ทำนาย 2040 โลกร้อน สู่…ปรากฏการณ์ “ย้ายถิ่นฐาน” อลหม่าน

ปรากฏการณ์อุณหภูมิโลกที่อุ่นขึ้นแผ่ไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตบริเวณ “ขั้วโลกเหนือ” จนทำให้แผ่นน้ำเเข็งบนภูเขาละลาย แม้ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างผลีผลาม แต่หากติดตามข่าวสารจะรู้ว่าน้ำแข็งจากขั้วโลกเหนือนั้นละลายมากขึ้นหลายกิโลเมตรอย่างผิดวิสัย

อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นส่งผลกระทบไปทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง อุทกภัย มหันตภัยที่หมุนเวียนเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ฤดูหนาวที่สั้นลง ฤดูร้อนที่นานขึ้น อาหารและน้ำสะอาดก็เริ่มขาดแคลน พืชผลปลูกได้ยากขึ้น โรคภัยที่เกิดขึ้นใหม่แข็งแรงมากขึ้น

ปัญหาเหล่านี้ล้วนมีที่มาที่ไปจาก “วิกฤตโลกร้อน” ทั้งสิ้น

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสันนิษฐานว่า ในช่วง 80 ปีข้างหน้าโลกจะเกิดการเปลี่ยนในทิศทางที่รุนแรงมากขึ้น

และอาจจะเป็นข่าวร้ายที่สุดสำหรับคนที่อาศัยตามชายฝั่งทะเล เนื่องจากเราจะเห็นการเคลื่อนไหวของการย้ายถิ่นฐาน หรือการหาที่อยู่อาศัยใหม่มากขึ้นเป็นระลอกใหญ่ที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ศาสตราจารย์ชาร์ลีส์ เกสเลอร์ (Charles Geisler) ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมศาสตร์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล ระบุเอาไว้ว่า “น้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเกิดพายุเป็นประจำทั้งพายุไต้ฝุ่น ทอร์นาโด พายุเฮอริเคน ตามเเนวชายฝั่งจะได้รับผลกระทบอย่างสาหัส นอกจากนี้ ภาวะคลื่นทะเลสูงจะยิ่งทำให้เเนวชายฝั่งได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น”

แต่สิ่งที่น่ากลัวและน่ากังวลมากที่สุดก็คือคำทำนายที่ว่า “นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2040 เป็นต้นไป ประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือจะกลายเป็นสถานที่ที่ร้อนเกินไปสำหรับมนุษย์”

โดยรายงานการศึกษาถูกเปิดเผยโดย “เนชั่นแนล โพสต์” สื่อภาษาอังกฤษของแคนาดา

รายงานยังคาดการณ์อีกว่า คลื่นความร้อนจากอุณหภูมิที่แตะเกือบ 50 องศาเซลเซียส จะเกิดถี่ขึ้นมากกว่า 10 ครั้งต่อปี หรือหากเลวร้ายกว่านั้นอุณหภูมิอาจจะพุ่งทะลุปรอทมากกว่า 50 องศาเซลเซียส ซึ่งที่ผ่านมาไม่ใช่กระแสใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากมีหลายประเทศในแถบแอฟริกาที่ปรอทความร้อนเกิน 50 องศาเซลเซียสมาแล้ว

เช่น “ลิเบีย” ประเทศทางเหนือของทวีปแอฟริกาแม้ว่าที่ตั้งของประเทศจะอยู่ริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่อุณหภูมิร้อนที่สุดที่เคยบันทึกได้คือ 57.8 องศาเซลเซียส

รวมถึงบางประเทศตะวันออกกลางอย่าง “ซาอุดีอาระเบีย” ประเทศขนาดใหญ่ในคาบสมุทรอาระเบียที่เต็มไปด้วยทะเลทรายอันแห้งแล้ง ทั้งยังนับว่าเป็นประเทศที่มีฝนตกน้อยมาก แถมคลื่นความร้อนที่พัดจากทะเลทรายเข้าสู่เมืองชายฝั่ง

ทำให้ช่วงกลางวันร้อนถึง 54 องศาเซลเซียส

นักวิเคราะห์ โจฮันน์ ลีไลเวิลด์ (Johannes Lelieveld) ชี้ว่า จำนวนประชากรกว่า 550 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ร้อนจัด มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดปรากฏการณ์ “การย้ายถิ่นฐาน” ให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

หมายความว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิจะเป็นปัจจัยแรกที่จะผลักดันให้เกิดกระแสการย้ายถิ่นฐาน รวมถึงปัจจัยของการขาดแคลนน้ำและอาหารเป็นองค์ประกอบตามมา

“สิ่งแรกที่เราจะเห็นก็คือ คนจนหลายล้านคนที่อพยพออกจากภูมิลำเนาเดิม เนื่องจากไม่สามารถใช้จ่ายให้กับสินค้าฟุ่มเฟือยได้เหมือนกับกลุ่มคนรวย เช่น เครื่องปรับอากาศ ซึ่งจะกลายเป็นสินค้าจำเป็นที่สุดในการเอาชีวิตรอด”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรตระหนักก็คือ ผลลัพธ์หลังจากที่มีการย้ายถิ่นฐานมากขึ้นนั้น โลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง?

แม้ว่าโลกจะมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นมากมาย นวัตกรรมและเทคโนโลยี กลายมาเป็นเครื่องมือการพัฒนาของแต่ละประเทศมากขึ้น

แต่หากถามว่าทุกประเทศพร้อมตั้งรับกับการไหลบ่าของคนต่างแดนมากน้อยเพียงใด ก็คงจะพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะก็ขึ้นอยู่กับนโยบายการต้อนรับขับสู้ของประเทศนั้นๆ ด้วย

และสิ่งที่เรามิอาจเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ กระแสการต่อต้านคนต่างถิ่นที่อพยพเข้ามาที่อาจรุนแรงขึ้น ต่อเนื่องจากปัจจุบันที่นโยบายในหลายประเทศเริ่มกีดกันผู้อพยพอยู่มากโข

เห็นได้จาก “สหรัฐอเมริกา” ที่แม้จะเป็นผู้นำด้านประชาธิปไตยโลก แต่หลายเหตุการณ์ก็ย้อนแย้งในตัวเองอยู่ไม่น้อยเลย

คำถามที่ยังตอบตอนนี้ไม่ได้ก็คือ…หากประเทศที่เปิดรับผู้อพยพน้อยกว่า มนุษย์ร่วมโลกเหล่านั้นจะเหลือพื้นที่ให้ยืนเพียงใด?

หรือหาก ณ เวลานั้นโลกเกิดสวนกระแส เกินครึ่งโลกเปิดรับผู้ลี้ภัย สิ่งที่ต้องคิดลำดับต่อไปก็คือ การแย่งกินแย่งใช้แย่งอากาศหายใจกันนั้น จะถูกชดเชยด้วยเทคโนโลยีเพียงพอหรือไม่…

แด่คำถามที่ไม่มีคำตอบ