บทความพิเศษ : “สิทธิความเป็นส่วนตัว” ในเรื่องสั้นรางวัลพานแว่นฟ้า “60

เรย์มอนด์ แวกส์ (Raymond Wacks) ได้ให้ความหมายโดยทั่วไปว่า แนวคิดเรื่องความเป็นส่วนตัวแยกไม่ออกจากความปรารถนาที่จะถูกละทิ้งไว้คนเดียว เพื่อให้เรามีอิสระที่จะเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่มีการยับยั้งและข้อจำกัดอันเกิดจากการสอดรู้สอดเห็นของคนอื่น

การสอดรู้สอดเห็นที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเพียงการสอดแนมและการทำให้เรื่องของเราเป็นเรื่องสาธารณะโดยที่เราไม่ต้องการ

แต่ยังรวมถึงการบุกรุก “พื้นที่” ที่เราต้องการความเป็นส่วนตัวด้วย

นี่เป็นเรื่องของการตัดสินใจส่วนบุคคลโดยปราศจากการแทรกแซงโดยรัฐ

ดังนั้น “ความเป็นส่วนตัว” จึงมักเป็นคำอธิบายอาณาบริเวณที่มีการลากเส้นกำหนดไว้ว่าพื้นที่ใดเป็นอาณาบริเวณ “ส่วนตัว”

ในเหตุการณ์ใดก็ตาม จะเห็นได้ชัดว่าแก่นแท้ของความใส่ใจในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของเราอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกกับสังคม เมื่อเรายอมรับการแบ่งแยกระหว่างอาณาบริเวณสาธารณะและอาณาบริเวณส่วนตัว เราก็กำลังคิดถึงชุมชนที่ไม่เพียงเห็นว่าการแบ่งแยกดังกล่าวเป็นเรื่องสมเหตุสมผล

แต่เรายังคิดถึงโครงสร้างเชิงสถาบันที่จะทำให้การแบ่งแยกดังกล่าวเป็นไปได้อีกด้วย

กล่าวคือ การบอกว่าหากมีสิ่งที่เรียกว่า “ส่วนตัว” ดำรงอยู่ ก็มีสิ่งที่เรียกว่า “สาธารณะ” ดำรงอยู่ด้วยเสมอ

บทความชิ้นนี้จะมุ่งนำเสนอ ความเป็นส่วนตัว ในเรื่องสั้น คนคิดเลข ของ โฆษิต มโนมัยอุดม ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2560 จากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

โดยจะกล่าวถึง ความหมาย คุณค่าและสิทธิความเป็นส่วนตัว

ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ใช้การลำดับเหตุการณ์ของเรื่องแบบเล่าข้าม (ellpsis) คือผู้เขียนตัดเหตุการณ์บางตอนไปเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นแทน อาจเป็นเพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สำคัญหรือเป็นการเล่าข้ามเพื่อสร้างปมเรื่องและคลี่คลายต่อไป

เปรียบเทียบกับภาพยนตร์คือการตัดภาพ (cut) สังเกตจากการไม่เรียงลำดับจาก (1)-(11) แต่สลับ (1) (10) (6) (4)…-(11) และใช้ตัวละครมิติเดียว (flat charactor) ในการเล่าเรื่อง หมายถึงตัวละครที่มีลักษณะนิสัยหรือพฤติกรรมซึ่งสามารถสรุปได้อย่างไม่ยากเย็น

เช่น “เขาเป็นคนคิดเลข” โดยใช้ศิลปะการสร้างตัวละครให้ผู้อ่านรู้จักลักษณะนิสัยของตัวละครทางตรงโดยตัวละครอื่นในเรื่อง ซึ่งอาจเชื่อถือไม่ได้ เพราะตัวละครนั้นๆ อาจมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องหรือมีอคติ

เช่น “แต่บางคนเขาคิดว่า การคิดเลขของคุณอาจเป็นการเบียดบังเวลาทำงานนะ” (น.107) หรือ “เพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาเคยคิดจินตนาการไปไกลถึงขนาดว่าบริษัทอาจจะต้องแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐบาล แล้วมีการส่งกองกำลังทหารเข้ามาควบคุมตัว…” (น.114-115)

จากบทสนทนาดังกล่าว เกิดจากการกระทำของตัวละครหลักที่เกิดขึ้นเป็นนิสัย จนถูกเพื่อนร่วมงานสอดส่องพฤติกรรมและวิจารณ์ไปต่างๆ นานา ซึ่งส่งผลต่อคุณค่าความเป็นส่วนตัวที่เป็นการกำหนดขอบเขตเพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ การมีสุขภาพจิตที่ดี ความสามารถในการรัก การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม การสนับสนุนความไว้เนื้อเชื่อใจ ความใกล้ชิดและมิตรภาพ

โฆษิต มโนมัยอุดม สร้างตัวละคร “พจน์” ให้มีลักษณะนิสัยชอบคิดเลขบนเศษกระดาษในเวลาพัก ซึ่งกลายเป็นงานอดิเรกที่ออกจะประหลาดในสายตาเพื่อนร่วมงานและบางคนถึงขนาดทำกับเขาราวเป็นตัวเชื้อโรค

จากลักษณะนิสัยดังกล่าวส่งผลให้เกิดการซุบซิบนินทาและสอดส่องพฤติกรรมของเขาและต่างคนต่างคาดเดาไปว่าการกระทำนั้นเป็นการเบียดบังเวลาทำงานหรือเป็นความผิดปกติทางจิต ด้วยเหตุผลว่า

“การคิดเลขของคุณนั้น ทำให้ก่อความระส่ำระสายในหมู่พนักงานของบริษัท… และขยายวงกว้างออกไป… มันอาจกระทบความมั่นคงของบริษัท” (น.111)

การสอดส่องพฤติกรรมจากเพื่อนร่วมงานสร้างความสงสัยให้เกิดขึ้นในองค์กร จนกลายเป็นความกังวลใจของบริษัทที่ถึงขนาดเรียกพจน์ไปสอบสวน ซึ่งเกิดเป็นคำถามต่อมาว่า เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่

และการวิจารณ์ลักษณะนิสัยจากบรรดาตัวละครอื่นจะเข้าข่ายเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออก เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ขององค์กรได้หรือไม่ อย่างไร

อลัน เวสทิน (Alan Westin) แบ่งหน้าที่ของความเป็นส่วนตัว ซึ่งผสมผสานมิติของปัจเจกและมิติของสังคมไว้ 4 ประการ

ประการแรก ความเป็นส่วนตัวทำให้เกิดความสามารถในการกำหนดตัวเองของบุคคล (personal autonomy) หลักการประชาธิปไตยเกี่ยวกับความเป็นปัจเจกนั้นเชื่อมโยงกับความสามารถในการกำหนดตัวเอง มันคือความปรารถนาในการหลีกหนีการควบคุมหรือครอบงำโดยคนอื่น

ประการที่สอง ความเป็นส่วนตัวอนุญาตให้เราถอดหน้ากากของเรา

ประการที่สาม ความเป็นส่วนตัวอนุญาตให้เราประเมินตัวเอง ซึ่งหมายถึงความสามารถในการสร้างและทดสอบกิจกรรมและความคิดในเชิงสร้างสรรค์และในเชิงศีลธรรม

และประการที่สี่ ความเป็นส่วนตัวทำให้เรามีสภาพแวดล้อมที่สามารถแบ่งปันความมั่นใจและความใกล้ชิดกับผู้อื่น รวมทั้งสามารถมีส่วนร่วมในการสื่อสารเรื่องล่อแหลมในแวดวงที่จำกัด

ดังนั้น ความเป็นส่วนตัวของพจน์ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ จึงเป็นการสื่อสารของเพื่อนร่วมงานถึงความล่อแหลมในพฤติกรรมการคิดเลขของเขา หรือ “คุณน่าจะอยู่เฉยๆ ดีกว่านะ” (น.107) ซึ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมือนคนอื่นนี้

กลายเป็นเรื่องสนุกหรือหัวข้อสนทนาของเพื่อนร่วมงานที่ตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบให้กับลักษณะนิสัยที่ไม่เหมือนคนอื่น กลายเป็นว่า พจน์ตกเป็นเป้าความสนใจทั้งจากเพื่อนร่วมงาน บริษัทและรัฐบาล จากความแปลกต่างนี้ที่มาละเมิดความเป็นส่วนตัวของเขาตามรัฐธรรมนูญ

ความหวั่นกลัว เคลือบแคลงสงสัยในเศษกระดาษที่มีแค่ตัวเลขบวกลบกันเป็นชุด ต่อความเชื่อในสิทธิความเป็นส่วนตัวและเหตุผล “ผมแค่ชอบทำสิ่งที่แตกต่างและไม่เหมือนคนอื่น…” (น.112) ยิ่งยืนยันความคิดและตัวตนของเขาที่อยู่บนหลักการประชาธิปไตย

ในเมื่อมันเป็นสิทธิที่ไม่ผิดระเบียบบริษัทและกฎหมาย รวมถึงไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน การคิดเลขของพจน์จึงทำได้ สุดท้ายเขาเลือกทำงานต่อที่บริษัทแห่งนี้หลังจากถูกสอบสวน ซึ่งสะท้อนอุดมคติประชาธิปไตยที่ทุกคนต่างมีสิทธิ ยอมรับ เคารพและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น

การทำงานต่อที่บริษัทแห่งนี้ยังตอกย้ำถึงการยอมรับและเชื่อมั่นในตัวองค์กรที่คำนึงถึงคุณค่าและความสำคัญในความคิดและความเชื่อที่แตกต่าง ซึ่งควรได้รับการปกป้องและคุ้มครองนั่นเอง

ข้อน่าพิจารณาต่อมาคือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในพฤติกรรมของพจน์นั้นเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของผู้พูดหรือผู้ฟัง ประเด็นดังกล่าวให้เหตุผลของความชอบธรรมบนฐานความคิดเรื่องปัจเจกหรือชุมชน (องค์กร)

เหตุผลแรกวางอยู่บนฐานความคิดเรื่องสิทธิ ซึ่งต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของปัจเจก เช่น ความสามารถในการกำหนดตัวเอง การรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและความสามารถในการเติมเต็มตัวเอง (self-fulfilment) รวมถึงคุณค่าอื่นๆ เช่น การไม่สามารถหยุดยั้งตัวเองให้คิดเลขได้ ซึ่งสะท้อนสิทธิของปัจเจกบุคคลขั้นพื้นฐานและไม่ได้เข้าข่ายเป็นเรื่องอ่อนไหวทางสังคมใดๆ ด้วยซ้ำ

กลับเป็นเพียงความสงสัยและวิตกจริตของสังคมเองมากว่า แท้ที่จริงมันคือความสันโดษ (solitude) ที่ได้รับความสนใจจากบุคคลอื่น จนกลายเป็นเรื่องส่วนตัวที่ถูกสาธารณะคุกคามและแทรกแซงปกติสุขในชีวิตคนคนหนึ่ง

เหตุผลที่สองวางอยู่บนพื้นฐานความคิดเรื่องชุมชน (องค์กร) ลักษณะแบบผลลัพธ์นิยมหรืออรรถประโยชน์นิยม (conequentialist or utilitarian) ซึ่งวางอยู่บนทฤษฎีประชาธิปไตยหรือความเชื่อว่าการสนับสนุนความจริงผ่านการสนับสนุนเสรีภาพในการพูดจะช่วยอำนวยหรือสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง เกิดการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารและเกิดการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของพลเมือง ซึ่งจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย

หมายความว่า การวิจารณ์พฤติกรรมของพจน์จากเพื่อนร่วมงาน นอกจากจะเป็นข้อถกเถียงความจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการรับประกันว่าปัจเจกมีเสรีภาพในการถกเถียงทางความคิดเห็นที่ควรเป็นไปอย่างกระตือรือร้นและเปิดกว้าง เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ

และเมื่อพิจารณาตอนจบของเรื่องสั้นเรื่องนี้อีกครั้งจะพบว่า บริษัทแห่งนี้มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเคารพการกระทำของตัวละครกับสิ่งที่เกิดขึ้นและตรวจสอบความถูกต้องให้เกิดความกระจ่างชัด

โดยที่ โฆษิต มโนมัยอุดม ต้องการสื่อสารและแฝงนัยผ่านตัวละครให้ผู้อ่านตระหนักถึงเรื่องสิทธิการมีส่วนร่วมในการปกครองที่ทุกบริษัทควรยึดถือเป็นแบบอย่าง เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมต่อไป

บรรณานุกรม

เรย์มอนด์ แวกส์. (2556). ความเป็นส่วนตัว : ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส.

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาธิปไตยและกิจการสภาผู้แทนราษฎร. (2560). ภาพที่อิมโพสิชั่น (ไม่เคย) ลงตัว วรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2560. กรุงเทพฯ : สำนักประชาสัมพันธ์

อิราวดี ไตลังคะ. (2545). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์