วัดฝีมือรัฐรับมือพายุฤดูร้อน พ้นภัยธรรมชาติ ไม่หลงวนซ้ำ แน่นะวิ?

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมในช่วงวันที่ 26-28 มีนาคม 2566 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆ จะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป

หากย้อมกลับไปเมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่เผชิญกับพายุฤดูร้อนและพายุลูกเห็บถล่มอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชน ธุรกิจ และผลผลิตต่างๆ เป็นอย่างมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปฏิบัติการฝนหลวงภารกิจยับยั้งความรุนแรงของพายุลูกเห็บ ด้วยเครื่องบิน Super King Air ติดเครื่องมือยิงพลุซิลเวอร์ไอโอไดด์สลายกลุ่มเมฆที่ก่อตัวในระดับสูงและหนาแน่น ช่วยทำลายผลึกน้ำแข็งให้เหลือเป็นเพียงเม็ดฝน

ช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่ ที่ อ.สะเมิง อ.เชียงดาว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ อ.งาว อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อ.แม่จัน จ.เชียงราย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย

 

ด้านกรมชลประทานประเมินเบื้องต้นถึงที่มาของลูกเห็บที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ เกิดจากสภาพอากาศบนที่สูงเย็นจัด และมาเจอกับพายุฤดูร้อน หากถามว่ามีผลดีหรือไม่ คงมีเพียงเรื่องของการสร้างความชุ่มชื้น แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมากกว่า และในช่วงที่เกิดพายุกินเวลาไม่นาน ปริมาณน้ำจึงไม่ได้ไหลลงเขื่อนมากเท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะซึมลงดิน

แต่กรมชลประทานยังยืนยันแผนรับมือช่วงฤดูแล้งว่า ในเขตพื้นที่ชลประทาน ราว 27 ล้านไร่ โอกาสที่จะเกิดภัยแล้งน้อยมาก และปริมาณน้ำในเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำยังอยู่ในแผนที่จัดสรรไว้ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2565-30 เมษายน 2566 มั่นใจว่าปริมาณน้ำเพียงพอ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำทั้งประเทศอยู่ที่ 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 60% ของความจุอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

และตั้งแต่ 1 พฤษภาคม กรมจะสำรองน้ำใช้การในเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง ขนาดกลาง 435 แห่ง เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1.6 หมื่นล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ได้ในอีก 3 เดือน หรือเตรียมพร้อมสำหรับช่วงฝนทิ้งช่วง หรือมาช้ากว่าที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม ค่าเฉลี่ยฝนปีนี้จะมากหรือน้อย ต้องติดตามข้อมูลช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้อีกครั้ง แต่มั่นใจว่าปริมาณน้ำจะเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคของประชาชนแน่นอน

สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี

โดยปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 49,923 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% ของความจุอ่างเก็บน้ำรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 25,982 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,398 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของความจุอ่างเก็บน้ำรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 8,702 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี

ขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2565/2566 ทั้งประเทศไปแล้ว 19,530 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 71% ของแผน จากแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 7,058 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 78% ของแผน จากแผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำแม่กลอง จัดสรรน้ำไปแล้ว 2,203 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 41% จากแผน 5,500 ล้าน ลบ.ม.

ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.96 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 96% จากแผน 10.42 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.31 ล้านไร่ คิดเป็น 95% จากแผน 6.64 ล้านไร่ และเฉพาะลุ่มน้ำแม่กลอง เพาะปลูกไปแล้วประมาณ 6.1 แสนไร่ คิดเป็น 73% จากแผน 8.4 แสนไร่

 

ถึงแม้ปีนี้จะเจอแล้ง แต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศแจ้งเตือนให้ระวังพายุฤดูร้อนอาจเกิดขึ้นได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้แจ้งเตือนเกษตรกรให้เตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายจากพายุฤดูร้อนต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น และไม้ผลที่กำลังออกผลผลิต พร้อมทั้งแนะนำวิธีการหลีกเสี่ยงและบรรเทาความเสียหายในการดูแลป้องกันไม้ยืนต้น และไม้ผลในช่วงฤดูแล้งนี้ ดังนี้

1. ปลูกต้นไม้บังลม อาทิ ไม้ไผ่ กระถินณรงค์ ขี้เหล็กบ้าน และสะเดาอินเดีย เพื่อลดความรุนแรงของลม และช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงได้

2. ตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลงเพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง

3. ทำเนินดินเพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคน และทำระบบระบายน้ำ

และ 4. เก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหาย และลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง

 

สําหรับการดูแลพื้นที่เกษตรภายหลังจากเกิดพายุฤดูร้อน เกษตรกรควรดูแล ดังนี้

1. กรณีที่ต้นไม้ได้รับผลกระทบจากพายุ สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยทำการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหัก หรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้ง

2. ขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เกษตรกรไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวน เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย

3. กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวน เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่มให้ลึกถึงระดับดินเดิม เพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น

4. หากต้นไม้เอนลง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่น พร้อมตัดแต่งกิ่งออก 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น

5. เกษตรกรควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล และเมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้น และควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย

 

ส่วนกรณีพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562

และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2564 คือ เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย

โดยจะได้รับความช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท

แม้ภาครัฐจะมีแนวทางในการรับมือ แต่ภาคประชาชนยังอดหวั่นใจไม่ได้ ว่าภัยธรรมชาติที่วนซ้ำมาสร้างความเสียหายทุกปี

ในปี 2566 ไทยจะสามารถข้ามผ่านไปได้ไหม คงต้องติดตามกันต่อไป