‘พราโบโว สุเบียนโต’ ว่าที่ผู้นำใหม่อินโดนีเซีย

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ถือเป็นวันแห่งการเลือกตั้งสำหรับคนอินโดนีเซีย

โดยนอกจากจะมีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อชี้ขาดว่าผู้ใดจะได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่แล้ว ยังมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่จะกลายเป็นตัวชี้วัดทิศทางในอนาคตของประเทศไปโดยปริยายอีกด้วย

ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมีด้วยกัน 3 คน 3 สไตล์

คนแรกคืออดีตนายพลที่เล่นการเมืองมาจนคร่ำหวอดอย่าง พราโบโว สุเบียนโต วัย 72 ปี ที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ซึ่งไม่มีสิทธิลงสมัครแข่งด้วยหลังดำรงตำแหน่งมาครบ 2 สมัยประกาศให้การสนับสนุน

ในขณะที่พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซียเพื่อการต่อสู้ (Indonesian Democratic Party of Struggle PDI-P) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนี้ หันไปหนุน กันจาร์ พราโนโว อดีตผู้ว่าการรัฐชวากลาง วัย 55 ปี ที่ถือว่าเป็น “นักการเมืองอาวุโส” ของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้

คนสุดท้ายคือ อานีส บาสเวดาน อดีตผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา วัย 54 ปี ซึ่งเป็นนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ที่นำเสนอตัวเองในฐานะ “ทางเลือก” สำหรับใครก็ตามที่ไม่พอใจนโยบายรัฐบาลในเวลานี้

เพราะนโยบายของแคนดิเดตอีก 2 รายที่เหลือล้วนแล้วแต่ยึดกุมไปตามแนวทางที่รัฐบาลในปัจจุบันกำหนดเอาไว้

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผลของโพลล่าสุดซึ่งจัดทำโดยแอลเอสไอ องค์กรโพลในท้องถิ่น เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอินโดฯ ส่วนใหญ่สนับสนุนพราโบโว สูงถึง 50.7 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่กันจาร์ กับอาร์นีส ตามมาห่างๆ อยู่ที่ประมาณคนละ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

อัดจี อัลฟาราบี นักวิจัยของแอลเอสไอ ตั้งข้อสังเกตว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ผลจากการทำโพลของแอลเอสไอแสดงให้เห็นว่ามีแคนดิเดตรายหนึ่งรายใดได้รับเสียงสนับสนุนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเชื่อว่าเป็นเพราะอิทธิพลจากความนิยมในตัวโจโกวี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งลงในเดือนตุลาคมนี้ เพราะคะแนนสนับสนุนถูกดันสูงขึ้นมาหลังจากพราโบโวประกาศเปิดตัว “ยิบราน รากาบูมิง” ลูกชายวัย 36 ปีของประธานาธิบดีโจโกวี เป็นผู้สมัครคู่ในตำแหน่งรองประธานาธิบดี

เสียงสนับสนุนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์นั้นมีนัยสำคัญอยู่ ด้วยเหตุที่ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียนั้นกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ที่จะได้รับชัยชนะนั้น ต้องได้เสียงสนับสนุนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

ในกรณีที่ไม่มีผู้สมัครรายใดทำคะแนนได้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ในการเลือกตั้งวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ ก็กำหนดให้มีการเลือกตั้งรอบสองระหว่างผู้ที่มีคะแนนสนับสนุนสูงสุด 2 รายในวันที่ 26 มิถุนายนที่จะถึงนี้ต่อไป

 

ผลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า พราโบโว สุเบียนโต ได้รับความนิยมยกย่องจากบรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงวัยหนุ่มสาวมากเป็นพิเศษ ซึ่งนักสังเกตการณ์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากความสำเร็จในการ “รีแบรนด์” นักการเมืองรุ่นเก๋าอย่างพราโบโว จากเดิมที่เคยสะท้อนภาพนายทหารระดับนายพลที่เด็ดขาด แข็งกร้าว ให้กลายเป็น “คุณลุง” ใจดีอบอุ่นน่าคบหาน่าชื่นชมในเวลานี้นั่นเอง

พราโบโวมีพื้นเพอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงของประเทศ เขาเกิดในจาการ์ตา เมื่อปี 1951 เป็นลูกชายคนโตของ สุนิโตร โดโจฮาดิกุสุโม อดีตรัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีการค้า ในช่วงทศวรรษ 1950-1970 ถูกส่งตัวไปศึกษาอยู่ในต่างแดน ตั้งแต่มาเลเซีย, สวิตเซอร์แลนด์ ไปจนถึงสหราชอาณาจักรตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ก่อนกลับประเทศมาเพื่อเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เมื่อสำเร็จการศึกษาก็เข้าสู่กองทัพในราวกลางทศวรรษ 1970

พราโบโวเคยแต่งงานกับลูกสาวของซูฮาร์โต ประธานาธิบดีจอมเผด็จการแห่งอินโดนีเซียเมื่อปี 1983 มีบุตรด้วยกัน 1 คน ซึ่งปัจจุบันยึดอาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์ ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศส

พราโบโวหย่าร้างกับภริยาในปี 1998 ปีเดียวกับที่เกิดกระแสลุกฮือขึ้นบีบซูฮาร์โตก้าวลงจากตำแหน่งหลังปกครองประเทศมา 30 ปี

 

ที่น่าสนใจก็คือ พราโบโวถูกปลดจากประจำการ ขณะครองยศพลโท และครองตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของกองทัพบก เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเวลานั้น

พ้นจากกองทัพก็กระโจนเข้าสู่แวดวงธุรกิจและการเมืองควบคู่กันไป โดยเริ่มเล่นการเมืองที่พรรคโกลคาร์ของซูฮาร์โต ก่อนที่จะออกมาก่อตั้งพรรคของตนเองใช้ชื่อว่า “เกอรินดรา” หรือพรรคขบวนการอันยิ่งใหญ่แห่งอินโดนีเซีย (Great Indonesia Movement) ขึ้นในปี 2008 ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมพอๆ กับพรรครัฐบาล พีดีไอ-พี เลยทีเดียว

ปี 2009 พราโบโวเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก โดยเป็นผู้สมัครในฐานะรองประธานาธิบดีคู่กับ เมกาวตี ซูการ์โนบุตรี แต่พ่ายให้กับ บัมบัง ยุทโธโยโน จากนั้นก็ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 2 ครั้ง ในปี 2014 และ 2019 แต่พ่ายแพ้ให้กับโจโกวีทั้งสองครั้ง

ครั้งหลังนี้ ประธานาธิบดีโจโกวีโน้มน้าวให้เข้ามาร่วมทำงานในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมในที่สุด

 

ประวัติที่ผ่านมาของพราโบโว เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาว่าใช้อำนาจในทางที่ผิด, ละเมิดสิทธิ, ขาดความโปร่งใสในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์และอาวุธหลายๆ ครั้ง รวมทั้งยังล้มเหลวไม่เป็นท่ากับโครงการ ฟู้ด เอสเตต โปรแกรม ที่ได้รับมอบหมายให้อำนาจเต็มมาจากประธานาธิบดี โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ที่เป็นป่าพรุบนเกาะสุมาตราและบอร์เนียวให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรกรรม

ทั้งหมดนี้ถูกคู่แข่งทางการเมืองหยิบมาโจมตีซ้ำแล้วซ้ำอีกในระหว่างการหาเสียงครั้งนี้ แต่ดูเหมือนจะยังไม่ได้ผล พราโบโวดูเหมือนติดลมบนไปแล้ว

จนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน พากันกังวลไม่น้อยกับอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าของอินโดนีเซีย