“คดีสังหารหะยีสุหลง” ปริศนาดำมืด ในอาณาจักร “รัฐตำรวจ”

คณะรัฐประหารยังคงปกครองบ้านเมืองต่อไปภายใต้ “รัฐตำรวจ” จนถึงปลายปี พ.ศ.2495 ก่อนการรัฐประหารทางวิทยุใน 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปิดฉากการรุกต่อศัตรูทางการเมืองของคณะรัฐประหารอีกครั้งด้วยการกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 ในข้อหาว่ามีการยุยงก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง

เป้าหมายของการกวาดล้างจับกุมนั้นกว้างขวางและครอบคลุมไปทั่วทุกปริมณฑล

รวมคนที่ถูกจับกุมนับร้อยคน แต่ในที่สุดหลายคนก็ได้รับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีหลังจากที่ถูกคุมขังอยู่ระยะหนึ่ง เช่น สุภา ศิริมานนท์ สุวัฒน์ วรดิลก น.ต.สำรวจ กาญจนสิทธิ์ (อดีต “ทส.พระยาทรงสุรเดช”) ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ เป็นต้น

ต่อมาได้มีการยื่นฟ้องดำเนินคดีอย่างเป็นทางการต่อผู้ที่ถูกจับกุมในข้อหาว่า “เป็นกบฏ” และ “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดมีจำนวน 42 คนจากที่ถูกจับกุมคุมขังในชั้นต้นกว่าร้อยคน

ต่อมาศาลได้พิพากษาลงโทษบางคน และหลายคนปล่อยตัวพ้นข้อหา

และเพื่อความสมเหตุผลในการจัดการต่อศัตรูทางการเมือง รัฐบาลจึงได้ผลักดัน “พระราชบัญญัติปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 หลังการกวาดล้างจับกุมใหญ่ได้ 3 วัน

สภาลงมติรับหลักการด้วยคะแนนเสียง 131 ต่อ 2

ผู้คัดค้านคือ แคล้ว นรปติ ส.ส.ขอนแก่น และบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ส.ส.ลำปาง เท่านั้น

พระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลต่อๆ มาเป็นเวลายาวนาน

ในจำนวนผู้ถูกจับกุมครั้งนี้มีนักหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งคืออารีย์ ลีวีระ ซึ่งแม้จะได้รับการปล่อยตัว แต่ก็ถูกสังหารชีวิตในปีถัดมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2496

อารีย์ ลีวีระ เป็นเจ้าของกิจการบริษัทไทยพาณิชยการ ซึ่งเป็นผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ฉบับเช้า และหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” ฉบับบ่าย ถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดในวงการหนังสือพิมพ์ขณะนั้น

และมีข่าวต่อมาว่า เหตุผลสำคัญนอกจากการทำหน้าที่หนังสือพิมพ์อย่างเคร่งครัดในวิชาชีพซึ่งไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลแล้ว ยังมีข่าวว่าที่อารีย์ต้องถูกสังหาร เพราะ พล.ต.อ.เผ่าต้องการซื้อหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์ไทยพาณิชยการของอารีย์ แต่อารีย์ไม่ยินยอมตกลง

ผู้ที่ทำการสังหารก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใกล้ชิด พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์

นอกจากนั้น หลังการกวาดล้างใหญ่ครั้งนี้เพียงไม่ถึงเดือนก็มีกรณีการสังหารเตียง ศิริขันธ์ พร้อมพวกรวม 5 คน เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2495 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ใกล้ชิด พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อีกเช่นกัน

 

คดีสังหารหะยีสุหลง

หะยีสุหลง เกิดเมื่อปี พ.ศ.2438 ที่หมู่บ้านกำปงอาเนาะรู (หมู่บ้านลูกสน) มณฑลปัตตานี เมื่อเติบโตขึ้นมา บิดาได้ส่งไปเรียนศาสนาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย จนแตกฉานทั้งในเรื่องศาสนา ปรัชญา และภาษาทางมุสลิม

หะยีสุหลงตั้งใจจะกลับมาเผยแผ่ศาสนาที่มณฑลปัตตานีอันเป็นบ้านเกิด ได้เดินทางกลับมาเมื่อปี พ.ศ.2470 ก่อนจะพบว่าชาวมุสลิมที่นั่นยังมีสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและนับถือภูตผีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดกับหลักทางศาสนาอิสลามอย่างรุนแรง

จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้ก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนา หรือ “ปอเนาะ” ขึ้นมาเป็นแห่งแรก ด้วยเงินเริ่มต้นที่รวบรวมหามาได้ 3,500 บาท

ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 หะยีสุหลงได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เงินช่วยเหลือมาอีก 3,500 บาท รวมเป็น 7,000 บาท

ปอเนาะแห่งแรกในประเทศไทยจึงถือกำเนิดขึ้นมาได้

ขณะที่หะยีสุหลงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานีเมื่อปี พ.ศ.2490 ได้เสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อให้ความเป็นธรรมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมในพื้นที่ต่อรัฐบาลที่มี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ต่อมาได้เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ข้อเรียกร้องทั้ง 7 ข้อของหะยีสุหลงถูกเพ่งเล็งว่าเป็นกบฏกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร

จนในที่สุดถูกจำคุกด้วยข้อหาปลุกระดมและก่อการกบฏเพื่อแบ่งแยกดินแดน

ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน โทษฐานกล่าวร้ายรัฐบาลในเอกสารที่แจกจ่ายยังประชาชนในท้องถิ่น ส่วนโทษฐานแบ่งแยกดินแดน ศาลพิจารณาให้ยกฟ้อง

เมื่อพ้นโทษออกมา หะยีสุหลงก็ยังถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ จนกระทั่งในเช้าตรู่ของวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2497 หลังเสร็จจากละหมาดในตอนเช้าแล้ว หะยีสุหลงพร้อมกับนายอาหมัด โต๊ะมีนา บุตรชายคนโตวัย 15 ปี ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาไทย (เนื่องจากหะยีสุหลงไม่สามารถพูดภาษาไทย) ได้เดินทางออกจากบ้านพักส่วนตัวที่

จังหวัดปัตตานี ไปยังกองบังคับการตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพรรคพวกอีก 2 คน รวมเป็น 4 คน ก่อนที่ทั้งหมดจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย

นำมาซึ่งความเชื่อว่าทั้งหมดถูกฆาตกรรมทางการเมืองด้วยฝีมือของตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ซึ่งเรื่องราวการหายตัวไปของหะยีสุหลงเป็นข่าวอย่างครึกโครม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซีย

ทางครอบครัว ภริยาและนายเด่น โต๊ะมีนา บุตรชายของหะยีสุหลงได้เดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อติดตามเรื่องราว ก็ไม่ได้ความคืบหน้าใดๆ

จนกระทั่งมีการปฏิวัติในปี พ.ศ.2500 รัฐบาลได้มีการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยมี พล.ต.ต.ฉัตร หนุนภักดี เป็นประธาน

ในที่สุดนายตำรวจผู้ที่ลงมือในการฆาตกรรมครั้งนี้ก็รับสารภาพว่าได้สังหารบุคคลทั้ง 4 ในบังกะโลริมทะเลสาบสงขลา จากคำสั่งโดยตรงทางโทรศัพท์ของรัฐบาลในขณะนั้น ผ่านทางผู้บังคับการตำรวจจังหวัดสงขลา ด้วยการใช้เชือกรัดคอและคว้านท้องศพทั้งหมดแล้วอำพรางด้วยการนำศพไปผูกไว้กับแท่งซีเมนต์ในทะเลสาบสงขลา ใกล้กับเกาะหนู เกาะแมว

ซึ่งเมื่อทุกอย่างกระจ่างได้มีการส่งนักประดาน้ำลงไปงมหาศพ แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปหลายปีจากที่เกิดเหตุ ทำให้ไม่พบศพหรือเศษซากใดๆ

การสังหารทางการเมืองหลังรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2492 หลัง “กบฏวังหลวง” เป็นต้นมา ประเดิมด้วยการเสียชีวิตจากการถูกยิงของ พ.ต.โผน อินทรทัต อดีตเสรีไทย พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข 4 อดีตรัฐมนตรี น.ท.พจน์ กลิ่นทอง ดร.ทวี ตะเวทิกุล นายเตียง ศิริขันธ์ กับพวกรวม 5 ศพ นายอารีย์ ลีวีระ และหะยีสุหลง

เหล่านี้ล้วนเป็นที่ทราบกันในหมู่หนังสือพิมพ์และประชาชนทั่วไป

แต่เนื่องจากถูกกดทับด้วยอำนาจมืดจนตกอยู่ในอาณาจักรแห่งความกลัวแห่ง “รัฐตำรวจ”

เรื่องราวทั้งหมดจึงเป็นเพียงปริศนาดำมืดที่แอบซุบซิบกันในที่ลับ

ส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นฝีมือตำรวจ แต่ก็ไม่อาจดำเนินการอันใดได้