บทความพิเศษ : นวนิยายเพื่อชีวิต (จบ)

ย้อนอ่าน นวนิยายเพื่อชีวิต (ตอน1)

ประเด็น ชีวิตในอุดมคติ ความเพื่อชีวิต และความสัมพันธ์ พบได้ทั่วไปตลอดทั้งเล่มของหยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา

ตัวละครพี่ (หรือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์) เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นนักเขียน และเป็นเพื่อน

กระทั่งเป็นนักทดลองชีวิตที่พยายามเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสถานที่นั้น คนที่นั่น

และให้สอดคล้องกับอุดมคติชีวิตของเขา ผ่านการทำความเข้าใจและให้ชีวิตเรียนรู้ชีวิต ตัวละครผู้เล่า (ฉัน หรือชมพู หรืออุรุดา โควินท์) เป็นตัวละครอีกตัวที่ “พยายาม” และดูเหมือนจะมีความพยายามมากกว่า มีความอดทน และต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัวเพื่อให้เขากับทุกอย่างที่นั้น มากกว่า ด้วยเพศสภาพความเป็น “หญิง”

ทำให้ตัวละครตัวนี้มีพลังมาก มีความพยายามและความอดทนมาก แม้บางครั้งมันจะถึงขีดสุดและระเบิดออกมา แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์

ตัวละครอย่างกนกพงศ์ มีความเป็นอุดมคติสูง และตัวเขากลายเป็นศาสดาหรือคนของสาธารณะ กระทั่งไม่ว่าสมบัติชิ้นใดๆ ของเขาก็ยังเป็น “ของกลาง”

เขาไม่ผูกตัวเองเขากับอะไรสักอย่าง แม้ว่าสุดท้ายปลายเรื่องเขาคิดที่จะมี “บ้าน” “ครอบครัว” และงานการที่เป็นหลักแหล่งขึ้นมาบ้างก็ตาม (ผมถือว่านั่นเป็นพัฒนาการทางความคิดของตัวละครที่ต้องมีในนวนิยายเพื่อให้เรื่องดำเนินไปได้และมีเส้นเรื่องนั่นเอง)

เราจะมองเห็นผ่านบทสนทนาที่นักเขียนโปรยไว้ทั้งเรื่อง อย่างเช่น

“ข้าวของ, สมบัติ ไม่ว่าชิ้นใด ไม่มีความหมายต่อพี่ เงินของพี่ รถของพี่ เสื้อผ้า หนังสือ ใครจะหยิบไปใช้ จะคืนหรือไม่ พี่ไม่เคยคิด ไม่เคยถาม ไม่ใช่ใจดี แต่ฉันรู้ มันไม่สลักสำคัญต่อพี่เลย พี่ไม่ต้องการสิ่งใด ถ้ากำลังสนุกกับงาน และต่อให้มีทุกอย่าง, นับไม่ถ้วน ก็ไร้ความหมาย หากไม่ได้เขียน” (หน้า 159)

อีกส่วนหนึ่งที่เข้ามารองรับความเป็นศาสดาที่มีอุดมคติของตัวละครตัวนี้ก็คือการทำให้ตัวกนกพงศ์เป็นคนที่เข้าใจชีวิตมากที่สุด เขากล่าวหัวใจของศาสนาของเขาไว้ตลอดทั้งเรื่องว่า “เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงชีวิตจะหาหนทางของมันเอง”

ประโยคนี้เป็นทั้งความคิดของตัวละคร ความคิดของนักเขียน และประเด็นที่ดำเนินเรื่องราวทั้งหมด

เราเห็นพล็อตหลวมๆ ของนวนิยายเล่มนี้ แต่เมื่อค่อยๆ อ่านเราจะพบความรู้สึกในขณะอ่านว่า ตัวละครหลักทั้งสองตัวนี้มักปล่อยให้ชีวิต “หาหนทางของมันเอง” ไปเรื่อยๆ แล้วทุ่มเทให้กับหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของพวกเขา นั่นคือการเขียนหนังสือ

“พี่เรียกทั้งหมดนั้นว่าอะไร

สายตาของนักเขียนใช่มั้ยคะ

สายตาที่สามารถมองทุกสิ่งเป็นอื่น เราออกไปจากชีวิต มองกลับเข้ามา กระโดดออกจากความทุรนทุรายเพื่อเวทนาตัวเอง เพ่งพิศความลุ่มหลงแล้วหัวเราะดังเยาะเย้ยมัน

พี่มีสายตาชนิดนั้น สายตาที่มองทุกอย่างเป็นเรื่องเล่า สายตาที่ช่วยให้พี่ถอยห่างจากเหตุการณ์ เพื่อเห็นความเป็นจริงจากอีกมุมมอง” (หน้า 179)

เขาทุ่มเทให้กับการเขียนและมี “สายตานักเขียน” อุรุดา โควินท์ (ในฐานะผู้เขียนที่ไม่ใช่ตัวละคร) เขียนตัวละคร “พี่” หรือ “กนกพงศ์” คนนี้ขึ้นมาให้เป็นศาสดาและบุคคลสาธารณะสำหรับนักเขียน ผู้ที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่องานเขียนและค้นพบดวงตาพิเศษ ก็เหมือนกับศาสดาที่ทุ่มเทให้กับการบำเพ็ญเพียรจนค้นพบการตรัสรู้

และการตรัสรู้ของตัวละครกนกพงศ์ก็น่าจะหมายถึงการเป็นนักเขียนเพื่อชีวิต

แน่นอน นี่คือสิ่งที่อุรุดา (ในฐานะผู้เขียน) ต้องการอธิบายคำว่า “นักเขียนเพื่อชีวิตคนสุดท้าย” ที่เคยเป็นตราประทับลายน้ำบนลายเซ็นของกนกพงศ์ (ที่เคยมีชีวิตอยู่จริงๆ บนโลกใบนี้)

เมื่อมีศาสดาทางการเขียนเป็นตัวละครหลักแล้ว คราวนี้นวนิยายก็พร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของวงการวรรณกรรมไทยได้ โดยนักเขียนเลือกมองงานตั้งแต่ พ.ศ.2540-2550 ที่อาจส่งผลมาถึงปัจจุบันด้วย

ทั้งนี้ คงต้องการให้สอดคล้องกับช่วงชีวิตจริงของกนกพงศ์ ที่มีชื่อเสียงถึงขีดสุดใน พ.ศ.2539 และเสียชีวิตไปใน พ.ศ.2549 ด้วย

หลังจากปีที่กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้รับรางวัลซีไรต์ เขาต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการพยายามเขียนงานขึ้นมาใหม่ให้เป็นงานที่ดีที่จะเทียบเท่ากับชุดแผ่นดินอื่น และเป็นช่วงเดียวกับที่เขาได้พบและเริ่มใช้ชีวิตอยู่กับอุรุดา

ในช่วงนี้เองที่เขาค้นพบความเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนหน้ามาสู่ยุคใหม่

ทศวรรษก่อนหน้านี้เขามีนักเขียนเรื่องสั้นอย่าง นิคม รายยวา, ศิลา โคมฉาย, มาลา คำจันทร์, ศรีดาวเรือง เป็นต้น รวมทั้งนักเขียนในกลุ่มนาคร เช่น ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์ เป็นต้น

งานในยุคนั้นมีลักษณะที่เป็นท้องถิ่น (กลุ่มนาครภาคใต้ ศิลา และศรีดาวเรือง ภาคกลาง มาลา ภาคเหนือ) และมีลักษณะเรื่องสั้นที่ค่อนข้างจะมีขนบ และมีความจริงจังสูง

เรื่องสั้นในหมวดนี้ ไพฑูรย์ ธัญญา เคยเรียกว่าเป็นเรื่องสั้นแนว “ร่วมสมัย”

แต่หลังจากนั้น เริ่มมีเรื่องสั้นที่เรียกว่าเรื่องสั้นสมัยใหม่ ที่อ่านยากขึ้นอย่างที่เขาพูดกับอุรุดาเมื่อได้อ่านงานใหม่ของเธอที่ใช้วิธีเขียนแบบสมัยใหม่

“”แน่ใจนะ จะใช้วิธีนี้” พี่ถาม

ใจหล่นวูบ “ไม่ดีเหรอคะ”

พี่พลิกต้นฉบับทีละแผ่น มองหน้าฉัน “อาจเป็นปัญหากับคนอ่าน โดยเฉพาะคนที่เคยอ่านงานของอุรุดา”

ฉันเล่าโดยให้ตัวละครพูดกับคิดต่อเนื่องกัน สลับกัน โดยไม่มีเครื่องหมายบอกว่าส่วนไหนเป็นการคิด ส่วนไหนคือคำพูด ฉันเลือกวิธีนี้เพราะอยากแสดงโลกภายในที่พลุ่งพล่านของตัวละคร

“อ่านยากนะ” พี่ส่งเรื่องสั้นให้ฉัน” (หน้า 168)

นอกจากวิธีการที่อ่านยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ยังมักเป็นเรื่องของชนชั้นกลางที่ตัวละครกนกพงศ์บอกว่าเป็นแนว “กระดุมเสื้อหาย” ขณะเดียวกัน นักเขียนร่วมสมัยเริ่มไม่มีงานออกมาเพราะหน้าที่การงานประจำบีบรัด ตัวละครรู้สึกสิ้นหวังกับงานวรรณกรรมในยุคสมัยใหม่

“”จะมีใครเขียนตัวละครรากหญ้าได้ดีเท่าเรา อาจมีพี่มวล ครูล้าน แต่พวกเขาไม่เขียนกันแล้วนี่” เสียงพี่เหมือนเด็กเอาแต่ใจ

“อาจจะอยากพักค่ะ”

“มันนานไปแล้ว”

พี่ไม่มีสิทธิ์เรียกร้องให้ใครเขียนหนังสือ พี่เกี้ยวกราดได้ก็แต่ตัวเอง ฉันคิด แต่ไม่ได้พูด” (หน้า 198)

กนกพงศ์ยังบอกว่า

“ไม่ใช่เรา ใครจะเขียน แต่นั่นละใครสักกี่คนที่จะอ่าน ในเมื่อเขากำลังตื่นเต้นกับเรื่องกระดุมเสื้อหาย” (หน้า 98)

เขาหมายถึงเรื่องสั้นสมัยใหม่ที่เขียนถึงเรื่องชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ที่ดูเหมือนในสายกนกพงศ์ มันไม่ใช่เรื่องสั้นเพื่อชีวิตอย่างที่เขาศรัทธา และเป็นศาสดา (คนสุดท้าย) อยู่ ถึงขนาดที่ตัวละครอีกตัวต้องบอกกับเขาว่า “แต่มันสั่นคลอนความเชื่อของพี่ใช่ไหมล่ะ”

ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนา และ/หรือเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวละคร เพราะทำให้กนกพงศ์ตระหนักต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการเล่าเรื่องและมุมมองของเขา งานของเขาเริ่มคลี่คลาย และเขาก็คลี่คลายตัวเองด้วย

เมื่อเกิดจุดเปลี่ยนทางความคิด ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มอธิบายความเป็นเพื่อชีวิตในนิยามของกนกพงศ์ที่เธอได้สัมผัสมาผ่านฉาก เหตุการณ์ และตัวละครที่เป็นตัวประกอบอื่นๆ

การเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตคือนำตัวเองไปสู่คนรากหญ้า เช่นเดียวกับที่กนกพงศ์ทำ และเขียนมันออกมาด้วยความเข้าใจที่แท้จริง ทั้งในรูปแบบคนในที่เป็นหนึ่งกับหมู่บ้านอย่างตัวกนกพงศ์เอง และในสายตาคนนอกที่เอาตัวเข้าไปเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวออกมาอย่างอุรุดา สิ่งเหล่านี้ไม่ง่าย เพราะจะต้องผ่าน “การทดสอบ” ไม่น้อยเลย กว่าที่จะผสานชีวิตตนเองให้กลมกลืนไปกับคนรากหญ้า ต้องผ่านการกีดกัน และปัญหาอื่นๆ (อย่างเช่นคนโรคจิตข้างบ้าน)

นี่คือวิถีเพื่อชีวิตที่แท้ที่จะทำให้เกิดงานเพื่อชีวิต แบบที่กนกพงศ์นิยามไว้นั่นเอง

ความเป็นยุคใหม่อาจจะสั่นคลอนความเชื่อของคนยุคเก่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อ “มีความเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะหาหนทางของมันเอง” ตัวละครอย่างกนกพงศ์ ได้ปล่อยให้ชีวิตหาหนทางของตัวเองด้วยการคลี่คลายความยึดมั่นในความเป็นนักเขียนเพื่อชีวิต และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะไปสู่แห่งหนใหม่ (เชียงราย-บ้านของอุรุดา) และก่อเกิดงานที่คลี่คลายไปจากแผ่นดินอื่นอย่าง “โลกหมุนรอบตัวเอง” ออกมา ก่อนที่เขาจะลาโลกไปในวัยเพียง 40 ปี

อุรุดา โควินท์ เข้าไปใช้ชีวิตกับกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และเขียนนวนิยายเรื่องนี้ออกมา บนนิยามที่เธออธิบายผ่านคำว่าเพื่อชีวิตผ่านเรื่องเล่านี้ ทำให้ผมเห็นว่า หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตาเป็นนวนิยายเพื่อชีวิตอีกเรื่องหนึ่ง ที่กระตุ้นเตือนให้เราตระหนักต่อการคลี่คลายต่อชีวิต

และย้ำอีกครั้งว่า “เมื่อมีความเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะหาหนทางของมันเอง”