ดาวมฤตยูย้าย…กับการเปลี่ยนแปลงในอดีต

ดาวยูเรนัส

สัปดาห์นี้ขออนุญาตถ่ายทอดบทความเอาใจท่านผู้อ่านสายมูเตลูทุกท่าน และเพื่อให้เข้ากับชื่อคอลัมน์วันนี้จึงขอรวบรวมเรื่องเล่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาวมฤตยู มาเล่าสู่กันฟังครับ

ดาวมฤตยู หรือที่สากลเรียกกันว่า ดาวยูเรนัส (Uranus) ซึ่งตั้งตามชื่อเทพเจ้ากรีก

เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในระบบสุริยะรองจากดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์

และเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 7 นับจากดวงอาทิตย์ อยู่ไกลมากจึงไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีกล้องโทรทัศน์จึงจะสามารถมองเห็นได้

ค้นพบครั้งแรกวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2324 โดยเซอร์วิลเลียม เฮอร์เชล นักดาราศาสตร์เชื้อสายเยอรมันที่ต่อมาได้รับสัญชาติอังกฤษ ค้นพบก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ 1 ปี

ในสมัยตั้งกรุงรัตนโกสินทร์โหราจารย์ไทยในสมัยนั้นยังไม่รู้จักดาวดวงนี้ ซึ่งดาวมฤตยูนั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบใช้เวลาประมาณ 84 ปี หากแบ่งเป็น 12 ราศีตามโหราศาสตร์

ดาวมฤตยูจะสถิตอยู่ในแต่ละราศีประมาณราศีละ 7 ปี

จึงเป็นที่มาของคำพังเพยที่ว่า “ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน” ซึ่งน่าจะกร่อนมาจากคำว่า “ชั่วเจ็ดปี ดีเจ็ดหน” ตามรอบของการโคจรแต่ละราศีของดาวมฤตยู

ดาวยูเรนัส
ดาวยูเรนัส

เนื่องจากดาวมฤตยูอยู่ไกลมาก โหราศาสตร์ไทยจึงมีปฏิทินคำนวณตำแหน่งของดวงดาวแตกต่างกันเนื่องจากเทคโนโลยีสมัยก่อนยังไม่สามารถคำนวณได้ละเอียดแม่นยำเหมือนกับการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

จึงมีการคำนวณตามสูตรของโหราจารย์ในยุคก่อนมีคอมพิวเตอร์ ตำแหน่งของดวงดาวอาจจะผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนจากความจริงไปบ้างแต่ก็มีความใกล้เคียงจนสามารถพยากรณ์ทำนายทายทักได้อย่างแม่นยำจนน่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง

ปฏิทินนี้เรียกว่าปฏิทินสุริยยาตร์ หรือปฏิทินอาจารย์ทองเจือ อ่างแก้ว ตามชื่อปรมาจารย์ผู้อุทิศตนวางรากฐานการจัดทำปฏิทินโหราศาสตร์ไทย

ต่อมาภายหลังในยุคที่วิทยาการก้าวหน้าขึ้นมีการนำปฏิทินโหราศาสตร์มาคำนวณโดยการตัดอายนางศตามนิรายนะวิธีเพื่อหาจุดเริ่มต้นของราศีเมษตามแบบราศีจักรคงที่ จึงเกิดปฏิทินลาหิรี ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่โหราจารย์ชาวอินเดียนามว่า A.K. Lahiri ซึ่งมีความแม่นยำมากขึ้น

ในประเทศไทย อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ปรมจารย์ด้านโหราศาสตร์ไทยสมัยใหม่นำมาใช้จนเป็นที่แพร่หลายจนในปัจจุบัน

วงการโหราศาสตร์ไทยมีการใช้ปฏิทิน 2 แบบ คือ ปฏิทินสุริยยาตร์ และปฏิทินลาหิรี เป็นที่แพร่หลาย ซึ่งมีความแม่นยำในการพยากรณ์ทั้งคู่

นอกจากปฏิทินที่กล่าวถึงสองแบบนี้แล้วยังมีปฏิทินแบบอื่นๆ อีกมากมายที่ใช้กันอยู่เพียงแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าปฏิทิน 2 แบบแรกที่กล่าวถึง

ดาวมฤตยูตามตำราโหราศาสตร์ไทย มีความหมายกว้างๆ เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ดังนี้ เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ นักประดิษฐ์ นวัตกรรม ความดื้อรั้น ความคิดนอกกรอบประเพณี การพัฒนา การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อดาวมฤตยูมีมุมหรือองศาสัมพันธ์กับดาวอื่นๆ ในดวงชะตาก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่สัมพันธ์กับความหมายของดาวนั้นๆ ที่ดาวมฤตยูเข้าไปสัมพันธ์ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น สมัยสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ (หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน) เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปลายยุคกรุงศรีอยุธยาสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ดาวมฤตยูสถิตราศีเมถุนในดวงเมืองทำมุม 180 องศา กับดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ในดวงเมือง

ส่งผลให้ประเทศเรามักมีวิวัฒนาการด้านกฎหมายอันเป็นความหมายหนึ่งของดาวพฤหัสบดี และการเปลี่ยนแปลงภาคประชาชนอันเป็นความหมายหนึ่งของดาวเสาร์อยู่เนืองๆ ดังเช่น ตุลาการภิวัฒน์ นวัตกรรมศาลรัฐธรรมนูญ การตีความตัวบทกฎหมายแบบพิศดาร

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองของภาคประชาชนอันเป็นแบบอย่างให้ประชาคมโลกเดินตาม เช่น การใช้สัญลักษณ์เสื้อเหลืองในการชุมนุมทั้งในประเทศมาเลเซียและประเทศฝรั่งเศส

ที่มาภาพ http://housingvm.nha.co.th/VM_7.html

ตัวอย่างที่ 2 ในสมัยวิกฤตการณ์การเงินต้มยำกุ้งในปี 2540 ดาวมฤตยูทำมุม 180 องศา กับดาวจันทร์ในดวงเมือง ส่งผลให้ความมั่งคั่งและทุนสำรองของประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงหายวับในทันทีทันใด จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์การเงินลุกลามไปทั่วภูมิภาคเอเชีย

หรือในสมัยปลายปี 2563 ที่มีเหตุการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากดาวมฤตยูทับกับดาวอาทิตย์ในดวงเมือง

เขียนไปเขียนมาจิ้งจกร้องทักว่าออกทะเลไปไกลมากแล้วเดี๋ยวกลับขึ้นฝั่งไม่ทัน ขอกลับมาที่เรื่องดาวมฤตยูย้ายจากราศีเมษเข้าสู่ราศีพฤษภก่อน

ชุมนุมขับไล่รัฐบาลครั้งใหญ่ ปี 2563

ตามปฏิทินสุริยยาตร์นั้น ดาวมฤตยูย้ายจากราศีเมษไปยังราศีพฤษภเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 และจะโคจรอยู่ในราศีพฤษภก่อนจะโคจรถอยหลังกลับเข้าสู่ราศีเมษอีกครั้งในวันที่ 1 ธันวาคม 2565

แต่ปฏิทินลาหิรีนั้นดาวมฤตยูยังคงโคจรอยู่ในราศีเมษตลอดทั้งปี

แม้จะคำนวณตำแหน่งของดวงดาวออกมาแตกต่างกันอยู่บ้างแต่ก็มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นที่ข่าวการลาออกของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร การลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น ผู้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น สร้างความเศร้าสลดไปทั่วโลก การลี้ภัยทางการเมืองของประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีแห่งศรีลังกาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แผ่นดินไหวและภูเขาไฟปะทุในญี่ปุ่น

เหตุการณ์ทั้งหมดที่เล่ามาจะเกี่ยวกับดาวมฤตยูย้ายราศีหรือไม่ กระผมไม่อาจฟันธงได้ คงต้องรอให้โหราจารย์ท่านอื่นๆ ช่วยชี้แนะให้กระจ่างอีกทีหนึ่ง

สําหรับราศีพฤษภเป็นภพกดุมพะของดวงเมืองประเทศไทยและดวงชะตาของโลก (ตามตำราโหราศาสตร์ถือว่าโลกมีดวงกำเนิดอยู่ในราศีเมษ เช่นเดียวกันกับดวงเมืองกรุงเทพมหานครตามเวลาวางเสาหลักเมือง) ภพกดุมพะเป็นภพที่ 2 ถัดจากภพที่ลัคนาสถิตอยู่ของแต่ละดวงชะตา เป็นภพที่เกี่ยวกับการเงินทุนและทรัพย์สินของเจ้าชะตา

เมื่อดาวมฤตยูย้ายเข้าภพการเงินของประเทศไทยและของโลก ระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2565 แน่นอนว่าต้องส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับด้านการเงินของโลก

มีเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นก็อาจเกิดขึ้นอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เสถียรภาพของค่าเงินบาทจะสะวิงแบบโรลเลอร์โคสเตอร์เป็นรถไฟเหาะตีลังกา

ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่า (ถ้าเป็นสมัยปี 2540 ในเหตุการณ์ต้มกุ้งจะเรียกว่าการนำทุนสำรองไปต่อสู้ค่าเงินบาท แต่ปัจจุบันเรียกให้ซอฟต์ว่าเข้าพยุงค่าเงินบาท)

เปิดตัวเลขออกมาทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงไปเกือบ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คิดเป็นเงินบาทก็ไม่มากไม่น้อยประมาณ 1 ล้านล้านบาท (เลขศูนย์ 12 ตัวเรียงต่อกัน) เป็นข่าวคราวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

หลายท่านเปรียบเทียบกับปี 2540 ซึ่งปัจจุบันเราโชคดีที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่มากกว่าสมัยปี 2540 ถือว่าอยู่ในระดับปลอดภัยกว่ามาก และระบบปริวรรตเงินตราก็แตกต่างกันสมัยนั้นใช้ระบบตะกร้าเงิน แต่ปัจจุบันใช้ระบบค่าเงินลอยตัว จึงหมดห่วงว่าจะเกิดปัญหาแบบเดิมในอดีต

แต่มายาคติที่ ธปท.มีอยู่คือการคิดว่าค่าเงินบาทอ่อนเท่ากับเศรษฐกิจไม่ดี เป็นมายาคติที่ยากจะลบออกไปได้

การนำทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทให้แข็งค่ากว่าที่ควร นอกจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกอย่างประเทศไทยแล้ว คงมีประโยชน์เพียงอย่างเดียวคือเพื่อการเอาใจรัฐบาลให้นำเข้าน้ำมันได้ในราคาที่ถูกลง แต่การส่งออกติดลบไม่เป็นไรไม่สนใจ ขอให้การเมืองรอดเป็นพอ

แต่เนื่องจากการส่งออกตกหนักมากเมื่อเทียบกับการนำเข้าแม้ ธปท.แทรกแซงค่าเงินบาทแล้วค่าเงินบาทก็ยังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่จะถึงนี้ อย่างไรคงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกจากประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันจะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกอย่างแน่นอน

แทนที่ ธปท.จะแทรกแซงค่าเงินให้อ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นการส่งออกและเพิ่มทุนสำรองระหว่างประเทศเรียกได้ว่ากำไร 2 เด้ง กลับเลือกแทรกแซงค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นและสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศแทนเรียกได้ว่าสวนทางกับกำไร 2 เด้ง กลายเป็นทางที่ขาดทุน 2 เด้งแทน

เมืองไทย ประเทศที่เดินตามดวงมีอยู่จริง