เหตุใดเราจึง ‘คิดถึงคนรักเก่า’ อยู่เนืองๆ | จักรกฤษณ์ สิริริน

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

อาการยอดฮิตที่หลายคนมักจะเจอหลังจากพ้นระยะอกหักไปได้สักพักหนึ่ง และแม้จะนานนับปี หรือหลายสิบปี มักจะเป็นความรู้สึก “คิดถึงคนรักเก่าอยู่เนืองๆ”

ศาสตราจารย์ ดร. Ting Ai นักจิตวิทยาแห่ง University of Kansas ชี้ว่า ความทรงจำเกี่ยวกับแฟนเก่านั้น ถือเป็น Nostalgia หรือ “การโหยหาอดีต” รูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความหมายสองนัยยะสำคัญด้วยกัน กล่าวคือ

1. ความทรงจำเกี่ยวกับคนรักเก่า สื่อถึงความเชื่อมโยงที่เรามีกับคนรักในปัจจุบัน แปลไทยเป็นไทยก็คือ ทั้งแฟนเก่าและแฟนใหม่อาจมีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน จึงดึงดูดเราเหมือนๆ กัน ทั้งในอดีต และในปัจจุบัน

2. ความทรงจำจากความรักครั้งเก่าล้วนเป็นช่วงเวลาที่มีความหมาย ซึ่งมักส่งผลต่อความรู้สึกภายในอย่างลึกซึ้ง พูดอีกแบบก็คือ เป็นไปไม่ได้เลยที่ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตจะลบเลือนไปอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้

1. จัดการลบทุกอย่าง ทุกช่องทางการสื่อสาร

2. หงุดหงิด เมื่อยังได้ยินได้ฟังข่าวคราวแฟนเก่า

3. ทุรนทุราย เมื่อเพื่อนถามถึงแฟนเก่า

4. ทำใจกับแฟนใหม่ของแฟนเก่า

5. เมื่อต้องพูดถึงแฟนเก่าให้แฟนใหม่ของเราฟัง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อกหักมาไม่นาน แบบยังหลงเหลือเยื่อใยกับแฟนเก่า มักเกิดความอาลัย และต้องต่อสู้กับความต้องการก้าวเดินไปข้างหน้าตลอดเวลา

ประมาณว่า ต้องการย้อนกลับสู่วันคืนอันชุ่มฉ่ำ ซึ่งรังจะนำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน บางครั้งถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ แบบนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูไม่มีความสุข

 

ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว อาการดังกล่าวเกิดขึ้นจากกระบวนการในสมอง หลังจากเลิกรากับคนรัก แม้จะผ่านไปกี่วัน กี่เดือน กี่ปี อาการนี้ก็ยังคงอยู่ในส่วนลึก

ศาสตราจารย์ ดร. Mark Underwood นักประสาทวิทยาแห่ง Columbia University ได้ลงมือทำการวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลของสมอง ที่มีต่อความเจ็บปวดทางใจ

โดยใช้วิธีการ Scan สมอง “คนอกหัก” ที่เข้าร่วมการทดลองด้วยเครื่อง MRI โดยทั้งหมดต้องผ่านการเลิกรากับคนรักมาไม่เกิน 6 เดือน

โดยมีเงื่อนไขสำคัญก่อนเข้าร่วมการทดสอบ คือต้องดูรูปภาพ 3 ใบก่อนทำการ Scan สมองด้วยเครื่อง MRI ซึ่งได้แก่

1. ภาพหมายเลข 1 คือรูปคนรักเก่า เพื่อให้คิดถึงความทรงจำดีๆ แต่ครั้งอดีต

2. ภาพหมายเลข 2 คือรูปเพื่อน เพื่อให้คิดถึงความสนุกสนานแต่ครั้งอดีต

3. ภาพหมายเลข 3 คือรูปมือที่กำลังเอื้อมไปจับของร้อน เพื่อให้คิดถึงความปวดแสบปวดร้อนแต่ครั้งอดีต

ศาสตราจารย์ ดร. Mark Underwood ระบุว่า ผลของการ Scan สมองด้วยเครื่อง MRI พบว่า สมองส่วน Insula และ Anterior Cingulate Cortex

ซึ่งเป็นสมองส่วนที่มีผลต่อการคาดการณ์ การตัดสินใจ และการตอบสนองต่อความเครียดนั้น

ผลการวิจัยพบว่า สมองทั้งสองส่วนมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภาพหมายเลข 1 (รูปคนรักเก่า) และภาพหมายเลข 3 (รูปมือที่กำลังเอื้อมไปจับของร้อน) เหมือนๆ กัน

ขณะที่ปฏิกิริยาตอบสนองต่อภาพหมายเลข 2 (รูปเพื่อน) นั้น ผู้เข้าร่วมการทดลองล้วนไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองใดๆ

ผลการทดลองสรุปว่า สมองของมนุษย์ให้ความสำคัญ และตอบสนองต่อความเจ็บปวดทางกาย และความเจ็บปวดทางใจเหมือนๆ กัน

ดังนั้น ทันทีที่เราอกหัก สมองมนุษย์จะ Focus ไปที่ความเจ็บปวดดังกล่าวก่อนจะมีปฏิกิริยาอื่นๆ

ซึ่งนี่เป็นหนึ่งใน “สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์” ที่คนในแวดวงจิตวิทยาทราบกันดี

นอกจากศาสตราจารย์ ดร. Mark Underwood นักประสาทวิทยาแห่ง Columbia University แล้ว ยังมีนักวิชาการอีกสองท่านที่ให้ความสนใจในประเด็นเหตุใดเราจึง “คิดถึงคนรักเก่า” อยู่เนืองๆ

นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร. Lucy Brown นักประสาทวิทยา และศาสตราจารย์ ดร. Helen Fisher มานุษยวิทยาชีววัฒนธรรม

ที่ได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นประชากรหนุ่มสาวจำนวน 15 คน ซึ่งล้วนมีพฤติกรรม “ต้องการขอคืนดีกับคนรักแบบไม่เหมาะสม”

ไม่ว่าจะเป็นการส่ง e-Mail หรือ Message ต่างๆ ไปรบกวน หรือก่อความรำคาญ, ไปดักรอ “คนรักเก่า” ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งหมดมีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ สิ้นหวังในชีวิต

โดยหลังจากที่หนุ่มสาวทั้ง 15 คนได้ดูรูปคนรักเก่าเป็นเวลา 5 นาที ทั้งหมดจะถูกส่งเข้ารับการ Scan สมองด้วยเครื่อง MRI

ผลการทดสอบพบว่า สมองส่วน Ventral Tegmental และ Nucleus Accumbens มีการตอบสนองคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่มีอาการอยากยา

ทั้งนี้ สมองส่วน Ventral Tegmental และ Nucleus Accumbens มีหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประสานงานของระบบความพึงพอใจ และการเสพติด

โดยเมื่อมนุษย์เรามีความรู้สึกพึงพอใจ หรือมีความสุข อาทิ เมื่อเจอคนรักเก่า เจอเพื่อนสนิท หรือเมื่อเสพยา Ventral Tegmental และ Nucleus Accumbens จะหลั่งสารสื่อประสาท Dopamine ออกมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนติดยา สมองจะมองหา และพึ่งพายาเสพติดเพื่อกระตุ้นให้ Dopamine หลั่ง ไปกระตุ้นความต้องการเสพยา ให้ร่างกายรู้สึกดี

อาการเช่นนี้ไม่ต่างจาก “คนอกหัก” ที่มักพึ่งพาความสุขจากการดูรูปแฟนเก่า หรือนั่งคิดถึงฉากในอดีตอันหอมหวาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจินตนาการถึงการนัดพบคนรักเก่า หรือทำกิจกรรมร่วมกับคนเคยรัก ซึ่งจะทำให้ Dopamine หลั่งออกมาเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเพียงความสุขในฝัน

 

จากผลการทดลองของศาสตราจารย์ ดร. Mark Underwood นักประสาทวิทยาแห่ง Columbia University หรือศาสตราจารย์ ดร. Lucy Brown นักประสาทวิทยา และศาสตราจารย์ ดร. Helen Fisher มานุษยวิทยาชีววัฒนธรรม ดังกล่าว

จึงแทบไม่น่าแปลกใจเลยว่า การที่บรรดา “คนอกหัก” และ “คนเคยอกหัก” รู้สึกทุรนทุรายใจ ไม่สามารถลืมคนรักเก่าได้นั้น ทั้งหมดล้วนเกิดจากปฏิกิริยาทางสมองทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นช่วงแรกๆ ของการเลิกรากัน และไม่ว่าเหตุการณ์เลิกรา หรือหย่าร้าง จะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

อย่างไรก็ดี สมองมนุษย์มีความมหัศจรรย์ตรงที่สมองจะทราบถึงสถานการณ์ต่างๆ ทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นอย่างดี สมองจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เรากลับมามีชีวิตปกติสุข

โดยสมองส่วน Orbitofrontal Cortex และ Prefrontal Cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่มีหน้าที่ช่วยในการตัดสินใจ รวมถึงสมองส่วน Cingulate Gyrus ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก

จะถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเยียวยาอาการอกหัก ส่งผลให้เรามีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และการตัดสินใจที่ดีขึ้นนั่นเอง

 

ศาสตราจารย์ ดร. Ting Ai นักจิตวิทยาแห่ง University of Kansas กลับมาแนะนำเราว่า ให้ทำการ “ย้อนศร” ความทรงจำเกี่ยวกับแฟนเก่า ที่ถือเป็น Nostalgia หรือ “การโหยหาอดีต” รูปแบบหนึ่ง

โดยเราเองสามารถมีส่วนในการช่วยสมองของเราในการตัดใจจากคนรักเก่าได้ด้วย 5 วิธีดังต่อไปนี้

1. จัดการลบทุกอย่าง ทุกช่องทางการสื่อสาร อย่างจริงจัง

2. เลิกหงุดหงิด เมื่อยังได้ยินได้ฟังข่าวคราวแฟนเก่า

3. หยุดทุรนทุราย เมื่อเพื่อนถามถึงแฟนเก่า

4. ทำใจกับแฟนใหม่ของแฟนเก่าให้ได้โดยเร็ว

5. อย่าฟูมฟายเมื่อต้องพูดถึงแฟนเก่าให้แฟนใหม่ของเราฟัง

ให้พูดอย่างมีสติเสมอ