‘อำนาจประชาชน’ ไม่มีอยู่จริง

ชัดเจนว่า “พรรคก้าวไกล” ถูกจัดการเด็ดขาดจากกลไกที่ออกแบบไว้เพื่อดูแลอำนาจ

พรรคไหนจะเข้ามามีบทบาทในโครงสร้างอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจบริหาร หรือนิติบัญญัติ จะเคลื่อนอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้เท่านั้น

แม้จะผ่านการเลือกตั้ง แต่การจะมีบทบาท หรือดำรงอยู่ได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่การตัดสินใจของประชาชน ยังต้องผ่านการอนุมัติจากอีกหลายกลไกในโครงสร้างอำนาจที่ออกแบบไว้ควบคุมเคร่งครัด

ไม่ใช่เรื่องที่จะไปดึงดันเอาเองว่า ประชาชนที่แสดงเจตนารมณ์จะคุ้มครองปกป้องให้เป็นไปตามหลักการของนานาอารยประเทศได้

การจัดการอำนาจการเมืองประเทศไทยมีวิธีการเฉพาะ ไม่เกี่ยว ไม่สน และไม่แคร์ทุกสิ่งอย่าง

ต้องเป็นเช่นนั้น อย่างไม่มีทางเป็นอื่นไปได้

ประชาชนต้องการแบบไหน ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเงี่ยหูฟัง แม้จะเล็กน้อยแค่ “ขอให้ฟังกันบ้าง”

มิพักต้องพูดถึงการส่งเสียงอยู่ในโลกออนไลน์ และการชัดชุมนุมเพื่อเรียกร้อง

 

ผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “เลือกนายกรัฐมนตรี 2566”

ในคำถามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบแรก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้คะแนนเสียงไม่เพียงพอที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ร้อยละ 43.21 ระบุว่า ควรมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้

รองลงมา ร้อยละ 20.69 ระบุว่า ควรมีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาอีก 1-2 รอบเท่านั้น

เมื่อถามถึงบุคคลที่มีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังนายพิธาไม่ได้รับเสียงสนับสนุนที่เพียงพอจากรัฐสภา ร้อยละ 38.55 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน, ร้อยละ 6.79 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ, ร้อยละ 5.42 ระบุว่าเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ร้อยละ 4.27 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล, ร้อยละ 1.45 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ร้อยละ 1.07 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

และร้อยละ 1.76 ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายชัยเกษม นิติสิริ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายศิธา ทิวารี

 

หากอยากหาคำตอบว่า “ผู้นำประเทศที่ประชาชนปรารถนาคือใคร” ผลสำรวจนี้มีคำตอบชัดเจนอย่างยิ่งว่า ประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไร

แต่อย่างที่บอก ในความเป็นจริงของโครงสร้างอำนาจประเทศไทยเรานั้น “ประชาชน” หรือ “การเลือกตั้ง” มีบทบาทแค่เป็นข้ออ้างเพื่อให้พอพูดถึงความเป็น “ประชาธิปไตย” ได้บ้าง เพื่ออ้อมแอ้มให้เกิดการยอมรับจากประเทศเสรีนิยม แต่ถึงที่สุดแล้วต่างคนต่างรับรู้ โดยเฉพาะผู้ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด ย่อมเห็นมาตลอดทางว่า

“การจัดการอำนาจไม่มีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่จริง”

จะพอเห็นภาพว่าเข้าไปเป็นส่วนประกอบได้บ้าง ก็แค่ผลการเลือกตั้งเป็นไปอย่างที่ผู้ครองอำนาจกำหนดไว้เท่านั้น จึงจะถูกเอ่ยถึงว่าเป็นการจัดการอำนาจตามการตัดสินใจของประชาชน

หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ มีความชัดเจนอย่างยิ่งที่ว่าหากประชาชนไม่ได้ตัดสินใจตามที่ออกแบบไว้ การจัดการให้เจตจำนงของประชาชนหลุดไปจาก “สมการอำนาจ” จะเกิดขึ้นทันที

อย่าว่าแต่เสียงวิงวอน เรียกร้องของประชาชนที่ขอให้ “เห็นหัวกันบ้าง” จะถูกเย้ยหยันแบบไม่มีทางเลยจาก “ขบวนการอำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงประชาชน” เลย

แม้กระทั่ง “พรรคการเมือง” ที่ต้องอาศัยเสียงประชาชนส่งเข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจ หลังการเลือกตั้งยังชักแถวกันมองไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา อย่างทระนงองอาจ