ศึกสายเลือดทหารเสือฯ ‘พี่ป้อม-น้องตู่’ แรง สะเทือนกองทัพ สะเทือนเก้าอี้ ผบ.ทบ.

ศึกสายเลือดทหารเสือฯ ‘พี่ป้อม-น้องตู่’ แรง สะเทือนกองทัพ สะเทือนเก้าอี้ ผบ.ทบ. วัดดวง ‘บิ๊กต่อ-บิ๊กโต’

 

กําลังเป็นที่คาดการณ์กันในกองทัพบกว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมีผลต่อการเลือก ผบ.ทบ.มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะเมื่อบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แยกทางกันแบบแตกหัก แถมชิงเก้าอี้นายกฯ กันเองเสียด้วย

ต้องยอมรับว่า แผงอำนาจ 3 ป. ถือว่าแข็งแกร่ง เฟื่องฟูมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เมื่อบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. และเมื่อบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตรมาเป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ต่อเนื่องด้วยการดัน พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ยาว 4 ปี และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนเป็นนายกฯ 5 ปีในยุค คสช. จนมาปัจจุบัน

ด้วยเพราะพี่น้อง 3 ป. ยังเป็นหนึ่งเดียว เนื้อเดียวกันอยู่

แต่มาวันนี้ พี่น้อง 3 ป.แยกทางเดินทางการเมือง แยกพรรค จนนำมาซึ่งระยะห่างที่มากขึ้น หวาดระแวงกันเองมากขึ้น และกลายเป็นคู่แข่งทางการเมือง

เมื่อต่างคนต่างเป็นนักการเมืองเต็มตัวกันแล้ว พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็ตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) สำรองไว้ เมื่อไม่อาจเข้าไปร่วมแชร์อำนาจในพรรคพลังประชารัฐได้

ความขัดแย้งยิ่งสูงขึ้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจแยกทางแยกพรรค และดูด ส.ส.ในพรรค พปชร.ไปพรรคใหม่ด้วย ก่อนสมัครเป็นสมาชิกพรรค รทสช. และเปิดตัวเมื่อ 9 มกราคมที่ผ่านมา

ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ก็อ้างว่า ที่ต้องย้ายเพราะพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ

 

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ใช้การสมัครเป็นสมาชิกและเปิดตัวของ พล.อ.ประยุทธ์กับพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเหตุ ในการไฟเขียวให้ทีมงานพรรคพลังประชารัฐเผยแพร่จดหมายเปิดใจของตนเอง ที่ถือว่าการนับ 1 ในการต่อสู้กันในฐานะนักการเมือง ของพี่น้อง 2 ป. ทหารเสือฯ

ที่ถือเป็นการโยนระเบิดหลายลูกใส่ พล.อ.ประยุทธ์อย่างเปิดเผยและชัดเจน แม้ พล.อ.ประวิตรจะไม่ได้เขียนเอง แต่ก็ยอมรับว่า เป็นคนเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทีมงานพรรคพลังประชารัฐ ที่มีนายอันวาร์ สาและ อดีต ส.ส.ปัตตานี ปชป. ที่เพิ่งย้ายมา พปชร. และนายสัญญา สถิรบุตร รับทราบจึงมาเขียนเป็นจดหมายเปิดใจ ซึ่งตนเองได้อ่านก่อนที่จะเผยแพร่แล้ว “ก็ไม่เห็นมีอะไร เรื่องจริงทั้งนั้น”

แม้ว่าเป้าหมายของจดหมายฉบับนี้ของ พล.อ.ประวิตร คือเพื่อต้องการดึงให้ ส.ส.ยังคงอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ไม่ทิ้งพรรค หรือย้ายพรรค โดยยืนยันว่าจะรับผิดชอบและดูแลพรรคต่อไปโดยไม่ทิ้งใคร ขอให้เชื่อมั่นในการที่จะเดินหน้าต่อสู้ศึกเลือกตั้งและกลับมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารบ้านเมืองอีกครั้งก็ตาม

แต่ก็มีการเล่าที่มา จนต้องพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ในหลายเรื่อง ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ขอให้มาช่วยหลังรัฐประหาร นั่งรองนายกฯ และ รมว. กลาโหม หวังจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้คืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ไม่ได้มีส่วนในการรัฐประหาร เพราะเกษียณตั้งแต่กันยายน 2548 แล้ว

 

ระเบิดลูกแรกที่โยนใส่ พล.อ.ประยุทธ์ คือการระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เพราะเป็นทหารอาชีพมาทั้งชีวิต พล.อ.ประวิตรจึง ตัดสินใจสนับสนุนตั้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกฯ “ตามที่เจ้าตัวปรารถนา”

ระเบิดลูกที่ 2 พล.อ.ประวิตรระบุในจดหมายว่า ช่วงเป็นแกนนำรัฐบาล มีทั้งเรื่องที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจใน ครม. แต่จำเป็นต้องสงวนท่าทีตามมารยาททางการเมือง

ระเบิดลูกที่ 3 พล.อ.ประวิตรระบุว่า มาบัดนี้ ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์แสดงจุดยืนทางการเมือง 9 มกราคม 2566 ว่าจะแยกทางจากพรรคพลังประชารัฐที่เคยสนับสนุนขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า อ้างสื่อเสนอข่าวมาตลอดว่า พรรครวมไทยสร้างชาติถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคสำรองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

ที่ถูกตีความว่าเป็นการตอกย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการสืบทอดอำนาจ ต้องการเป็นนายกฯ ต่อ ตั้งแต่ตั้ง พปชร. จนมาพรรค รทสช. โดยอ้างว่าภารกิจยังไม่สำเร็จ

ก่อนตอกย้ำด้วยระเบิดลูกที่ 4 ที่สวมบท “พี่ใหญ่ พี่ชายที่แสนดี” และทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่า ทิ้งพรรค พปชร. ไปพรรคใหม่ ทิ้งพรรคที่ตั้งขึ้นมา ให้พี่ใหญ่ต้องดูแล

พล.อ.ประวิตรระบุใน จ.ม.ยืนยันว่า “3 ป. Forever” มาวันนี้ ผมก็ยังมีความรู้สึกเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในเมื่อท่านตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ผมก็ไม่สามารถจะบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ คงจะบอกได้เพียงว่า ผมขอแสดงความยินดี ขอให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองใหม่ที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกแล้ว

ก่อนที่จะสรุปจบว่า

“สำหรับผม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขอประกาศในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะขอรับผิดชอบและจะไม่มีวันทอดทิ้งสมาชิกพรรคทุกคนที่เคยทำงานการเมืองมาด้วยกัน และพร้อมจะเดินนำทุกคนที่มีความเชื่อมั่นในความตั้งใจอันแน่วแน่ของผม เข้าสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป เพื่อกลับมาเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง”

 

แม้จดหมายนี้จะสะใจฝ่ายค้าน ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และนักการเมือง ที่เห็น 3 ป.แตกแยกกันเองหนักขึ้นทุกวัน

แต่สำหรับฝ่ายที่สนับสนุน 3 ป.มาตลอด และน้องๆ ในกองทัพ ต่างไม่สบายใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรขัดแย้งกัน

จากที่เคยถูกมองในแง่ดีว่า เป็นการแยกทางกันเดินทางการเมืองตามกลยุทธ์ทางทหารที่ว่า “แยกกันเดิน รวมกันตี” เพราะหลังเลือกตั้งก็สามารถที่จะจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่ความขัดแย้งที่มากขึ้น ทั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รวมทั้งคนรอบข้างของทั้งสองฝ่ายและ 2 พรรค จะทำให้จากพี่น้องกลายเป็นคู่แข่งทางการเมือง และอาจเป็นศัตรูทางการเมืองกันในที่สุด

นายทหารหลายคนไม่เห็นด้วยกับการเผยแพร่ความในใจของ พล.อ.ประวิตรในลักษณะนี้ เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ของ พล.อ.ประวิตร จากที่เคยเป็นพี่ใหญ่ พี่ชายที่แสนดี กลายเป็น “ฆ่าน้อง”

มันคือกลยุทธ์ทางการเมือง เพราะตอนนี้ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่างเป็นนักการเมืองเต็มตัวกันแล้ว” ทีมงาน พปชร.ระบุ

หากย้อนดูที่มาที่ไป ก่อนที่พี่น้อง 3 ป.จะแตกแยกกันแล้ว จะพบว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่างเป็นฝ่ายสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตนเอง และคนรอบข้างของทั้งสองฝ่ายก็มีความขัดแย้งกันสูง

ฟางเส้นสุดท้ายในความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร คือกรณีการวัดพลังในช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์

เพราะมีข่าวสะพัดในเวลานั้นว่าฝ่าย พล.อ.ประวิตร และคนใกล้ชิด ต้องการจะหยุด พล.อ.ประยุทธ์ โดยต้องการให้วินิจฉัยให้ครบวาระ 8 ปี แต่ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ก็สู้ จนที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาให้เริ่มนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ปี 2560 และตีความกันว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึงปี 2568

อีกทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เปลี่ยน มท.1 ในการปรับ ครม.ที่ผ่านมา โดยให้ พล.อ.อนุพงษ์ พี่รักนั่งต่อ ที่เป็นดัชนีชี้วัดมาก่อนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์จะย้ายพรรคไป รทสช. จึงไม่มอบอำนาจให้ พล.อ.ประวิตรเป็น มท.1

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ก็ขอโควต้า 2 เก้าอี้ รมต.ของ พปชร.คืน จากที่นายกฯ ปลดธรรมนัส พรหมเผ่า-นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ไป

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ให้แค่ 1 เก้าอี้แก่แกนนำกลุ่มปากน้ำ นายสุนทร ปานแสงทอง มาเป็น รมช.เกษตรฯ เท่านั้น

และยึด 1 เก้าอี้ไปยกให้แด๊ก นายธนกร วังบุญคงชนะ เป็นโฆษกประจำสำนักนายกฯ คนที่ 2 เพราะนายธนกร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พปชร. องครักษ์จะย้ายมา รทสช.ด้วย

 

นอกจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์หวาดระแวงว่า พล.อ.ประวิตรจะเปลี่ยนจุดยืน ไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย จนเกิดกระแสข่าว Big Deal หรือ Super Deal เพราะ พล.อ.ประวิตรผลักดันบัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ และสูตรนับคะแนนแบบหารด้วย 100 ที่เป็นผลดีกับพรรคการเมืองใหญ่ โดยเฉพาะ พท.

อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร ก็ไม่เคยปิดประตูโอกาสในการจับมือกัน แต่บอกให้รอดูสถานการณ์ก่อน แถมมีข่าว ร.อ.ธรรมนัสและน้องชายที่ใกล้ชิด ไปเจรจากับเจ้าของพรรคเพื่อไทยในต่างแดน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ที่อยู่ในอำนาจมายาวนาน ก็ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ไม่มี พล.อ.ประวิตร พี่ใหญ่ ตนเองก็สามารถที่จะเดินบนถนนทางการเมืองได้โดยทีมงานใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเกรงใจและอยู่ใต้ร่มเงา พล.อ.ประวิตรอีกต่อไป

แต่ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมีคะแนนนิยม และภาพลักษณ์ที่ดีกว่า พล.อ.ประวิตร อีกทั้งมีพลังอำนาจพิเศษที่มองไม่เห็น และองคาพยพต่างๆ หนุนหลังอยู่

จึงไม่แปลกที่จะเห็น พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ขบกันในทางการเมือง ทั้งการที่ พล.อ.ประวิตรปาดหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ลาประชุมคณะรัฐมนตรีแอบไปราชบุรี เจรจา ส.ส.ที่จะย้ายพรรค ก่อน พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปแค่วันเดียว

แถมทีมงานบอกสื่อว่า เพราะเพลียจากการลงพื้นที่พะเยา ลำปางก่อนหน้านั้น จน พล.อ.ประยุทธ์มาแฉกลางวงสื่อเองว่า พล.อ.ประวิตรลาประชุม ครม.ไปราชบุรี ไม่ใช่ป่วย

อีกครั้งการที่ พล.อ.ประวิตรลงพื้นที่จังหวัดพะเยาและเปิดตัว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่คุกเข่ามอบพวงมาลัยขอบคุณ ที่รับเข้าพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง ที่สะท้อนว่า พล.อ.ประวิตรไม่แคร์ พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป

ก่อนที่ พล.อ.ประวิตรจะประกาศตัวพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และส่งสัญญาณจับมือกับพรรคเพื่อไทย ด้วยคำพูดที่ว่าจะข้ามความขัดแย้ง พร้อมคุยกับทุกพรรค ที่ทำให้โอกาสชัดเจนขึ้น ที่ พล.อ.ประวิตรจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหลังการเลือกตั้ง และดัน พล.อ.ประวิตรเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อถอดสลัก 250 ส.ว.ที่จะโหวตเลือกนายกฯ พล.อ.ประวิตรเชื่อมั่นว่าจะสามารถเคลียร์ เสียง ส.ว.ได้แม้ส่วนใหญ่จะเป็นสายของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม

ก่อนที่จะมีการแย่งผลงานกัน ระหว่างพรรคไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประวิตรอ้างผลงานเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จนนายธนกรต้องออกมายืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนริเริ่ม

จึงกล่าวได้ว่า อำนาจ 3 ป.กำลังเสื่อมมนต์ขลัง พล.อ.ประวิตรก็ต้องดิ้นสู้ เพื่อรักษาศักดิ์ศรีของพี่ใหญ่ ที่เปี่ยมบารมีมายาวนาน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ก็แยกตัวออกมาสร้างขั้วอำนาจใหม่ สร้างอาณาจักรอำนาจของตนเองใหม่ กับทีมใหม่คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ

แต่ที่สุด จะได้รู้ว่า แม้จะได้อำนาจมาอยู่ในมือ แต่สิ่งที่ต้องสูญเสียไประหว่างทาง คือสายสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป. ที่เคยนอนบ้านหลังเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกันมา ให้เป็นแค่อดีตเท่านั้น

และจากนี้ไป ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะเขียนประวัติศาสตร์ของพี่น้อง 3 ป.ให้เป็นไปอย่างไร

จะเคลียร์ใจกลับมาจับมือกันร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้ง หรือจะแตกหักเป็นศัตรูกัน อยู่คนละขั้วกันไปเลย

แต่ผลพวงที่กำลังถูกจับตามองคือ การตั้ง ผบ.ทบ. เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ อนาคตของบิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รอง ผบ.ทบ. น้องรักทหารเสือราชินีก็จะสดใส มีโอกาสที่จะเป็น ผบ.ทบ.สูง

แต่หาก พล.อ.ประวิตรได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เชื่อกันว่า บิ๊กโต พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ. น้องรักสายบูรพาพยัคฆ์ จะได้เป็น ผบ.ทบ.

ทั้ง พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ. สุขสรรค์ ต่างเป็นเพื่อนสนิท ตท.23 ด้วยกัน เกษียณกันยายน 2567 พร้อมกัน แต่กลายเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของทหารเสือราชินี และบูรพาพยัคฆ์

แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าแม้ พล.อ.เจริญชัยจะเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อำนาจในการเลือก ผบ.ทบ.ไม่ได้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แต่เป็นบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 และขั้วอำนาจในสายพระราม 5 ที่แบ๊กอัพ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ให้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.นั่นเอง

และเป็นที่รู้กันดีว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์มีความสนิทสนมกับ พล.อ.สุขสรรค์มากกว่า และยังให้ทำหน้าที่ เสธ.ฉก.ทม.รอ.904 ด้วย

ส่วนกับ พล.อ.เจริญชัย เพราะเมื่อโยกย้ายปลายปี 2565 เคยมีความพยายามจากตึกไทยคู่ฟ้า ในการเปลี่ยนตัว พล.อ.ณรงค์พันธ์มาครั้งหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ

แต่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ระมัดระวังตัวที่จะไม่ทำให้เกิดบรรยากาศห่างเหินกับ พล.อ.เจริญชัย จึงมักมอบหมายงานสำคัญให้เป็นตัวแทนมาตลอด อีกทั้งยังเกิดวันปีใหม่ด้วยกัน

นอกจากนั้น บทบาทของบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. น้องรักประยุทธ์ ก็ไม่อาจมองข้าม ในการเลือก ผบ.ทบ.คอแดงคนต่อไป

ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม มักจะเปิดห้องทำงานที่กลาโหม คุยกับ พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์เป็นระยะๆ ทีละคน เพราะรู้กันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ หมายให้ พล.อ.ชัยชาญจัดทำบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายทหารมาตลอด

แม้ว่าทั้ง พล.อ.เจริญชัย และ พล.อ.สุขสรรค์ เป็นคนเก่งของรุ่น ตท.23 และเป็นคนเด็ดขาด แต่ก็คนละสไตล์ จะมีผลว่าใครเหมาะสมกับสถานการณ์มากกว่า

แต่หาก พล.อ.ประวิตรได้เป็นนายกรัฐมนตรี ผบ.ทบ.คนต่อไปก็คือ พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง

นี่จึงเป็นแรงกระเพื่อมจากสถานการณ์ทางการเมืองการแข่งขันที่เข้มข้นและรุนแรง โดยเฉพาะระหว่าง 3 พี่น้อง 3 ป. คนกันเอง พี่กำลังจะกลายเป็นศึกสายเลือดเตรียมทหาร ศึกสายเลือด จปร. ที่เคยมีให้เห็นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมานักต่อนัก

แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเคยลั่นวาจาต่อหน้าสื่อ และ ครม. และนักการเมือง พรรคร่วมรัฐบาล ว่า “3 ป.ไม่มีวันแยกจากกัน ไม่มีวันแตกแยก จะอยู่กันไปจนวันตาย”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ที่เคยประกาศผ่านสื่อที่ทำเนียบรัฐบาล “3 ป. Forever ไม่มีวันขัดแย้ง แตกแยก จะรักกันไปจนวันตาย” ก็ตาม

แต่ที่สุด แผงอำนาจพี่น้อง 3 ป. ก็กลายเป็นแค่ตำนานเรื่องเล่า ในเมื่อวันนี้ ทั้ง 3 ป.ต้องแยกทางเดินทางการเมือง และมีเปิดศึกโจมตีกันเองเช่นนี้

คำว่า “อำนาจ” และพลังของมัน เคยทำให้เกิดวาทกรรมทางการเมืองมายาวนานว่า “อำนาจ” ไม่เข้าใครออกใครเลยจริงๆ