บทความพิเศษ : นวนิยายเพื่อชีวิต

นวนิยายเพื่อชีวิต (1)

ในอดีต เคยมีนักเขียนผู้หนึ่งประกาศว่าเขาเป็น “นักเขียนเพื่อชีวิตคนสุดท้าย” ของประเทศไทย

เขาเป็นนักเขียนที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มนักเขียนที่เหนียวแน่นที่สุดในภาคใต้ เป็นดาวรุ่งของกลุ่ม และยืนหยัดในวิถีแบบ “เพื่อชีวิต” บนนิยามของเขา จนนาทีสุดท้ายของชีวิต

เขาคือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ แห่งกลุ่มนาคร กลุ่มนักเขียนทางหัวเมืองปักษ์ใต้ที่มีความสัมพันธ์กับแวดวงวรรณกรรมไทยมากที่สุดกลุ่มหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา

เพราะอย่างน้อยที่สุด นักเขียนกลุ่มนี้ได้เป็นนายกสมาคมนักเขียนฯ หนึ่งคน และได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ถึงสองคน ในช่วงที่รางวัลนี้เคย “บูม” ถึงขีดสุด

หนึ่งในสองคนนั้นต่อมาเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ของประเทศไทย

อีกหนึ่งนั้นเสียชีวิตไปท่ามกลางหุบเขาในชนบทหัวเมืองปักษ์ใต้นั่นเอง

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนเรื่องสั้น (เพื่อชีวิตคนสุดท้าย -หากจะเรียกอย่างที่เขาเคยประกาศไว้) เสียชีวิตเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2549 ทิ้งผลงานเขียนชิ้นสำคัญไว้มากมายให้เราได้อ่าน อย่าง แผ่นดินอื่น (รางวัลซีไรต์ พ.ศ.2539) ร่องรอยชีวิตของเขาเป็นโมเดล ให้เราได้ใช้ศึกษาถึงนิยามการเป็นนักเขียนที่ใช้ชีวิตเพื่อการเขียน มีวิถีการดำรงชีวิตที่สอดคล้องไปกับการเขียนจนนาทีสุดท้ายของชีวิต กระทั่งภายหลังการตายของเขาก็ยังส่งผลให้เกิดงานเขียนตามออกมาอีกไม่ต่ำกว่าสองชิ้น

ในฐานะนักเขียนที่ทุ่มเทชีวิตเพื่องานเขียนอย่างจริงจังที่สุดคนหนึ่งของโลก

ในที่นี้ผมจะขอเรียกงานเขียนจำพวกเรื่องสั้น บทกวี และนวนิยาย ที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต และมีความจริงจัง ซับซ้อน ก้าวหน้า ทดลอง ทั้งหมดว่า งานวรรณกรรมแนวจริงจัง เพื่อจะง่ายต่อการอธิบายถึงเนื้อหาของ “หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา” ที่ผมจะวิจารณ์ต่อไป

ที่ต้องเกริ่นถึงกนกพงศ์นั้นก็เพราะเขาเป็นนักเขียนที่คนอ่านวรรณกรรมแนวจริงจังจำนวนมากศรัทธา (ทั้งเนื้องานและวิถีชีวิต)

และนวนิยาย “หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา” มีส่วนพาดพิงถึงตัวเขาด้วย

เมื่อเอ่ยถึงคนอ่านวรรณกรรมแนวจริงจัง และ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เราจะไม่อาจพลาดหนังสือสำคัญสามเล่มคือ จดหมายถึงเพื่อน จดหมายจากกนกพงศ์ และจดหมายถึงกนกพงศ์

สองเล่มแรกเป็นการรวบรวมจดหมายที่กนกพงศ์เขียนถึงเพื่อนๆ ของเขา (ไพวรินทร์ ขาวงาม ขจรฤทธิ์ รักษา ขวัญยืน ลูกจันทร์ และคนอื่นๆ) มีมากที่สุดคือจดหมายที่เขียนถึงขจรฤทธิ์ และหลังการเขียนเสียชีวิตของเขา คู่ชีวิตคือ อุรุดา โควินท์ ได้นำจดหมายที่ขจรฤทธิ์เขียนถึงกนกพงศ์ มาคืนให้กับขจรฤทธิ์ รักษา นั่นกลายเป็นหนังสือ จดหมายถึงกนกพงศ์ ในเวลาต่อมา

ซึ่งก็ช่างพอเหมาะพอดีกับที่ตัวอุรุดา โควินท์ เอง ได้เขียนนวนิยายชื่อ หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา ออกมาไล่เลี่ยกัน

ทั้งจดหมายถึงกนกพงศ์ และหยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

ความเหมือนและความต่างของหนังสือทั้งสองเล่มนั้นมีแน่ และนอกจากจะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงคนคนเดียวกันเป็นตัวละครสำคัญแล้ว ยังส่งเสริมความเป็นไปของเรื่องเล่าในกันและกัน ในฐานะที่เป็น “นวนิยายที่เติมเต็มความจริงให้กับสารคดี” และในฐานะ “สารคดีที่ส่งเสริมความสมจริงให้กับนวนิยาย”

นิยายเติมเต็มความจริงบางอย่างให้สารคดีนั้นเป็นอย่างไร

กล่าวคือ ผู้เขียน “จดหมายถึงกนกพงศ์” จงใจตัดชื่อใครบางคนออกไปจากการกล่าวถึง โดยกล่าวเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสถานที่ โดยนัยนี้ก็เพื่อตัดปัญหาที่จะเกิดจากการฟ้องร้องหรือความไม่พอใจของผู้ถูกพาดพิงถึงเมื่อยังมีชีวิตอยู่

กรณีนี้ ผู้เขียน “หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา” ก็ได้เติมเต็มด้วยการระบุชื่อลงไปในนวนิยายตรงที่มีเหตุการณ์ซึ่งคล้ายกัน (ทำให้คนอ่านจินตนาการไปว่าเป็นเหตุการณ์เดียวกัน) ที่แม้จะเป็นชื่อเฉพาะที่เรียกกันในกลุ่มบ้าง แต่ก็สามารถรู้ได้ไม่อยากในกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกนกพงศ์ (หรือใกล้ชิดกลุ่มนาคร)

สุดท้ายเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้จบทั้งสองเล่มก็สามารถเติมเต็มชื่อคนที่หายไปในสถานการณ์นั้นได้

ในทางกลับกัน ความเป็นสารคดีที่เติมเต็มความจริงในนวนิยาย ก็คือจุดเด่นของ “หยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา” ที่จะอ้างเอา “จดหมายถึงกนกพงศ์” เป็นเชิงอรรถหรืออ้างอิงของเรื่องได้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพราะความโดดเด่นที่สำคัญหนึ่งของนวนิยายหยดน้ำหวาน ในหยาดน้ำตา คือความก้ำกึ่งระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง

อุรุดาจงใจคาบเส้นระหว่าง fiction กับ non-fiction เพื่อหลอกให้คนอ่านถลำลึกลงไปในโลกที่เธอสร้างขึ้นมา

โลกระหว่างนักเขียนสองคน คือ “ฉัน” กับ “พี่” และเมื่อมีบางช่วงบางแห่งที่อุรุดาสวมรอยลงไปว่า ฉัน = อุรุดา โควินท์ และพี่ = กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ก็ยิ่งทำให้คนอ่าน (โดยเฉพาะคนที่อ่านวรรณกรรมแนวจริงจังจำนวนหนึ่ง และคนที่อ่านจดหมายถึงกนกพงศ์มาแล้ว) จินตนาการได้ถึงภาพของ อุรุดา โควินท์ ที่มีตัวตนอยู่จริง กับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่เคยมีตัวตนอยู่จริง ทั้งๆ ที่นักเขียนได้บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่างานเขียนชิ้นนี้เป็น “นวนิยาย”

เราสามารถพูดได้ว่า การอ่านและตีความเป็นไปบนพื้นฐานประสบการณ์ของผู้อ่าน แน่นอนว่า หากคนที่อ่านงานชุดนี้เป็นนักอ่านนิยายอีโรติกที่ไม่เคยรู้จักอุรุดา กนกพงศ์ และนักเขียนกลุ่มนาคร หรือไม่เคยอ่านจดหมายถึงกนกพงศ์ ตลอดจนได้อ่านวรรณกรรมแนวจริงจังมาน้อย ย่อมคิดว่านี่เป็นนิยายอีโรติกที่มีตัวละครเป็นนักเขียนสองคนที่ประกอบกิจกรรมทางเพศกันไปตลอดทั้งเรื่อง โดยไม่ได้คิดเลยว่า มีนักเขียน (ที่อย่างน้อยที่สุด) สองคนมีชื่อเสียงเรียงนามอยู่จริงในโลกใบนี้

ไม่แตกต่างไปจากที่ อุทิศ เหมะมูล เคยให้ตัวละครเอกของเขา ชื่อ “อุทิศ” ในนวนิยาย “ลักษณ์อาลัย” นั่นเอง

ข้อสำคัญอีกข้อของนวนิยายชิ้นนี้คือภาษา ผมพบสำนวนภาษาและจังหวะคำแบบนี้ของอุรุดาครั้งแรก (ย้ำว่าที่ผมพบ และขอออกตัวว่าผมไม่ได้อ่านงานของอุรุดาทุกชิ้น) ในความเรียงชุด “ผู้ชายในฝัน” ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารไรเตอร์ ยุคที่ บินหลา สันกาลาคีรี และ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เป็นบรรณาธิการ

และผมไม่นึกว่าสำนวน หรือจังหวะของประโยคแบบนี้จะใช้เขียนนิยายได้

ไม่เพียงแต่เขียนได้เท่านั้น ยังทำให้นวนิยายเรื่องนี้อ่านได้อรรถรสมากยิ่งขึ้นอีกด้วย และหากทดลองนำบางย่อหน้ามาเรียบเรียงด้วยภาษาบรรยายเรื่องทั่วไปก็จะทำให้งานเสียอรรถรสไปเลยทีเดียว

ในด้านตัวบท เรามองเห็นสารบางอย่างที่อุรุดาเสนอ ไม่เพียงแต่เป็นนวนิยายอิงประวัติชีวิตของนักเขียนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในยุคของเขาเท่านั้น แต่มันเป็น “บันทึกประวัติศาสตร์” สถานการณ์ทางวรรณกรรมของประเทศไทยตั้งแต่ยุค 2540-2550 (อาจจะนับรวมตั้งแต่ 2539 มาเลยก็ได้) กระทั่งพูดถึง “ความสัมพันธ์” และความ “เพื่อชีวิต” ในนิยามของ “กนกพงศ์” ด้วย

นี่เป็นนวนิยาย “เพื่อชีวิต” อีกชิ้นหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทยอย่างไม่ต้องสงสัย