บทความพิเศษ : “เขาเพียงอ่านหนังสือ” และอนาคตของเสรีภาพในการพูด

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (the United Nations” Universal of Human Rights) ข้อที่ 19 บัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน”

ซึ่ง ไนเจล วอร์เบอร์ตัน (Nigel Warburton) อธิบายว่า เสรีภาพในการพูดมีคุณค่าเป็นพิเศษในสังคมประชาธิปไตย

ในประเทศประชาธิปไตย ผู้ลงคะแนนเสียงต้องได้ยินได้ฟังและเอาตัวเข้าปะทะกับความคิดเห็นที่หลากหลาย

และยังต้องการเข้าถึงข้อเท็จจริงและการตีความต่างๆ ได้

ซึ่งนั่นรวมถึงมุมมองที่คัดง้างกันด้วย

แม้กระทั่งกรณีที่ผู้ลงคะแนนเสียงเหล่านี้เชื่อว่ามุมมองที่แสดงออกมานั้นทำให้เกิดความไม่พอใจหรือขุ่นเคืองใจทางการเมือง ทางศีลธรรม หรือความไม่สบายใจส่วนตัว

ความคิดเห็นเหล่านี้อาจสื่อสารผ่านหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ไม่ได้โดยตรง แต่มักมีการนำเสนอในนวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี ภาพยนตร์ การ์ตูนหรือเนื้อเพลงและผู้คนอาจแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก็ได้

คำว่าเสรีภาพในการพูด (free speech) เชื่อมโยงกับแนวคิดที่ว่า ปัจเจกสื่อสารกันด้วยหนึ่งในวิธีซึ่งเป็นทางตรง และเป็นส่วนตัวที่สุดเท่าที่จะมีได้ นั่นคือผ่านทางเสียง (vioce)

ส่วนคำว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (free expression) อาจให้ความหมายที่ถูกต้องเที่ยงตรงกว่าในบางลักษณะ แต่คำคำนี้มีความหมายแฝงว่า สิ่งที่แสดงออกไปนั้นค่อนข้างมีลักษณะเป็นอัตวิสัย (subjective) หมายความว่า ผู้รับสารจะรับรู้ว่าสิ่งที่ถูกแสดงออกมานั้นคืออะไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนที่จะตีความนั่นเอง

ในบทความชิ้นนี้จะนำเสนอประเด็น เขาเพียงอ่านหนังสือ ของ รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ จากรวมเรื่องสั้น กลับสู่โลกสมมุติ สำนักพิมพ์มติชน (2559) กับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ซึ่งสอดคล้องกับข่าวที่เจ้าหน้าที่รวบหนุ่มกินแซนด์วิช อ่านหนังสือ 1984 และเปิดเพลงชาติฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 หน้าห้างดัง หลังเหตุการณ์รัฐประหารโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านไป 1 เดือน และจะเชื่อมโยงเสรีภาพในการพูดทุกวันนี้ รวมถึงอนาคตของเสรีภาพในการพูดด้วย

เรื่องสั้น เขาเพียงอ่านหนังสือ ของ รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ เล่าเรื่องแนวกระแสสำนึก (stream of consciousness vioce) โดยเน้นปมความขัดแย้งภายในจิตใจของตัวละคร (man against himself) ในสิ่งที่ตนประสบพบเจอมาผสานความทรงจำในอดีตกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตและเปลี่ยนผ่านทางความคิดอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ ยังใช้ฉากที่เป็นสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน ค่านิยมในสังคมและการเมืองเข้ามาเสริมเป็นองค์ประกอบของเรื่อง เพื่อแสดงความหมายเชิงสัญลักษณ์ (symbol) ผ่านการแฝงนัยเชิงสถานการณ์ (irony of situation) คือการที่ผู้เขียนสร้างความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ปรากฏกับความเป็นจริงหรือระหว่างความคาดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หรือเรียกว่าการแฝงนัยเชิงโชคล้อ (irony of fate) ที่ตัวละครนำหนังสือ Fahrenheit451, Brave New World, A Clockwork Orange, Animal Farm และเปิดอ่านเล่ม Nineteen Eighty-Four ในที่สาธารณะ แต่เหตุการณ์กลับปกติ

ซึ่งตรงข้ามกับ “ชายหนุ่มเพียงนั่งอ่านหนังสือ… แล้วเขาก็ถูกจับ” (น.159)

รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ เปิดเรื่องสั้นนี้ด้วยประโยคบอกเล่า และให้ “จูน” เป็นคนเห็นข่าวนี้บนโลกออนไลน์ หลังจากนั้นเธอจึงสอบถามเพื่อนเก่าและพยายามค้นหาข่าวของเขาจากกูเกิลหรือเว็บไซต์ต่างๆ จนเธอไปรื้อค้นไดอารี่เล่มเก่า เพื่อเสาะหาว่าเคยบันทึกอะไรเกี่ยวกับเขาไว้บ้าง

“เขานั่งอ่านหนังสือเงียบๆ อยู่หลังห้อง เขาเป็นเด็กผู้ชายคนเดียวในห้องที่มักมาแต่เช้าตรู่และจมตัวเองอยู่ในโลกหนังสือ” (น.162)

ความทรงจำของ “จูน” ที่มีต่อเขากลับทำให้เธอระลึกถึงพ่อผู้ล่วงลับที่มักนั่งอ่านหนังสืออยู่บนโซฟาตัวโปรด “จูน” ในวัยนั้นไม่ได้สนใจว่าพ่ออ่านอะไร จนถึง “ปีที่พ่อของเธอต้องทิ้งลมหายใจไว้กลางถนนท่ามกลางเสียงปืนและกลุ่มควันดำทะมึนกลางมหานครพร้อมกับเพื่อนอีกหลายคน” (น.165) มันทำให้เธอหันมาสนใจและอ่านหนังสือ ซึ่งส่งผลให้เห็นโลกกว้างและเข้าใจอะไรต่างๆ ในชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม

นานวันเข้า เขาก็เข้ามาอยู่ในความคิดคำนึงของเธอ จนอยากจะพบ พูดคุย ตอนนี้เขาอาจถูกจับควบคุมตัวอยู่ที่ไหนสักแห่ง เขาแค่นั่งอ่านหนังสือ แต่ทำไมเจ้าหน้าที่ต้องจับเขาด้วย กลายเป็นคำถามที่เธออยากหาคำตอบ เพราะมันเป็นกิจกรรมที่เขาทำอยู่แล้ว เกิดเป็นความขัดแย้งขึ้นภายในใจ ส่งผลให้เธอหยิบ Nineteen Eighty-Four มาอ่านจนจบ และบอกกับตัวเองว่าจะตามหาเขาให้เจอ ซึ่งเธอตัดสินใจไปสยามสแควร์ พกหนังสือสี่เล่มใส่กระเป๋า นำมันออกมาวางและกางอ่าน แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างที่เธอต้องการให้เป็น

สุดท้ายเธอเห็นภาพของพ่อและเขาซ้อนทับกันราวกับเป็นคนคนเดียว

“นั่งอ่านหนังสือเงียบๆ …อ่านอย่างสงบและปกติสุข” (น.173)

รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ นำเรื่องราวข่าวสารและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงบางฉากมาปรุงแต่งเป็นเรื่องเล่าย้อนความทรงจำและจบแบบเหนือจริง (magical realism) ได้อย่างมีความหมายแบบปลายเปิด สะท้อนภาพความปกติในเหตุการณ์หรือสังคมไม่ปกติ เพราะ “การอ่านหนังสือบางเล่มกลับกลายเป็นภัยร้ายแรง ตั้งแต่มีการยึดอำนาจอย่างฉับพลันในเย็นวันนั้น สิ่งธรรมดาสามัญก็กลายเป็นเรื่องต้องห้าม การอ่านหนังสือบางเล่ม ดูหนังบางเรื่องหรือกินอาหารบางอย่างถูกมองเป็นภัยคุกคามความสงบสุข” (น.168)

ข้อน่าพิจารณา ก่อนจะกล่าวถึงเสรีภาพในการพูดทุกวันนี้และอนาคตของเสรีภาพในการพูด ผู้อ่านจะสังเกตว่า รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ ให้ “จูน” เป็นผู้เล่าเรื่อง ซึ่งไม่ใช่ผู้เขียน หมายความว่า ผู้เขียนอยู่ “นอก” เรื่อง แต่ผู้เล่าเรื่องอยู่ “ใน” เรื่อง

จากประเด็นดังกล่าว อาจตีความการใช้ตัวละคร “จูน” ซึ่งเป็นเพศหญิงได้ว่า รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ กำลังจะสื่อถึงความเหลื่อมล้ำและไร้ตัวตนของผู้หญิงบนความสัมพันธ์เพศสภาพ (gendar) จึงสร้างตัวละคร “จูน” ซึ่งสังคมกำหนดบทบาทให้เป็นผู้ช่วยเหลือ ผู้สนับสนุนและผู้ถูกดูแล มากกว่าเป็นผู้นำ แกนนำ นักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวหรือผู้ปกป้อง

ผู้หญิงจึงยังคงถูกกดทับเพื่อไม่ให้มีบทบาทในทางการเมืองเท่าใดนัก โดยความไม่ตั้งใจของผู้เขียนหรือเป็นเพราะสังคมระบบปิตาธิปไตย (patriarchy) ที่สั่งสมความคิด ความเชื่อเรื่องความไม่เสมอภาคหรือเท่าเทียมกันทางเพศ

สุดท้าย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของ “จูน” นอกจากจะไม่ได้รับความสนใจหรือขัดขวางจากคนที่เดินผ่านไปมาแล้ว มันยังไม่ได้สร้างความขุ่นเคืองใจหรืออยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่และหรือรัฐบาลนั่นเอง

ไอเซยาห์ เบอร์ลิน (Isayah Berlin) แบ่งเสรีภาพออกเป็นสองแนวทางคือ เสรีภาพเชิงลบ (regative freedom) และเสรีภาพเชิงบวก (positive freedom)

เสรีภาพเชิงลบ หมายถึง ความไร้ข้อจำกัดใดๆ คือ การมีอิสระในความหมายเชิงลบ หากทำบางอย่างได้โดยไม่มีใครมาขัดขวาง

เสรีภาพเชิงบวก หมายถึง เสรีภาพในการที่จะทำสิ่งที่ต้องการได้สำเร็จจริง

ประวัติศาสตร์ของเสรีภาพในการพูด คือ ประวัติศาสตร์ของความพยายามที่จะขัดขวางผู้คนไม่ให้สื่อสารมุมมองของตน ไม่ว่าด้วยการเซ็นเซอร์ จำคุก ปรับทัศนคติ การใช้กฎหมายห้ามปราม การข่มขู่คุกคามหรือว่าจะใช้ความรุนแรง การเผาหนังสือ การควบคุมเฟซบุ๊กหรือการปิดกั้นข้อมูลบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่งผลสะท้อนของเสรีภาพในการพูดทุกวันนี้

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน (Nigel Warburton) กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตสร้างประชาธิปไตยให้การสื่อสาร อย่างน้อยที่สุดก็กับผู้ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ผู้คนจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนพูดคุยกันและมีคนฟังเสียงของพวกเขาทั่วทั้งโลก เมื่อผู้คนที่พูดต่อต้าน การกดขี่ข่มเหงถูกปิดปาก

ข่าวการปิดปากนี้ก็มีโอกาสหลุดรอดไปสู่โลกกว้างมากกว่าในอดีต

ในอนาคต ความอดทนอดกลั้นต่อเสรีภาพในการพูดอาจเป็นผลลัพธ์จากความยากลำบากในทางปฏิบัติที่จะปิดปากเสียงทั้งหลาย ซึ่งมีช่องทางสื่อสารมากมาย นอกจากสื่อกระแสหลัก มากกว่าที่จะเป็นผลลัพธ์จากการตัดสินใจเชิงหลักการ แต่ก็ใช่ว่าจะหลีกเลี่ยงผลลัพธ์แบบนี้ไม่ได้เลย และบางรัฐก็กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตของประชาชน โดยใช้เครื่องมือทางเทคนิคทุกอย่างเท่าที่มี

อย่างเช่น ที่ประชุมสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติเห็นชอบ 141:13 เสียง ผ่านร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … หรือเรียกง่ายๆ ว่าร่างกฎหมายควบคุมสื่อ ซึ่งระบุให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีใบอนุญาต และสื่อออนไลน์ บล็อกเกอร์ เพจเฟซบุ๊กที่มีรายได้ต้องขึ้นทะเบียนด้วย

กรณีดังกล่าวจึงเป็นความพยายามของรัฐบาลในการเข้าไปแทรกแซง ควบคุม กดทับและปิดกั้นการทำงานของสื่อโดยอิสระ การมีตัวแทนของรัฐนั่งในสภาวิชาชีพ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายลงโทษสื่อและการต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้วยนั้น ต่อไปอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์มากขึ้น ผลเสียจะตกอยู่กับสาธารณชนที่ขาดโอกาสในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน

นอกจากนี้ การสื่อสารสังคมออนไลน์ในปัจจุบันและอนาคตที่จะมีการพัฒนาต่อไปอย่างกว้างขวาง แต่อย่างน้อยควรให้ประชาชนของประเทศนั้นๆ มีพลังอำนาจในการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะการแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมือง

ดังนั้น เสรีภาพต้องไม่ใช่ใบอนุญาต

การจำกัดเสรีภาพในการพูดจึงต้องนำมาเทียบเคียงกับความหนักแน่นตามเหตุผลมากกว่าความรู้สึกหรือข้อโต้แย้งทางศีลธรรม เพราะคุณค่าหลักของเสรีภาพในการพูดคือการสนับสนุนให้เกิดการอภิปรายประเภทที่เป็นหัวใจสำคัญต่อการทำให้ประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดี การที่จะตัดสินใจได้ดีนั้น ประชาชนจะต้องปะทะสังสรรค์กับแนวคิดที่หลากหลายด้วย

ซึ่งการให้รัฐบาลตั้งข้อจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานจากกรณีที่กล่าวข้างต้นนี้ จะเท่ากับเป็นการลื่นไถลไปตามทางลาดสู่ระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือไม่

บรรณานุกรม

ไนเจล วอร์เบอร์ตัน (2560). เสรีภาพในการพูด : ความรู้ฉบับพกพา. กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส.

รัชศักดิ์ จิรวัฒน์ (2559). กลับสู่โลกสมมุติ. กรุงเทพฯ : มติชน.

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต (2559). สื่อสังคมออนไลน์กับอำนาจการเปลี่ยนแปลง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก www.mgronline.com/daily/detail/9590000072742.สืบค้นเมื่อ [20 พฤศจิกายน 2560].

อิราวดี ไตลังคะ (2545). ศาสตร์และศิลป์แห่งการเล่าเรื่อง. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.