วัฒนธรรมเปอร์เชีย ในแดนสยาม

เปอร์เชียหรือที่ปัจจุบันรู้จักกันในนามประเทศอิหร่าน มีประวัติศาสตร์และอารยธรรมรุ่งเรืองอย่างยาวนาน มีความสัมพันธ์กับผู้คนในดินแดนสยามอย่างยาวนาน อย่างน้อยที่เป็นลายลักษณ์อักษรย้อนไปถึงสมัยอยุธยา

จากความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้มีการรับและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในหลากหลายด้าน ซึ่งหาอ่านได้จากหนังสือที่ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมเปอร์เชียในแวดวงวรรณกรรมซึ่งมีอยู่หลายเล่ม

อาทิ ความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, บันทึกของคณะราชทูตเปอร์เชียเข้ามากรุงศรีอยุธยา สำเภากษัตริย์สุลัยมาน ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์, มุสลิมผู้นำ “ปฐมจุฬาราชมนตรี” คนแรกในสยาม พิทยา บุนนาค, ขุนนางกรมท่าขวา : การศึกษาบทบาทและหน้าที่ในสมัยอยุธยาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2153-2435 จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์, กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เชียในเมืองสยาม จักรพันธุ์ กังวาฬ และคณะ

ล่าสุด มีงานค้นคว้าล่าสุดที่ว่าด้วยเรื่องวัฒนธรรมทางภาษาและวรรณคดีเปอร์เชียที่ปรากฏในวัฒนธรรมไทย ในหนังสือเรื่อง กุหลาบเปอร์เชีย ในแดนสยาม เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย

บทแรกกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของเปอร์เชีย ร่องรอยวัฒนธรรมเปอร์เชียที่ปรากฏในเอเชียอาคเนย์ อยุธยา และวัฒนธรรมเปอร์เชียได้ผสมผสานอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย

บทที่ 2 บทวิเคราะห์วรรณคดีเปอร์เชียที่ชาวสยามรู้จัก เช่น นิทานสิบสองเหลี่ยม, รุไบยาต, นิทานพันหนึ่งราตรี เป็นต้น

บทที่ 3 วิเคราะห์ศัพท์เปอร์เชียที่ปรากฏในภาษาไทย แบ่งเป็นหมวดเสื้อผ้าอาภรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ ผู้คน และการปรุงรสปรุงสุคนธ์

ด้วยเนื้อหาที่แน่นมากในหนังสือเล่มนี้ จึงขอคัดเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มานำเสนอดังนี้

ภาพวาดขุนนางสยามสวมลอมพอก
ที่มา : La Loubere, Simon de. 1961. Du Royaume de Siam. Amsterdam : Abraham Wolfgang.

คำว่า “เปอร์เชีย” มาจากคำว่าอะไร?

เปอร์เชียเป็นคำเรียกชนชาติและวัฒนธรรมของประเทศอิหร่าน

มีที่มาจากคำว่าปาร์ส (Pars) ซึ่งเป็นชื่อดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ (ปัจจุบันเรียกดินแดนนี้ว่า ฟาร์ส (Fars) ตามสำเนียงอาหรับซึ่งไม่มีเสียง /ป/)

ปาร์สเป็นคำ exonym ที่คนนอกอย่างชาวตะวันตกเรียกดินแดนอิหร่านโดยรวม

เริ่มจากชาวกรีก ตามมาด้วยชาวยิวและชาวอาหรับ

ต่อจากนั้นก็แพร่หลายไปทั่วจนเป็นคำเรียกชื่อดินแดนแทนคำว่า อิหร่าน ซึ่งชาวเมืองใช้เรียกประเทศของเขามาแต่เดิม

ไพร่พลของพระเจ้าไกโคชรูสวมลอมพอกแบบต่างๆ (ภาพวาดในศตวรรษที่ 16 ในหนังสือชาห์นามะ)
ที่มา : Canby, Sheila R. 2003. “Safavid Painting” in Hunt for Paradise : Court.Arts of Safarid
Iran 1501-1576, pp. 73-133. Edited by Jon Thompson and Sheila R. Canby.
Milan : Skira editors.

หลักฐานเปอร์เชีย ทางโบราณคดี

การค้นพบเหรียญของเปอร์เชียสมัยราชวงศ์ซาซานีย์ เป็นเหรียญเงินเหรียญหนึ่งและเหรียญทองอีกเหรียญหนึ่ง มีอายุเก่าถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 พบบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทยที่แหล่งเมืองท่ายะรังในจังหวัดปัตตานี

อีกทั้งการพบเหรียญเงิน 2 เหรียญของเปอร์เชียสมัยราชวงศ์อับบาชีย์ (ค.ศ.750-1258) ที่เมืองเมอร์บอกในคาบสมุทรมลายู

และการพบอัญมณีที่เจียระไนทรงหลังเบี้ยหรือหลังเต่า (cabochon) แบบเปอร์เชียสมัยราชวงศ์ซาชานีย์ที่แหล่งโบราณคดีอ๊อกแอว (Oc Eo) อาณาจักรฟูนานในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของเปอร์เชียในด้านการค้าขายและความสัมพันธ์กับดินแดนในแถบเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีผลต่อการเผยแพร่อิทธิพลของวัฒนธรรมเปอร์เชียในดินแดนดังกล่าวด้วย

 

พระราชนิยมศิลปะแบบเปอร์เชีย
ของสมเด็จพระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีพระราชนิยมศิลปะแบบเปอร์เชีย พบที่บ้านพักราชทูตเปอร์เชีย เมืองลพบุรี คือตึกโคระส่าน และตึกปีจู (ปัจจุบันเป็นกุฏิสงฆ์ วัดเสาธงนอก เมืองลพบุรี) ตึกโคระส่านหรือตึกคชสารได้ชื่อมาจากชื่อแคว้นคุราซานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่าน (ชาวสยามเรียกมุสลิมเปอร์เชียที่มาจากแคว้นคุราชานว่า แขกเมืองโคระส่าน)

ส่วนตึกปีจูสันนิษฐานว่ามาจากชื่อ Bijapur เมืองหนึ่งในรัฐสุลต่านแห่งเดคคาน เป็นเมืองศูนย์การค้าอัญมณีของอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ชื่อปีจูที่น่าจะมาจากชื่อเมืองนี้จึงสอดคล้องกับการที่ตึกนี้ได้รับการขนานนามว่า “ตึกคัดเพชรพลอย” ซึ่งพ่อค้าแขกนำอัญมณีมาถวาย หรือขายให้แก่ราชสำนักสยาม

อ.จุพิศพงศ์ จุฬารัตน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าบ้านพักของราชทูตทั้ง 2 หลังนี้ตรงกับคำบรรยายใน สำเภากษัตริย์สุลัยมาน ว่า

“อาคารสองหลังนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นพิเศษสำหรับพวกเราตามแบบอิหร่าน ประกอบด้วยห้องหลายห้องและมีฮัมมาม [โรงอาบน้ำ] แห่งหนึ่งอยู่ข้างนอกที่ด้านหนึ่ง”

จุพิศพงศ์เรียกอาคารลักษณะนี้ว่า ดีวาน เป็นสถาปัตยกรรมที่นิยมสร้างในเขตพระราชวังของเปอร์เชียหรือพระราชวังของรัฐมุสลิมในอินเดียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17

ตรงกับ “หอดีวัง [หอดีวาน]” ซึ่งลา ลูแบร์ กล่าวไว้ว่าเป็นที่พักรับรองคณะราชทูตในกรุงสยาม มีลักษณะเป็นหอใหญ่ มีผนัง 3 ด้าน ด้านที่ 4 เปิดโล่งไว้ทางด้านที่แสงแดดสาดเข้าถึง ด้านนี้มีพะไลยื่นออกไปบังสูงเท่าตัวหลังคา

 

ศัพท์เปอร์เชียในภาษาไทย

ในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 หมวด พร้อมคำอธิบายอย่างละเอียด

เสื้อผ้าอาภรณ์ กั้นหยั่น กากี กุฎไต กุหร่า ขนสมุน ขาวม้า เข้มขาบ คร่ำ ครุย จะดัด ฉีด-ฉีก ปัศตู มัสรู่ ยั่นตะนี ย่ำมะหวาด ยี่ก่า ราชาวดี ลอมพอก สักหลาด ส่าน ส้ารบับ อัตลัด

ข้าวของเครื่องใช้ ผู้คน กระชับ กะลาสี ขันที จาระบี ชุกชี ตราชู ปสาน ภาษี วิลาศ สรไน สรั่ง อะไหล่

การปรุงรสปรุงสุคนธ์ กระลำพัก กะหล่ำ กานพลู กุหลาบ มัศกอด ยี่หร่า ลูกเกด ลูกบ้าดำ ลูกเอ็น สุหร่าย หญ้าฝรั่น องุ่น อาจาด อาลัว อำพัน

คำศัพท์ต่างๆ ที่ได้รับมาจากเปอร์เชียมีทั้งคำที่ใช้กันในราชสำนักและในหมู่ชนชั้นสูง คำเหล่านี้เป็นตัวอย่างของคำต่างภาษาที่มีรูปคำและเสียงคำแปลกตาแปลกหู แต่คนไทยก็รับมาปรับใช้ให้เข้ากับภาษาไทยได้อย่างกลมกลืน เป็นการเลือกรับด้วยความชอบและความสมัครใจ

สิ่งเหล่านี้เป็นร่องรอยส่วนหนึ่งที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับเปอร์เชียซึ่งมีมาช้านาน

 

กุหลาบเปอร์เชีย ในแดนสยาม เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กุสุมา รักษมณี จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา

กุหลาบเปอร์เชีย ในแดนสยาม เล่มละ 670 บาท

สั่งซื้อได้ที่มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา โทรศัพท์ 0-2062-9905

และกองงานในพระองค์ กองงานในพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพฯ 10303 โทรศัพท์ 0-2280-3581-9 ต่อ 671 โทรสาร 0-2280-1639

โดยรายได้จากการขายหนังสือ จัดสรรเป็นทุนช่วยการศึกษานักเรียนและนักศึกษา ที่มีความอุตสาหะในการศึกษา แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์

และ www.matichonbook.com