ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (4) พ่อค้าสานฝันการศึกษา

สมหมาย ปาริจฉัตต์

รายงานพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ตามรอยครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (4)

พ่อค้าสานฝันการศึกษา

 

บรูไนดารุสซาลาม ประกาศเอกราชจากอังกฤษ พ.ศ.2527 หลังจากนั้นไม่นาน เขาเดินทางไปเสี่ยงโชคในบรูไน ใช้ชีวิตอยู่มาจนถึงวันนี้ 32 ปี

คุณพายัพ นิลแย้ม นายกสมาคมคนไทยในบรูไน เจ้าของร้านอาหารไทย ไทยฟู้ด 25 ปีในย่านเจลิดอง พร้อมสตรีไทยอีก 2 คน มารอร่วมเวที กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และคณะเอกอัครราชทูตไทยประจำบรูไน พบครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี บรูไน พบสื่อมวลชนบรูไน และพบนักธุรกิจไทยในบรูไน

“บทบาทของสมาคมคนไทยในบรูไน คอยให้ความช่วยเหลือประสานงานกับคนไทยด้วยกัน เวลาสถานทูตมีกิจกรรมวันสำคัญๆ เช่น วันชาติ รวบรวมเชิญชวนคนไทยแต่งชุดไทยไปเดินพาเหรดร่วมกับประเทศอาเซียน เผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทย และกิจกรรมอื่นๆ ตอบรับเชิญมาร่วมเวทีการศึกษาวันนี้”

เริ่มตั้งแต่ครูรัตนาวาติ ครูบรูไนคนแรกได้รับคัดเลือกเข้ารับพระราชทานรางวัลครูสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กลุ่มผู้ประกอบการไทยในบรูไนช่วยกันเรี่ยไรเงินบริจาคซื้อของเล่นเด็กพร้อมค่าจัดส่งไปให้เด็กพิเศษของครู

อีกทั้งสนับสนุนให้เธอเดินทางมาร่วมกิจกรรมดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการศึกษาพิเศษในเมืองไทย

ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษาเอกชน เชิญชวนเข้าศึกษาด้านธุรกิจ ติดตั้งทั่วไปตามริมถนนกลางเมืองหลวง

“บรูไนเวลานี้มีคนไทยอยู่ราว 400 คน เป็นสมาชิกสมาคมคนไทยในบรูไนประมาณ 100 กว่าคน ส่วนตัวผมทำธุรกิจร้านอาหารไทย จดทะเบียนในนามของผู้หญิงบรูไนคู่สมรส ทำให้ได้รับสิทธิ์ความช่วยเหลือจากรัฐบาล ช่วงหลังนี้คนไทยมาเปิดร้านอาหาร ต่างชาติก็มี ดึงกุ๊กไทยมาทำอาหาร ทำให้แข่งขันกันมาก ช่วงสองปีระหว่างสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ร้านอาหารเดือดร้อนมากจากมาตรการห้ามนั่งกินในร้าน”

“ทำธุรกิจในบรูไน เปิดอู่ซ่อมรถรายได้ดี เพราะครอบครัวบรูไนใช้รถคนละคัน มีลูกกี่คน ขับรถได้ก็ผ่อนเลยเพราะราคาถูก บางทีรถเสียไม่ซ่อม ซื้อใหม่เลย ราคารถโตโยต้า 30,000-40,000 ดอลลาร์บรูไน ราว 1 ล้านบาทไทย เบนซ์ 100,000 ดอลลาร์บรูไน ราว 2,500,000 บาทไทย คนบรูไนไม่ค่อยนั่งรถเมล์ แท็กซี่” คำบอกเล่าของเขา ทำให้นึกถึงวันแรกเดินทางถึงสนามบิน ผู้โดยสารเกือบเต็มลำเดินต่อแถวกันมา มองเห็นแท็กซี่สาธารณะจอดรออยู่คันเดียว

คนบรูไนรายได้หลักส่วนใหญ่รับราชการ ประชาชนมีเงินสนับสนุนจากรัฐบาลองค์สุลต่าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทุกอย่างฟรีหมด การศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรี ไม่มีระบบภาษี

คนบรูไนไม่ทำงานหนักอย่างงานเสิร์ฟในร้านอาหาร แต่ทำในร้านฟาสต์ฟู้ดสมัยใหม่

ทำให้ทางร้านต้องอาศัยคนงานอินโดนีเซีย ปากีสถาน ค่าตอบแทนเดือนละ 600 ดอลลาร์บรูไนราว 15,000 กว่าบาท

“ช่วงเทศกาลฮารีรายอ สุลต่านประทานเงินพิเศษคนละ 1,000 ดอลลาร์สำหรับคนโสดไม่แต่งงาน”

คุณพายัพ นิลแย้ม นายกสมาคมคนไทยในบรูไน เจ้าของร้านอาหารไทยยอดนิยม

“คนบรูไนชอบเมนูอาหารไทยอะไรครับ” นักชิมทุกอย่างที่ขวางหน้าจากกรุงเทพฯ ขัดจังหวะ

“ต้มยำกุ้งครับ อาหารยอดนิยม กิน 4 คน 8 เหรียญ ราว 200 บาท รสชาติพอดีๆ ไม่เผ็ดมาก วัตถุดิบบางอย่างหาได้ในบรูไน ข่า ตะไคร้ ปลูกได้ช่วยประหยัดต้นทุน บางอย่างนำเข้ามาจากเมืองไทย อย่างเม็ดพริกไทย กระชาย

กุ๊กเป็นคนไทยมุสลิม อาหารฮาลาลต้องทำถูกต้องตามหลักศาสนา ตามกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจ ไม่เสียภาษี แต่ต่อไปไม่แน่ อนาคตได้ข่าวแว่วๆ ว่าอาจจะต้องจ่าย”

คำทิ้งท้ายของเขา บ่งบอกสัญญาณบางอย่างถึงเศรษฐกิจภาพรวม กำลังก้าวไปตามวิสัยทัศน์ บรูไน 2035 หรือ Wawasan 2035

ท่านทูตบุศราเอ่ยเชิญครูบรูไนที่ชำนาญการจัดการอาหารมาร่วมโชว์ทำอาหารกับกุ๊กร้านอาหารไทยในงานที่สถานทูตจะจัดขึ้นในโอกาสต่อไป

“เราเป็นเพื่อนของทุกคน สถานทูตเปิดสำหรับทุกท่าน ขอเชิญมาร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินี ‘Thailand Grand Fair'”

คุณกุหลาบ บำรุงกิจ อดีตครูนาฏศิลป์ไทย หันมาทำธุรกิจนำเข้า ส่งออกสินค้า

โฆษกส่งไมค์เชิญนักธุรกิจหญิงไทยคนใหม่ต่อให้คุณกุหลาบ บำรุงกิจ เจ้าของกิจการนำเข้าสินค้าไทย จีน มาเลย์ มาจำหน่ายในบรูไน

เธอคุยกับผมก่อนรับไมค์ในเวที “ก่อนเดินทางมาใช้ชีวิตที่บรูไนเธอเคยเป็นครูนาฏศิลป์ ครูโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนดรุณศึกษาลัย สามีเคยเป็นนักการทูตบรูไนประจำปากีสถาน แต่งงานแล้วย้ายมาอยู่บรูไน ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ไม่สามารถย้ายไปประจำเมืองไทยได้

“ทำธุรกิจนำเข้า ส่งออก ลูกค้ามีทั้งร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต รับคำสั่งซื้อทุกอย่าง ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ อย่างน้ำตาลปี๊บ เสียภาษีนำเข้าต่ำ 3-5% ภาษีรายได้ไม่เสีย แต่ค่าขนส่งแพงมาก”

ก่อนย้ำ “ขอพูดในฐานะแม่นะคะ ไม่ได้เตรียมมา มีลูกครึ่งไทย บรูไน เรียนมัธยม ก่อนอื่นขอขอบคุณ ยินดีต้อนรับคณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาของไทยและอาเซียนมาก รู้สึกเป็นเกียรติได้พบ รู้จักครูที่ได้รับพระราชทานรางวัล”

“การศึกษาบรูไนเข้มข้น ทำให้กดดันนักเรียนและผู้ปกครอง ต้องเรียนติวตั้งแต่ ป.5 ถึง ม.5 ปีสุดท้าย เสียค่าติวแพงกว่าค่าเทอม วิชาละ 80 เหรียญต่อเดือน 8 ครั้ง ถ้าวิชาบัญชี 120 เหรียญ ใช้ข้อสอบมาตรฐานอังกฤษ”

“เลยแนะนำให้ลูกเรียนดนตรีไทย เล่นระนาด ฝึกความสามารถทางดนตรี ฝึกภาษาไทย คลายเครียด”

“โรงเรียนรัฐบาลเรียนฟรี เรียนวิชาชีพ เทคนิคมีเงินช่วยเหลือ มีเงินเดือนให้ ค่าเล่าเรียนโรงเรียนเอกชนเดือนละ 200 ดอลลาร์บรูไน หลักสูตรอินเตอร์ยิ่งแพงกว่า เด็กบรูไนจบ ม.6 ต้องสอบผ่าน 8 ตัว คณิต ภาษามาเลย์ สังคม ชีวะ ฟิสิกส์ เคมี อังกฤษ บัญชี ถึงเข้ามหาวิทยาลัยได้”

อดีตครูนาฏศิลป์หันมาเอาดีทางค้าขายเล่าต่อ “หลานเรียนวิศวะโยธาจากอังกฤษ 5 ปีแล้วกลับมายังไม่มีงาน เลยทำธุรกิจค้าขายเสื้อผ้า ตำแหน่งงานมีน้อย ภาคเอกชนก็มีไม่มากพอ เอาคนต่างชาติที่ทำงานอาชีพหลักออกเพื่อให้คนบรูไนมีงานทำ แต่คนบรูไนไม่ทำงานระดับล่าง ไม่เป็นกรรมกร”

“ที่จูดี้ปาร์ก สวนสนุกขนาดใหญ่ ตอนสร้างใช้แรงงานไทยมาทำให้ ชาวบรูไนเที่ยวฟรีตั้งแต่ 1997 สร้างเสร็จคนงานไทยเดินทางกลับ ตอนนี้เริ่มเก็บเงิน”

เรื่องเล่าความเป็นไปของบรูไนของเธอ สะท้อนภาพความเคยชินกับการจ้างแรงงานต่างชาติ การเป็นประเทศผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ยามต้องการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หารายได้เพิ่มหลังสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ทำให้ต้องฝ่าปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือคุณภาพ

 

นักธุรกิจหญิงไทยคนต่อมา สามีเป็นคนจีนมาเลย์ ลงทุนทำกิจการโรงแรม Stone vill ขนาด 36 ห้อง ภัตตาคาร และร้านอาหารไทย จีน ที่เมืองทัมบูลง

“ทัมบูลงเคยเป็นเมืองที่ถูกลืม แต่ก่อนการเดินทางต้องไปทางถนนนานเป็นชั่วโมง จนมีการสร้างสะพานใช้เวลาแค่ 15 นาที ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยว เรียกกันว่า มงกุฎสีเขียวแห่งบรูไน มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งทางเดินบนยอดไม้ ล่องแพ แคมปิ้ง สะพานรอบอุทยาน อยากชวนทุกท่านมาดูกิจการของคนไทย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบรูไน จีน” เธอทิ้งท้ายด้วยเวลาอันจำกัด

บทสนทนาเปิดใจของสามนักธุรกิจไทยจบลง ผมคิดถึงคำของอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานประจำบรูไน ที่พบช่วงเช้าวันเดียวกัน

“ผมเอาลูกมาเรียนอินเตอร์ที่บรูไน” มีอะไรดีๆ น่าคิด ชวนฟังทีเดียว