สะใภ้คนจีน จะอ่านอย่างไร? ในมรณกรรมของผู้ประพันธ์

บทความพิเศษ

“ความมั่นคงก็อึดอัด เหมือนเมืองที่เต็มไปด้วยทหารและยานเกราะ เขาบอกเราว่าเมืองนี้ต้องมีทหารเพื่อความมั่นคง แต่คนในเมืองอยากได้ความโล่งโปร่งแม้จะเสี่ยงไปบ้าง” (หน้า 96)

“แม้คนจีนจะมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์ปัตตานี แต่ชุมชนคนจีนที่นี่เพิ่งมีตอนย้ายเมืองจากแหลมตันหยงมาที่จะบังติกอ ต่อมามันก็กลายเป็นย่านการค้าที่รุ่งเรือง แต่อย่างว่า คนจีนไปที่ไหนก็หอบหิ้ววัฒนธรรมไปด้วย ชุมชนนี้จึงดูคล้ายว่ามีอายุหลายพันปี ศาลเจ้าและกลิ่นอายวัฒนธรรมแทรกซึมอย่างแข็งแรง” (หน้า 41)

ดังตัวอย่างข้างต้น เราจะอ่าน “สะใภ้คนจีน” นวนิยายเรื่องใหม่ของ จเด็จ กำจรเดช ในมุมมองไหน

อ่านแบบเชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้

หรืออ่านเอาเกร็ดประวัติศาสตร์ปัตตานี

หรือจะเหนือจริงเหมือนงานของมาร์เกซ ดิสโทเปีย เหมือนนิยายภาพของอลัน มอร์

หรือจะ “อ่าน” ตามตัวบทในฐานะนวนิยายรักโรมานซ์เรื่องหนึ่ง พล็อตว่าด้วยชายคนหนึ่งปรารถนาที่จะตาย แต่กลับมาพบรักกับสะใภ้คนจีน

แต่ว่าก็ว่าเถอะ เราจะอ่านนวนิยายแบบไหน ก็คงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน

ในบทความที่มีชื่อว่า มรณกรรมของผู้ประพันธ์ (The Death of The Author) “โรล็องด์ บาร์ตส์” (Roland Barthes) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“ผู้อ่านเป็นผู้สร้างความหมายของงานเขียนที่พวกเขาและเธออ่านเอง” และ “ตัวบทต่างๆ จึงมีความหมายที่เลื่อนไหล สามารถถูกตั้งคำถามและตีความได้หลากหลายไม่จบสิ้น”

ไม่ต่างจากแนวคิด Deconstruction ของ ฌากส์ แดร์ริดา ที่ให้รื้อความเป็นเหตุเป็นผลทิ้งไปให้หมด แล้วลอง “อ่านใหม่” เหมือนดังที่บาร์ตส์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในมรณกรรมของผู้ประพันธ์

จะอ่านอย่างไร? ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะขอเลือก “อ่าน” ตามตัวบท และเลือกวิเคราะห์ไปที่การแปรเปลี่ยนทางกายภาพความเป็นชายเป็นหญิงของสามกับมุ่ย

การใช้ “สรรพนาม” และ “การเปลี่ยนสรรพนาม” รวมถึง “สถานที่” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในนวนิยายเรื่องนี้

เป็นไปได้ไหมเมื่อความหมดอาลัยตายอยากในชีวิตของตัวละครที่ชื่อ “สาม” จนต้องมาใช้บริการประกาศที่พบในอินเตอร์เน็ต บริการที่มีให้เลือกตายให้พร้อมเสร็จสรรพนั้น มาจากสภาพทางกายภาพความเป็นชายของสามเริ่มกลายเป็นหญิง (ลองเล่นคำจากชื่อ สาม เปลี่ยนอักษรตัวท้ายจาก ม เป็น ว จะเป็น สาว ทันที) การที่เพศสภาพความเป็นชายมิสามารถควบคุมชีวิตในฐานะความเป็นผู้นำครอบครัวได้ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการพาตัวเองพ้นไปจากโลกนี้ (ตัดขาดจากความเป็นชายในโลกปัจจุบัน) และพ้นจากสถานที่หนึ่งสู่สถานที่หนึ่ง (ในนวนิยายเรื่องนี้ใช้จังหวัดปัตตานี)

ในเมื่อที่เดิมที่จากมาไม่มีอะไรให้ต้องนึกถึงอีกต่อไป

“แม่ตายไปเมื่อปีก่อน เหลือแค่น้องสาวที่บ้านเกิด…ภรรยาเก่าบอกให้กลับไปเอาของที่เหลือได้ หนังและซีดีเอามาให้รก…ลูกสาววัยสิบหกของเขา ตามใครสักคนไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้…” (หน้า 31)

เช่นเดียวกับตัวละครที่ชื่อ “มุ่ย” ที่คล้ายเป็นคนกลางและอำนวยความสะดวกให้สามระหว่างการเตรียมตัวที่จะตาย

ตอนแรกตัวละครตัวนี้ก็เย็นชาใส่สาม “น้ำเสียงเหมือนลมแล้งเดือนห้า” (หน้า 24) ไม่แต่งหน้า ทั้งที่สามเองก็คิดว่า “มีเค้าความสวย ตาโตปากได้รูป” (หน้า 38)

ความเฉยชาของมุ่ยจึงสถาปนาตัวตนอยู่กลายๆ ในฐานะเพศสภาพที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปหลังจากสามีของเธอเสียชีวิต

มุ่ยในฐานะสะใภ้ชาวจีน จึงมิใช่เป็นเพียง “เมีย” ผู้คอยปรนนิบัติสามีและเป็น “ลูกสะใภ้” ของแม่สามี หรือ “อาม่า” เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

เธอต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักแทน เสมือนต้องเป็นผู้นำสืบแทนสามี จึงทำให้สถานะทางกายภาพของเธอแปรเปลี่ยนกลายเป็น “ชาย” นั่นเอง

ในส่วนของบทสนทนาระหว่างคนทั้งสองก็เช่นกัน ซึ่งตอนแรกเจอเป็นการใช้สรรพนามแทนตัวอย่างมีระยะ (สามแทนตัวว่า “ผม” มุ่ยแทนตัวว่า “ฉัน”)

บทสนทนาจึงแสดง “บทบาท” ความเป็นอื่นหรือแปลกหน้าต่อกันไว้อย่างชัดเจน

เช่น ตอนมาเจอกันที่หน้าร้านขายยา “คุณแค่ทำตัวให้เหมือนคนที่นี่” (หน้า 24) และ “ไม่ว่านะ ที่ฉันรีบพามาดู” (หน้า 25)

บทพูดเพียงสองฉากจากหน้าร้านขายยามาริมถนน (สถานที่ที่สามจะตาย) แสดงให้เห็นว่ามุ่ยเพียงทำงานตามหน้าที่ หมดหน้าที่แล้วก็จบกันเหมือนคนก่อนๆ ที่ตั้งใจมาตายไม่ต่างจากสาม

จึงไม่มีเหตุผลใดที่เธอจะต้องสานสัมพันธ์หรือทำงานเกินหน้าที่ เหมือนดังที่เธอพูดในฉากหนึ่งราวกับความตายของใครสักคนเป็นเรื่องปกติ

และสำหรับเธอมันชาชินไปเสียแล้ว

“ฉันเคยเลี้ยงหมาปอมตัวหนึ่ง นอนกับมันทุกคืนเหมือนลูกเลยล่ะ พอมันตายฉันก็ใจสลาย เห็นหมาตัวไหนก็ไม่อยากทักทายมัน คนตายพวกนั้นก็ด้วย ไม่อยากคุยด้วย ไม่กี่วันเขาก็ตาย ไม่อยากผูกพัน ไม่อยากนึกถึงคำที่เคยพูดกันก่อนเขาตาย เคยเลี้ยงหมาใช่ไหม” (หน้า 41)

แต่สามวันแล้ว สามก็ยังไม่ตายตามกำหนดเหมือนคนก่อนๆ หลังจากวันนั้น วันที่มุ่ยระบายความในใจ และสามทำให้เธอยิ้มได้ ระยะห่างระหว่างกัน จึงค่อยๆ คลี่คลายเปลี่ยนสรรพนามแทนตัวเป็น “พี่” กับ “หนู” รูปคำแทนตัวสื่อแสดงให้เห็นถึงสถานะที่สามเริ่มกลับมาเป็น “ชาย” อีกครั้ง

มีบทบาทของความเป็นผู้นำหรือเป็นพี่ให้อีกฝ่ายหนึ่ง และท่าทีวางตัว บึ้งตึง ยิ้มยาก ราวกับแบกความทุกข์ไว้บนบ่าของมุ่ยก็เริ่มกลับมาเป็น “หญิง” เปลี่ยนสรรพนามแทนตัวเป็น “หนูตัวเล็กๆ” น่าทะนุถนอม และเริ่มเปิดใจมากขึ้น

“หนูกับเขาไม่เคยมานั่งที่นี่เลย รู้ไหม เขาเป็นคนปัตตานี เห็นมุมไหนของที่นี่เป็นเรื่องน่าเบื่อไปหมด จะว่าไปเราเข้ากันไม่ค่อยได้ แต่เราก็อยู่กันมาหลายปี” (หน้า 58-59)

ต่างจากสาม ซึ่งเห็นแล้วว่าปัตตานีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เหมือนอย่างที่สายตาคนนอกส่วนใหญ่ฝังใจเชื่อจากภาพสื่อข่าวต่างๆ

“ปัตตานีวันนี้เหมือนเมืองปกติอื่นๆ เป็นเมืองสวยที่น่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเดินถ่ายรูป สามนึกไปถึงเมืองท่องเที่ยวต่างประเทศที่เห็นในภาพพักหน้าจอของคอมพิวเตอร์ ปัตตานีไม่ต่างจากเมืองพวกนั้น มีแม่น้ำกลางเมือง มีท่าเรือ มีหอนาฬิกา มีย่านตึกเก่า” (หน้า 36)

อีกทั้งยังทำให้สามกลับเริ่มมีความรู้สึกหวามไหวแปลกไปในใจตน

“สามไม่เคยหลับเต็มตา ทุกค่ำคืนคิดแต่เรื่องตาย ในสัปดาห์ที่สอง สามเขกหัวตัวเองเมื่อรู้สึกได้ว่านอนรอโทรศัพท์จากมุ่ยมากกว่าคิดเรื่องตาย” (หน้า 49-50)

สถานที่ จึงเป็นอีกตัวละครสำคัญที่มีบทบาทไม่แพ้ตัวละครทั้งสอง เพราะมันค่อยๆ หลอมละลายพฤติกรรมเดิม หรือความรู้สึกอยากตายของสามกับมุ่ยให้อยากมีชีวิตอยู่ (คนแรกอยากมาตาย ส่วนอีกคนอยู่ให้พ้นผ่านไปวันๆ ซึ่งไม่ต่างจากคนที่ตายไปแล้ว) โดยเฉพาะสามที่เมื่อได้ฟังชีวิตของมุ่ยแล้วก็อยากจะ “รับผิดชอบ” ชีวิตของมุ่ยให้ย้ายออกจากสถานที่เดิมไปอยู่ใน “สถานที่ใหม่” ด้วยกัน

เราจึงได้เห็นบทบาทของสถานที่ในเรื่องนี้ทำ “หน้าที่” ราวกับเป็นสถานที่กักกันอย่างหนึ่ง ที่เมื่อก้าวเข้ามาแล้วก็ยากที่จะก้าวออกไปหรือถ้าจะออกไป ก็ต้องสังเวยด้วยความตาย

ซึ่งในฐานะของสามที่ชีวิตไม่เคยรับผิดชอบลูกเมียได้ดี กลับอยากมารับผิดชอบชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่เพิ่งรู้จักกันเพียงไม่กี่วัน

ความเป็นชายของสามก่อเกิดขึ้นเพราะบริบทแวดล้อมของสถานที่ และเมื่อสามจะออกจากปัตตานีโดยไม่มีมุ่ยตามไปด้วยกัน ก็คงไม่ต่างจากออกไปตาย

แม้ตัวละครทั้งสองจะไม่ได้พูดบอกรักกัน แต่สามกับมุ่ยก็รู้สึกดีต่อกันมากขึ้นจากวันแรกที่พบกัน ปัตตานีในเรื่องราวในล้อมกรอบเขตความรุนแรงกับสมาคมลับชาวจีนที่มีอาม่าเป็นส่วนหนึ่งและมุ่ยสะใภ้คนจีนรู้เห็นมาตลอด “ใครก็คิดไม่ถึงหรอก ว่าเรื่องทั้งหมดคนจีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ระเบิดทุกลูก เหตุการณ์ทุกอย่าง” (หน้า 106) เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด จึงมิอาจให้คนทั้งสองได้ผูกประสานความสัมพันธ์กันมากไปกว่านี้

ประหนึ่งเพียงพบแล้วจาก ประหนึ่งฝันแล้วตื่น และลบเลือนเรื่องราวทั้งหมด

ราวกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น ไม่เคยมีอยู่จริง

“เราจะแต่งเรื่องยังไงต่อได้อีก ก็เราเขียนเองว่ามันจะจบตรงนี้” สามยินยอมและยินดี เขามาเพื่อตาย เขาควรจะตาย เขาไม่มีอะไรแล้ว ไม่มีที่จะไป เขาตายแล้วมุ่ยกลับไปมีชีวิตปกติ มุ่ยกระซิบ ไม่มีอะไรปกติอีกแล้ว เธอไม่อาจทนเห็นใครตายเพิ่มอีกแล้ว สามบอกงั้นมุ่ยต้องหนี หนีทำไม คนที่ต้องหนีคือสาม (หน้า 109)

จะอ่านอย่างไรดี? นั่นสิ คงไม่มีผิดไม่มีถูก เหมือนที่บาร์ตส์กล่าวไว้

“ผู้อ่านเป็นผู้สร้างความหมายของงานเขียนที่พวกเขาและเธออ่านเอง”

เพราะเมื่อผู้ประพันธ์เขียนจบ หนังสือได้ตีพิมพ์ วางจำหน่าย ก็เหมือนกับผู้ประพันธ์ได้ตายแล้ว

ข้อมูล “กระตุก” การเขียน

เล่นแร่แปรธาตุ / มุกหอม วงษ์เทศ

มายาคติ / โรล็องด์ บาร์ตส์