คุยกับทูต | โจนาธาน คิงส์ นิวซีแลนด์บนเวทีโลกวันนี้ (2)

ประเทศไทยยังคงเป็นที่เชื่อมั่นให้เป็นฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องด้วยขนาดตลาด (market size) และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในภูมิภาคเอเชีย

ที่ผ่านมาจึงมีนักลงทุนชาวนิวซีแลนด์เข้ามาเปิดธุรกิจหรือร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการไทยในหลายกิจการ

เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย นายโจนาธาน คิงส์ (H.E. Mr. Jonathan Kings) เล่าถึงการลงทุนของนิวซีแลนด์ในไทย

“บริษัทนิวซีแลนด์ที่มีสำนักงานในประเทศไทยอยู่ในเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม อาหารและเครื่องดื่ม แม้ว่าตัวแทนสำนักงานที่นี่จะยังมีจำนวนไม่มากนักก็ตาม ได้แก่ Fisher & Paykel Appliances (Thailand) Co., Ltd. ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า, Beca (Thailand) Limited ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม, Morris and Watson (Thailand) Limited นำเข้าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ, Orion Health (Thailand) Limited บริษัทซอฟต์แวร์ทางการแพทย์, T&G (Thailand), Fonterra Brands และ Fonterra Ingredient ด้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น”

จากการปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบครอบคลุมปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 ทำให้นิวซีแลนด์มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและพัฒนาเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก โดยมีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่เป็นฐานการผลิตหลักของประเทศ

อีกทั้งต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อจะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนนิวซีแลนด์ โดยมีมาตรการการลงทุนของคนต่างชาติที่เป็นระดับสากลทั่วไปและมีนโยบายที่เปิดเสรี ยกเว้นในการลงทุนบางประเภทเท่านั้นที่สงวนไว้ให้คนในประเทศ

และถึงแม้จะมีประชากรเพียงห้าล้านกว่าคน แต่นิวซีแลนด์ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “ประเทศซาอุดีอาระเบียแห่งนม” (Saudi Arabia of Milk) ก็ยังครองอันดับ 7 หรือ 8 ในแง่ของการผลิตนม

ในปี 2021 เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ที่สุดในโลกและคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35 ของการค้าผลิตภัณฑ์นมทั่วโลก

นอกจากนี้ ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวก็เป็นอีกแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ

“นิวซีแลนด์เป็นจุดหมายปลายทางที่มั่นคงและปลอดภัยสำหรับการลงทุน เรามีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ระบบการเมืองที่มั่นคง สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เชื่อถือได้และยังเสนอโอกาสในการลงทุน โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจ”

“ดังนั้น เราจึงประสบความสำเร็จอย่างมากในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ”

นายโจนาธาน คิงส์ (H.E. Mr. Jonathan Kings) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับนิวซีแลนด์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1956

ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างใกล้ชิด มีความร่วมมือที่ครอบคลุมหลายสาขาโดยเฉพาะการศึกษา การทหาร เทคโนโลยีการเกษตร

“ส่วนความร่วมมือในด้านวัฒนธรรมที่ดีที่สุดของเราอาจเป็นผลงานของประเทศต่างๆ ที่มีต่อ K-Pop ซึ่งประเทศไทยสนับสนุน Lisa ส่วนนิวซีแลนด์สนับสนุน Rose และ Jennie”

BLACKPINK เป็นศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ K-Pop ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสี่คนคือ จีซู, เจนนี, โรเซ และลิซ่า ซึ่งมาจัดคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์ในไทยเมื่อไม่นานมานี้

เจนนี (Jennie Kim) เรียนที่นิวซีแลนด์ ในช่วงอายุ 10-15 ปี, โรเซ (Roseanne Park) เกิดในนิวซีแลนด์และเติบโตในออสเตรเลีย, ส่วนลิซ่า (Lalisa Manobal) สาวน้อยจากประเทศไทย เป็นคนเดียวในวงที่ไม่มีเชื้อสายเกาหลี

วง Blackpink

“นอกจากนี้ เราเป็นผู้จัดหาเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และอาหารทะเลที่ดีที่สุดในโลก และประเทศไทยก็จัดหาอาหารไทยที่ดีที่สุดในโลกเช่นกัน”

“สำหรับผู้ที่ต้องการไปทำธุรกิจและใช้ชีวิตในนิวซีแลนด์ แดนแห่งคุณภาพชีวิตระดับโลกทั้งธุรกิจและไลฟ์สไตล์ จะพบว่า นิวซีแลนด์เป็นสถานที่ที่สมบูรณ์แบบทั้งในด้านการลงทุนและอยู่อาศัย”

ท่านทูตและภรรยา นางอแมนด้า แมคโดนัลด์

นิวซีแลนด์มีเศรษฐกิจแบบเปิด และพัฒนาเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก จึงติดอันดับโลกในหลายๆ ด้าน เช่น

“ติดอันดับ 1 ใน 141 ประเทศ ด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค, เป็นประเทศที่มีความสงบสุขอันดับ 2 ของโลก, ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ติดอันดับ 3 สำหรับความสามารถในการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ (ITCI), 9 ใน 10 ของผู้ย้ายถิ่นพบว่า การต้อนรับเป็นไปตาม หรือเกินความคาดหมาย”

“ส่วนนักลงทุนที่ต้องการไปลงทุนในนิวซีแลนด์ เราเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านความโปร่งใสเรื่องคอร์รัปชั่น”

“เราอยู่ในอันดับ 11 ของโลกในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ, อันดับที่ 11 จาก 77 ประเทศด้านความซับซ้อนในการทำธุรกิจน้อยที่สุด และการศึกษาระดับ World-class ของ 8 มหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ ติดอันดับท็อป 3% มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก”

“มีบริษัทด้านการเกษตรประมาณ 300 แห่งที่ดำเนินธุรกิจในนิวซีแลนด์ โดยมีมูลค่าการส่งออก 1.4 พันล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ในปี 2018 และอัตราการเติบโตต่อปีที่ 4% พร้อมโอกาสมากมายสำหรับการเติบโตต่อไป”

“ส่วน Healthtech เป็นภาคส่วนเทคโนโลยีทุติยภูมิที่ใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ สร้างรายได้ให้นิวซีแลนด์ 1.8 พันล้านดอลลาร์ และมีอัตราการเติบโตต่อปี 5 ปีที่ 10% ในปี 2018 ด้วยความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้านวิทยาศาสตร์และการค้า ภาคส่วนเทคโนโลยีด้านสุขภาพของนิวซีแลนด์จึงแข็งแกร่งในส่วนเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของประชาชนทั่วโลก”

HealthTech สตาร์ตอัพสายสุขภาพ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นหลังจากเกิดวิกฤต Covid-19 ทั้งในด้านการลงทุนและการตอบสนองพฤติกรรมของผู้คนที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ประกอบกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)

ส่งผลให้ HeathTech เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอุตสาหกรรมการแพทย์

นายโจนาธาน คิงส์ (H.E. Mr. Jonathan Kings) เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย

นิวซีแลนด์กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ

“ภาคอวกาศของนิวซีแลนด์มีมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018-2019 เกิดการสร้างงานขึ้นถึง 12,000 ตำแหน่ง เราอยู่ในแนวหน้าของการแข่งขันในอวกาศ และเป็นผู้เล่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก โดยมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอวกาศอย่างยั่งยืน”

“บริษัท Zenith Tecnica ของนิวซีแลนด์ใช้การพิมพ์ 3 มิติไทเทเนียมแบบยั่งยืนเพื่อลดปัญหาของเสียที่เกิดจากการผลิตชิ้นงานต้นแบบของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ผลจากกระบวนการผลิตทำให้เกือบเป็นศูนย์ ส่วนประกอบเหล่านี้จึงทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้”

“บริษัท Dawn Aerospace ในเมืองไครสต์เชิร์ชได้ออกแบบเครื่องขับดันดาวเทียมหรือ ‘ระบบขับเคลื่อนในอวกาศ’ ซึ่งขับเคลื่อนดาวเทียมเมื่ออยู่ในวงโคจรแล้ว สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการชนกันและการสูญเสียดาวเทียม”

“ด้าน Kea Aerospace พัฒนาอากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถบินต่อเนื่องได้นานหลายเดือน และ Kea Atmos ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ( Stratosphere ) ทำให้ภาพถ่ายทางอากาศมีความละเอียดสูง สามารถใช้สำหรับข่าวกรองธุรกิจ เช่น การตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม การให้บริการทางทะเล และการจัดการภัยพิบัติโดยไม่ปล่อยมลพิษ”

นิวซีแลนด์ยังตั้งเป้าเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ไร้คนขับระดับโลกและคาดหวังว่าจะเปลี่ยนเป็นประเทศที่ใช้แต่รถยนต์ไร้คนขับในอนาคต

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตโจนาธาน คิงส์ ชี้แจงว่า

“มีหลายบริษัทในนิวซีแลนด์ที่ทำงานด้านอากาศยานไร้คนขับและยานยนต์ไร้คนขับ และกำลังดำเนินการเพื่อช่วยให้ประเทศบรรลุแผนลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin