไรได้ ในเมื่อโดนเขาโจมตีอย่างนี้ แล้วความจริงเราก็พูดแล้ว เราปฏิเสธแล้ว เราบอกว่า เฮ้ย…พูดไปแล้วนะว่าไม่เป็นนะ แต่มีคนให้ความเห็นว่าจะเสียสละเพื่อชาติไม่ได้หรือ

เขาพูดอย่างนี้ เราก็ไม่รู้จะทำยังไง จะเสียสัตย์เพื่อชาติไม่ได้หรือ เขาพูดอย่างนั้น เขาให้ลองคิดดู เราบอกว่า เฮ้ย…ไม่ได้นะ มันเสียคำพูด ก็เราบอกว่าไม่เป็น แต่เขาใช้คำพูดว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติไม่ได้หรือ” ในเมื่อคนเราเป็นทหาร เราบอกว่าเราสละชีพเพื่อชาติได้ แล้วทำไมเราจะเสียสัตย์เพี่อชาติไม่ได้หรือ เขาพูดอย่างนี้

ใครหลายคนที่เขาอยากให้เราเป็น อย่าเอ่ยชื่อเขาเลย เขาบอกว่า เพื่อนเป็นทหาร หน้าหมวกเพื่อนเขียนว่าอะไร สละชีพเพื่อชาติใช่ไหม ตั้งแต่เป็นนักเรียนมาน่ะ เราจะเสียสัตย์เพื่อชาติไม่ได้หรือ สัตย์กับชีพอะไรสำคัญกว่ากัน ก็เลยกลายเป็นจุดที่ถูกโจมตี”

“เราเข้ามาเป็นนายกฯ ก็เป็นไปตามกฎระเบียบที่ถูกต้องทุกอย่าง ไอ้เรื่องเสียสัตย์อะไรที่ว่าก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกติกาอะไร ผิดมารยาทอะไร แต่โอเคอย่างนั้นอาจจะมองดูไม่ดีในแง่หนึ่ง แต่มันไม่ใช่เรื่องผิดใช่ไหม ไม่ได้ผิด คนกลับคำพูดเยอะแยะไป ใช่ไหม แต่เอามาโจมตีเราว่าเป็นเรื่องใหญ่โตสลักสำคัญ”

 

ขวางทางใคร ?

พลเอกสุจินดา คราประยูร ให้สัมภาษณ์ต่อไปในเรื่องของการคัดค้านการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านว่า “เป็นมอ็บจัดตั้งของนักการเมืองที่เสียประโยชน์ เป็นของนักการเมืองที่อยากจะเป็นายกรัฐมนตรี อยากจะจัดตั้งรัฐบาล” แล้วกล่าวอธิบายต่อไปว่า

“สิ่งที่เราทำไม่ได้ผิด เราทำทุกสิ่งทุกอย่างตามกติกา รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ห้ามเราไม่ให้เป็นนายกฯ แล้วอยู่ดีๆ จะมาอ้างว่าเราผิดกติกา ก็เหมือนกับการเล่นฟุตบอล ระเบียบกติกาวางไว้อย่างนี้ แต่พอเตะแล้วแพ้ จะมาบอกว่ากติกาไม่ถูก ไม่ได้ ก็เหมือนเราเอานักฟุตบอลต่างชาติมาเล่น แต่ในกติกาไม่ได้ห้าม แต่พอเล่นแพ้แล้ว มาบอกว่าเอานักบอลต่างชาติมาเล่น ไม่เอา ไม่ยอมรับผล อย่างนี้มันก็ไม่ถูก”

“ผมมั่นใจว่าจะทำความดีเพื่อลบล้างการถูกโจมตี เอาผลงานออกมาให้ประชาชนได้เห็นความตั้งใจของเรา เราเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไป เชื่อว่าเราจะสามารถทำได้ แต่ที่เราถูกต่อต้านเยอะ เพราะมันไปขัดขวางหนทางของเขา คือเขาไปมองว่า อะไรก็ตามที่มาจากการปฏิวัติแล้ว มันจะอยู่ไปอีกนาน คนที่รุ่นราวคราวเดียวกันที่หวังจะขึ้นมา ก็กลัวว่าไม่มีโอกาส”

เรื่องนี้สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของท่านต่อนักข่าวเมื่อ 16 พฤษภาคม 2535 ก่อนเกิดความรุนแรงเพียงวันเดียว นักข่าวถามว่า หัวหน้าพรรคพลังธรรมคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อยู่เบื้องหลังความปั่นปวนวุ่นวายหรือไม่ ท่านตอบว่า

“เป็นความจริง เพราะทั้งสองคนเป็นคนชักชวน (ผู้ชุมนุม) เมื่อคืน 8 พฤษภาคม ใครที่นั่งรถตู้ตระเวนไปบอกอย่างโน้นอย่างนี้ตลอดเวลา แต่คำด่าของคนทุศีลอย่าไปถือ ถ้าคนดีด่าจึงค่อยถือ จะดูความเป็นผู้ดีหรือไม่ก็ตอนนี้ ผมได้ยินทั้งนั้น ตะโกนกันกลางถนนว่า เหี้ยสุ เหี้ยสุ เจ้าหน้าที่ถ่ายวิดีโอมาให้ผมดูก็ไม่เดือดร้อน เห็นหรือไม่ว่าใครเป็นผู้ดีกว่ากัน ประชาชนเห็นเอง แต่เสียดายที่ทีวีไม่ได้ออกภาพนี้”

“ผมเอาวิดีโอการชุมนุมมาดูว่าเป็นพวกม็อบพวกไหน เห็นพวกมีมือถือมีวิทยุอยู่ข้างหน้า เห็นม็อบที่ นายพิศาล มูลศาสตรสาทร ไปตรวจพร้อมพูดเหย็งๆ ว่า ฆ่ามันๆ และยังยุยงให้ล้มสภา ยึดสภาอีก”

นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อเกษียณอายุราชการแล้วได้เข้าร่วมกับ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จัดตั้งพรรคความหวังใหม่

ผมเห็นกับตาตนเองวันที่ไปสังเกตการณ์ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา นายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ยืนบนหลังคารถ กรอกเสียงดุดันผ่านเครื่องขยายเสียง “ฆ่ามัน ฆ่ามัน ฆ่ามัน”

ติดตามด้วยเสียงขานรับจากผู้ร่วมชุมที่อารมณ์กำลังรุนแรงถึงขีดสุด

 

หากย้อนวันเวลาได้

พลเอกสุจินดา คราประยูร ไม่คิดว่าการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของท่านนั้นเป็นความผิด

“ไม่คิดว่าตัวเองผิด แต่คิดว่าตัดสินใจผิด แต่ตัวเองไม่ได้ผิดและไม่เคยทำอะไรผิด เพราะไม่เคยสั่งการให้ยิง ไม่เคยสั่งการให้ฆ่าประชาชน ไม่เคยที่จะสั่งการอย่างนั้น แล้วเข้ามาเป็นนายกฯเป็นไปตามกฎระเบียบที่ถูกต้องทุกอย่าง เรื่องเสียสัตย์อะไรที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องผิดกติกาอะไร ผิดมารยาทอะไร แต่โอเคมันอาจจะดูไม่ดีในแง่หนึ่ง แต่มันไม่ใช่เรื่องผิดใช่ไหม ไม่ได้ผิด”

“แต่ก็เปรียบเทียบตัวเองกับนักโทษติดคุก ที่ใครถามว่าผิดหรือไม่ก็คงไม่ตอบว่าผิด โดยกล่าวว่าไม่มี ไม่ต้องไปทำบุญอะไร เพราะเราว่า เราไม่ได้ทำผิดอะไร บางคนว่าเรา แต่เราไม่ได้ทำอะไรผิด ใช่ว่าเราไม่ยอมรับผิด เรายอมรับกติกาสังคมนะ เพราะคนเราต้องคิดว่าตัวเราถูกเสมอ เพราะฉะนั้น ไอ้พวกติดคุกอย่าไปถามมันเลย มันก็บอกว่าเขาหาว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ก็เหมือนเราเหมือนกัน เราก็เชื่อว่าตัวเราถูก เราก็ไม่ได้ว่า คนอื่น”

หากย้อนอดีตได้ พลเอกสุจินดากล่าวว่า เราควรจะพบกับประชาชนเสียก่อนที่จะมีการชุมนุมใหญ่กัน น่าจะไปพูดอะไรต่างๆ กับพวกเขาเสียก่อน ก่อนที่จะโดนปลุกระดมเสียจนมองว่าท่านเป็นเผด็จการ

“ถ้าตอนนั้น เราปล่อยให้เกิดการจลาจล ปล่อยให้เผาอะไรไปโดยทหารไม่เข้าไป หรือรอให้เกิดการจลาจลเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยเข้าไป มันเป็นวิธีการที่จะทำให้ตัวเองเป็นวีรบุรุษขี่ม้าขาว ก็ออกมาทำให้เกิดความสงบภายในประเทศได้ ตัวเองก็โดดเด่นในฐานะที่เรียกว่าเข้ามาสร้างความสงบ ทำอะไรต่างๆ แต่เราไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว เราเห็นแก่ประเทศชาติจึงไม่ปล่อยให้เกิดการจลาจลเสียก่อนแล้วเข้ามา เราทำไปเห็นแก่ประเทศชาติ ไม่ได้เห็นแก่ตัวหรอก”

กับการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวว่า

“ทำไมเรามาเป็นนายกฯ แล้วมีแต่คนเป็นปฏิปักษ์ ทำไมมีแต่คนเกลียด แล้วเราจะเป็นไปได้อย่างไร จะอยู่ไปทำไม มันจะต้องเป็นคนที่ประชาชนยอมรับ คนที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำเป็นนายกฯ ประชาชนต้องยอมรับ ในเมื่อคนเขาตั้งข้อรังเกียจ แล้วเราจะเป็นไปทำไม เราขึ้นมาด้วยเจตนาที่ดี เราต้องการจะทำความดีเพื่อที่จะเอาผลงานออกมา คนเขาจะเห็นคือต้องให้เวลาเราสักเดือนสองเดือนก็จะเห็นว่า เรามีความตั้งใจที่จะทำให้ประเทศชาติ มันก็โอเค แต่โอกาสมันไม่ให้”

 

ความเสียใจ…

“ผมก็เสียใจ แต่ที่เสียใจคือทำให้กองทัพวางตัวลำบาก ประชาชนส่วนหนึ่งก็เกลียดชังกองทัพ เขามองไม่เห็นว่าอะไรที่กองทัพได้ทำมา กลายเป็นว่าเป็นความผิดของกองทัพ เราก็เสียใจว่า เราเป็นคนหนึ่ง เราเป็นคนที่เชิดชูกองทัพ เรียนมาเพื่อหวังที่จะทำให้กองทัพเข้มแข็งมั่นคง เป็นที่พึ่งที่ศรัทธาของประชาชน แต่เรากับมีส่วนทำให้กองทัพต้องถูกโจมตี ก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา แต่ไม่เคยคิดโทษใคร หรือโทษคนรอบข้าง เราต้องโทษตัวเราเอง ไม่มีใครมาทำอะไรได้ ถ้าเราตัดสินใจว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเราไปโทษคนรอบข้างเราก็แย่”

อย่างไรก็ตาม ท่านยังมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

“ตอนนี้ก็คงมีทั้งคนชอบและคนเกลียด คนที่เขาไมชอบก็แยะ แต่คนชอบก็มี ไปไหนมาไหนคนก็ยังทัก ยังไหว้ทั่วไปหมด ไม่ว่าจะไปที่ไหน กับคนในกองทัพก็ลูกน้องเราทั้งนั้น แต่กับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะไปที่ไหนจะต้องมีคนเข้ามาไหว้ เข้ามาทักทายว่าสบายดีหรือ ไม่เห็นหน้าตั้งนาน ไม่เห็นออกทีวี อะไรต่างๆ ก็ยังดี ยังมีคนทัก แม้แต่ชาวบบ้านต่างจังหวัดก็เหมือนกัน ก็ยังมาทัก ก็ยังคิดว่ามีคนรักมากกว่าคนเกลียด”

ไปเมืองนอก…

“มีหลายคนเตรียมตัวให้หนี เพราะไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนั้นมันวุ่นๆก็เลยไปอยู่บ้านตุ๋ยที่กรม 11 เพราะมันอยู่ในหน่วยทหาร ยังคิดว่าถ้ามันรุนแรงอะไรไป เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาจะทำยังไงกับเราก็ไม่แน่ แต่ไม่คิดว่าจะออกนอกประเทศ ยังๆ ก็ไม่คิดออกนอกประเทศ

เราเกิดที่นี่ ตายที่นี่ เราบอกไม่ออก เรื่องอะไรจะหนีไป เกิดที่นี่ก็จะตายที่นี่ ยังไงก็ไม่ออก”

 

บทเรียน

พลเอกสุจินดา คราประยูร สรุปบทเรียนสำคัญเมื่อทหารต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง

“บทเรียนประการสำคัญที่ได้รับก็คือ ทหารยังไม่ลึกซึ้งกับการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เต็มไปด้วยกลเกม”

จิตวิทยาฝูงชน…

“ประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปทางใดทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น ใครที่สามารถนำจิตวิทยาฝูงชนได้และสามารถปลุกระดมได้ ทำให้ประชาชนเชื่อถือได้ คนนั้นก็จะได้เปรียบ ทั้งที่บางครั้งเรื่องที่นำไปไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องที่เป็นจริง แต่เขาได้เปรียบ ความจริงทหารน่าจะมีการข่าวที่ดีกว่านี้ และการสลายม็อบก็จะต้องมีเครื่องมือมีวิธีการ”

เรื่องของ “มือที่สาม” ดูเหมือนจะยังคงเป็นวิธีการหลักทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมืองที่ต้องการนำไปสู่ความรุนแรง

“เพราะเหตุที่มันจะทำให้เกิด หรือฝ่ายปราบปรามหรือทหารที่จะทนไม่ไหว ก็เพราะว่าเราเรียกว่า “มือที่สาม” ดีกว่า “มือที่สาม” คือผู้ที่ใช้ประโยชน์ เป็นผู้ที่หวังประโยชน์จากการเกิดการจลาจล ซึ่งมีวิธีการใช้การยิงทหาร โดยยิงลงมาจากบนตึก ซึ่งมันก็ปรากฏมาตั้งแต่ 14 ตุลา 6 ตุลา ก็ปรากฏอย่างนี้

สมมติทหารไปตั้งอยู่ที่ไหน มันก็จะขึ้นไปบนตึกสูง แล้วก็แอบยิงลงมา ซึ่งนี่ก็เป็นบทเรียน

แต่ว่าบทเรียนก็คือว่าถ้าเขาทำให้ทหารยิงปืนขึ้นไปนัดแรกเมื่อไหร่ เขาก็จะประสบชัยชนะ เพราะไม่มีทหารที่ไหนจะยิงประชาชนที่เป็นคนมือเปล่าได้ ยังไงก็ยิงไม่ได้ ทำไม่ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าเขาทำให้ทหารเกิดอะไรขึ้นมา ซึ่งโดยที่แท้จริงแล้วเวลาที่ทหารยิงก็ยิงขึ้นฟ้าทั้งนั้น ไม่มีใครที่จะไปยิงอย่างนั้น”

จุดอ่อนของกองทัพ…

“ที่เราพูดกันนักพูดกันหนาแล้วว่าเราไม่มีเครื่องมือในการปราบจลาจลที่มันสมบูรณ์แบบเลย เช่น พวกกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาก็ไม่ได้เตรียมการไว้ แล้วหน่วยทหารจริงๆ ที่ใช้ก็ไม่เพียงพอ สมมติเราฝึกทหารไว้ปราบจลาจลสักกองพันหนึ่ง เอาเข้าจริงๆแล้วมันจะต้องใช้กำลังมากกว่านั้นก็ต้องใช้กำลังจากที่อื่น

อย่างในตอนนั้นก็ต้องใช้ทหารอากาศมาจากดอนเมืองที่เขามาโดยสมัครใจ ยิ่งทหารอากาศพวกนี้เขาเป็นหน่วยสำหรับป้องกันสนามบิน เวลาเกิดอะไรขึ้นมันคนละอย่างกันกับจลาจล มันคนละอย่างกัน พวกสนามบินเป็นพวกมีอาวุธ มันจู่โจมเข้ามา พวกนี้ก็ฝึกสำหรับการต่อสู้ในลักษณะอย่างนั้น ไม่ได้ฝึกในการต่อสู้กับมวลชนที่ไม่ได้มีอาวุธ

หรือการเอาทหารจากหัวเมืองเข้ามา เพราะทหารในกรุงเทพฯไม่พอที่จะรับ เพราะต้องผลัดเวรกัน มันเหน็ดมันเหนื่อยกัน อะไรต่างๆ ก็มีกำลังไม่เพียงพอที่จะใช้”

เรื่องของการเดินขบวน…

“การชุมนุมใดๆ ก็ตาม ความจริงถ้าทำให้เป็นไปตามกรอบ ตามระเบียบ ตามกฎหมายของบ้านเมือง มันก็จะไม่มีเรื่องยุ่ง ไม่มีการชุมนุมที่ไหนที่มีการตั้งวงดนตรี มีการเลี้ยงสุรายาเมากัน ความจริงมันไม่ได้ ที่ไหนก็ทำไม่ได้ หรืออย่างแรลลีหรือเขาเดินขบวนกันในต่างประเทศ บางประเทศเขาบอกว่าเดินเดินไปนะ ห้ามหยุด เดินไปไหนก็เดินไปเรื่อย จะไปหยุดที่ไหนได้ หยุดชุมนุมไม่ได้ มันก็โอเค ไม่มีปัญหา

แต่ของเรามันเดินแล้วไปหยุด มีการตั้งเวที มีการเลี้ยง มีการแจกอาหารกัน มันก็ควบคุมยาก เพราะความจริงมันผิดตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว แต่ตำรวจไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะการใช้เครื่องขยายเสียงต้องขออนุญาตใช่ไหม แต่นี่มีการร้องเพลง เอาดนตรีเข้ามาเป็นการดึงคน

คนที่มาชุมนุมไม่ใช่ว่าส่วนใหญ่จะมาเพื่ออะไร แต่บางคนก็อยากจะมาฟังดนตรี บางคนก็อยากมาดูอะไรต่ออะไร แต่มันใช้วิธีการโน้มน้าวซึ่งเป็นเรื่องยาก ซึ่งถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น ปัญหามันก็จะน้อย ไม่ต้องมาเดือดร้อนทหาร”

ถึงวันนี้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ยังคงยึดมั่นในความคิดที่จะไม่ยอมสยบให้กับการใช้กฎหมู่หรือการใช้มอบไล่รัฐบาล

“กรณีใดก็ตามที่ใครมาเป็นรัฐบาลหรือนายกฯ นายกชวนฯ เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน (ให้สัมภาษณ์ 2542) มีม็อบขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะทำอย่างไร คุณจะกราบม็อบแล้ววิ่งหนีเขาไปหรือไง คือถ้าม็อบถูกต้องก็ไม่ทำอะไร แต่ถ้าทำให้บ้านเมืองเสียหาย เจ้าหน้าที่รัฐระงับไม่ได้

ให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ ผมก็ต้องทำอย่างนั้นอีก”