เซีย จำปาทอง : ค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องทำให้ได้ หวังเพื่อไทยรักษาสัญญาที่หาเสียง

การที่พรรคก้าวไกลกำหนดให้ “เซีย จำปาทอง” เป็นส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับที่ 4 สะท้อนการให้ความสำคัญกับประเด็นแรงงานอย่างยิ่ง

ใกล้จะครบหนึ่งปี กับบทบาทการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรกของ เซีย ผู้ผันตัวเองจากอดีตแกนนำสหภาพคนงานสิ่งทอ สู่ถนนการเมืองไทย ที่เซียต้องเจอกับความผิดหวังเป็นครั้งที่สอง จากการชนะเลือกตั้งแล้วไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ สู่การเสนอร่างกฏหมายคุ้มครองแรงงาน แต่ก็พ่ายแพ้การโหวตในสภา ไม่แม้แต่การรับหลักการในวาระแรก เพื่อไปแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ ด้วยข้ออ้างว่า กฏหมายดังกล่าว มีลักษณะ “สุดโต่ง” เกินไป ยังไม่เหมาะกับประเทศไทย

จึงเป็นโอกาสอันดีในการพูดคุยประเด็นดังกล่าว เพื่อดูเบื้องหลังไอเดียที่เกิดขึ้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และ อนาคตทางการเมืองจากนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในประเด็นสิทธิแรงงาน

………………………………

  • ความตั้งใจที่จะผลักดัน หลังได้เป็น สส. แต่กลับล้มเหลว

รู้สึกเสียใจเหมือนกันเพราะพี่น้องแรงงานฝากความหวังไว้กับพวกเราพรรคก้าวไกล สัดส่วนเครือข่ายแรงงาน ว่าจะผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ให้ผ่าน และพวกเขาจะมีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ก็รู้สึกเสียใจที่เราไม่สามารถผลักดันให้กฎหมายผ่านไปสู่การพิจารณาในวาระต่อไปได้

อย่างไรก็ตามอีกด้านหนึ่งเราก็รู้สึกว่าเราต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อที่จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ที่พี่น้องแรงงานตั้งความหวังไว้อยากให้ผ่านมาบังคับใช้

  • คนวิจารณ์ ข้อเสนอ ร่างกม.แรงงานของเซีย สุดโต่งเกินไป อาจทำเอสเอ็มอีล้ม

มันไม่ได้ตึงเกินไป ไม่ได้ก้าวหน้าเกินไป กฎหมายฉบับนี้มันเรียกร้องแค่สิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่จะทำให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ ในระดับที่แค่อยู่ได้ในสังคม มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถ้าเราไปดูเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำพรรคก้าวไกลเสนอไว้แค่ 450 บาท แต่ก็ทำควบคู่ไปกับการผลักดันสวัสดิการต่างๆ ซึ่งจำนวน 450 บาทก็น้อยกว่าพรรคการเมืองบางพรรคด้วยซ้ำ เรื่องอื่นๆอย่างมาตรฐานการทำงานมันก็ไม่ได้มากเกินไป มันเป็นประเด็นที่พี่น้องแรงงานเรียกร้องมา 20-30 ปีแล้ว สุดท้ายมันก็ยังอยู่ในรูปแบบเดิม กฎหมายฉบับนี้ถ้ามันผ่านขึ้นมาก็ไม่ได้ทำให้พี่น้องแรงงานรวยขึ้นหรอกครับ แค่ให้มีเงินซื้อข้าวกิน มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน มีเงินซื้อเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีเงินซื้อยารักษาโรคมาดูแลตัวเองแค่นั้นเอง

มันเป็นการเรียกร้องขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สิ่งสำคัญที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตมนุษย์ก็คือปัจจัย 4 ค่าจ้างขั้นต่ำที่เราพูดถึงในกฎหมายฉบับนี้ มันแค่กำหนดให้คุณสามารถซื้อข้าวกินได้แบบอิ่มท้อง

มีคนตั้งคำถามกับผมว่าการที่กฎหมายแรงงานมากำหนดแบบนี้ แล้วทุกวันนี้อยู่ได้อย่างไร? ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ที่คุณบอกว่าไม่พอใช้แล้วคุณอยู่ได้อย่างไร? ผมก็ต้องตอบว่าอยู่ได้ครับ แม้แต่คนที่มีค่าจ้าง100 กว่าบาท ในการขายของเล็กๆน้อยๆ หรือว่าเก็บขยะขาย เขาก็ต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้ แต่เราไปดูชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาสิ เขากินอาหารแบบไหน ในแต่ละมื้อ เคยมีคนถามผมตอนผมนำไปเสนอเรื่องนี้ เขาหัวเราะนะ แต่จริงๆ มันเป็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน คุณเคยกินไหม ปลากระป๋องๆหนึ่งกินได้สองมื้อ แต่แรงงานเป็นครับ ค่าจ้างมันไม่พอต่อการดำรงชีพ นี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งของแรงงานที่สะท้อนมายังพวกเราที่เป็นคนทำงาน ผ่านมาถึงพรรคก้าวไกลว่าอยากให้มีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ในประเด็นอื่นๆก็เช่นกัน สิทธิที่จะดูแลคนในครอบครัวที่เจ็บป่วย มีโอกาสที่จะมีวันหยุดพักผ่อนประจำปีมากขึ้น ที่เราทำหนักวันละเป็นสิบชั่วโมง ขอเราทำงานเป็นไม่เป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้ไหม นี่มันคือข้อเรียกร้องพื้นฐานทั่วไป บางคนอาจจะมองว่าสุดโต่ง แต่ถ้าไปดูรายละเอียดข้อเรียกร้องพวกนี้ เกิดจากแรงงานทุกภาคส่วนเรียกร้องกันมา 20-30 ปี ตั้งแต่ผมมาทำงานเป็นกรรมการในสหภาพแรงงานฯ ก็เห็นข้อเรียกร้องพวกนี้อยู่แล้ว

  • เบื้องหลังการร่างกฏหมายคุ้มครองแรงงานฉบับพรรคก้าวไกล

ประกอบด้วยสองถึงสามส่วนด้วยกัน

หนึ่งคือผู้ทำงานที่เป็นเครือข่ายแรงงานของพรรคก้าวไกล เรามีการจัดเวทีพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เสวนารับฟังความคิดเห็นของพี่น้องแรงงานว่ามีปัญหาอย่างไรบ้าง แล้วเราจะหาแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เราได้ข้อมูลจากพี่น้องแรงงานที่มาสะท้อนให้พวกเราฟังว่าเขาทำงานหนักมากในแต่ละสัปดาห์ สิ้นเดือนเงินก็ยังไม่พอใช้ แล้วยังต้องส่งให้ลูกที่อยู่ต่างจังหวัด ต้องดูแลพ่อแม่ด้วย

เราได้ข้อมูลจากเวที เราได้ข้อมูลจากการสำรวจ ในขณะเดียวกันเราก็ได้ข้อมูลจากประสบการณ์ที่เราทำงานสหภาพแรงงานมา ที่ผ่านมาเราจะเห็นข้อเรียกร้องพวกนี้ อยู่ในขบวนของแรงงานในวันกรรมกรสากล วันแรงงานแห่งชาติ ทุกปี ไปดูได้ ข้อมูลของรัฐบาลเดิม ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานก็มีข้อเรียกร้องพวกนี้อยู่ ความยากง่าย ส่วนหนึ่งก็คือมันคือบริบทการรับฟังข้อมูลของแรงงานที่สะท้อนให้เราฟังว่าข้อเท็จจริงทุกๆวันเขาต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งผมเองประสบกับตัวเองมาตลอดในช่วงที่ผมเป็นลูกจ้าง ในโรงงานอุตสาหกรรมก่อนที่ผมจะมาลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. เราเจอปัญหาพวกนี้มาก่อน

  • คิดว่าจริงๆเสียงที่มันไม่ถึง มันเพราะอะไร?

ผมคิดว่าอย่างหนึ่งเลยคืออยากตั้งข้อสังเกตถึงพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าผมไปดูแถลงการณ์ของเขาในวันกรรมกรสากล หรือในวันแรงงานแห่งชาติ ข้อเรียกร้องพวกนี้เขาเขียนไว้หมดเลย เขาประกาศเจตนารมณ์เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ใกล้เคียงกับพรรคก้าวไกลมาก

ประเด็นที่สองผมคิดว่า ความเข้าใจของ ส.ส. ส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่ได้ดูบริบทที่แท้จริงของพี่น้องแรงงาน อีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญเลยก็คือ แน่นอนว่าที่ผ่านมาถ้าพูดถึงการเลือกตั้งปี 62 จนถึงการเลือกตั้งปี 2566 จะเห็นบทบาทของเครือข่ายแรงงานพรรคก้าวไกลพูดถึงปัญหาแรงงาน พูดถึงปัญหาของคนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40 ล้านคน ชัดมากขึ้น เห็นปัญหามากขึ้น พูดปัญหาเหล่านี้ในสภามากขึ้น ผมคิดว่าถ้าดูในพื้นที่ๆเป็นโซนแรงงาน และคนที่สามารถสะท้อนปัญหาของพี่น้องแรงงานได้ดีที่สุด ก็คือพรรคก้าวไกล แน่นอนในอนาคต จะมีการพูดถึงพี่น้องแรงงานมากขึ้นๆๆ พี่น้องผู้แทนราษฏรพรรคก้าวไกลส่วนใหญ่ที่ผมสัมผัส ก็เคยเป็นลูกจ้างมาก่อน เคยเป็นแรงงาน เคยทำงานมาก่อน ก็จะเข้าใจปัญหาของพี่น้องแรงงานมาอย่างดี ต่างก็ช่วยกันสะท้อน และในพื้นที่ก็ได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องแรงงานจำนวนมาก ถ้าพี่น้องแรงงานให้มีการปรับเปลี่ยนคุณภาพชีวิตและการใช้แรงงานที่ดีขึ้น เขาถึงเลือกพรรคก้าวไกล เพราะว่ามีนโยบายแรงงานที่ชัดเจน อันนี้ผมคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลเราได้คะแนนมาก

ขณะที่พรรคการเมืองบางพรรค ไม่ได้มีเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ทำให้ไม่ได้รับเสียงตอบรับจากพี่น้องประชาชน อันนี้เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่ทำให้การโหวตรับหลักการ พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ฉบับนี้ตกไป

  • พรรครัฐบาลเขาก็มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ แต่ทำไมเขาถึงโหวตคว่ำ ไม่แม้แต่จะยอมให้เข้าไปคุยในชั้นกรรมาธิการฯ

ตอนแรกเราก็หวังนะ ถ้าเราดูจากที่ผ่านมา เหมือนกับที่เราดูจากแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย เขาก็หาเสียงแรงงานชัดเจนระดับหนึ่ง ใกล้เคียงกับพรรคก้าวไกล เขามีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ มีเรื่องการผลักดันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่87 และ 98 พูดถึงการลาคลอด 180 วัน พูดถึงการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เช่นให้ปรับพนักงานรายวันเป็นรายเดือน แต่สุดท้ายแล้วพอจะโหวตรับหลักการพรบ.ฉบับนี้ กลับไม่โหวตให้เรา ไม่โหวตสนับสนุน ผมก็แปลกใจเหมือนกันว่า พรรคเพื่อไทยมีความรู้สึกอย่างไร กำลังทำอะไรอยู่ ทำไมหาเสียงอย่างหนึ่ง แต่ตอนโหวตรับหลักการนี้ หลายอย่างมันเปลี่ยนไป

  • ประเด็นก้าวหน้าเรื่องแรงงาน จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงไหมในระยะเวลาของรัฐบาลชุดนี้?

เราคิดว่าเราจะผลักดันให้มันเกิดขึ้นจริงให้ได้ มีโอกาสก็จะเสนอกลับมาอีก เรายืนยันในหลักการเพราะ พรบ.ชุดนี้ มันเป็นเหมือนฉันทามติทางการเมืองจากพี่น้องแรงงานที่มอบให้เราว่าจะผลักดันแบบนี้ แต่ในส่วนวิธีการดำเนินการ อยู่ระหว่างการพูดคุยว่าจะต้องปรับเปลี่ยน หรือไม่ อย่างไร แต่ไม่ว่าอย่างไร เราก็จะกลับมายื่นใหม่แน่นอน โดยต้องปรับวิธีการเช่นไปทำความเข้าใจกับ ส.ส.พรรคอื่นๆให้มากขึ้นด้วย

  • เพื่อไทยก็มีนโยบายแรงงานที่ดีหลายอย่าง จะพูดอะไรกับเขาในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล?

จริงๆวันอภิปราย พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับนี้ สส.พรรคเพื่อไทยบางคนก็บอกว่า มันดีเกินไป ซึ่งจริงๆอย่างเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำถ้าเทียบกันแล้วของพรรคก้าวไกลยังน้อยกว่าเพื่อไทย 450 กับ 600 บาท หลายประเด็นที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ผมยืนยันนะ รูปธรรมใกล้เคียงกันเลย แต่ในรายละเอียดผมไม่แน่ใจว่ากระบวนการนำมาหาเสียง มีที่มาอย่างไร แต่ของเรา เรายืนยันว่ามีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องแรงงาน นอกจากจัดเวทีเรายังลงพื้นที่ไปพบปะตามสหภาพแรงงานต่างๆ เพื่อที่จะพูดคุยกัน รับฟังความคิดเห็นปัญหาของพี่น้องแรงงาน สุดท้ายเราก็รวบรวม ปรับปรุงและเขียนเป็นกฏหมาย เราก็อยากให้พรรคเพื่อไทยเห็นความสำคัญของประเด็นนี้ ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องแรงงานเป็นอย่างไร

สิ่งที่สำคัญเลยคือผมอยากให้พรรคเพื่อไทยรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้ตอนหาเสียงว่าคุณจะทำอะไรบ้าง พี่น้องแรงงานเขาก็หวังอย่างนั้น ว่าพรรคเพื่อไทยจะรักษาสัญญาเหมือนตอนหาเสียง เรื่องต่างๆ ผมคิดว่ามันไม่ได้เกินเลย หรือว่ามากเกินไปกว่าที่พรรคเพื่อไทยจะทำได้ เพราะคุณเคยสัญญากับเขาไว้แล้ว

  • รัฐบาลเพื่อไทย เขาก็กำลังดำเนินการอยู่ ล่าสุดก็ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว

กระบวนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกิดขึ้นหลังเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เรื่องแรกคือผมไม่เห็นในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ไม่มี ด้านอื่นๆก็ไม่มี ที่เห็นเป็นรูปธรรมเหมือนตอนหาเสียง อันนี้เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่ารัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาไหม เรื่องที่สอง ผมคิดว่าที่บอกว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2570 จะมีการปรับขึ้น 600 บาท มันต้องมีสิ่งที่ยืนยันได้ว่าคุณจะดำเนินการอย่างไรในการปรับให้ถึง 600 บาทต่อวัน

ผมดูการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมา 2-16 บาท พอเห็นตัวเลข 2 บาท นายกฯออกอาการไม่พอใจนะ บอกว่าปรับขึ้นแค่นี้ซื้อไข่ยังไม่ได้เลย สุดท้ายให้กระทรวงแรงงานกลับไปพิจารณาใหม่ ไตรภาคีพิจารณาใหม่ก็ยืนยันตัวเลขเท่าเดิม สุดท้ายรัฐบาลทำอย่างไร รัฐบาลก็อ้างว่าไตรภาคีผลักดันมา อันนี้คือตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่ารัฐบาลไม่ได้ทำการบ้านด้านนี้อย่างจริงจัง ไม่ได้ผลักดันอย่างจริงจัง แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องพวกนี้ ไม่เหมือนเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่พูดเกือบทุกสัปดาห์

เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ถ้าคุณจะขึ้นครั้งละ 2- 16 บาท คุณต้องขึ้นอีกประมาณ 24 ครั้ง ตลอดระยะเวลารัฐบาลที่เหลือ นั่นหมายความว่า ปีหนึ่งคุณต้องขึ้น 8 ครั้ง จึงเป็นเรื่องที่ผมไม่รู้พรรคเพื่อไทยคิดอย่างไร และจะทำยังไงต่อ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันเป็นสัญญาของพรรคที่ให้ไว้กับประชาชน คุณต้องไปทำการบ้านมายังไงก็ได้ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามนั้น

  • นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ของพรรคเพื่อไทย มีโอกาสจะเกิดขึ้นจริงได้มากน้อยแค่ไหน?

เท่าที่ผมลงพื้นที่พบพี่น้องแรงงานในส่วนอุตสาหกรรมต่างๆ สหภาพแรงงานต่างๆ ตอนหลังมานี่พี่น้องแรงงานไม่มั่นใจ ตอนแรกเขามั่นใจนะ ผมเคยคุยกับพี่น้องแรงงานคนที่ไม่ได้มาทำงานกับเรา เขามั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยทำได้ เพราะพรรคเพื่อไทยเคยทำแล้วตอน 300 บาท เขาก็เชื่อว่าครั้งนี้พรรคเพื่อไทยจะทำ 600 บาท พอมาประกาศเพิ่ม 2 – 16 บาท เขาเริ่มไม่เชื่อมั่นแล้ว อันนี้แบบตรงไปตรงมา เขาไม่เชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาจริงกับเรื่องนี้

  • แล้วส่วนตัวคิดว่าวันนี้คนไทยต้องมีค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไหร่ ที่จะทำให้คนอยู่ได้?

วันที่ผมอภิปรายเรื่อง พรบ.คุ้มครองแรงงาน ผมได้พูดถึงปัจจัยหลักๆ ของคนหนึ่งคนที่จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และข้อมูลของ กมธ.แรงงาน เขาได้สำรวจข้อมูลเมื่อปี 2565 ค่าจ้างขั้นต่ำ ณ ปัจจุบัน ที่จะทำให้คนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี อยู่ที่ประมาณ 723 – 789 บาทต่อวัน ที่พรรคก้าวไกลเสนอตัวเลข 450 แม้ไม่ถึง แต่เราไม่ได้ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียว เราผลักดันสวัสดิการควบคู่กันไป ถ้าเรามีสวัสดิการที่ดี ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเราจะลดลง

ยกตัวอย่างเช่นแรงงานคนหนึ่งทำงานเพื่อส่งเงินกลับบ้านไปดูแลลูก ให้พ่อแม่ใช้จ่าย ถ้าเรามีเงินอุดหนุนเด็กตามที่เราหาเสียงไว้ ถ้าเรามีเงินบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า เราจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไปได้ทั้งสองส่วนเลย ถึงจะมีรายได้ลดลงแรงงานก็สามารถที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ แต่ทุกวันนี้เราต้องแบกรับภาระ ทั้ง 2 ส่วน 3 ส่วน ไหนจะชีวิตประจำวันของแรงงานคนหนึ่งที่จะต้องกินต้องใช้เพื่อจะให้มีแรงไปทำงาน ที่พรรคก้าวไกลเสนอ 450 บาท มันมีองค์ประกอบหลายส่วนพิจารณารวมกัน

จริงๆกรรมาธิการชุดที่ 25 ที่ทำเรื่องนี้ไว้ ไปสำรวจแรงงานมาหลายพันคนนะครับ แล้วก็ได้ข้อมูลที่ดีมากเลยมา มันเป็นข้อเท็จจริงของแรงงานคนหนึ่งที่จะมีชีวิตอยู่ได้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

  • ความฝัน สหภาพแรงงานเข้มแข็ง เข้าใกล้ความจริงมากน้อยแค่ไหน?

ปัญหาของสหภาพแรงงานไทย คือปัญหาการจัดตั้งที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก สาเหตุจากองค์ประกอบหลายอย่าง ผมเคยชวนหลายโรงงานจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวที่ผ่านมาเยอะมาก ก็คือ แค่คุณคิดจะจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ คุณก็ถูกเลิกจ้างแล้ว กฏหมายแรงงานสัมพันธ์ที่กำหนดให้ลูกจ้างสามารถรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ก็จริงอยู่ แต่ในบริบทความจริงของสังคมมันไม่สามารถทำได้ง่ายขนาดนั้น นายจ้างเขาคิดว่าคุณจะไปจัดตั้งองค์กรเพื่อเอาส่วนแบ่งกำไรของพวกเขาออกมา ไปเรียกร้องเอาเงินในกระเป๋าเขามาแบ่งคนงาน นายจ้างบางแห่งไม่ยอมเพราะเขาคิดว่ากำไรที่เขาได้แต่ละปี สมมติว่าร้อยล้าน ถ้าต้องมีคนมาเรียกร้องเอาไป 5 ล้าน 10 ล้าน จะทำให้กำไรของพวกเขาน้อยลง เขาเลยไม่ยอม เขามีแต่ว่าปีนี้ได้ 100 ล้าน ปีหน้าต้อง 120 ล้าน ปีต่อไปจะต้องได้กำไรมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะทำให้กระบวนการของสหภาพแรงงาน ไม่เข้มข้นเหมือนสมัยก่อน เพราะว่าการจัดตั้งได้ยาก

2. ก็คือรัฐเองก็ไม่ได้ส่งเสริมอย่างจริงจัง ผมทำงานในสหภาพแรงงาน 30 ปี เป็นกรรมการในสหภาพแรงงาน มา 20 กว่าปี เห็นพี่น้องแรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาเกี่ยวกับเรื่องการรวมตัวกัน และการเจรจาต่อรอง คืออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87, 98 ว่าให้ลูกจ้างมีสิทธิรวมตัวกันง่ายมากขึ้น และได้รับความคุ้มครอง แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ยังไม่มีการรับรอง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกเองว่ารัฐก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ

3. จากพี่น้องแรงงานเอง จากข้อเท็จจริงก็คือ เราเข้าใจบรนิบทของพี่น้องแรงงานที่ไม่ทราบถึงเรื่องสิทธิการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพฯ ไม่รู้ว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานคืออะไร จัดตั้งแล้วมันดีอย่างไร ไปคุยกับแรงงานพื้นฐานทั่วไปหลายแห่ง เขาไม่มีสหภาพแรงงาน ไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย เพราะรัฐไม่เคยส่งเสริม ไม่เคยพูดถึงเรื่องพวกนี้ ในพื้นที่ข่าว บางทีก็จะนำเสนอว่าคนที่มาทำงานสหภาพแรงงานคือคนหัวรุนแรง ชอบประท้วง มันปิดถนนอีกแล้ว มันขัดขวางการจราจรอีกแล้ว จะมองแรงงานส่วนหนึ่งในแบบนั้น ไม่ได้มองเห็นการรวมตัวของคนงานเป็นการเรียกร้องสวัสดิการ ค่าจ้าง และสิทธิที่เพิ่มขึ้นของเขา ทั้งหมดทำให้สหภาพแรงงานในประเทศไทยมีน้อยมาก ถ้าผมจำตัวเลขไม่ผิดมีประมาณ 1.4 พันแห่ง เทียบกับจำนวนสถานประกอบการที่มีอยู่หลายแสนแห่ง และก็มีแนวโน้มลดลงเพราะการรับรองอนุสัญญาที่ผมพูดถึงยังไม่ได้ให้การกำหนด เราก็หวังว่านี่เป็นกฏหมายอีกหนึ่งฉบับที่พรรคก้าวไกลยื่นต่อสภา ชื่อ พรบ.รวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานฯ ที่จะให้มีการรวมตัวจัดตั้งสหภาพฯ รวมตัวต่อรองได้ง่ายขึ้น

  • ทำไมประเทศเราต้องมีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง เพราะอะไร?

สำหรับคนที่อาจจะไม่เข้าใจ ถ้าเราไปดูสหภาพแรงงานในระดับสากล หรือว่าในประเทศไทยก็ตาม สมมติโรรงาน ก. เขามีโบนัส 8 เปิด มีเงินเพิ่ม เงินเดือนขึ้น มีสวัสดิการ โรงงานเหล่านั้นล้วนแต่มีสหภาพแรงงาน มีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ทำให้นายจ้างแบ่งกำไรส่วนหนึ่งมาให้ลูกจ้าง ในขณะเดียวกันที่ผมลงพื้นที่ไปพบเจอก็คือ ว่า หลายสถานประกอบการเลย คุณทำงานมา 20 ปี คุณยังรับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ เพราะคุณไม่มีการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน ไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อคนไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ ก็เลยทำให้สหภาพแรงงานในประเทศไทย สิทธิในการรวมตัวกันของคนไทย เมื่อคนไม่รับรู้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งองค์ประกอบอย่างที่ผมยกตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐ นายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องแรงงานเอง

แต่ว่าพี่น้องแรงงานนี่อยู่ส่วนท้าย เพราะจริงๆชีวิตก็ไม่มีโอกาสจะได้รับรู้อะไรเท่าไหร่ วันหนึ่งคุณต้องทำงานหลายชั่วโมงมาก กลับถึงห้องก็นอนหลับแบบไม่มีโอกาสจะไปเรียนรู้อะไรมาก กฏหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ของเราถึงกำหนดให้ทำงานน้อยลง ให้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น ศึกษาหาความรู้เรื่องต่างๆมากขึ้น รวมถึงเรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่พี่น้องแรงงานต้องเรียนรู้

ดังนั้นในมิติกฏหมายก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดสหภาพแรงงานยาก แต่ในแง่หนึ่ง เราก็อยู่ในโครงสร้างสังคมที่เปิดโอกาสให้คนแสวงหากำไรสูงสุด นายจ้างเขาก็ไม่ได้อยากให้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะว่าจะไปแบ่งเอากำไรของพวกเขามา แต่ว่าถ้าเราไปดูประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว หรือไปดูนายจ้างที่เขามีศักยภาพในการแข่งขัน เขาจะยิ่งอยากให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพราะมันเป็นเงื่อนไขในการทำการค้า โรงงานใดๆที่เขามีสหภาพแรงงาน เขาสามารถไปพูดโฆษณาได้ว่าฉันดูแลคนของฉันอย่างดี เขาให้สิทธิของคนงานในการรวมตัวกัน ให้สิทธิคนงานในการทำโน่น นี่ นั่น เขาเอาเงื่อนไขของการมีสหภาพแรงงานไปต่อรองทางการค้าได้ด้วย มันเป็นเรื่องการให้คุณค่ากับสิทธิแรงงาน บริษัทใหญ่ๆบางแห่งเขาไม่ปฏิเสธเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

  • ประเทศเราให้สิทธิการรวมตัวกันของแรงงานมากเพียงพอไหม ถ้าเทียบกับสากล?

ยังครับ ประเทศเรายังให้สิทธิแรงงานน้อย เราถึงพยายามผลักดันกฏหมายที่จะเพิ่มสิทธิของแรงงาน แน่นอนในเงื่อนไขของแรงงานที่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ รัฐมีหน้าที่ต้องดูแล ต้องส่งเสริมให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ ต้องมีกฏหมายที่จะยกมาตรฐานชีวิตให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น

ในกรรมาธิการแรงงานที่ผมเป็นรองประธานอยู่ มีการพยายามพูดถึงเรื่องพวกนี้มากขึ้น ว่าสถาบันการศึกษาถึงจะกำหนดในหลักสูตร เกี่ยวกับเรื่องสิทธิของแรงงานอยู่ในหลักสูตรการศึกษา อย่างน้อยๆคนไทยเมื่อจบการศึกษา ก็ควรรู้สิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานว่ามีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าคุณไม่รู้สิทธิอะไรเลย แล้วไปเจอนายจ้างที่เน้นกำไรอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงสิทธิที่เป็นของลูกจ้าง ก็จะเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง เพื่อมุ่งเน้นหากำไรอย่างเดียว

  • ประเด็นปัญหาแรงงาน ที่เป็นปัญหามาก แต่ถูกพูดถึงน้อย ?

แรงงานมีปัญหาหลายเรื่องมาก แล้วมันพันกันไปหมดเลยนะ แต่ผมให้ความสำคัญกับเรื่องค่าจ้างมาเป็นอันดับต้นๆเลย ผมคิดว่าถ้าคนเรามีเงินในกระเป๋า ปัญหาอื่นๆมันจะคลี่คลายไปได้เยอะ

เช่นถ้าคุณมีค่าจ้างที่เพียงพอ คุณไม่ต้องทำโอที คุณก็จะมีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ครอบครัวอบอุ่นมากขึ้น ลูกหลานสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น ไม่หลงผิดไปติดเกม ติดยา ติดโน่น ติดนี่ มากขึ้นถ้าคุณมีเงินนะ

แต่ถ้าคุณไม่มีเงิน คุณต้องทำแต่โอที ทำงาน ทำงาน ทำงาน ไม่มีเวลาที่จะไปดูแล สุดท้ายปัญหาพวกนี้มันเกิดขึ้น

ถ้าคุณมีเงินเพียงพอ คุณสามารถที่จะซื้ออาหารที่มีคุณภาพมากินได้ แต่ทุกวันนี้ก็เหมือนผมยกตัวอย่าง ปลากระป๋อง 1 กระป๋อง ต้องกิน 2 มื้อ แบบนี้ถามว่าสุขภาพเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร คุณกินอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ หรือมีประโยชน์น้อย แต่คุณต้องใช้แรงอย่างมากในการทำงาน สุดท้ายมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บมาก่อนวัยอันควรในอนาคต

ถ้าคุณมีเงินในกระเป๋า คุณจะมีเวลาศึกษาหาความรู้ยกระดับตัวเองมากขึ้นใช่ไหม ถ้ามีความรู้มากขึ้น ก็จะไม่ถูกคนอื่นเขาเอาเปรียบ ที่ผมยกตัวอย่าง 2- 3 ส่วนดังกล่าว นี่แหละครับ ผลจากเรื่องค่าจ้าง มันโยงใยกัน เป็นปัญหาสำคัญ ผมจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เรื่องอื่นๆมันจะตามมาถ้าเศรษฐกิจโอเค

ทุกๆวันแรงงานต้องทำอะไรครับ ทำงานได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ เขาไปสมัครงาน โรงงานไหนไม่มีโอที เขาไม่อยู่นะ เพราะว่า 300 กว่าบาทมันไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในแต่ละวัน สุดท้ายเขาต้องมาขูดรีดตนเอง กินน้อยลง ถ้าเราไปเจอพี่น้องแรงงาน ไปดูหน้าโรงงาน ก่อนเข้าทำงานตอนเช้านะ ข้าวเหนียวกับหมู 2 ไม้ เขากินต้องกินอย่างเร่งรีบ เพื่อที่จะเข้าทำงาน การเดินทางอะไรๆ สุดท้ายมันพัวพันกันไปหมด เนื่องจากว่าต้องทำงานให้หนักมากขึ้น ต้องทำโอทีครับ สัปดาห์หนึ่งทำงาน 6 วัน วันหยุด 1 วันก็แทบจะไม่ต้องไปทำอะไรแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะไปศึกษาหาความรู้ ไม่มีโอกาสแม้แต่จะไปพบปะสังสรรค์ ดูแลเยี่ยมเยียนพ่อแม่ หรืออยู่กับครอบครัว เวลาน้อยมาก ไม่ต้องไปคุยเรื่องจัดตั้งสหภาพแรงงานอะไร จะออกกำลังกายยังหาเวลาไม่เจอเลย มันมีผลกระทบไปในด้านอื่นๆเพราะแค่ค่าจ้างไม่พอ

แต่ถ้าค่าจ้างพอนะ ถ้าเรามีเงินมากพอ สมมติวันนี้มีค่าจ้างวันละ 723 บาท ที่เขาคำนวนมาแล้วบวกกับเงินที่ต้องดูแลคนในครอบครัวด้วย คุณก็ไม่ต้องทำโอที ก็จะมีเวลาทำอะไรมากขึ้น แต่ทุกวันนี้คุณต้องดิ้นรนทำโอทีโรงงานไหนไม่มีโอที ไม่อยู่

  • ประสบการณ์ ชีวิต การเคลื่อนไหวสหภาพแรงงาน ส่งผลดีต่องานการเมืองในระบบที่ผ่านมาอย่างไร

ประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ผมเคยเป็นลูกจ้าง จริงๆผมทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยมากๆ เพราะว่าไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ พอมาทำงานเรียนรู้อยู่กับสหภาพแรงงานทำให้เราเห็นปัญหาแรงงานมากขึ้น เห็นปัญหาภาพรวมของแรงงานว่ามีปัญหาอะไรบ้าง จริงชีวิตผมก็ไม่ได้เปลี่ยนไปนับตั้งแต่มาทำงานการเมืองก็อยู่ในสัดส่วนเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ทางพรรคก็มอบหมายให้ผมทำหน้าที่ดูแลปัญหาต่างๆเกี่ยวกับพี่น้องแรงงาน ถ้ามีคนถูกเลิกจ้าง ชุมนุม หรือมีกิจกรรมใดๆ ก็เป็นหน้าที่ผมที่จะต้องไปดูแลเพราะเรามีสัดส่วนเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เพราะว่าประชาชนไม่ได้มีอาชีพเดียว ไม่ได้มีกลุ่มเดียว มีหลากลายอาชีพ ผมไม่รู้รายละเอียดของการทำประมง ผมไม่รู้รายละเอียดของคนที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ ผมไม่รู้อาชีพอื่นๆมากนัก ในขณะเดียวกัน ผมไปคุยกับ สส.ที่เป็นชาติพันธุ์ เขาไม่เข้าใจในรายละเอียดแรงงานเช่นกันกับผม เนื่องจากผมอยู่ในขบวนนี้มานาน เวลามีปัญหาผมก็ไปเล่าเรื่องสะท้อนปัญหาพวกนี้ให้กับพรรคหรือสังคมได้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่ได้จากการทำงานในสหภาพแรงงานมายาวนาน มั่นใจว่าผมก็เข้าใจปัญหาแรงงานดีระดับหนึ่ง

  • ไปลองฟังคำปราศัยในยูทูป ตั้งแต่สามย่านมิตรทาวน์ จนถึงเวทีปราศรัยพรรค คลิปคุณเซียได้รับคำชมว่า คำปราศรัย สละสลวย ศัพท์ที่ใช้ จับใจ-แหลมคม?

จริงๆผมไม่ได้เรียนในระบบ แต่ก็เรียนนอกระบบมาตลอด ผมเรียนรู้จากการต่อสู้ เรียนรู้จากการไปร่วมชุมนุมกับพี่น้องแรงงาน เรียนรู้ผ่านการไปร่วมชุมนุมกับพี่น้องประชาชนส่วนอื่นๆที่ออกมาเรียกร้องต่อสู้ ผมเรียนรู้จากการปฏิบัติ สิ่งนี้ทำให้ผมเติบโตขึ้นมาได้

ส่วนหนึ่งผมได้ความรู้จากอาจารย์หลายคน จากการที่ผมไปอบรมตามงานเสวนา ที่มีการจัดกิจกรรม ก็เก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านั้นมา ส่วนหนึ่งก็จะมีทีมดูแลเรื่องงาน อย่างเรื่องกฏหมาย เราบอกปัญหาไป เราไม่มีทักษะในการเขียน ก็ได้คนเหล่านั้นมาร่วมกันทำ ทุกคนมีความสำคัญหมด ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องแรงงานที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหว พี่น้องแรงงานส่วนหนึ่งก็ออกมาช่วยหาเสียงนะ เขาก็มีความสำคัญมาก ช่วยผลักดัน หาเสียงจนเราได้รับคะแนน ช่วยกันหาเสียง ช่วยพูด ช่วยคิด นี่คือบริบทที่เราทำงานร่วมกัน เป็นกลุ่มเป็นเครือข่าย เพราะคนทำงานพรรคก้าวไกลไม่ได้มีผมคนเดียว “เราเป็นเครือข่าย” ผมเป็นแค่คนๆหนึ่งที่ทำหน้าที่ตรงนี้เท่านั้นในการสื่อสาร รับฟังข้อมูลจากพี่น้องแรงงานมาถ่ายทอดสู่พี่น้องประชาชนคนส่วนใหญ่ เราเหมือนถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่พูดแทนพี่น้องแรงงาน หลายสิบล้านคน

  • เวลาดำรงตำแหน่งที่เหลืออีก 3 ปีกว่าๆ ตั้งใจจะผลักดันเรื่องไหนอีก

ถ้าภาพโดยรวมเราอยากผลักดันให้พี่น้องแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแน่นอน แต่ในรายละเอียด กฏหมายคุ้มครองแรงงานที่ถูกผลักตก เราจะผลักดันกันต่อแน่นอน แต่ยังมีเรื่องอื่นๆด้วย เครือข่ายผู้ใช้แรงงานยื่นกฏหมายไป 4 ฉบับ 1 ในนั้นก็มี พรบ.คุ้มครองแรงงาน พรบ.สหภาพแรงงาน พรบ.ลาคลอด 180 วัน ที่คุณ วรรณวิภา ไม้สน สส.พรรคก้าวไกล เป็นผู้ยื่น และ พรบ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าด้วย เหมือนที่ผมอธิบายว่าเราทำงานเป็นเครือข่าย ไม่ได้ทำงานคนเดียว มีการมอบหมายแต่ละคนทำหน้าที่อะไร และช่วยกันขับเคลื่อน ผมคิดว่า 3 ปีกว่าที่เหลือ เราก็จะผลักดันกฏหมายที่เราพูดถึง ให้ไปถึงฝั่งฝันที่เราอยากให้พี่น้องแรงงานมีชีวิตดีขึ้น

ในส่วนงานนอกสภา ผมคงต้องทำงานทางความคิดกับพี่น้องแรงงาน ไปชวนเขาพูดคุย ไปรับฟังปัญหาพี่น้องแรงงานในแต่ละพื้นที่ แต่ละอุตสาหกรรม แต่ละอาชีพมากขึ้น ให้พวกเขาได้มีโอกาสคุยผ่านผม แล้วผมก็จะไปคุยต่อในสภา นี่คือสิ่งที่ตั้งใจจะทำในช่วงระยะเวลาที่เหลือ เราหวังว่า 3 ปีที่เหลือ เราจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานมากขึ้น ถึงแม้กฏหมายคุ้มครองแรงงานฉบับที่ยื่นโดยผมจะถูกปัดตก แต่ พรบ.คุ้มครองแรงงานฉบับลาคลอด 180 วัน ก็ผ่านเข้าสภา ถ้ามันสำเร็จขึ้นมาได้ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ก็อยากให้มองบริบทโดยรวม ไม่ใช่มองแค่ตัวบุคคล

  • ก้าวไกลกับการยุบพรรค?

ถามว่ากลัวไหม จริงๆสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าวันใดมันเกิดขึ้นจริง เราก็ต้องยอมรับมันและก็ต้องเดินหน้าทำงานต่อ ตอนไม่ได้เป็น ส.ส. ผมก็ทำงานกับพี่น้องแรงงานมาเป็นสิบยี่สิบปี ในอนาคตไม่ว่าจะเปิดอะไรขึ้น เรายืนยันที่จะทำงานด้านนี้ต่อไป ช่วยเหลือพี่น้องแรงงานเท่าที่เราจะสามารถช่วยได้ ทำหน้าที่เท่าที่จะสามารถทำได้

  • เคยเสียดายไหม ที่ชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล / คิดว่าก้าวไกลตัดสินใจเส้นทางการเมืองหลังเลือกตั้งถูกไหม

ก็เสียดายนะครับ เสียดายว่าถ้าเกิดเราได้เป็นรัฐบาล ผมคิดว่าเรื่องต่างๆที่เราพยายามผลักดันมันจะง่ายกว่านี้ เรื่องกฏหมายก็จะง่ายกว่านี้ ประเด็นต่างๆมันก็จะไม่ต้องขอมติในสภา ไม่ต้องโหวต ทำเป็นประกาศกระทรวงอะไรๆ ก็ทำได้เลย

ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้กฏหมายแรงงานก็กำหนดว่าลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการเดียวกัน ทำงานในลักษณะเดียวกัน ต้องได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆเหมือนกัน และเป็นธรรม แต่พอไปดูในเนื้อหาจริงๆ ลูกจ้างในสถานประกอบการที่ทำงานเหมือนกัน ไม่ได้รับค่าจ้างสวัสดิการเหมือนกัน ที่เราเรียกว่า “ซับคอนแท็ก” นั่นแหละ จริงๆ เราไปดูคนที่เป็นแรงงานในสัดส่วนนี้มีเยอะมาก และเขาเรียกร้องผ่านพวกเรามาเยอะมากว่า อยากให้ยกเลิกการจ้างงานแบบนั้น ซึ่งเราก็นำมาบรรจุในกฏหมายฉบับนี้ด้วยว่า ถ้าคุณเป็นพนักงานรายวัน ให้ปรับเปลี่ยนการจ้างงานเป็นพนักงานรายเดือน

เราคิดว่า วาระทางการเมือง ก็ไม่ได้มีอะไรที่มันมากไป มันเป็นเรื่องปกติเลยที่เราพยายามพูดถึงและเรียกร้องกันมาตลอด เรื่องบริบทของแรงงาน เรื่องการเมือง มันไม่ได้แยกออกจากกัน มันเกี่ยวข้องกัน วันนี้ถ้าการเมืองไม่ดี แรงงานก็ไม่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“เรื่องการตัดสินใจในการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ผิด ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลฟังเสียงพี่น้องประชาชนในการที่จะเดิน หรือทำงานการเมืองแบบนี้ เพราะว่าเราไม่มีใคร เรามีแต่พี่น้องประชาชนที่อยู่กับเรา ผมก็ไม่มีใคร ผมมีแต่พี่น้องแรงงานที่ผมทำงานด้วย เราทำตามที่พี่น้องแรงงานได้นำเสนอมา…”