โรแมนติกแห่งชาติ

ประกาศเป็นทางการแล้ว กับผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช 2560

สาขาวรรณศิลป์ปีนี้ได้รับการเชิดชูเกียรติทั้งสิ้น 3 คน

หนึ่ง คือ เพ็ญศรี เคียงศิริ หรือนราวดี

นางเพ็ญศรี เคียงศิริ

หนึ่ง คือ เทพศิริ สุขโสภา

เทพศิริ สุขโสภา

และอีกหนึ่งคือ พิบูลศักดิ์ ละครพล

การประกาศเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ ในแต่ละปี มักมีข้อข้องใจให้ฉุกคิดต่อดุลพินิจที่ใช้วินิจฉัยของกรรมการที่คัดเลือกอยู่เสมอ

บางคนควรจะได้ ก็ยังไม่ได้

บางคนยังไม่น่าจะได้ แต่กลับได้ก็มี

และยังมีปัญหาการให้แบบผิดฝาผิดตัวผิดสาขาจนมีเสียงไถ่ถามกันอึงคะนึง

ทำอย่างกับโนเบล ไพรซ์ มอบให้กับ บ็อบ ดีแลนซ์ ก็มิปาน!

กระแสคราวนี้มีอยู่ 2 กระแส

1 กระแสผิดฝาผิดตัวผิดสาขา แทนที่ อ.เทพศิริ สุขโสภา จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติในสาขาทัศนศิลป์ที่เราๆ ท่านๆ ได้ประจักษ์ต่อผลงานของท่านเป็นส่วนมาก ก็กลับกลายเป็นว่าได้ในสาขาวรรณศิลป์

ข้อนี้ก็แล้วแต่จะว่ากันไป ว่าใครเป็นศิษย์สาขาไหนของอาจารย์เทพ

ส่วนอีก 1 ก็คือ กระแส “เจ้าชายโรแมนติก” ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล หรือพี่ปอนของน้องๆ ที่โลกโซเชียลหลายคนออกมาบอกว่าพี่ปอนของน้องๆ นักเดินทาง “สู่ฝัน” ยังไม่น่าได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ทำนองว่ามีแต่งานรักๆ ใคร่ๆ พาฝัน โรแมนติกเสียเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีงานเชิงสะท้อนสังคม หรืองานที่เข้มข้นเพียงพอที่จะเป็นศิลปินแห่งชาติ

ความจริงแล้วเป็นเช่นนั้นล่ะหรือ?

จะชวนวิเคราะห์ผ่านงานสำคัญ 2 ชิ้น ถือเป็นงานในยุคแรก และยุคล่า ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล เพื่อจะได้มาสำรวจข้อกังขาต่อเจ้าชายโรแมนติกผู้นี้

เล่มแรกคือ ขอความรักบ้างได้ไหม อันถือเป็นมาสเตอร์พีซของเขา

เล่มถัดมาคือ ริ่มฝั่งแม่น้ำหัวใจสลาย ความเรียงเชิงสารคดีที่ตีพิมพ์ขึ้นในปี 2556 อันเป็นงานใหม่ล่าสุดหนึ่งในสามเล่ม ก่อนที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

แฟนๆ ของ พิบูลศักดิ์ ละครพล ย่อมไม่มีใครไม่รู้จักนิยายเรื่อง “ขอความรักบ้างได้ไหม”

ซาบซึ้ง กินใจ แลโศกรันทด

พล็อต ภาษาบรรยาย บรรยากาศ เหล่านั้นหมดจดและงดงาม พริ้งพราวพรายราวน้ำค้างแก้มที่ประกายเกล็ดสะท้อนแสงความเศร้าระยิบระยับ

จึงขอยกไว้ไม่กล่าวถึง

เนื้อหาเล่า?

บ้างก็ว่าเป็นเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ธรรมดาๆ

แต่ผมขอบอกว่า ในความเห็นของผมแล้วมันมิได้ตื้นเขินเพียงแค่นั้น

“ขอความรักบ้างได้ไหม” มีตัวละครสำคัญ 3 ตัว เล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์แบบรักสามเศร้า ในฉากที่สร้างขึ้นอย่าง “พาฝัน”

(บรรทัดต่อไปมีปอยเลอร์)

ท้ายเรื่อง ตัวละครเอกยิงตัวตายในทุ่ง!

ปิดฉากอย่างเศร้ารันทด และเหมือนจะไม่มีใครสมหวังสักคน

ในอีกมิติ เมื่อมองให้ลึกลงไปอีก เราพบว่าพื้นเพของตัวละครแต่ละตัวมาจากครอบครัวที่มีปัญหา พิบูลศักดิ์ต้องการนำเสนอให้เห็นว่า ครอบครัวเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เติบโตมาสู่สังคม พื้นฐานครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ หรือไม่พร้อม หรือไม่ดี ย่อมทำให้เยาวชนมีรากฐานความคิดที่ไม่แข็งแรง อ่อนไหว ขาดพร่อง และต้องแสวงหา ท้ายที่สุดคนที่เติบโตมาจากครอบครัวเช่นนั้นจะคว้ายึดความรู้สึกบางอย่างเพื่อมาเติมเต็มตัวเอง โครงสร้างของเรื่องนำเสนอว่า ปัญหาครอบครัวเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อทรัพยากรมนุษย์ และต่อสังคม

ส่งผลให้มีความยึดมั่น ถือมั่นมาก จนเมื่อได้รับความผิดหวังก็หาทางออกโดยความตาย!

ตัวละครคิดว่าความตายคือการเสียสละเพื่อความรัก แต่แท้แล้วมันเป็นความอ่อนแอที่แฝงซ่อนอยู่ในจิตใจ อันเป็นผลกระทบมาจากครอบครัวที่ไม่แข็งแรงนั่นเอง

เราพบว่าตัวละครในนิยายเรื่องนี้ทำตัวอิสระเสรี ไม่สนใจไยดีต่อสภาพสังคมและคนอื่นรอบข้าง ทั้งที่จริงพวกเขาว้าเหว่และอ่อนไหวเหลือเกิน

“ขอความรักบ้างได้ไหม” จึงมิใช่แต่เพียงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ หากแต่เป็นนวนิยายที่สะท้อนผลของปัญหาสังคมครอบครัวในเชิงลึกออกมาอย่างสมจริงด้วยภาพความโรแมนติก และทำให้คนอ่านจดจำด้วยความสะเทือนใจ

หนังสือสามเล่มล่าสุดก่อนได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติของ พิบูลศักดิ์ ละครพล คือ ริมฝั่งแม่น้ำหัวใจสลาย, ฉันคือสวนดอกไม้ในความเดียวดายของเธอ และอย่าลืมฝันถึงฤดูฝน

“ริมฝั่งแม่น้ำหัวใจสลาย” เป็นความเรียงที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว

พิบูลศักดิ์เขียนเรื่องนี้ด้วยท่วงทำนองของความเรียงกึ่งสารคดี เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ ประเพณี และวัฒนธรรม ริ่มฝั่งน้ำห้วยแม่ใจ

ห้วยแม่ใจ ในอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา และพื้นที่ที่แม่ใจไหลผ่าน

ที่นั่นเป็นบ้านของ พิบูลศักดิ์ ละครพล เขาใช้ชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตศึกษา และใช้ชีวิตนั้นเขียนหนังสือออกมา

โลกาภิวัตน์ ทุนนิยม การคอร์รัปชั่น กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชนบท ส่งผลกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมลำห้วยแม่ใจ

วิถีเปลี่ยน วัฒนธรรมเปลี่ยน การดำรงชีวิตเริ่มเปลี่ยน

เปลี่ยนไปจากรากเหง้าที่เคยมีมา เขาบอกว่า “มนุษย์ทำลายรากเหง้า กัดกินตัวเองยังไม่พอ ยังทำลายโลกด้วย”

“การทำลายมาในนามของการพัฒนา การพัฒนาทำให้เกิดคอร์รัปชั่น” ประโยคทำนองนี้ถูกนักเขียนโปรยไว้ในที่ต่างๆ ทั่วทั้งเล่ม เป็นการนำเสนอแก่นแห่งชีวิต (คือรากเหง้าของเราเอง) ที่เรากำลังทำลายมันลง เหมือนกับที่น้ำแม่ใจกำลังถูกทำลายลงในนามของการพัฒนา

ไม่เพียงแต่ที่แม่ใจ ยังมีเหตุการณ์ทำนองนี้กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ของประเทศไทย

คนที่อยู่ “ริมฝั่งแม่น้ำ” กำลัง “หัวใจสลาย” ลงไปทุกที ทุกที

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงผลงานอีกจำนวนมากของเขาที่หากนำมาวิจารณ์อย่างจริงจังจะเห็นแง่มุมทางสังคมที่นักเขียนใช้สายตาอันละเมียดมองเข้าไปอย่างลึกซึ้งและนำเสนออย่างสะทกสะเทือน

ต่อข้อกังขาว่างานของเขามีแต่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ไม่สมศักดิ์ศรีของการเป็นศิลปินแห่งชาติ เมื่อมองผ่านแว่นคืองานทั้งสองชิ้นนี้ของเขาแล้วย่อมได้คำตอบ

ฉายา “เจ้าชายโรแมนติก” มิใช่ได้มาโดยง่ายดาย ยิ่งไปกว่านั้น ความโรแมนติกของเขามิได้เปล่ากลวง

พิบูลศักดิ์ ละครพล เป็นเจ้าชายผู้มองเห็นความเป็นไปของสังคมอย่างลึกซึ้ง และความโรแมนติกของเขา ก็เป็นความ “โรแมนติกแห่งชาติ” เลยทีเดียว