นิติปรัชญากับการโหวตเลือกนายก

คําว่า “นิติปรัชญา” ประกอบขึ้นจากคำ 2 คำ คือ นิติ และ ปรัชญา

“นิติ” มีความหมายกว้างครอบคลุมถึง กฎหมาย ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิธีการปกครอง

“ปรัชญา” หรือ “Philosophy” ในภาษาอังกฤษ มีรากศัพท์จากคำว่า “Philosophia” แปลว่า “ความรักในปัญญา” คำว่าปรัชญาจึงมีความหมายถึง การศึกษาปัญหาทั่วไปและปัญหาพื้นฐาน ในแง่มุมต่างๆ เช่น อภิปรัชญา ตรรกศาสตร์ ญาณวิทยา จริยศาสตร์ จิตใจ และ ภาษา เป็นต้น

คำว่า “นิติปรัชญา” หรือ “Philosophy of law” จึงมีความหมายเชิงกว้าง คือ การมุ่งศึกษาว่าสิ่งใดคือกฎหมาย

ฟังผ่านๆ ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนหนิ กฎหมายก็คือกฎหมาย ยากตรงไหน

ในสมัยที่ผมเรียนนิติศาสตร์นั้น วิชานิติปรัชญา เป็นวิชาที่นักศึกษาไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก เพราะไม่ได้ใช้สอบวัดความรู้ชั้นเนติบัณฑิต และใช้ทำมาหากินได้ยาก จึงเป็นวิชาที่ผู้เรียนมักคืนครูบาอาจารย์แทบจะทันทีเมื่อเรียนจบ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว นิติปรัชญานั้นเป็นรากฐานของหลักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งปวง เป็นแก่นแท้ของระบบกฎหมาย

นิติปรัชญาเป็นการมุ่งศึกษากฎหมายในเชิง การดำรงอยู่ (อภิปรัชญา) เหตุผล (ตรรกศาสตร์) ความรู้ (ญาณวิทยา) คุณค่า (จริยศาสตร์) และในแง่มุมของ สังคมศาสตร์ และภาษาศาสตร์ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม

สอนให้ผู้เรียนทุกท่านรู้จักการตั้งคำถาม ถกเถียงเชิงวิพากษ์ ถกเถียงด้วยเหตุผล และนำเสนอความคิดอย่างเป็นระบบ

กลับมาที่คำถามที่ถามทิ้งไว้ตอนต้นว่า “อะไรคือกฎหมาย?”

ในการตอบคำถามข้อนี้ วิชานิติปรัชญามักนิยมแบ่งแนวความคิด ออกเป็น 3 สำนัก

(จริงๆ มีแนวความคิดหลากหลายมากมายกว่า 3 สำนัก แต่นิยมแบ่งออกเป็น 3 สำนักใหญ่เพื่อความสะดวกในการเรียนการสอน)

 

1.สำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural law school) เชื่อว่ากฎเกณฑ์หรือกฎหมายต่างๆ มีอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว มนุษย์เพียงแต่ค้นพบเท่านั้น มิได้สร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ดังนั้น กฎหมายธรรมชาติจะมีความเป็นนิรันดร คือเป็นจริงทุกยุคทุกสมัยตลอดไป มีเหตุผลมีความชอบธรรม และเป็นกฎหมายที่สูงสุดกว่ากฎหมายบ้านเมือง กฎหมายบ้านเมืองจะขัดหรือแย้งกฎหมายธรรมชาติไม่ได้

ตัวอย่างคดีที่สำคัญคดีหนึ่งของโลก คือ คดีนูเรมเบิร์ก เป็นการพิจารณาคดีอาชญากรสงคราม ซึ่งจำเลยในคดีเต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคนาซี ซึ่งคณะผู้พิพากษาได้ยกหลักกฎหมายธรรมชาติขึ้นหักล้างหลักกฎหมายบ้านเมืองที่ฮิตเลอร์ตราขึ้นเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 คดีนูเรมเบิร์กเป็นหนึ่งในก้าวสำคัญในการจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ)

นักปรัชญาเมธีที่สำคัญของสำนักกฎหมายธรรมชาติได้แก่ ฮันส์ เคลเซ่น (Hans Kelsen) เจ้าของทฤษฎีกฎหมายบริสุทธิ์ (The pure theory of law) เชื่อว่ากฎหมายมีลำดับชั้นของกฎหมาย และมีบรรทัดฐานพื้นฐาน (Grundnorm) เป็นกฎหมายสูงสุดและสูงกว่ากฎหมายทั้งปวง (รวมถึงรัฐธรรมนูญ)

ลอน ฟุลเลอร์ (Lon Fuller) นักปรัชญาเมธีเจ้าของทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติ เชื่อว่ากฎหมายจำต้องอยู่ภายใต้บังคับของศีลธรรม

แนวความคิดของทั้งสองท่านจึงพอสรุปได้ว่า ความยุติธรรมเป็นกฎหมายสากลและมีคุณค่าเหนือกฎหมายที่บัญญัติทั้งปวง

 

2.สำนักกฎหมายบ้านเมือง (Legal positivism) มีแนวคิดปฏิเสธกฎหมายที่สูงกว่าหรือปฏิเสธกฎหมายธรรมชาติ เชื่อว่า “กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์” ซึ่ง จอห์น ออสติน (John Austin) นักปรัชญาเมธีเป็นผู้กล่าวไว้ สิ่งใดที่รัฏฐาธิปัตย์บัญญัติขึ้นสิ่งนั้นคือกฎหมาย สามารถบังคับใช้ได้

นักปรัชญาเมธีผู้มีคุณูปการต่อวงการกฎหมายในปัจจุบันอย่างมาก เอช. แอล. เอ. ฮาร์ต (H.L.A. Hart) ผู้เขียน “แนวคิดเกี่ยวกับกฎหมาย (The concept of law)” เชื่อว่า กฎหมายและศีลธรรมไม่จำเป็นต้องเกี่ยวโยงกันเสมอไป และการดำรงอยู่หรือความสมบูรณ์ของกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากเรื่องความชอบหรือไม่ชอบธรรมของกฎหมายนั้นๆ

คดีสำคัญคดีหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ คดีอำแดงป้อม กับ นายบุญศรีช่างเหล็กหลวง

คดีนี้ อำแดงป้อมเป็นชู้กับนายราชาอรรถ แล้วมาฟ้องขอหย่านายบุญศรี สามีของตนเอง

ซึ่งกฎหมายสมัยนั้นบัญญัติไว้ว่า “ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเปนหญิงหย่าชายหย่าได้” ศาลตัดสินให้ฝ่ายหญิง (อำแดงป้อม) หย่าขาดจากสามีได้ แม้สามีไม่มีความผิด เป็นเหตุให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 1 ทรงชำระสะสางกฎหมาย ตรากฎหมายตราสามดวงในเวลาต่อมา เนื่องจากคำพิพากษาของศาลขัดกับหลักความยุติธรรม

หากตีความตามตัวอักษร ศาลตัดสินคดียุติธรรมตามตัวบทกฎหมาย แต่ขัดหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ

 

3.สำนักประวัติศาสตร์กฎหมาย (Historical school of law) เชื่อว่ากฎหมายมีวิวัฒนาการเหมือนสิ่งมีชีวิต เปลี่ยนแปลงไปตามประวัติศาสตร์และบริบทของสังคม กฎหมายของชนชาติใดย่อมเป็นไปตามจิตวิญญาณของคนชนชาตินั้นๆ ให้ความสำคัญกับจารีตประเพณีและสภาพสังคม

ซึ่งนอกจากแนวคิดทั้ง 3 สำนักที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีแนวคิดปรัชญาทางกฎหมายจากนักปรัชญาเมธีหลายท่านที่น่าสนใจ แต่พื้นที่จะกัดจึงขอยกเพิ่มอีก 1 ท่าน คือ เจเรมี เบนแธม (Jeremy Bentham) นักปรัชญาเมธีคนสำคัญ เจ้าของแนวคิดลัทธิประโยชน์นิยม (Utilitarianism) เชื่อว่าความสุขมากที่สุดของคนจำนวนมากที่สุด เป็นเครื่องชี้วัดสิ่งที่ถูกต้องหรือผิด (It is the greatest happiness of the greatest number that is the measure of right and wrong)

ซึ่งแนวคิดนี้คล้ายคลึงกับแนวความคิดด้านเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก คือ การหาอรรถประโยชน์สูงสุดของคนในประเทศ (Utility maximization)

เดี๋ยวจะยาวเกินไป ขอกลับเข้าเรื่องที่จะสนทนากันในวันนี้

 

เราลองมาถกเถียงเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีท่านที่ 30 ของไทย ผ่านมุมมองแต่ละหลักปรัชญากันครับ

หากพิจารณาในมุมมองสำนักกฎหมายธรรมชาติ ทุกท่านคงเห็นเป็นประจักษ์แล้ว แม้มองจากดาวพลูโตก็เห็นว่า ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มากบารมีสังกัดฝ่ายรัฐบาลเดิมเปรียบเสมือนผลไม้จากต้นไม้อันมีพิษ ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ย่อมขาดความชอบธรรมในการลงคะแนนเสียงและไม่สามารถอำนวยความเป็นกลางได้อย่างแน่แท้ ส.ว.จึงไม่ควรมีสิทธิในการโหวตตั้งแต่แรก

ในฟากสำนักกฎหมายบ้านเมือง มองกลับกันและเห็นว่า กฎหมายเมื่อมีข้อบกพร่องสมควรแก้ไขก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการก่อนหน้านี้ และตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย จำเป็นต้องยึดถือกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันร่วมกันเพื่อเป็นที่ยุติ มิฉะนั้นจะเกิดความวุ่นวายในสังคมไม่จบสิ้น ดังนั้น เมื่อกฎหมายให้สิทธิ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ต้องเป็นไปตามนั้นแม้จะไม่ถูกใจเราก็ตาม แล้วค่อยหาทางแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหาภายหลัง

ในมุมอรรถประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดลัทธิประโยชน์นิยม จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักหลายด้าน ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพที่จะขาดหายไป โอกาสทางเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียไประหว่างรอการเลือกนายกฯ และความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อคิดคำนวณออกมาแล้วจึงจะตอบได้ว่าควรทำอย่างไรในการเลือกนายกรัฐมนตรี จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อหลักการหรือจะยอมถอยเพื่อเดินหน้าต่อไป

ไม่ว่าจะมีความเชื่อในรูปแบบใด ไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด ทุกท่านสามารถคิดใคร่ครวญ และถกเถียงกันได้ แต่ต้องถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล หรือแบบปัญญาชน จึงจะก่อเกิดประโยชน์

และไม่ว่าผลการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปจะเป็นเช่นไร กระผมขอวิงวอนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โปรดคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ความผาสุกของประชาชน มากกว่า ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ร่วมกันหาทางออกให้แก่ประเทศอย่างสันติวิธี และไม่นำประชาชนมาเป็นตัวประกัน

หรือใช้ความเสียหายของประชาชนเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมือง

 

ขอทิ้งท้ายด้วยการอัญเชิญข้อความจากพระนิพนธ์ เรื่อง “ว่าด้วยกดหมาย” (เดือนกันยายน ร.ศ.118) ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ในเรื่องการใช้กฎหมายและความยุติธรรมดังนี้

“ในเมืองไทยคำพิพากษาเก่าๆ และคำพิพากษาเดี๋ยวนี้ด้วย อ้างความยุติธรรมขึ้นตั้งเสมอๆ แต่คำที่เรียกว่ายุติธรรมเป็นคำไม่ดี เพราะเป็นการที่ทุกคนเห็นต่างกัน ตามนิไสย ซึ่งไม่เป็นกิริยาของกฎหมาย กฎหมายต้องเป็นยุติจะเถียงแปลกออกไปไม่ได้ แต่เราเถียงได้ว่าอย่างไรเป็นยุติธรรม ไม่ยุติธรรมทุกเมื่อทุกเรื่อง…”