คุยกับทูต | เปาโล ดิโอนิซี สานสัมพันธ์ 155 ปี ไทย-อิตาลี (2)

คุยกับทูต | เปาโล ดิโอนิซี สานสัมพันธ์ 155 ปี ไทย-อิตาลี (2)

 

“อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การเลือกตั้งในประเทศไทยเมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างที่ดีของการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างสูงในการลงคะแนนเสียง ด้วยผู้ออกมาใช้เสียงมีจำนวนที่มากกว่าการเลือกตั้งในยุโรป ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าประเทศไทยได้กลายเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แล้ว”

นายเปาโล ดิโอนิซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยให้ความคิดเห็น

“ตอนนี้ กำลังรอการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อที่เราจะได้เริ่มทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยชุดใหม่ในวาระที่มีร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

อิตาลีมีประวัติความสัมพันธ์ที่ดียิ่งกับไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านธุรกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ ตัวเลขการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่ผ่านมา

“เป็นความจริง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความสนใจในธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศของเราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากภาวะฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดสิ้นสุดลง ในปีที่แล้ว การค้าทวิภาคีของเราเติบโตขึ้น 26% แตะระดับ 4.2 พันล้านยูโร ซึ่งทำสถิติที่สูงเป็นประวัติการณ์ในประวัติศาสตร์การค้าของเรา”

“อีกทั้งมีการลงทุนมากมายทั้งสองทาง โดยมีบริษัทอิตาลีกว่า 100 แห่งในประเทศไทย และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) การลงทุนจากอิตาลีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2017-กันยายน 2022) รวม 37 โครงการ มูลค่ารวม 435.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการลงทุนของไทยในอิตาลีอีกหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าหลักของอิตาลี “La Rinascente” และไทยยูเนี่ยน เจ้าของแบรนด์อาหารที่สำคัญ เช่น Mareblu”

นายเปาโล ดิโอนิซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

ความสนใจของนักธุรกิจอิตาลีที่จะมาลงทุนในประเทศไทย

“ไทยและอิตาลีมีความคล้ายคลึงกันหลายประการในการตัดสินใจวางเดิมพันกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล เมื่อดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูโลกสีเขียว อิตาลีกำลังลงทุนอย่างมากในการปรับปรุงเศรษฐกิจให้ทันสมัยด้วยเงิน 240 พันล้านยูโรที่จัดสรรให้กับประเทศของเราภายในแผน Next Generation EU”

สำหรับยุโรปมีแผนฟื้นฟูที่เรียกว่า Next Generation EU เป็นความพยายามที่จะใช้ประโยชน์สูงสุดจากงบประมาณของสหภาพยุโรป แผนฟื้นฟูใหม่นี้มีมูลค่า 750,000 ล้านยูโร และเมื่อนำเงินจำนวนดังกล่าวไปรวมกับเงินงบประมาณปี 2021-2027 ที่มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโร จะทำให้ยอดเงินอยู่ที่ 1.85 ล้านล้านยูโร ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสมาชิกอียูมีความเข้มแข็งกว่าเดิมภายหลังการระบาด และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของสหภาพยุโรปในการรับมือวิกฤตการณ์ในอนาคต (EUinThailand)

“ซึ่งประเทศไทยก็ได้ดำเนินการเช่นเดียวกันผ่านโครงการ Thailand 4.0 และโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ดังนั้น ผมจึงจะบอกว่าภาคนวัตกรรมเหล่านั้นเป็นภาคที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในขณะนี้”

ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในประเทศไทย

“ยังมีอุปสรรคบางประการสำหรับบริษัทอิตาลีที่ต้องการส่งออกสินค้าของตนเข้ามาในประเทศไทยเนื่องจากภาษีศุลกากรที่สูงและปัญหามาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อย่างไรก็ตาม ผมมีความมั่นใจว่าพวกเขาจะเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้เนื่องจากการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีจะเริ่มต้นในอีกไม่นานนี้ ความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปจะทำให้บริษัทอิตาลีมีโอกาสมากมายสำหรับที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงธุรกิจดั้งเดิมที่ผลิตในอิตาลี เช่น อาหาร แฟชั่น และเฟอร์นิเจอร์”

นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 1868 ไทยและอิตาลีมีความสัมพันธ์ทวิภาคีมายาวนานกว่า 155 ปี และมีความร่วมมือกันหลายด้าน

สำหรับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) ในอนาคต

“ผมคิดว่าเป็นยุทธศาสตร์ของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างเราในอนาคต ดังที่บอกไปก่อนหน้านี้ โดยเราทั้งสองประเทศกำลังเดิมพันกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดิจิทัล ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันให้มากขึ้นทางเทคโนโลยีใหม่ๆ”

“อิตาลีเป็นประเทศที่มีบทบาทสูงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากที่สุด ทั้งเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำในยุโรปและในโลกด้านบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตและการใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และการนำเทคโนโลยี 4.0 มาใช้”

“เราจึงเต็มใจที่จะกระชับความร่วมมือกับประเทศไทยในด้านนี้ ซึ่งได้รับการระบุแล้วว่ามีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ของเราตั้งแต่ปี 2004 จากการลงนามระหว่างไทยและอิตาลีในข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี”

อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ Space Krenovation Park อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.-GISTDA) และองค์การอวกาศอิตาลี (ASI)

“สทอภ. และองค์การอวกาศอิตาลี (ASI) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในปี 2012 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในภาคส่วนที่เป็นยุทธศาสตร์สำหรับทั้งสองประเทศ แม้ว่ากิจกรรมต่างๆ ได้ชะลอตัวลงในช่วงหลายปีที่เกิดโรคระบาด แต่ตอนนี้เราทั้งคู่ยินดีที่จะกลับมาเริ่มต้นกันใหม่และกระชับความร่วมมือนี้ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”

“ตัวอย่างคือ สัญญาระหว่างบริษัท E-Geos ของอิตาลี และ GISTDA ซึ่งได้รับการต่ออายุในเดือนมกราคม 2021 สำหรับการเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียม COSMO-SkyMed และสัญญาการบำรุงรักษาสถานี COSMO-SkyMed ติดตั้งที่ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (Space Krenovation Park) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี”

“อิตาลีมีอุตสาหกรรมการบินและอวกาศที่คึกคักอย่างแท้จริง โดยมีห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์และบริการอย่างสมบูรณ์แบบ มีมูลค่าการซื้อขายปีละ 2.4 พันล้านดอลลาร์ มีองค์กร 200 แห่ง และคลัสเตอร์เทคโนโลยี 12 กลุ่ม เราสนับสนุนระบบดาวเทียมติดตามและถ่ายทอดข้อมูล รวมทั้งมีส่วนร่วมในภารกิจระหว่างประเทศด้านวงโคจร อุปกรณ์ และองค์ประกอบพื้นผิว”

สหภาพยุโรปและ 36 ประเทศ ร่วมแสดงพลังสนับสนุนยูเครน ในวันครบหนึ่งปีของการรุกราน 24 กุมภาพันธ์ 2023

อิตาลีกับวิกฤตความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน

การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียในปีที่ผ่านมาทำให้เกิดอาชญากรรมสงคราม ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจของโลก ดันราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูงขึ้น และยังบ่อนทำลายเสถียรภาพของระบบพหุภาคีระหว่างประเทศ

อิตาลีซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (EEC) ปัจจุบันคือสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเหนียวแน่น โดยเอกอัครราชทูตเปาโล ดิโอนิซี ยืนยันว่าอิตาลีพร้อมให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ในการเผชิญหน้ากับการรุกรานของรัสเซีย

“เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมระหว่างประเทศ หลักการที่สำคัญของเราคือ มิให้ประเทศใดถูกโจมตีโดยประเทศอื่นได้ ชาติสมาชิกได้ทำข้อตกลงในการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันกรณีที่สมาชิกถูกโจมตีด้วยอาวุธ นี่คือหลักการข้อแรกที่เราทุกคนในโลกควรปกป้อง และเมื่อยูเครนถูกโจมตีอย่างเต็มรูปแบบ ทั่วโลกจึงออกมาแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบและอิตาลีก็เช่นกัน”

“อิตาลีขอประณามรัสเซียด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในการเข้ารุกรานยูเครนซึ่งปราศจากการยั่วยุ อย่างโหดร้าย ไร้ความยุติธรรม เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรมอย่างโจ่งแจ้ง เราสนับสนุนบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน อำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ และความเป็นอิสระภายในพรมแดนอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”

“อิตาลีมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในมาตรการของสหภาพยุโรปและนาโตในการให้ความช่วยเหลือยูเครนทางทหารและการฝึกทหาร เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ เพราะชาวยูเครนมีสิทธิที่จะป้องกันตนเองจากการรุกรานจากต่างประเทศ และขณะนี้ อิตาลีได้อนุมัติชุดสนับสนุนทางทหารที่สำคัญ 6 ชุดแล้ว”

นายเปาโล ดิโอนิซี (Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

“นอกจากนี้ เราได้ให้ความช่วยเหลือแก่พลเรือนยูเครน ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านการเงิน ด้านมนุษยธรรม และเหตุฉุกเฉิน ความช่วยเหลือนี้จะดำเนินต่อไป รวมทั้งรายการความช่วยเหลืออื่นๆ ด้วย”

“แม้ว่ารัสเซียจะเคยเป็นหนึ่งในคู่ค้าทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของอิตาลี แต่รัสเซียถูกมาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงที่โลกตะวันตกกำลังใช้ลงโทษ เพื่อพยายามยับยั้งไม่ให้รัสเซียเข้ารุกรานยูเครน”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐเคยกล่าวว่า “กองกำลังของเราไม่เข้าร่วมและจะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งครั้งนี้ กำลังทหารของเราจะไม่เข้าไปในยุโรปเพื่อสู้รบในยูเครน แต่เข้าไปเพื่อปกป้องพันธมิตรของนาโต และสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตรในยุโรปตะวันออก”

เนื่องจากยูเครนยังไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโต ตราบใดที่สงครามกับรัสเซียยังคงมีการสู้รบกันอยู่ ทำให้ชาติสมาชิกนาโตไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนได้โดยตรง มาตรา 5 (Article 5) ของสนธิสัญญานาโตระบุไว้ว่า หากชาติสมาชิกใดของนาโตถูกโจมตีจะเท่ากับทุกประเทศของนาโตถูกโจมตี และจะถูกทุกประเทศในนาโตร่วมมือกันในการตอบโต้กลับ

เอกอัครราชทูตเปาโล กล่าวว่า

“เราพยายามอย่างเต็มที่ในทุกระดับเพื่อให้สงครามยุติลงทันที สถานการณ์ควรจะเริ่มต้นใหม่เหมือนที่เคยเป็นมาก่อนที่จะเกิดการรุกราน เพราะในช่วง 70 ปีที่ผ่านมายุโรปไม่มีสงคราม และไม่ควรจะมีสงครามเกิดขึ้นที่ไหนอีกแล้ว” •

เอกอัครราชทูตเปาโล กับภาพลูชาโน ปาวารอตตี นักร้องโอเปร่าเสียงเทเนอร์ชาวอิตาลี ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่ง

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin