เมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถูกทำให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน (จบ)

ย้อนอ่าน part 1

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 เพื่อขยายอำนาจ ม.44 ให้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองในโรงงานบางประเภทเพิ่มขึ้นอีก เช่น โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล หรือโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ โรงงานกำจัดขยะและของเสียต่างๆ เป็นต้น

คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559 เพื่อยกเว้นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อนและชลประทาน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน

คำสั่งว่าด้วยระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corrodor : EEC ได้แก่ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 2/2560 เรื่อง การพัฒนา EEC คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 28/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนา EEC และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 47/2560 เรื่อง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินในพื้นที่ EEC โดยรวมทั้งสามคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นมาเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนา EEC และคณะกรรมการบริหารการพัฒนา EEC ให้มีอำนาจและหน้าที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนเป็นหลักด้วยการ

(1) กำหนดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุน

(2) ให้ผู้ลงทุนเช่าที่ดินระยะยาว

(3) ยกเว้นบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและยกเลิกผังเมืองรวมสามจังหวัดที่ไม่สอดคล้องกับแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ EEC ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง

(4) ให้มี คชก. พิจารณา EIA/EHIA ของโครงการหรือกิจการในพื้นที่ EEC เป็นการเฉพาะ โดยว่าจ้างจากผู้ชำนาญการต่างประเทศที่ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทยก็ได้ และให้มีค่าตอบแทนพิเศษแก่ คชก. เฉพาะพื้นที่ EEC ด้วย

และ (5) ต้องเร่งรัดให้การพิจารณา EIA/EHIA สำหรับโครงการหรือกิจการในพื้นที่ EEC แล้วเสร็จให้ได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับรายงาน

รวมถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ให้ยุบคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ที่เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพื่อยึดอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EHIA กลับมาอยู่ในมือของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA/EHIA (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) เช่นเดิม

หลังจากที่ถูก กอสส. แย่งชิง แทรกแซงและลดทอนอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EHIA ไปนานกว่าเจ็ดปีนับแต่เดือนมิถุนายน 2553

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือลำดับการก่อตัวเพื่อสร้างเหตุผลและความชอบธรรมในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายสิ่งแวดล้อมเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพียงส่วนเดียว

แทนที่จะแก้ไขทั้งฉบับเพื่อทำให้มิติการพัฒนาตระหนักถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนเกิดความสมดุลและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันหรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แม้โดยรวมจะไม่ดีมากนัก แต่ก็มีพัฒนาการในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนดีขึ้นมาเป็นลำดับ

ดังนั้น หากจะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ควรแก้ไขปรับปรุงให้การมีส่วนร่วมของประชาชนทันสมัยขึ้นด้วยการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือสิทธิชุมชน หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติที่ประชาคมโลกรวมทั้งประเทศไทยตกลงร่วมกันที่จะใช้เป็นกรอบในการดำเนินงานด้านการพัฒนาใส่ลงไปในกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

รวมถึงการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เข้ามาเพื่อประเมินศักยภาพพื้นที่และความต้องการใช้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์สำหรับนโยบาย โครงการหรือกิจการที่การจัดทำ EIA/EHIA ไม่สามารถตอบสนองการประเมินผลกระทบได้รอบด้านและครบถ้วน และปรับปรุงกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำและพิจารณา EIA/EHIA ด้วยการให้มีองค์กรอิสระที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำของเจ้าของโครงการและหน่วยงานผูกขาดอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA ของรัฐ คือ สผ. คชก. และ กกวล. ฝ่ายเดียวอีกต่อไป

แต่ปัจจุบัน “ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่…) พ.ศ. …” หรือร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดย ครม. ชุดที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีถูกส่งต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาอยู่ในขณะนี้กลับทำตรงกันข้าม

โดยมุ่งแก้ไขเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อต้องการทำให้ระยะเวลาในการจัดทำและพิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA มีขั้นตอนและกระบวนการที่ลัดสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

เป็นเสมือนการสร้างช่องทางด่วนหรือช่องทางลัดเพื่อมุ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่การลงทุนมากเกินไปจนละเลยคุณภาพชีวิตของประชาชน

ด้วยการนำคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 มาขยายความให้ครอบคลุมโครงการหรือกิจการมากขึ้นกว่าเดิมใส่ลงไปในมาตรา 50 วรรคสี่ ที่แต่เดิมยกเว้นเฉพาะโครงการด้านคมนาคมขนส่ง การสร้างเขื่อน การป้องกันสาธารณภัย โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัย ให้สามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อน โดยเพิ่มโครงการหรือกิจการด้านความมั่นคงทางพลังงานเข้ามาอีกประเภทหนึ่ง นั่นก็คือโครงการหรือกิจการเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ โดยเฉพาะถ่านหินที่รัฐกำลังผลักดันให้เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ที่เพิ่งถูกสลายการชุมนุมและฟ้องคดีโดยรัฐเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นต้น

รวมถึงโครงการหรือกิจการจากสัมปทานขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งทะเลและบนบก ก็จะถูกยกเว้นด้วยการสามารถจัดหาผู้รับเหมาเอกชนเพื่อดำเนินโครงการหรือกิจการได้โดยไม่ต้องรอให้ EIA ได้รับความเห็นชอบเสียก่อนได้เช่นเดียวกัน

ไม่เพียงเท่านั้น โครงการหรือกิจการเหล่านี้ตามมาตรา 50 วรรคสี่ ยังถูกบังคับให้ คชก. ต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA อย่างเร่งรีบภายใน 120 วัน หาก คชก. ไม่มีความเห็นภายในกำหนดเวลาไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้ กกวล. ทำหน้าที่แทนโดยพิจารณาเสนอความเห็นต่อ ครม. ได้โดยไม่ต้องรอความเห็นจาก คชก. อีกต่อไปได้เลย

ประเด็นต่อมา มาตรา 48 ของร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ที่เหมือนกับมาตรา 46 วรรคสามของกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันตรงที่สามารถให้โครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดใด หรือที่จะจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ใดมี EIA ไว้แล้ว (ไม่รวม EHIA เข้ามาในกรณีนี้) และเป็นมาตรฐานที่สามารถใช้กับโครงการหรือกิจการประเภทหรือขนาดเดียวกัน หรือในพื้นที่ลักษณะเดียวกันได้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทํา EIA ซ้ำอีก หมายถึง สามารถนำสำเนา EIA โครงการหนึ่งมาใช้กับอีกโครงการหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกันแต่ต่างพื้นที่ได้เลย

แต่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือมาตรา 49 ในกรณีโครงการหรือกิจการใดได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำ EIA มีการดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ให้จัดทำ EIA ขึ้นมาเสนอต่อ สผ. หรือ “หน่วยงานของรัฐแห่งอื่น” ตามที่ กกวล. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้

ยกตัวอย่าง เช่น โครงการเหมืองแร่ชนิดหนึ่งใช้สำเนา EIA จากโครงการเหมืองแร่ชนิดเดียวกันที่มีขนาดและพื้นที่คล้ายคลึงกันต้องการเปลี่ยนแปลงแผนผังการทำเหมืองและเพิ่มเติมชนิดแร่ที่จะผลิต ก็จัดทำ EIA ขึ้นมาโดยเสนอต่ออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตามกฎหมายแร่แทนการเสนอต่อ สผ. และ คชก. ได้ เป็นต้น

ซึ่งจะทำให้ EIA ที่จัดทำขึ้นมาผ่านความเห็นชอบได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. แต่อย่างใด

จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติที่เพิ่มเข้ามาค่อนข้างอันตราย เนื่องจากว่าอำนาจผูกขาดในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ EIA/EHIA ของ สผ. คชก. และ กกวล. ซึ่งปรากฏอยู่ในร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมฉบับนี้และคำสั่งหัวหน้า คสช. ว่าด้วยการพัฒนาพื้นที่ EEC อาจจะนำมาซึ่งโครงการหรือกิจการที่ทำสำเนา EIA เต็มไปหมดในพื้นที่ EEC

มิหนำซ้ำ การดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงโครงการหรือกิจการไปจากเดิมก็อาจไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ได้

ไม่เว้นแม้แต่โครงการหรือกิจการโรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะและของเสียต่างๆ ที่อยู่อาศัยตึกสูงที่ผุดขึ้นเต็มกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันทั้งในด้านขนาดและพื้นที่ ก็คงจะมีการทำสำเนา EIA เต็มไปหมด

และก็เช่นเดียวกัน การดัดแปลง ขยาย ต่อเติม เพิ่ม ลด หรือเปลี่ยนแปลงโครงการหรือกิจการไปจากเดิมก็อาจไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ได้

อีกประเด็นหนึ่ง มาตรา 51 เปิดโอกาสให้โครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำ EIA/EHIA สามารถเสนอต่อ สผ. หรือ “หน่วยงานของรัฐแห่งอื่น” ตามที่ กกวล. มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทนก็ได้

หมายความว่า EIA/EHIA สำหรับโครงการหรือกิจการประเภทใดที่ยากและใช้เวลานานในการพิจารณาให้ความเห็นชอบของ สผ. และ คชก. ก็ให้หน่วยงานที่มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายนั้นทำหน้าที่เป็น สผ. และ คชก. แทน

ยกตัวอย่าง เช่น โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าประเภทหนึ่งก็ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เป็นผู้พิจารณาใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าทำหน้าที่เป็นผู้พิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA/EHIA เพิ่มเติมอีกหน้าที่หนึ่ง เป็นต้น

หน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็คือมีหน้าที่เป็นตาข่ายคอยดักและกลั่นกรองการพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความสมดุลในการใช้และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการมองมิติความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายชั่วอายุคน และคำนึงถึงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์สุขของประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วยง่ายเกินไปจากมลพิษในภาคอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่รายรอบที่อยู่อาศัย

แต่สิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. กระทำคือตัดตาข่ายของกฎหมายสิ่งแวดล้อมทิ้ง

ซึ่งจะทำให้การกลั่นกรองเพื่อรับประกันให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและสุขภาวะอนามัยอ่อนแอลง

จากการเปลี่ยนกฎหมายสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมาอีกฉบับหนึ่ง

[1] แนวคิดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ระดับจังหวัดถูกผลักดันจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ข้อ 4.2 ที่สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณากำหนดแนวทางให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยเฉพาะในพื้นที่ที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการลงทุน หรือพื้นที่ที่ต้องเร่งพัฒนาหรือดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้โครงการและกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาลสามารถเริ่มดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

[2] 5 จังหวัดแรกตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ 1/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 19 มกราคม 2558

[3] อีก 5 จังหวัดหลังตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่ 2/2558 เรื่อง กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 2 ลงวันที่ 24 เมษายน 2558