สะท้อนจาก ‘ภูมิใจไทย’

เพราะกระแส “เพื่อไทยแลนด์สไลด์” และ “พายุก้าวไกล” ครองความอยากรู้ของคนส่วนใหญ่ว่าแบบไหนจะเกิดขึ้นจริง

และ “ลุงตู่” จะพลิกเกมอย่างไรเพื่อ “สืบทอดอำนาจ” ต่อไปให้ได้ กระตุ้นความอยากติดตามของผู้คน

ทำให้เรื่องราวของพรรคการเมืองอื่น ลดพลังดึงดูดให้ผู้คนหันมาฟัง เหลียวหน้ามาดู

เรื่องหนึ่งที่ว่าไปแล้วน่าสนใจไม่น้อยคือ “ผลการเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย”

ที่ว่าน่าสนใจเพราะหากมองจากมุมความสนใจของคนทั่วไป ดูเหมือนจะลืมไปแล้วว่าเมื่อครั้งก่อนยุบสภา หรือเมื่อยุบสภาใหม่ๆ โดยเฉพาะช่วงหลังจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทิ้ง “พรรคพลังประชารัฐ” แยกตัวมานำ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ทำให้เกิดจากกระจายตัวของ ส.ส.ไปพรรคอื่น

“ภูมิใจไทย” ได้รับการประเมินว่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียง “เพื่อไทย” ด้วยซ้ำ

ที่เป็นเช่นนี้เพราะชัดเจนสุดว่า ใน “สงครามงูเห่า” ที่โฟกัสกันที่ “พลังดูด” ที่ต่อเนื่องยาวนานมาในระหว่างการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่แล้ว

“ภูมิใจไทย” คือพรรคที่ได้ชื่อว่ามีพลานุภาพของ “พลังดูด” สูงสุดจนที่เป็นหวาดกังวลของเพื่อนพรรคการเมืองพรรคอื่นอย่างชัดเจน

 

แต่หลังจากยุบสภา มาถึงวันนี้ในความรู้สึกของคนทั่วไป “ภูมิใจไทย” ไม่อยู่ในความคิดว่าจะเป็นพรรคที่ได้รับเลือกตั้งมาในอันดับ 2 อีกแล้ว

ที่ชัดเจนมากคือ “ผลโพล”

เอาที่เป็นเรื่องเป็นราวและได้รับการยอมรับอย่าง “นิด้าโพล”

ในผลสำรวจ “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 1” ในคำถาม ท่านจะสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” ได้แค่ร้อยละ 1.55 มาเป็นอันดับ 9, ในคำถาม จะเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตจากพรรคการเมืองใด “ภูมิใจไทย” ได้แค่ร้อยละ 2.70 ที่อันดับ 6, คำถาม ท่านจะเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคใด มีแค่ร้อยละ 2.55 เป็นอันดับ 7 ที่ตอบว่าภูมิใจไทย

และในผลสำรวจ “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” ในคำถาม ท่านสนับสนุนให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี “อนุทิน ชาญวีรกูล” ได้ร้อยละ 2.55 อยู่ในอันดับ 8, คำถาม จะเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขตจากพรรคไหน “ภูมิใจไทย” ได้ร้อยละ 3.75 มาอันดับ 5, คำถาม เลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคไหน ร้อยละ 3.00 เลือกภูมิใจไทย

แม้จะเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นเมื่อเทียบครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 แต่ยังห่างไกลจากที่เคยได้รับคาดหมายว่าจะมาอันดับ 2 มากทีเดียว เพราะถูกทิ้งห่างจากอันดับ 1 “เพื่อไทย” ร้อยละ 49.75 กับ 47.20 กับอันดับ 2 “ก้าวไกล” ร้อยละ 17.40 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 21.30 ไปไกลมาก

แต่นั่นดูจะเป็นความรู้สึกของคนทั่วไป

 

หากกลับมาโฟกัสความคิดของนักวิเคราะห์ที่เกาะติดความเป็นไปทางการเมืองในทุกมิติจริง ตัวเลขในมือที่นำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ยังยืนยันที่จะให้ราคากับ “ภูมิใจไทย” สูงมาก

ยิ่งคำตอบจากปากคนของ “ภูมิใจไทย” เอง จะสะท้อนถึงความมั่นใจสูงมาก

ขนาดยังประเมินว่าหลังการเลือกตั้ง “ภูมิใจไทย” จะได้ ส.ส.มากกว่า 100 ที่นั่ง

และมุมมองจาก “นักวิเคราะห์” และ “ความเชื่อมั่น” ของ “คนภูมิใจไทย” เอง ที่ต่างกันชัดเจนกับความคิดของคนทั่วไปนี่เอง ที่ทำให้รู้สึกว่าน่าสนใจเป็นอย่างมาก

เพราะเป็นความมั่นใจดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลาง การหาเสียงที่แตกต่างจากพรรคอื่นโดยสิ้นเชิง “ภูมิใจไทย” ไม่แข่งที่นโยบาย ไม่เน้นการปราศรัย เป็นการหาเสียงอย่างเงียบเชียบ เอาจริงเอาจังกับการดูแลเครือข่าย อันเรียกขานกันว่า “ระบบอุปถัมภ์ บ้านใหญ่”

เพราะผลการเลือกตั้งของ “พรรคภูมิใจไทย” จะเป็นดัชชีชี้วัดแนวโน้มพัฒนาการการเมือง ว่า “ระบบอุปถัมภ์ บ้านใหญ่” มีอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งแค่ไหน