ครอบครัวการเมืองกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

วันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ ที่จะมาถึงเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้ลงสมัครแข่งขันจำนวน 3 คู่ คือ นายพลพลาโบโว จากพรรคกีรันดา โดยมี ลูกชายของประธานาธิบดีโจโกวีประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือนายกิบบริน (Gibran Rakabuming Raka) ลงสมัครเป็นรองประธานาธิบดี คู่ที่ 2 คือ นายกัญจา พลาโนโว (Ganjar Pranowo) ผู้ว่าราชการจังหวัด ชวากลาง (Central Java Governor) โดยลงแข่งขันในนาม พรรค PDIP คู่กับ นาย Mahfud MD

และคู่สุดท้าย คือ ดร.อานิส บัสวีดัน (Anies Baswedan) ผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา ลงแข่งขันในนาม พรรคนาสดัม (Nasdem Party) โดยมี นาย Muhaimin Iskandar จากพรรคPKB ลงแข่งคู่ในฐานะรองประธานาธิบดี

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีมักจับคู่กับผู้ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีจากต่างพรรคการเมืองกัน เพื่อขยายฐานเสียงไปสู่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่อื่นๆที่พรรคนั้นๆได้รับความนิยม

ในการแข่งขันครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจึงมาจากต่างพรรคกัน

กัญจา พลาโนโว (Ganjar Pranowo)

จากการสำรวจของโพลหลายสำนักในการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่าคู่ของ นายพลพลาโบโวและลูกชายของโจโกวีคือนายกิบบริน ได้รับความนิยมสูง ในช่วงแรกๆ ทั้งนี้เนื่องจาก ประธานาธิบดีโจโกวียังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอินโดนีเซีย หากแต่เมื่อยิ่งใกล้วันเลือกตั้งผลโพลของคู่นี้ลดลงในหลายพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากบทบาทของประธานาธิบดีโจโกวีที่พยายามเข้าแทรกแซงทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ของกลุ่มตนเอง และเพื่อช่วยเหลือลูกชายในการเลือกตั้ง

ก่อนการเสนอชื่อผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีได้มีความพยายามให้ศาลรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกชายของประธานาธิบดีโจโกวี สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ โดยในกฎหมายของประเทศอินโดนีเซียได้ระบุว่าผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีนั้นต้องมีอายุมากกว่า 40 ปี จึงมีการเพิ่มข้อกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เที่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ ซึ่ง นาย กิบบริน (Gibran) ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองสุราคาตาหรือ โซโล จึงเป็นไปตามคุณสมบัติดังกล่าว

ก่อนการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีโจโกวียังได้โยกย้ายผู้ใกล้ชิดของตนเองเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญๆ เช่น แต่งตั้งลูกเขยนายลูฮัส (Luhut Panjaitan) ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพ และยังสนับสนุนให้ลูกเขยอีกคน นายบอบบี (Bobby Nasution) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุมาตราเหนือ แม้ว่าอายุยังน้อยอยู่

นี่ยังไม่รวมถึงคนใกล้ชิดประธานาธิบดีที่ได้รับการโยกย้ายไปสู่ตำแหน่งสำคัญๆอีกหลายตำแหน่ง

งประธานาธิบดีโจโกวีประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

การกระทำดังกล่าว ส่งผลให้ เสียงสนับสนุน ที่มีต่อลูกชายของโจโกวี และนายพลพลาโบโว ลดลงตามลำดับ โดยเฉพาะจากกลุ่มชนชั้นกลาง ที่เคยสนับสนุนประธานาธิบดีโจโกวีอย่างต่อเนื่องในทุกการเลือกตั้ง

กลุ่มชนชั้นกลางเหล่านี้ ตั้งคำถาม ถึงการกระทำของโจโกวีที่พยายามสานต่ออำนาจตนเอง อันอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ ต่อไป

การเมืองอินโดนีเซียมีความเหมือนกับการเมืองในประเทศที่กำลังพัฒนาประชาธิปไตยอื่นๆ รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้นำที่แข่งขันในการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งและอำนาจนั้นมักจะเป็นคนกลุ่มเดิม สลับสับเปลี่ยนขึ้นมามีอำนาจ

เราได้ยินชื่อของ นายพลพลาโบโว นายอานิส นายโจโกวี และอีกหลายชื่อซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของอินโดนีเซียมานาน และต่างฝ่ายต่างแข่งขันกันเพื่อเข้าสู่อำนาจ ก่อนจะมาเป็นคู่แข่งขันกันนั้น หลายคนก็เคยร่วมงานกันมาก่อน อาทิ ดร.อานิส เคยเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรมและการศึกษา ภายใต้ประธานาธิบดีโจโกวียุคแรก และเคยได้รับการสนับสนุนจาก นายพลพลาโบโว ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา

แต่ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ ดร.อานิสเข้ามาแข่งขันกับผู้ที่เคยสนับสนุนตนเอง

หรือในกรณีของ นายพลพลาโบโว เคยแข่งขันกับประธานาธิบดีโจโกวีมาหลายครั้ง แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้กลับจับมือกับโจโกวี และให้ลูกชายของโจโกวีเข้ามาแข่งเป็นรองประธานาธิบดีกับตนเอง จึงเหมือนการเมืองเก้าอี้ดนตรีที่สลับวนเวียนไปมากันระหว่างกลุ่มชนชั้นนำกันเอง

 

การเมืองในอินโดนีเซียยังมีความคล้ายกับการเมืองในบ้านเรากล่าวคือ การส่งต่ออำนาจระหว่างรุ่นสู่รุ่นในครอบครัวการเมือง

โจโกวี เมื่อหมดอำนาจลงแล้วและไม่สามารถลงแข่งขันเป็นประธานาธิบดีได้อีกในสมัยที่ 3 กลับมีความพยายามส่งลูกชายของตนเข้าสู่การเมืองเพื่อหวังสานต่ออำนาจ เช่นเดียวกับนางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี หัวหน้าพรรค PDIP และอดีตประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ก็มีความพยายามที่จะส่งลูกสาวของตนเองลงสมัครเป็นประธานาธิบดีเช่นเดียวกันหากแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกพรรคคนอื่นๆ

อดีต ประธานาธิบดีซูซิโล บำบัง ยุดโดโยโน ก็เคยพยายามผลักดันให้ลูกชายของตนเองลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน การเมืองของอินโดนีเซียที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่การส่งต่ออำนาจกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศ

การส่งต่ออำนาจภายในครอบครัวการเมืองของอินโดนีเซียมีความคล้ายคลึงกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน

ในกัมพูชา นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น ได้สนับสนุนลูกชายของตนเองให้สานต่ออำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดมา ในฟิลิปปินส์ ครอบครัวของ มาร์คอส พยายามสานต่ออำนาจจนสำเร็จแม้จะเว้นระยะเวลาไปช่วงหนึ่ง โดยได้มีความพยายามค่อยๆสร้างอำนาจของตัวเองในระดับภูมิภาคจนกระทั่งขึ้นสู่ประธานาธิบดีอีกครั้ง

แม้แต่ในประเทศไทย ความพยายามที่จะให้คนในครอบครัวขึ้นมามีอำนาจ ทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาอำนาจของครอบครัวตัวเองก็ มีให้เห็นในหลายจังหวัดและในระดับประเทศ เช่นกัน

สำหรับอินโดนีเซีย แม้ผู้นำทางการเมืองจะพยายามสานต่ออำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น จากพ่อสู่ลูก แต่บ่อยครั้งที่ประชาชนไม่ให้การสนับสนุน เช่นเดียวกับในกรณีของ การเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ แม้ว่า ประธานาธิบดีโจโกวีจะยังได้รับความนิยม แต่การแทรกแซงทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งของโจโกวี ส่งผลให้ความนิยมในตัว นายกิบบรินและนายพลพลาโบโวลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง

ถึงแม้นายพลพลาโบโวและนายกิบบรินจะได้รับการเลือกตั้งในครั้งนี้ ก็ยังไม่อาจจะแน่ใจได้ว่า ประธานาธิบดีโจโกวีจะสามารถสานต่ออำนาจของตนเองได้จริง ทั้งนี้เนื่องจาก นายพลพลาโบโวเองก็เป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง มีประสบการณ์ทางการเมืองสูงและมีแนวทางทางการเมืองที่แตกต่างจากโจโกวี

จะเห็นได้จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมาในอดีตถึง 2 ครั้ง นายพลพลาโบโวและโจโกวีมีแนวทางทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่นายพลพลาโบโวมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง แต่นายโจโกวีมีความเป็นเสรีนิยมที่เน้นการเปิดประเทศเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก

ความแตกต่าง ดังกล่าว จะเอื้อให้ทั้ง 2 ท่าน ตกลงกันในเรื่องนโยบายได้มากน้อยแค่ไหนหากได้รับการเลือกตั้ง และนายพลพลาโบโว จะสานต่อนโยบายที่โจโกวีได้ริเริ่มเอาไว้หรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่าจะเป็นไปได้เพียงใด