ภูมิใจไทย-ภูมิใจเสนอ ชิงเปิดเกมรุก ชูธงนำ ล้างประกาศ-คำสั่ง คสช.

บทความในประเทศ

 

ภูมิใจไทย-ภูมิใจเสนอ

ชิงเปิดเกมรุก ชูธงนำ

ล้างประกาศ-คำสั่ง คสช.

 

ย้อนกลับไปเมื่อการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ใช้อำนาจพิเศษเข้ามาปกครองประเทศ พร้อมทั้งประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และได้ออกประกาศ และคำสั่ง คสช.จำนวนหลายฉบับขึ้นมารองรับและแปรสภาพเป็นกฎหมายใช้บังคับ ซึ่งแต่ละฉบับมีเนื้อหาและสถานะแตกต่างกันไป

ทว่า เมื่อลงลึกเนื้อหากลับพบว่าล้วนเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน โดยอ้างความจำเป็นเพื่อครอบคลุมสถานการณ์ และความสงบเรียบร้อยในระหว่างการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้น

แม้ว่าปัจจุบัน มรดกของคณะรัฐประหารหลายฉบับจะถูกยกเลิกเพราะหมดความจำเป็น หรือสิ้นผลไปโดยอัตโนมัติ แต่ทว่า ประกาศและคำสั่งบางฉบับที่ยังตกค้างและมีผลบังคับใช้อยู่นั้น กลับเป็นประกาศหรือคำสั่งที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560

รวมทั้งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศกำลังกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของรัฐบาลชุดปัจจุบัน “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี เริ่มต้นนโยบายแบบควิกวิน สั่งการให้ทบทวนประกาศและคำสั่ง คสช.ต่างๆ ที่ล้วนแล้วเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ ลิดรอนสิทธิเสรีของประชาชน หากอันไหนไม่จำเป็นก็ยกเลิกให้หมด

โดยมาตรา 279 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติโดยรับรองให้ประกาศหรือคำสั่งของหัวหน้า คสช.ยังคงบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะถูกยกเลิก ซึ่งหากมีกรณีจะต้องยกเลิกประกาศหรือคำสั่งนั้นเพราะเหตุใดก็ตาม

นอกจากนี้ มาตราดังกล่าวได้บัญญัติให้กระทำได้ 2 วิธี คือ วิธีแรกให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือวิธีที่ 2 หากประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ฉะนั้น แนวทางการยกเลิกประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้จะต้องดำเนินการตามลำดับศักดิ์ของกฎหมาย ถ้ามีศักดิ์เทียบเท่า พ.ร.บ. ต้องยกเลิกด้วยกระบวนการนิติบัญญัติ โดยออกเป็น พ.ร.บ.ขึ้นมา เพื่อให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่ง คสช. แล้วให้ประกาศหรือคำสั่งที่สมควรยกเลิกบัญญัติไว้เป็นบทแนบท้าย

 

กระทั่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา การล้างผลไม้พิษ ผลพวงจากการรัฐประหาร ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นำโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ชิงการนำทางการเมือง ร่วมกันเข้าชื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ…. ต่อสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากเห็นว่าสิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัด ได้แก่ เสรีภาพในการชุมนุมหรือสมาคม เสรีภาพของสื่อมวลชนที่จะนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นอิสระ สิทธิในร่างกาย และเสรีภาพในการเดินทางที่ถูกจำกัด ด้วยการเรียกไปรายงานตัว การกักตัว และให้ทำข้อตกลงที่จะงดเว้นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง รวมทั้งสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิชุมนุมที่จะมีส่วนร่วมกับการตัดสินใจของรัฐ และสิทธิในการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น

โดยสาระคัญของกฎหมายฉบับนี้มีหลักการให้ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.บางฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิชุมชนของประชาชน และกำหนดสถานะทางกฎหมายของคดีความของบุคคล พลเรือนที่เคยพิจารณาโดยศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

เรื่องนี้ “นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง” ส.ส.จังหวัดกระบี่ พรรคภูมิใจไทย อธิบายว่า สืบเนื่องจากนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายทีมกฎหมายของพรรคไปศึกษาว่าประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่ผ่านมามีปัญหาต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและได้รับการร้องเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชนจากหลายองค์กรจึงเป็นที่มาของคำประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่ผ่านมามีทั้งหมด 240 ประกาศและคำสั่งรวมกันโดยมีออกเป็นกฎหมาย 71 ฉบับ ซึ่งคำสั่งของคณะปฏิวัติเทียบเท่ากับ พ.ร.บ.

ฉะนั้น จะต้องทำเป็น พ.ร.บ. ในการยกเลิกเช่นกัน จึงมีการศึกษาว่าเนื้อหามีสาระสำคัญที่ยังใช้บังคับได้ 37 เรื่อง จะสามารถนำมาใช้โดยเปลี่ยนเป็นคำสั่งหรือประกาศให้เป็น พ.ร.บ. ส่วนประกาศหรืออย่างอื่นที่ต่ำกว่าคำสั่ง สามารถยกเลิกได้ โดยการทำเป็นพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงอย่างละ 2 ฉบับ ส่วนสิ่งที่ต่ำกว่า พ.ร.บ. ที่เทียบเท่ามติ ครม. มีทั้งหมด 55 เรื่อง โดยมีการยกร่างผ่าน 7 มาตรา

ขณะที่ “พระราชบัญญัติพ่วง” คือ การรวมประกาศในคำสั่งที่จะมาแก้ไขด้วยกันซึ่ง 240 ฉบับนั้นมีที่จะต้องแก้ไข 71 เรื่อง จึงได้นำเรื่องที่จะต้องแก้ไขมาปรับใหม่

“ประเทศไทยในวันนี้ มีประกาศคณะปฏิวัติที่บังคับใช้อยู่ตั้งแต่ตอนต้นรวมกว่าพันฉบับ ก่อนครบวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 มีการพยายามทำกฎหมายโดยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการจัดทำประมวลกฎหมาย และกฎเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงโดยสะดวก แต่ กมธ.ชุดนี้ดำเนินการไปเพียง 12 ครั้ง ก็ไม่สำเร็จ”

สฤษฏ์พงษ์เน้นย้ำ

 

ส่วนการขับเคลื่อนการยื่นร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกประกาสและคำสั่ง คสช. ผ่านการดำเนินงานของพรรค ภท. ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่แปลงสภาพมาจากรัฐบาล คสช. จะมีนัยยะต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างแกนนำพรรค พปชร. กับพรรค ภท. หรือไม่นั้น ต้องติดตามการเดินหน้าผ่านการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากทั้งพรรค พปชร. และพรรค ภท. อยู่ในสถานะพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน โดยมีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ

อีกทั้งได้แรงหนุนสำคัญอย่างพรรค พท. ที่พร้อมเดินหน้าล้างผลพวงคำสั่งและประกาศของ คสช.ด้วย โดย “นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม” ส.ส.สุรินทร์ พรรค พท. ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล ออกมาระบุเช่นกันว่า พรรคเพื่อไทยจะมีการยื่นร่างประกบ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ “พิชิต ชื่นบาน” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะให้ไปศึกษาคำสั่ง คสช.ทั้งหมด ขณะที่ในสภาก็มีฉบับของ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. เรื่องการแก้ไขคำสั่งที่ 14 ให้ยกเลิกและเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.)

“เรื่องนี้คงออกมาเร็วๆ นี้เพราะไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อพรรค ภท.ยื่นร่างกฎหมายมา เราก็เป็นวิปรัฐบาลร่วมกัน เราก็ต้องนำมาดูและพูดคุยกัน เพื่อทำให้กฎหมายดีที่สุด อะไรที่จะต้องยกเลิกก็ต้องยกเลิก”

หลังจากนี้คงต้องรอดูว่ามรดกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลงเหลือทิ้งไว้ยาวนานนับ 10 ปี ซึ่งเปรียบเหมือน “อาวุธ” สำคัญทางการเมืองยุคนั้น

จะถูกสังคายนาหรือลบล้างจนหมดไปได้หรือไม่ คงต้องรอดูกัน