ตุนไว้แล้ว 250 เสียง “ส.ว.วันชัย” ผู้ทำคลอดไอเดีย “ส.ว.โหวตนายกฯ“ แต่เปลี่ยนใจภายหลัง

การเมืองไทยเวลานี้ โจทย์ใหญ่ที่ยังคงมีบทบาทต่อทิศทางการเมืองทั้งประเทศ และมีผลต่อประชากรกว่า 70 ล้านคน คือสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน

ในจำนวนส.ว. 250 คน นั้นเต็มไปด้วยบุคคลที่ใกล้ชิดเคยทำงานร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) หรือแม้แต่คนในครอบครัวคสช

และทั้งหมดนั้นพกดาบอาญาสิทธิ์มาคนละเล่ม คือ การโหวตเลือกนายกฯ โดยอำนาจนั้นจะสิ้นสุดหลังสมาชิกวุฒิสภา ครบวาระ 5 ปี คือ วันที่ 11 พฤษภาคม 2567

ทบทวนกันอีกครั้ง แนวคิดนี้ ได้แต่ใดมา

ส.ว.วันชัย ผู้ทำคลอด
แนวคิดให้
ส.ว. โหวตนายกฯ

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 มีคลิปวิดีโอหนึ่งที่ถูกเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย โดยเป็นงานสังสรรค์ประจำปีของเด็กวัดวัดไตรมิตร ซึ่งในนั้นคือ “นายวันชัย สอนศิริ” ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีเลือก ส.ว. ว่ามีวิธีการสรรหาอย่างไร โดยมีคสามตอนหนึ่งว่า

“…ผมเป็นคนเขียนในรัฐธรรมนูญ ปกติ ส.ว.จะไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ ไม่มีสิทธิ์ไปโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญโดยเสนอในสมัยที่ผมเป็น สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ให้ ส.ว. 250 คนนี้ มีสิทธิร่วมในการโหวตคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเป็นคำถามพ่วง พวกเราจำได้หรือเปล่า คำถามพ่วงนี้ก็โหวตทั่วประเทศได้ 15 ล้านเสียง ว่าเห็นด้วย ว่าให้ส.ว.ที่คสช.ตั้งขึ้นมา มีสิทธิ์โหวตนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนเริ่มต้นคำถามพ่วง และมีคนเห็นด้วย 15 ล้านเสียง ปรบมือให้ผมหน่อย…”

“…แปลว่า คสช.มีคนที่จะโหวตให้เขาเป็น นายกฯ อยู่ในกระเป๋า 250 ต่อไปนี้จะโหวตนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียง 375 เสียง คสช. มีอยู่ 250 แล้ว (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นไปหามาอีกสักร้อยกว่าเสียงก็ได้ 376 ก็เป็นนายกฯ ได้ แต่บริหารไม่ได้ จะต้องมีเสียงในสภาล่างเกินกว่า 250 เสียง เพราะฉะนั้นเชื่อเหลือเกินว่า รัฐบาลที่เขามีอยู่แล้ว 250 หรือ คสช. เขาไปมีพรรคอื่นๆ รวมกัน ก็เชื่อเหลือเกินว่า ได้มาอีกสักเกินกว่า 280 ก็เป็นรัฐบาลได้…”

ส.ว.วันชัย version ปี 2563
“ต้องปิดสวิตซ์ ส.ว. ไม่ให้โหวตนายกฯ”

ในวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลาในการประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ปรากฎว่า ส.ว. 249 คน ยกมือเทคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างพร้อมเพรียง (งดออกเสียง 1 คน คือนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา)

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้มีกระแสเรียกร้องให้เกิดการแก้ รธน. โดยคนหลายกลุ่ม เนื่องจากเห็นว่าทั้งเนื้อหา รธน. และกระบวนการไม่ได้มาจากเสียงของประชาชนโดยแท้จริง

โดยในปี 2563 “มติชนสุดสัปดาห์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ส.ว.วันชัย ในประเด็นข้างต้นเช่นกัน มีความต่อหนึ่งระบุว่า

“…ผมมองดูว่ามันเป็นระเบิดเวลา มันถึงเวลาที่จะต้องชำระสะสางกับปัญหาในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นปัญหาหนึ่งของความขัดแย้ง ที่ทั้ง ส.ส. โดยรวมทั้งฝั่งรัฐบาลเองก็เห็นว่ามีประเด็นปัญหาอยู่ รวมทั้ง ส.ว.ก็เห็น ภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น ตรงไหนที่เป็นปัญหา เป็นข้อขัดแย้ง ผมว่าแก้ไขซะ เพื่อที่จะลดความขัดแย้ง ดับไฟแห่งความแตกแยก บ้านเมืองเราตอนนี้ไม่มีเวลาที่จะต้องมาทะเลาะกัน เราทะเลาะกันมาเป็นสิบๆ ปี”

ส.ว.วันชัยบอกอีกว่า “เผอิญผมเองอยู่ในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้นก็มองว่าต้องแก้ไขในหลายประเด็น นอกจากกรณีแรกที่กล่าวไปแล้วว่าการโหวตนายกฯ ที่ไม่ควรต้องมีแล้ว เรื่องต่อมาคือการให้ ผบ.เหล่าทัพมานั่งเป็น ส.ว. 6 ตำแหน่ง คนร่างคงหวังให้ท่านมานั่งเพื่อป้องกันการรัฐประหาร เพื่อให้รับรู้ทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงๆ มันเป็นความลำบากของคนเหล่านี้ที่งานปกติก็เต็มมืออยู่แล้ว บางทีก็มาเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น…”

คำตอบยืนยันจาก ส.ว.วันชัย มองว่าถึงเวลาที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศออกจากวิกฤตขัดแย้ง และส.ว. ไม่จำเป็นต้องรักษาอำนาจนายกฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่านแต่อย่างใด (อ่านบทสัมภาษณ์เต็ม เปิดอก วันชัย สอนศิริ : ยกเลิก ส.ว.ได้เลย ไม่ต้องโหวตนายกฯ เอา ผบ.ออกไป ปรับใหม่ที่มา)

ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ซื้อ
ปิดสวิตช์ไม่สำเร็จ

7 กันยายน 2565 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรธน. ว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขทั้ง 4 ร่าง หรือไม่

โดย 1 ใน 4 ร่างนั้นคือ ร่างแก้ไขมาตรา 272 เกี่ยวกับการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และประชาชนเข้าชื่อเสนอ

ผลการลงคะแนน ดังนี้
เห็นชอบ
ส.ส. 333 คะแนน ส.ว. 23 คะแนน
ไม่เห็นชอบ ส.ส. 102 คะแนน ส.ว. 151 คะแนน
งดออกเสียง ส.ส. 8 คะแนน ส.ว. 45 คะแนน

โดยหนึ่งในส.ว. ที่รับหลักการเรื่องการตัดอำนาจโหวตเลือกนายกฯ คือ นายวันชัย 

แต่อาจเป็นเพราะกลไกที่ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ วางไว้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญต้องอาศัย ส.ว. 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย ทำให้การปิดสวิตซ์นั้นไม่สำเร็จ

ปี 2566
คำว่า “ปิดสวิตช์” ของเรา
ไม่เท่ากัน

ในช่วงที่สังคมเรียกร้องการ “ปิดสวิตซ์ ส.ว.” ความหมายที่เข้าใจกัน คือ การงดใช้อำนาจตัวเอง โดยทำตามติเสียงส่วนใหญ่ของประชาชาน

จนกระทั่งช่วงใกล้เลือกตั้ง เริ่มมีส.ว.บางท่านแสดงจุดยืนว่าจะ “ปิดสวิตซ์ตัวเอง” โดยการ “งดออกเสียง” ไม่โหวตเลือกนายกฯ สร้างความโล่งใจให้ประชาชน เรียกเสียงสรรเสริญแซ่ซ้องจากสังคมได้ไม่น้อยว่าเป็นส.ว.ที่ยืนเคียงข้างประชาธิปไตย

แต่ไปๆ มาๆ ความหมายของคำว่า “ปิดสวิตซ์” เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อคำว่า “งดออกเสียง” ที่ส.ว.บางท่าหมายถึงนั้น มีค่าเท่ากับการ “สวนมติของประชาชน”

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า กติกาในรอบนี้ ส.ว. จะมีสิทธิในการโหวตนายกฯ ซึ่งในระบบมันไม่ถูกต้องที่ ส.ว.จะมีสิทธินี้ ประชาชนเลือกนายกฯ ผ่านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ส. ก็ประกาศกับประชาชนว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ เพราะพรรคแต่พรรคก็จะมีว่าที่นายกฯ อยู่แล้ว ส.ส. แต่ละคนจึงได้ฉันทานุมัติจากประชาชนแล้วในการเลือกนายกฯ ดังนั้นวิธีการโหวตของ ส.ว. ก็ควรจะฟังเสียงของประชาชน

ดังนั้น “การงดออกเสียง” ในวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยที่ให้ ส.ว.มาร่วมเลือกนายกฯ ด้วย ถ้าหากพรรคที่จะเป็นรัฐบาลได้ 313 เสียง แล้วส.ว.งดออกเสียง

ความหมายคือ “ไม่รับรองรัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากของประชาชน”

13 ก.ค. 2566 รู้กันว่าผลโหวตจะออกมาเป็นอย่างไร