เมื่อกฎหมายสิ่งแวดล้อม ถูกทำให้กลายเป็นกฎหมายส่งเสริมการลงทุน

ปมด้อยของรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ก็คือไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก นอกจากการเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องประกาศให้แจ้งชัดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วได้เมื่อไหร่แล้ว

ยังมีวิธีกลบปมด้อยอยู่อีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือต้องทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตให้ได้ในสภาวะที่บ้านเมืองปกครองด้วยระบบเผด็จการ

ทั้งสองเรื่องเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไขว้ไปมาจากความไม่ชัดเจนของประชาคมโลกเองว่าจะจัดลำดับความสำคัญให้เรื่องไหนมาก่อน เรื่องไหนมาทีหลัง

มันจึงทำให้ คสช. ตอบสนองในเรื่องที่ง่ายกว่าก่อน

นั่นก็คือการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ

ส่วนเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ คสช. ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย อย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ (ซึ่งระยะเวลาสามปีกว่านับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ก็เลยช่วงระยะเวลาอันใกล้มามากแล้ว)

ดังจะเห็นได้ว่าหลังจากรัฐประหารผ่านมาได้สองสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกประกาศ คสช. ฉบับที่ 55/2557 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งตัวเองเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ

เพราะเล็งเห็นว่ารัฐประหารครั้งนี้ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตให้ได้

นอกจากหน่วยงาน/องค์กรและกลไกทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ คสช. ควบคุมไว้ทั้งหมดในฐานะที่เป็นรัฐบาลแล้ว

อุปสรรคสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในการกลั่นกรองและพิจารณาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ประเภทต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินภาครัฐและเอกชนเพื่อการลงทุนในกิจการสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมและบริการมากนัก

ก่อนหน้าที่หัวหน้า คสช. จะลงนามแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานกรรมการบีโอไอหนึ่งสัปดาห์

แนวคิดเรื่อง EIA Fast Track ก็ผุดขึ้นมา

เพื่อต้องการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่พิจารณาผ่านความเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA สร้างช่องทางลัดพิเศษขึ้นมาเพื่อทำให้ระยะเวลาการพิจารณาผ่านความเห็นชอบ EIA สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ (อย่างมากที่สุดต้องไม่เกิน 105 วัน)

สำหรับโครงการนำร่องในการก้าวขึ้นสู่การเป็นรัฐบาลของ คสช. อันได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ 5 สาย รถไฟฟ้าหลายเส้นทาง และมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด เป็นต้น

กลางปี 2558 แนวคิดเรื่อง EIA Bypass ก็เกิดขึ้นตามมาจากข้อเสนอของหัวหน้า คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ตามคำสั่ง คสช. ที่ 72/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2557 ที่ลงนามแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานได้เสนอให้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบและเงื่อนไขไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายสิ่งแวดล้อมเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำและพิจารณา EIA บางขั้นตอนให้มีระยะเวลาสั้นลงเพื่อผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษมีผลเชิงรูปธรรมเร็วขึ้น

โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือจัดให้มีคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา EIA ด้านอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภค (คชก.) ระดับจังหวัด[1] ที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามารถเป็นผู้อนุมัติ/อนุญาต EIA ได้เอง

ไม่ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณา EIA แบบเดิมที่ใช้ระยะเวลายาวนานในการพิจารณาผ่านความเห็นชอบอีกต่อไป

ปลายปี 2558 ความพยายามที่จะทำ EIA Fast Track และ EIA Bypass ยิ่งชัดเจนขึ้น

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการเร่งรัดโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP Fast Track) เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558

ทั้งนี้ก็เพื่อให้ขั้นตอนในการดำเนินการ ประกอบด้วย การจัดเตรียมโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน และการคัดเลือกโครงการ สามารถจัดทำไปพร้อมกับการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS) และการจัดทำ EIA โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอให้ FS หรือ EIA ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

ที่แต่เดิมหน่วยงานต่างๆ จะต้องศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้ เรียงลำดับดังนี้ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเตรียมโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน และการคัดเลือกโครงการ ฯลฯ ตามลำดับก่อนหลัง

แต่มติ ครม. ดังกล่าวสามารถให้หน่วยงานต่างๆ ศึกษา พิจารณาและอนุมัติ/อนุญาตตามขั้นตอนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตัวเองไปพร้อมๆ กันหรือคู่ขนานกันไปได้เลย ไม่ต้องรอลำดับก่อนหลังอีกต่อไป

ซึ่งรัฐบาลอ้างว่าเป็นการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ที่สามารถย่นระยะเวลาให้กับโครงการที่เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ จากระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี 10 เดือน เหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น

เบื้องต้นคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2558 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 อนุมัติโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคมที่มีความพร้อมในการดำเนินการตามมาตรการ PPP Fast Track จำนวน 5 โครงการ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 334,207 ล้านบาท

ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท

โครงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาท

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มูลค่าโครงการ 82,600 ล้านบาท

โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา มูลค่าโครงการ 84,600 ล้านบาท

และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่าโครงการ 55,620 ล้านบาท

การปูทางเพื่อการนี้มีมาเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 20 มกราคม 2559 เพื่อขยายอำนาจ ม.44 ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ที่กำหนดให้ที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะ 3 จังหวัด คือ บริเวณตำบลป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตำบลสำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา และอำเภอเมือง จ.หนองคาย ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายผังเมือง

เปลี่ยนเป็นยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองครอบคลุมพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 10 จังหวัด ได้แก่ เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด[2] หนองคาย นราธิวาส เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี[3]

อ่านต่อ คลิก