ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : Merci Patron! การเมืองใหม่ต้องไม่ใช่สงครามอุดมการณ์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ภาพนักศึกษาจุฬาฯ สองคนชูป้ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ว่า “ชาวจุฬาฯ รักลุงตู่ (เผด็จการ)” เป็นภาพข่าวที่น่าจดจำที่สุดในรอบหลายปี

เพราะนอกจากทั้งคู่กับเพื่อนจะไม่กลัวนายพลที่ได้เป็นนายกฯ เพราะใช้กองทัพยึดอำนาจ

คนเหล่านี้ยังไม่กลัวการคุกคามที่จะตามมาจากทหารที่เป็นลูกน้องของนายพลที่เป็นรัฐบาล

หากประชาธิปไตยกลับมา เหตุการณ์นี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่แสดงความกล้าหาญของประชาชนระดับเดียวกับ “ไผ่” และกลุ่มดาวดินซึ่งชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหาร จนเป็นเหตุให้ไผ่เผชิญมรสุมคดีจนปัจจุบัน

ในคลิปบันทึกการเผชิญหน้าระหว่างสองฝั่งที่อายุห่างกันราวปู่กับหลาน เด็กอายุ 18 กลับประจันหน้ากับคนอายุ 64 ได้อย่างมีวุฒิภาวะ

เพราะขณะที่คนแก่สั่งบอดี้การ์ดแบบจงใจให้กล้องเห็นว่า “อย่าไปทำเขา” แล้วชี้หน้าเด็กว่า “ขอให้ออกมาด้วย ถ้าประเทศมีปัญหา” เด็กกลับไม่ลดตัวไปต่อปากต่อคำแม้แต่นิดเดียว

ด้วยเหตุที่การประท้วงเกิดในงานซึ่งจุฬาฯ เชิญทหารไปพูดเรื่องนวัตกรรม สิ่งที่เด็กกลุ่มนี้ทำจึงแสดงความกล้าหาญขึ้นไปอีก ไม่ต้องพูดว่าเด็กกล้าทั้งที่รู้ว่าจุฬาฯ คือเสาหลักของการขวางเลือกตั้ง 2557, อดีตอธิการบดีรับงานสภาทหาร และอธิการบดีที่เป็นภรรยาอดีตอธิการบดีไปรับเงินแสนในตำแหน่ง สนช.

หากนับบทบาทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อมของคนอย่างวิษณุ เครืองาม, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และอมร วาณิชวิวัฒน์ เด็กจุฬาฯ กลุ่มชูป้ายประท้วงนายกฯ ก็ทำเรื่องทั้งหมดนี้โดยไม่กลัวข้อเท็จจริงที่ไม่มีแม่น้ำห้าสายจุดไหนปราศจากการสนองงานของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันที่เด็กเรียนอยู่เลย

น่าสนใจว่ายุทธวิธีประท้วงรัฐบาลโดยเขียนข้อความ “รักลุงตู่ (เผด็จการ)” สะท้อนได้อย่างแยบคายถึงบรรยากาศที่มีแต่สายอวยเข้าถึงนายกฯ ได้

การแสดงออกว่าไม่พอใจเป็นเรื่องต้องห้าม การไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลถูกดำเนินคดีหรือจับตัวไปขังในค่ายทหาร และพื้นที่สาธารณะถูกครอบงำโดยพวกประจบสอพลอ

ในภาพยนตร์เรื่อง Merci Patron! กลยุทธ์การประท้วงแบบที่เด็กจุฬาฯ ทำกับนายกฯ นายพลคือยุทธวิธีที่สื่อซึ่งตอนนี้คือ ส.ส. ดาวรุ่งจากพรรคเล็กในฝรั่งเศส Francois Ruffin ใช้เพื่อเข้าถึง Bernard Arnault ประธานและซีอีโอกลุ่ม LVMH ซึ่งปี 2017 มีสินทรัพย์ราว 6.8 หมื่นล้านยูโร ซึ่งมากกว่างบฯ ประเทศไทยปีเดียวกัน

แน่นอนว่าที่มาของอำนาจทำให้นายกฯ เกลียดการแสดงออกของประชาชน

แต่กลุ่ม LVMH ขายสินค้า “มีระดับ” อย่าง Louis Vuitton, Dior, DKNY, Kenzo, Hennessy, TAG Heuer ฯลฯ ซึ่งความระแวงที่เจ้าของทุนมีต่อประชาชนแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เว้นเสียแต่บริษัทจะทำอะไรที่สร้างความไม่พอใจให้คนในสังคม

คำถามคือ เป็นไปได้อย่างไรที่สินค้า Luxury Brand จะมีเรื่องกับใครจนเจ้าของธุรกิจต้องกลัวประชาชน?

ใครๆ ก็รู้ว่า Luxury Brand เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ราคาแพงกว่าประโยชน์ในการใช้จริงๆ

กระเป๋าหลุยส์ใบละเป็นล้านนั้นใช้งานได้เท่ากระเป๋าใบละเจ็ดพัน

นาฬิกาหรูของคุณประวิตรดูเวลาได้เหมือนของทหารเกณฑ์ที่ซักถุงเท้าท่านแน่ๆ

และคนขายของที่อยู่ได้ด้วยความพอใจล้วนๆ ย่อมไร้เหตุให้ขัดแย้งอะไรกับใคร

แบรนด์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเพราะขายความพอใจยิ่งกว่าประโยชน์ในการใช้ตลอดเวลา

แต่ราคาที่แพงเว่อร์ไม่ใช่เหตุให้คนมีเรื่องกับสินค้าแน่

นักการตลาดเยอะไปที่ตั้งข้อสังเกตว่าคนบริโภคของพวกนี้เพื่อให้โลกรู้ว่ามีเงินพอจะซื้อสิ่งที่แพงเกินประโยชน์ใช้สอย ยิ่งแพงจึงยิ่งฟิน หากโชว์ได้ และได้โชว์สถานะต่อสังคม

คนที่ไม่เชื่อเรื่องนี้เชิญเอานาฬิกาเกรดทหารเกณฑ์ไปให้ พล.อ.ประวิตรวันละเรือนตลอดปีดูก็ได้ ถ้าประโยชน์ใช้สอยสำคัญ ท่านต้องยอมแลกนาฬิกาหรูกับทางเลือกนี้แน่ๆ

เพราะการยืมนาฬิกา 25 เรือนจากเพื่อนที่ตายแล้วใส่ซ้ำสามปีแบบหลบๆ ซ่อนๆ ไม่มีทางสู้การมีนาฬิกาใหม่ของตัวเองอย่างถูกต้องทุกวัน

นอกจากแบรนด์จะขายแพงได้เพื่อสนองความอยากให้โลกรู้ นักวิชาการบางคนยังตั้งข้อสังเกตว่าแบรนด์อยู่ได้ด้วยการสร้างภาพว่าสินค้าเท่ากับรสนิยม

ธุรกิจแฟชั่นจึงสร้างวาทกรรม You are what you purchase ซึ่งแปลง่ายๆ คือ ซื้อของอะไรก็เป็นคนแบบนั้น

หรือเอาให้ตรงก็คือ ตัวตนขึ้นอยู่กับเสื้อผ้าและกระเป๋าของคุณ

มนตราที่เจ้าของแบรนด์หรูร่ายจนคนรวยเคลิ้มว่าการจ่ายเงินแสดงออกถึงรสนิยมคือมโนภาพว่าสินค้าฟุ่มเฟือยคือ “ความงาม” ที่ถูกแปลงให้เป็นสินค้า

เสื้อผ้าและกระเป๋าหรูจึงมักตั้งชื่อแบรนด์ตามดีไซเนอร์เพื่อใส่ความเป็นหัตถกรรมเข้าไปในผลิตภัณฑ์เสมอ หาไม่ของกลุ่มนี้ย่อมไม่ต่างจากเสื้อยืดหรือผ้าอนามัย

ขณะที่แบรนด์หรูขายความรู้สึกอภิสิทธิ์ให้คนรวยที่ยอมจ่ายแพงเพื่อมโนภาพว่าได้ครอบครอง “ความงาม” ซึ่งนักออกแบบใส่ไว้ในสินค้า ข้อเท็จจริงคือแบรนด์อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม-เครื่องหนัง ที่การผลิตอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่จนมโนภาพว่าแบรนด์คือความงามจากงานมือนั้นไม่ถูกต้องสมบูรณ์

ไม่ว่าผู้บริโภคจะซื้อแบรนด์เพื่อปรนเปรอตัวเองหรืออยากบอกให้โลกรู้ แบรนด์ไม่ใช่ความงามที่ช่างฝีมือในห้องเสื้อส่งตรงมาบนตัวลูกค้ามากอย่างที่ลูกค้าคิด

เพราะจะเป็นแบรนด์ไหนก็ต้องผ่านการผลิตและการตัดเย็บโดยอาม่าในโรงงานที่ไหนสักแห่งในจีน, เวียดนาม, มาดากัสการ์, แอฟริกาใต้ ฯลฯ เหมือนกัน

การออกแบบคืองานสร้างสรรค์จากมันสมองของนักออกแบบและดีไซเนอร์ที่ทรงคุณค่า ประเทศที่เติบโตด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องมีบุคลากรทางวัฒนธรรมเหล่านี้

แต่ธุรกิจแฟชั่นและเครื่องนุ่งห่มไม่ใช่ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ไปทุกกรณี

มิหนำซ้ำโรงงานที่ผลิตสินค้าเหล่านี้อาจเต็มไปด้วยการขูดรีดแรงงาน

คาร์ล มาร์กซ์ เคยวิเคราะห์ไว้กว่าร้อยห้าสิบปีแล้วว่ากำไรของสินค้ามาจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน อธิบายง่ายๆ คือ “นายทุน” มีกำไรเพราะจ่ายค่าแรงให้คนงานตามระยะเวลาทำงานในอัตราที่ต่ำกว่ามูลค่าที่คนงานสร้างให้สินค้าได้ในเวลานั้น และจะเป็นเสื้อหรูหรือแผงลูกชิ้นทอดก็ได้กำไรจากวิถีนี้เหมือนกัน

พูดสั้นๆ ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรม เจ้าของกิจการก็คือ “นายจ้าง” หรือ “นายทุน” ซึ่งต้องกดค่าตอบแทนลูกจ้างหรือ “คนงาน” ให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มกำไรและขยายการสะสมทุนตลอดเวลา

ในภาพยนตร์เรื่อง Merci Patron! ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษแบบประชดประชันว่า Thanks Boss หรือ “ขอบใจเจ้านาย”

ผู้กำกับฯ คือ ฟรองซัวส์ รุฟแฟงต์ เปิดโปงให้เห็นว่าภายใต้ภาพลักษณ์ผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อสำหรับผู้บริโภคที่มีรสนิยม LVMH กลับทำธุรกิจแบบนายทุนหน้าเลือดโคตรกดขี่คนงาน

wikimedia.org

ควรระบุสักนิดว่าฟรองซัวส์คือสื่อสังกัดสื่อทางเลือกฝรั่งเศสชื่อ Fakir Press ซึ่งมีจุดยืนแบบซ้ายราดิกาลที่ไม่เอาพรรค, ไม่เอาสหภาพ และไม่เอาทุกสถาบัน

หนังจึงมีด้านที่ใช้ข้อมูลแบบสื่อเพื่อขยายภาพการขูดรีดให้เป็นระบบ ขณะเดียวกันก็มีชั้นเชิงของหนังที่สนุกจนไม่ใช่การโจมตีนายทุนซ้ำซากอย่างที่หลายคนเข้าใจ

เพื่อประโยชน์ในการตามประเด็น การทำงานสื่อที่พูดเรื่องคนงานโดยมีข้อมูลหนักแน่นจนเกิดสารคดี Merci Patron! ทำให้ฟรองซัวส์ชนะเลือกตั้งเป็น ส.ส.ฝรั่งเศสไปแล้ว

หนังจึงไม่ได้น่าสนใจแค่เรื่องเล่า แต่ยังให้แง่คิดไปต่อยอดเรื่องการทำงานการเมืองของคนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าในพรรคขนาดเล็กบ้านเรา

อาจสรุปง่ายๆ ว่า Merci Patron! พูดถึงโลกที่ขัดแย้งกันสองแบบด้วยลีลาเสียดเย้ยแบบนักกิจกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างมีอารมณ์ขัน

http://www.dailymail.co.uk

โลกแรกคือโลกของอภิมหาเศรษฐีนายทุนข้ามชาติของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โลกที่สองคือโลกของคนงานที่ตกงานเพราะนายทุนคนนี้ปิดงาน

พูดในเชิงเปรียบเทียบ ฟรองซัวส์ รุฟแฟงต์ ทำสารคดีเรื่องคนส่วนใหญ่ด้วยน้ำเสียงจริงจังแบบธนาธร และมีสไตล์เย้ยหยันแบบ บ.ก.ลายจุด ถึงสองคนนี้จะทำอะไรใกล้หนังที่สุดแค่ไลฟ์พร้อมน้องมันแกว

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดเรื่องโดยโชว์ชัดๆ ว่าราคาหุ้น LVMH พุ่งเกือบเท่าตัวจาก 70 ยูโรในปี 2007 เป็น 133.5 ยูโรในปี 2016, ผลประกอบการของบริษัทโตขึ้นยี่สิบเท่าในสามสิบปี, กลุ่มขยายกิจการไปซื้อธุรกิจแบรนด์หรูทั่วโลก ขณะที่เจ้าของเป็นนักธุรกิจข้ามชาติระดับประธานาธิบดีฝรั่งเศสให้เครื่องราชเอง

อย่างไรก็ดี หนังขุดคุ้ยว่ากลุ่มหลุยส์ วิตตอง สะสมความมั่งคั่งจน Bernard Arnault เจ้าของและซีอีโอกลุ่ม LVMH ใช้ชีวิตเยี่ยงเจ้าในโลกทุนนิยมบนการจงใจปิดโรงงานจนคนตกงานจำนวนมหาศาล

ทั้งๆ ที่กิจการเหล่านั้นไม่ได้เจ๊งหรือธุรกิจมีปัญหา

แต่เพราะนายจ้างย้ายโรงงานไปประเทศที่ค่าแรงถูกเพื่อกอบโกยกำไร

ในฉากหนึ่งที่น่าสะเทือนใจที่สุด คนทำหนังซึ่งตอนนี้เป็นนักการเมืองดาวรุ่งของสภาฝรั่งเศสตีแผ่ว่าเครือ LVMH ย้ายโรงงานสูทเคนโซจากฝรั่งเศสไปบัลแกเรียเพื่อจ่ายค่าแรงคนงานให้เหลือแค่ 30 ยูโร/เดือน

และมีแผนย้ายไปกรีซที่เศรษฐกิจพังจนค่าแรงต่ำเพราะคนตกงานเยอะ ทั้งที่สูทดังกล่าวขายตัวละ 1,000 ยูโร

หนึ่งในฉากที่โชว์ทักษะคนทำหนังเกิดขึ้นเมื่อผู้กำกับฯ เดินทางไปพบกับคนงานที่เครือหลุยส์เท ระหว่างทางนั้นคือตึกแถวในเขตเหมืองเก่าที่ร้างเพราะเหมืองปิดกิจการแล้ว จากนั้นผู้กำกับฯ ก็พบพวกสหภาพยุค 80 ที่เล่าว่า LVMH เลิกจ้างคนงานเสื้อผ้ารวดเดียว 15,000 คน จากที่ตอนแรกบอกว่าจะเลิกจ้าง 3,000 คน

ต่อให้คนทำหนังไม่พูดอะไร ผู้ชมก็รู้ด้วยตัวเองว่าหนังใช้กลุ่มหลุยส์สะท้อนปัญหาการเลิกจ้างในทุกอุตสาหกรรมจากมุมของคนงานที่ตกงานในวัย 40-50 จนไม่ง่ายที่จะหางานใหม่และใช้ชีวิตอย่างเดิม

ขณะที่แบรนด์หรูขายสินค้าแพงที่ผู้บริโภคจ่ายเพราะมโนว่าตัดเย็บในฝรั่งเศส

ฟรองซัวส์ผู้กำกับฯ ใช้การสัมภาษณ์และคลิปข่าวเก่าเพื่อชี้ว่าสินค้าเครือ LVMH อย่าง Kenzo และอื่นๆ ไม่ใช่สินค้า Made in France นานแล้ว

โดยเฉพาะการ “หลอกถาม” พนักงานระดับปฏิบัติในวัน Open House ที่ยอมรับเรื่องนี้ตรงๆ

ถึงตรงนี้ หนังตีแผ่ความบัดซบของทุนแฟชั่นข้ามชาติกลุ่มนี้สามข้อ

ข้อแรกคือ ความพร้อมจะทำให้คนตกงานเพื่อโอกาสในการแสวงหากำไร

ข้อสองคือ ความไม่สนใจว่าการตกงานทำให้คนงานหายนะขั้นอาจฆ่าตัวตายได้

และข้อสามคือ การสร้างภาพว่าแบรนด์หรูผลิตในฝรั่งเศส ทั้งที่ความจริงผลิตในจีนและบัลแกเรีย

Merci Patron! ชี้ปัญหาที่ทุนข้ามชาติสร้างหายนะให้มวลชนได้เสรี

สารคดีเรื่องนี้ชี้ว่าอำนาจทุนขยี้ชีวิตคนหลายสิบล้านโดยอำนาจรัฐช่วยอะไรไม่ได้

หนังชวนคิดอ้อมๆ ถึงการสร้างอนาคตใหม่เพื่อสกัดความอยุติธรรมแบบนี้ โดยเฉพาะการสร้างระบบเพื่อป้องกันกลุ่มทุนเลิกจ้างแล้วหนีไปเปิดโรงงานใหม่ได้ตามใจ

หนึ่งในจุดแข็งของประชาธิปไตยคือความสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน พัฒนาการของนักการเมืองพันธุ์ใหม่ในฝรั่งเศสแยกไม่ออกจากการขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นความทุกข์วนของคนส่วนใหญ่

จินตนาการถึงอนาคตใหม่ต้องสร้างข้อเสนอรูปธรรมจากปัญหาที่เป็นรูปธรรมแบบนี้

ไม่ใช่เสียเวลากับการประกาศอุดมการณ์หรือโจมตีคนอื่นว่าเก่าเพียงอย่างเดียว