“ทุนนิยม” ที่ให้โอกาส คนเล็ก คนน้อย

“หมูปลาร้า แยกคอกวัว”

ฟังชื่อแล้ว ช่างน่าสนใจนัก

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็คงผ่านเลย ไม่คิดจะเข้าไปลิ้มลองอุดหนุนกัน

หากทว่า ในยุคที่ระบบทุนนิยมได้พัฒนาไปก้าวไกลมาก โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ กูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และสมาร์ตโฟน ก็ทำให้สินค้าดีๆ แปลกใหม่ และแตกต่าง ที่เคยอุดอู้อยู่ในซอกหลืบ ได้รับการโปรโมต แพร่กระจาย และต่อยอด จากเพื่อนสู่เพื่อน ไปถึงคนรู้จัก กระทั่งกลายเป็นกระแสสังคม หรือบางครั้งก็เพียงแค่โด่งดังในคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความสนใจและรสนิยมร่วมกัน

แต่นั่นก็มากเพียงพอแล้วที่จะทำให้ธุรกิจและผู้ประกอบการรายเล็กๆ ระดับรากหญ้าที่ไม่ได้มีทุนหนาในการโหมโฆษณา ได้รับโอกาสในการขายสินค้า มีลูกค้าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า

ซึ่งพวกเขาย่อมดีใจมากล้น เสมือนได้รับน้ำทิพย์ประทานจากสรวงสวรรค์ โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ ที่เศรษฐกิจของคนทุนเล็กไม่ได้เติบโตได้ดีเหมือน GDP ประเทศไทย

บทความรีวิว “หมูปลาร้า แยกคอกวัว” จากเว็บไซต์ Wongnai เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของร้านเล็กๆ แห่งนี้

โดยในช่วงก่อนหน้านั้น แม้จะมีลูกค้าอยู่พอสมควร แต่ก็แค่ขายดีในระดับทั่วไป

หากทว่า เมื่อการแนะนำค่อยๆ แพร่กระจายไป ลูกค้าจึงได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้เห็นว่า มีการแจกบัตรคิวกัน แถมยังมีเก้าอี้ให้นั่งรออีกด้วย

แน่นอนว่า ร้านนี้มีเสน่ห์และจุดขายอยู่หลายประการ แต่หากไม่มีการรีวิว การแชร์ และการนำรูปถ่ายไปอวดกันในกลุ่มเพื่อนๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ทั้งหลาย ก็ยากที่จะทำให้เกิดการหลั่งไหลเข้ามาลิ้มลองอย่างล้นหลามเช่นนี้

ในอดีตนั้น การเริ่มต้นธุรกิจมีต้นทุนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าสถานที่ เงินทุนในการสร้างโรงงาน ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ยังไม่นับงบประมาณโฆษณาสินค้าให้เป็นที่รู้จัก

ครั้นเมื่อทุนนิยมได้พัฒนามาถึงยุคอินเตอร์เน็ต และสมาร์ตโฟนครองเมือง ก็ทำให้ต้นทุนทั้งหลายที่ว่ามา มีราคาถูกลงมหาศาล หรือบางอย่างอาจได้มาฟรีๆ อีกด้วย

ธุรกิจใหม่ๆ จากคนเล็กๆ คนน้อยๆ ที่ไม่ได้มีทุนรอน หรือชื่อเสียงมากมาย ก็ผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด

50% ย่อมล้มหายไปภายในเวลาไม่ช้านาน

แต่ว่า 20% ที่มีไหวพริบและการพลิกแพลงเฉียบคมทางธุรกิจ ย่อมจะอยู่รอด และเติบโตต่อไปได้

ที่เหลืออีก 30% อาจไม่ได้มีผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ หากทว่า ต้นทุนทางธุรกิจที่ต่ำมากในยุคนี้ ก็ทำให้พวกเขาสามารถยืดหยัดต่อได้ โดยถือว่าเป็นรายได้อีกก้อนหนึ่งของชีวิต ซึ่งอาจเป็นส่วนเสริมจากงานประจำและธุรกิจอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องถูกกระแสการคัดเลือกทางธรรมชาติแบบดาร์วิน (Darwin) ทำลายล้างไปเหมือนในระบบทุนนิยมยุคโบราณ

“เหตุใดทุนนิยมที่เคยเหี้ยมโหด จึงกลับใจมามีเมตตาธรรมมากขึ้นในยุคนี้”

หลายคนอาจจะสงสัย และตั้งคำถามในใจ

คำตอบก็คือ ทุนนิยมยังคงมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดอยู่เช่นเดิม และจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ความสลับซับซ้อนในการแสวงหาผลประโยชน์ของทุนนิยม

หากเป็นยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีต้นทุนสูงยิ่ง ย่อมไม่มีใครยินยอมเสียเวลามาโฆษณา ให้กับร้าน “หมูปลาร้า แยกคอกวัว” แบบฟรีๆ เช่นนี้ได้

เมื่อโจทย์เปลี่ยน ทุนนิยมก็ย่อมปรับตัว

บริษัทใหญ่ที่แสวงหากำไรในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Google หรือ Facebook แม้ว่าจะมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับ “อำนาจ” ในการเข้าถึงลูกค้าระดับพันล้านคนแล้ว ค่าใช้จ่ายต่อคนก็ย่อมต่ำมากๆ ยังไม่นับว่า รายได้จากค่าโฆษณา ก็สามารถเพิ่มพูนตามจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการของเครือข่าย โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการดูแลลูกค้าแต่ละคน ก็แทบไม่มี หรือเข้าใกล้ศูนย์

ขณะเดียวกัน สิ่งที่บริษัทพวกนี้ต้องการก็คือ ข้อมูลที่น่าสนใจ และการนำข้อมูลไปเผยแพร่ เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากที่สุดได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์ เชื่อมโยง และสนทนากัน เพราะยิ่งทำแบบนี้มากเท่าไร กำไรจากค่าโฆษณาของบริษัทก็จะเพิ่มพูนสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในทำนองเดียวกัน เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น Wongnai ย่อมปรารถนาให้คนได้ลิ้มลองอาหารใหม่ๆ

เพราะยิ่งพวกเขาชื่นชอบ และสนใจมากเพียงใด ก็จะนำไปบอกเล่าต่อในหลากหลายเครือข่ายทางสังคม

ซึ่งส่งผลทำให้ยอดคนเข้าชมของ Wongnai ล้นทะลัก ยังไม่นับยอดรีวิวที่เพิ่มพูนขึ้น ยิ่งดึงดูดให้คนไปดื่มกิน และกลับมารีวิวมากขึ้นไปอีก เป็นวัฏจักรทางบวกที่น่าชื่นใจยิ่งนัก

ข่าวร้ายก็คือ Facebook ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในยุคนี้ กำลังจะทำให้การโฆษณาแบบฟรีๆ เช่นนี้ เข้าถึงคนอื่นๆ ในเครือข่ายลดลง

หากทว่า ผู้ประกอบการที่รู้จักปรับตัว ก็ย่อมแสวงหาช่องทางอื่นๆ ในการแพร่กระจายข่าวสารของตนออกไป

อย่างไรก็ตาม Facebook ซึ่งต้องการบีบให้ธุรกิจทั้งหลาย จำเป็นต้องจ่ายค่าโฆษณาให้ตนเองมากขึ้นนั้น ก็ยังไม่กล้าทำอะไรแบบสุดขั้ว เพราะอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อตัวเองมากกว่าผลบวกที่ได้รับ

ดังนั้น ข่าวสารที่มีความน่าสนใจ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์โต้ตอบของผู้คนอย่างมากมาย ก็ยังคงได้รับการแพร่กระจายเป็นอย่างดี

แม้จะเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ ก็ยังต้องเคารพกฎเกณฑ์ของทุนนิยม เพราะคู่แข่งทั้งเก่าและใหม่ ย่อมจับจ้องตาเป็นมัน เพื่อรอคอยโอกาสเข้ามาช่วงชิงลูกค้าไป เพียงแค่คุณเดินหมากผิดพลาดนิดเดียวเท่านั้น

“คนเล็ก คนน้อย” จึงยังมีโอกาสได้รับประโยชน์จากทุนนิยมในยุคใหม่ มากกว่ายุคสมัยใดๆ ที่ผ่านมา ขอเพียงแค่พวกเขารู้จักพลิกแพลง ดัดแปลง และสร้างสรรค์ธุรกิจของพวกเขาให้มีเสน่ห์ ดึงดูด และชวนค้นหา

ที่เหลือ ก็จะมีคนอื่นๆ ช่วยกันแพร่กระจาย และจัดการสร้างกระแสให้เอง

ใครที่อยากเป็นนักเขียน จงเขียนเถิด ไม่ต้องรอให้สำนักพิมพ์อนุมัติ

ใครที่โหยหาการท่องเที่ยว จงเดินทางไปสุดหล้า โดยไม่ต้องสนใจว่าจะได้ค้นพบสิ่งดีๆ เหมือนในหนังสือท่องเที่ยวแนะนำไว้

ใครที่ต้องการถ่ายรูป จงหยิบอุปกรณ์ขึ้นมา และลงมือทำในฉับพลัน ไม่จำเป็นต้องหวั่นกังวลว่าจะไม่ได้ภาพที่สวยงามเหมือนนักถ่ายรูปชั้นเซียน

ใครที่ปรารถนาจะได้เสพสัมผัสอาหารแปลกๆ ในร้านริมทาง ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ก็ไปได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้หม่อมถนัดศรีชวนชิม

ขอเพียงแค่ อย่าลืมแชร์ให้โลกได้รับรู้ด้วย

บางทีสิ่งเล็กๆ ที่คุณกระทำ อาจส่งผลกระทบไปสู่คนอื่นๆ ได้อีกนับไม่ถ้วน

หากทำได้ดีเลิศประเสริฐศรี ก็อาจส่งผลสะท้อนย้อนกลับมา พลิกผันให้ชีวิตเล็กๆ ธรรมดาสามัญของคุณ เกิดความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ไปตลอดกาล