“ยุติกรรม-ยุติธรรม” มรดกบาปจาก “คสช.”

“ภาพลักษณ์” อาจไม่ใช่ “ความจริง” ทั้งหมด แต่ผลที่เป็น “บวก” หรือ “ลบ” ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นขององค์กรไปนานแสนนาน และไม่ง่ายนักที่จะกอบกู้

ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา “ภาพลักษณ์” ของระบบยุติธรรมไทยค่อยๆ ตกต่ำจนกระทั่ง “ดิ่งเหว” จนสามารถกล่าวได้ว่า เลวร้ายเสียยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ

มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความพิลึกพิลั่นของกลไกทุกระดับในกระบวนการยุติธรรม

มีผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ยิงตายตัวพร้อมทิ้งแถลงการณ์ 25 หน้า กล่าวถึงการแทรกแซงสั่งแก้คำพิพากษา จากนั้นมีอีกมากมายสาธยายกันไม่ถ้วน ล่าสุด “คดีสินบน 20 ล้าน” ศาลอาญาทุจริตฯ เพิ่งจะพิพากษาสั่งจำคุก

ภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ทำให้นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ที่รู้กันทั่วไปในวงการยุติธรรมว่า “ตงฉิน” เงินซื้อไม่ได้ ต้องลี้ภัยไปอยู่ออสเตรเลีย หลังทำคดีค้ามนุษย์ซึ่งมีทหารเข้าไปพัวพันหลายคน

องค์กรอัยการสั่นคลอนที่สุดเท่าที่มีมา หลายคนคือตัวเอ้ มีฉายามือเติบ ไร้น้ำใจ

บางคนไม่เพียงแต่รอด ยังได้เป็นใหญ่ ก็มีบ้างที่ถูกให้ออกจากราชการ แต่ “มะเร็งร้าย” กร่อนองค์กรจนผุ กระทั่งบางท่าน “รับไม่ได้” ขอบายที่จะขึ้นสู่ตำแหน่ง “สูงสุด”!

ในวงการตำรวจก็เคยมี “อดีตตำรวจใหญ่” บางคน ถึงจะจ่อขึ้นเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ก็ส่ายหน้าไม่เอาดีกว่า ถ้าจะต้องรับใช้และต้องทำตามนาย (ทหาร) สั่ง ชนิดที่ไม่ต้องใช้ดุลพินิจ

ความยุติธรรมมีแต่ถดถอย ตกต่ำดำดิ่ง ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ เรื่องเล็กทำเป็นใหญ่ เรื่องใหญ่ทำเป็นเล่นเหมือนเด็กๆ “ออกหมายจับ” ไปแล้ว แต่เรียกคนออกหมายมาให้ถอน ส่วนบางเรื่องก็ทำเหมือน “เชิงรุก” ลุกขึ้นมาสั่งถอนประกัน ทั้งที่พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนไม่ได้ร้องขอ

หลายคำถาม หลายปัญหาประดังเข้าทำลายความเชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม

 

“นิติรัฐ” หรือรัฐปกครองกันด้วยกติกาหรือ “กฎหมาย” จึงเป็นได้แค่คำพูดสวยๆ

“ผู้บังคับใช้” มองไม่เห็นหัวประชาชน เช่นเดียวกับ ส.ว.บางคน ถึงแม้จะกินเงินเดือนที่ได้มาจากเงินภาษี แต่ก็กล้าที่ให้สัมภาษณ์สื่อนอกเต็มปากเต็มคำว่า “มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะฟังเสียงประชาชน”

“รัฏฐาธิปัตย์” ซึ่งเกิดจากรัฐประหารคือการย้อนยุคไป 400-500 ปีก่อน ในธรรมเนียมเถื่อนจะถือว่า ใครมีปืนมีพวกมากกว่า ถ้ายึดเอาได้ทั้งทรัพย์สินเงินทองและเชลยก็คือ “ผู้เป็นใหญ่”

ประเทศไทยเดินมาไกลกระทั่งมี “ประมวลกฎหมายอาญา”

ในมาตรา 113 ป.อาญา บัญญัติพฤติการณ์และกำหนดโทษของการปล้นอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เอาไว้ว่า โทษถึงขั้นประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

แต่ทุกครั้งกระบวนการยุติธรรมและกลไกรัฐทั้งหมดจำนน จากนั้นก็ปล่อยให้ “คณะบุคคล” ช่วยกันเขียนกติกาขึ้นมาใหม่ โดยมีนักกฎหมายและคนในวงการยุติธรรมยินดีได้รับการแต่งตั้งเป็น “บริวาร” เข้าควบคุมกลไกต่างๆ ที่ใช้อำนาจรัฐ

แล้วก็บอกว่า เป็น “นิติรัฐ”

ทั้งหมดคือของเทียมและเป็นเรื่องหลอก

หลังจาก 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา การใช้อำนาจรัฐทั้งหมดยึดโยงกับคณะรัฐประหาร มีตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่า อภินิหาร แทงข้างหน้า แทงข้างหลัง บิดเบือน เอนเอียง ศรีธนญชัย ฉ้อฉล ทั้งหมดมุ่งตอบสนองต่อ “ผู้มีอำนาจรัฐ” ที่ได้มาจากการปล้นชิง

แต่ในเวทีโลก ระบบเผด็จการทหารคือความป่าเถื่อน

ไทยเป็นประเทศที่มี “นิติรัฐอำพราง”

 

เดือนมีนาคม 2562 จัดเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อ้างว่า “คืนอำนาจ” สู่มือประชาชนแต่มี “เจตนาร้าย” ซ่อนเร้น มุ่งสกัดกั้น “พรรคเพื่อไทย”

แม้ “เพื่อไทย” จะเป็นพรรคการเมืองอันดับ 1 แต่ไม่มี “ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” แม้แต่คนเดียว

การเป็นพรรคอันดับ 1 ของ “เพื่อไทย” ช่างอาภัพนัก เพราะในที่สุด “พรรคอันดับ 2” ร่วมมือกับ “ส.ว. 250 คน” ที่ “อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร” แต่งตั้งเอาไว้ ได้ยกมือโหวตให้ “อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร” กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกครั้ง

พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย รวมทั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” น่าจะเข้าใจดีว่า “ใครไล่ล่าคุณ”

แต่การเลือกตั้งในปี 2562 เกิดปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายขึ้น

“อนาคตใหม่” พรรคการเมืองใหม่ ได้ ส.ส.มากถึง 81 คน เป็นอันดับ 3

และแล้ว “ปีศาจตัวใหม่” ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสอยด้วยมติ 7 ต่อ 2 ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ ห้ามกรรมการบริหารพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี

จากเหตุ “ธนาธร” ให้พรรคกู้เงินไปใช้ก่อน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความ “เงินกู้คือรายได้” ทำให้ “อนาคตใหม่” พบจุดจบในเวลา 11 เดือน

จึงเกิดเป็น “ก้าวไกล”

เลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 กลายเป็นการ “ทวงอำนาจคืนอย่างสันติ”!

 

คราวนี้ ฐานคะแนนเดิมของ “อนาคตใหม่” จาก 6.3 ล้านเสียง เพิ่มเป็น 14 ล้านเสียง

เกินความคาดหมายหลายฝ่ายอีกครั้งเมื่อ “ก้าวไกล” กลายเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ ส.ส. 151 คน ส่วน “เพื่อไทย” ที่จุดประกายให้เกิดแลนด์สไลด์เป็นพรรคอันดับ 2 ได้ ส.ส. 141 คน

ภายใต้สถานการณ์ “นิติรัฐ” ปลอมๆ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังคงให้อำนาจ “ส.ว.” 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ “อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร” 22 พฤษภาคม 2557 ร่วมกับ ส.ส. 500 คน ยกมือโหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี” ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของไทยเป็นไปอย่างล่าช้าที่สุดในโลก

ถ้าไทยเป็น “นิติรัฐ” แท้จริง การจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียงที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน คงเสร็จเรียบร้อยไปนานแล้ว

แต่นี่เกือบ 60 วันแล้ว ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรที่ใครจะใจร้อน บ่นเบื่อการเมือง ตำหนินักการเมืองกับพรรคการเมือง เพราะไม่ใช่ความผิดนักการเมืองและพรรคการเมือง

ทั้งหมดเป็น “กับดัก” ที่เผด็จการทหารสร้างขึ้นเพื่อ “การสืบทอดอำนาจ” ของคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

กระบวนการประชาธิปไตยที่ปรากฏแค่ “ฉากบังหน้า”

กระบวนการยุติธรรมก็อยากจะให้ทำแบบ “กำมะลอ”

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครบเครื่องเรื่องฉ้อฉล ครอบงำ ทำลายระบบยุติธรรมและระบบควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ยับเยินชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน!?!!