รากนครารีเทิร์น กับสิ่งที่หลงเหลือบนทางแพร่ง : ธเนศวร์ เจริญเมือง

ปรากฏการณ์ของ “รากนครา 2”

“รากนครา” เป็นนิยายดังของนักประพันธ์มือรางวัลคือ คุณปิยะพร ศักดิ์เกษม ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสกุลไทย ในปี พ.ศ.2540 และปรากฏเป็นละครทีวีใน 3 ปีต่อมา

ผู้แสดงนำก็อยู่ในระดับแนวหน้าของยุคคือ ดนุพร-พัชราภา และวรนุช

และแล้ว 17 ปีผ่านไป ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ละครเรื่องนี้ก็หวนกลับมาอีกครั้ง

มีงานเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ การโหมโฆษณาเพื่อให้สมกับละครฟอร์มยักษ์ โดยมีดาราแสดงนำระดับแนวหน้าอีกครั้งคือ ปริญ สุภารัตน์, ณฐพร เตมีรักษ์, นิษฐา จิรยั่งยืน และผู้กำกับฯ มือพระกาฬ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง

ทันทีที่ รากนครา หวนคืน ละครโทรทัศน์เรื่องนี้ก็กลายเป็นละครฮิตในทันที

แต่ละตอนมีจำนวนคนดูระดับ 5 ดาว

มีหลายคนเฝ้ารอเร่งให้ค่ำคืนวันจันทร์มาถึงเร็วๆ

และจบจากแต่ละตอน ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างออกรสในแทบทุกวงการ

ก่อนอื่น เราควรจะมอง “รากนครา 2” ในหลายๆ มุม เพราะนี่เป็นนิยายและละครที่

1. เกี่ยวพันกับผู้คน-และรัฐหลายรัฐในอดีต ได้แก่ คนและเมืองในหุบเขาริมชายแดน; เป็นเมืองเล็กๆ 3 เมืองที่เผชิญชะตากรรมยุคล่าอาณานิคม (เชียงใหม่-เชียงพระคำ-เชียงเงิน) แต่มีนโยบายที่ต่างกัน; เกี่ยวพันกับสยาม-เมืองมัณฑ์-อังกฤษ-ฝรั่งเศส

2. ต้องเปรียบเทียบกับรากนครา 1 เพราะสภาพสังคมหลายอย่างเปลี่ยนไปจาก 17 ปีก่อน

และ 3. เกี่ยวพันกับระบบการศึกษา ตลอดจนนโยบายของสยามรัฐต่อเมืองต่างๆ

หนึ่ง นิยายเรื่องนี้สนุก ตื่นเต้น เพราะเป็นการชิงรักหักสวาท ปะปนกับการชิงอำนาจอันซับซ้อน ตัวละครแต่ละตัวซึ่งมีบุคลิกแข็งกร้าว เอาใจตัวเอง ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นหลายครั้ง และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ถือได้ว่าผู้ประพันธ์มีฝีมือมากในการสร้างตัวละครแต่ละตัว

สอง ผู้สร้างเก่งในการสรรหาฉากถ่ายทำอันงดงาม เพื่อให้สมกับความเป็นเชียงใหม่ เชียงพระคำ และเชียงเงิน ตลอดจนเมืองมัณฑ์

แน่นอน ผู้สร้างย่อมอยากเห็นแต่ละฉากงดงามกว่ารากนครา 1

สาม การแต่งกายต้องสวยและเฉียบขาดกว่า

แต่เนื่องจากชุดต่างๆ ที่มีอยู่ในล้านนา หาได้มาหมดแล้ว และนำเสนอต่อร้านเสื้อผ้า งานแสดงและภาพขึ้นปกนิตยสารไปหมดแล้ว 17 ปีที่ผ่านมา

การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขยายออกไปถึงเชียงตุง-เชียงรุ่งและรัฐฉานทั้งหมดมากขึ้น มีพี่น้องชาวไตขึน-ไตลื้อ-ไต (ไทยใหญ่) อพยพเข้ามามากมาย และนี่คือการนำเอาชุดแต่งกายไตขึนมาแทนไท-ยวน (คนเมือง)

เลยพลอยทำให้คนดูเข้าใจว่าเชียงเงินเป็นเชียงตุง

ทั้งๆ ที่เชียงเงินในนิยาย คือเมืองเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ชายแดนเมืองมัณฑ์ ในนิยาย เชียงเงิน-เชียงพระคำเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาตลอดมา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรัฐฉาน

สี่ การพูดจาด้วยคำเมืองที่สร้างความฮือฮา เพราะผู้แสดงพูดได้ดี มีความตั้งใจสูง และมีการใช้คำเก่าๆ ที่มีอายุ 60-80 ปีมาแล้ว สร้างความประทับใจให้หลายคนมาก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมเราดูหนังตะวันตกมานาน ที่นั่นเน้นความเป็นมืออาชีพคือต้องทำให้เหมือนจริง แสดงต้องให้สมบทบาท แสดงเป็นคนล้านนาก็ต้องพูดภาษาล้านนาให้ได้ ผู้กำกับฯ จึงเข้มงวด

ผู้แสดงก็ต้องทำงานหนัก บวกคณะที่ปรึกษาทีมงานคนเมืองที่ติวเข้ม ต้องการแสดงความเป็นคนเมืองในอดีตให้สมจริง จึงนำเอาคำเมืองเก่าๆ มาใช้ในละครนี้ ทั้งหมดนี้สะท้อนความจริง 4 เรื่อง คือ

1. คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศเคยมาเที่ยวเมืองเหนือ ได้ยินคำเมือง รู้สึกชอบฟัง การได้ดูละครที่ใช้กำเมืองจึงทำให้คิดถึงความหลัง เหมือนได้มาเยือนล้านนา “ฉันก็ฟังออก ไม่เห็นจะยากตรงไหน” เผลอๆ ได้ฟังกำเมืองในละครมากกว่ามาเที่ยวเชียงใหม่ 3-4 วัน เพราะได้ยินแต่คนพูดภาษาไทยกลาง

2. คณะทำงานฝ่ายภาษาที่เป็นคนเมืองมีสำนึกรักมาตุภูมิเข้มข้น ต้องการโชว์ความเป็นล้านนาให้เต็มที่ในงานนี้

3. สะท้อนให้เห็นผลพวงของการสั่งสมความรู้สึกรักบ้านเกิด รักภาษาแม่ของตนเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2520 ที่ จรัล มโนเพ็ชร ร้องเพลงกำเมือง “ล่องแม่ปิง” “สาวมอเตอร์ไซค์” และงานอื่นๆ ตลอดช่วง 40 ปีมานี้

และ 4. คนเมืองกระจัดกระจายออกไปทำงานในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ หลายคนอยู่คนเดียว ไม่ได้อู้กำเมืองกับใครมานาน คืนวันจันทร์-อังคารยามนี้จึงเป็นคืนที่พวกเขารอคอย

ผมเคยพบแม่ค้าคนเชียงรายที่ภูเก็ต ตอนนั้น ผมจากล้านนาไปหลายเดือน พอรู้ว่าเป็นคนเมืองเหมือนกันก็ใส่กำเมืองกันแบบรัวๆ เวลาผ่านไปเร็วมาก เธอยิ้มไม่หยุดเลย บอกว่าไม่ได้พูดนานแล้ว มีความสุขมากมาย ช่วงเวลาจากกัน รู้สึกได้เลยถึงห้วงยามของการถวิลหา

ไม่แปลกใจจริงๆ ครับ ถ้าจะมีคนเฝ้ารอชมละครอู้กำเมืองแบบนี้

และห้า นิยายและละครเรื่องนี้เน้นการใช้อารมณ์ การปะทะและต่อสู้ด้วยบุคลิกที่แข็งกร้าวในวงล้อมของสถานการณ์ทางการเมืองที่ตึงเครียด คนดูจึงอินอย่างมากกับเนื้อเรื่องและตัวละคร และความเข้มข้นของเหตุการณ์

ยิ่งผู้แสดงทั้งหล่อ สวย แต่งกายดุจเทพ และแสดงได้ดี เข้าถึงอารมณ์ ความสนุกและสะเทือนใจของละครเรื่องนี้จึงทวีคูณ และเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ

บทวิเคราะห์ “รากนครา 2”

ข้อแรก เคยสังเกตไหมครับว่า การถกเถียงกันเรื่องละครฮิตแบบนี้ มักเน้นที่การแต่งกาย หน้าตาท่าทาง และการแสดงของตัวละครแต่ละคน แต่มีการอภิปรายเรื่องเนื้อหาน้อยมาก

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสังคมไทยไม่มีวิชาบังคับเรียนประวัติศาสตร์ไทยระดับชาติ-ภูมิภาค-จังหวัด (อาจรวมอำเภอ-ตำบลและชาติพันธุ์ด้วย) ในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง

มีเพียงการสอนในภาควิชาประวัติศาสตร์และเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษานอกคณะเพียง 20-30 คน เทียบกับนักศึกษาแต่ละปี 4,000-8,000 คน

ส่วนวิชาประวัติศาสตร์ไทยในระดับมัธยม เนื่องจากนักเรียนเน้นการเรียนเพื่อมุ่งสอบเข้า จึงลืมสิ่งที่เรียนในชั้นมัธยมเกือบหมด

ยิ่งกว่านั้น การเรียนระดับมัธยมให้ความสนใจต่อท้องถิ่นน้อย ที่สอนก็อ่อนการวิเคราะห์วิจารณ์

สังคมเราจึงมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ที่จำกัดในทุกๆ ระดับ

ดังนั้น การสนทนากันเรื่องละครจึงไม่ใส่ใจในบริบทประวัติศาสตร์ในตอนนั้น

การนำเอาประวัติศาสตร์มาสร้างเป็นจินตนาการจึงแทบไม่มีการถกเถียงอภิปราย

เหลือแต่เรื่องฉาก-อารมณ์-การแต่งกาย-ภาษา-หน้าตา-และการแสดง ที่ใครๆ ก็พูดได้

เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์คือ

1.ล้านนาเป็นรัฐเอกราชนาน 262 ปี (พ.ศ.1839-2101) จากนั้นตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึง 216 ปี (พ.ศ.2101-2317) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2317 ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของสยามมาโดยตลอดจนถึง พ.ศ.2442 จึงถูกผนวกดินแดน สูญเสียฐานะประเทศราชและความเป็นเอกราช

2. พม่ารบกับอังกฤษถึง 3 ครั้ง (พ.ศ.2367, 2395, 2428) ครั้งสุดท้าย อังกฤษเข้ายึดครองพม่าได้ทั้งประเทศ

ส่วนสยามยกกองทัพไปตีเชียงตุง 3 ครั้งเช่นกัน คือในปี พ.ศ.2388, 2395, 2397

สังเกตปีที่พม่ากำลังวุ่นกับสงครามกับอังกฤษ สยามก็ใช้โอกาสนั้นขยายอำนาจเข้าไปในเขตเชียงตุง แต่ไม่สำเร็จในการรบทั้ง 3 ครั้ง ส่งผลให้สยามหันไปเน้นหนักการผนวกล้านนาจนถึงเขตแม่สาย-เชียงแสน

3. อังกฤษยกเลิกการปกครองระบบกษัตริย์ของพม่า นำกษัตริย์และราชินีไปขังไว้ที่อินเดีย และให้พม่าอยู่ใต้การปกครองของผู้ว่าการชาวอังกฤษในอินเดียเริ่มในปี พ.ศ.2428

ส่วนสยามเนื่องจากยอมลงนามในสัญญาบาวริ่งกับอังกฤษในปี พ.ศ.2398 และสยามยอมทำสัญญาเนื้อหาเดียวกันกับอีก 14 ชาติตะวันตก ซึ่งทำให้สยามเสียเปรียบอย่างมากทางเศรษฐกิจ-การเมืองและกฎหมาย ทำให้สยามไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก จึงเปิดโอกาสให้ชนชั้นปกครองของสยามดำเนินนโยบายการปกครองภายในได้อย่างเต็มที่

ส่วนสัญญาบาวริ่งได้กำหนดกรอบการพัฒนาประเทศของสยามผิดแผกไปจากประเทศเมืองขึ้นอื่นๆ และส่งผลอย่างน้อย 6 ประการต่อสังคมไทยนับแต่นั้น คือ

1. เศรษฐกิจพึ่งพิงตะวันตก และถูกกำหนดทิศทางโดยตะวันตก

2. เศรษฐกิจนายหน้าเติบโตมาก

3. เศรษฐกิจนายทุนชาติอ่อนแอ สู้กับต่างชาติไม่ได้ ทำให้ชนชั้นนายทุนชาติอ่อนกำลัง ต้องพึ่งพิงรัฐ

4. รัฐและสังคมไทยขาดสำนึกในการต่อสู้เพื่อเอกราช ไม่มีประสบการณ์และขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช

5. สยามรัฐกลายเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจ ทั้งผนวกดินแดนและส่งขุนนางจากส่วนกลางเข้าไปปกครองภูมิภาคต่างๆ

และ 6. ภาคประชาสังคมขาดการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งกับลัทธิล่าอาณานิคมและกับระบบการปกครองภายใน

และเมื่อไม่มีการจัดตั้งใดๆ รัฐรวมศูนย์จึงขยายอำนาจออกไปควบคุมได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

4.อังกฤษเป็นมหาอำนาจทางทะเลจึงมีนโยบายชัดเจนเข้ายึดครองลังกา-อินเดีย-พม่า-มลายู-เกาะปีนัง-สิงคโปร์ และฮ่องกง ส่วนสยามอยู่ลึกเข้าไปในอ่าวไทย อังกฤษพอใจแล้วที่สยามยอมลงนามในสัญญาบาวริ่ง เปิดทางให้อังกฤษได้ประโยชน์มากจากการค้า (อัตราภาษีสินค้าเข้าต่ำมาก-ไม่เกิน 3%) กำหนดให้สยามส่งข้าว-ดีบุก-ยางพารา-ไม้สักส่งออก

ปล่อยให้ฝรั่งเศสยึดครองอินโดจีน ส่วนอังกฤษควบคุมฝั่งมหาสมุทรอินเดียและอันดามัน

ปล่อยให้สยามดำเนินนโยบายอาณานิคมภายใน (Internal colonialism) จะพบว่าอังกฤษช่วยสยามในการปราบกบฏแพร่ พ.ศ.2445 อย่างเต็มที่ อังกฤษต้องการยึดครองพม่าเพื่อเป็นฐานขยายอิทธิพลเข้าสู่จีน

ดังนั้น การมีราชินีใจยักษ์หรือกษัตริย์อ่อนแอจึงไม่ใช่ประเด็น ในช่วงเวลานั้น หากอังกฤษต้องการยึดครองสยาม ก็คงไม่มีอะไรหยุดยั้งอังกฤษได้

ที่ผ่านมา เราวาดภาพน่ากลัวของลัทธิล่าอาณานิคม พอเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้น เราจึงคุยมากว่าเราเก่ง ไม่เหมือนชาติไหน ทั้งๆ ที่เราตกเป็นรัฐกึ่งเมืองขึ้น ซึ่งมีสถานการณ์ซับซ้อนและร้ายแรงกว่า

5. อังกฤษกำหนดให้พม่าขึ้นต่ออินเดีย แต่เนื่องจากพม่ามีหลายชาติพันธุ์ อังกฤษได้ใช้วิธีให้แต่ละชาติพันธุ์ปกครองตนเองภายใต้การดูแลของอังกฤษ เป็นรัฐในอารักขา (Protectorate State)

ส่งผลให้มอญ กะเหรี่ยง ไต (ฉาน) ฉิ่น คะฉิ่น ฯลฯ ได้ปกครองตนเองตั้งแต่ พ.ศ.2428 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุดังกล่าว เมื่อรัฐบาลนายพลเนวินสถาปนาระบอบเผด็จการและพยายามลดอำนาจของแต่ละชาติพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ชนชาติต่างๆ ในพม่าจึงได้ต่อสู้และต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าอย่างดุเดือด

นี่คือความแตกต่างของเส้นทางการเดินทางของล้านนาตั้งแต่ปี พ.ศ.2442 และของไตรัฐฉาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2428 ที่แทบไม่ปรากฏว่ามีนิยายหรือละครใดๆ กล่าวถึง

นักวิชาการด้านเครื่องแต่งกายเคยสังเกตไหม เหตุใดชุดเจ้านายของล้านนาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์จึงคล้ายคลึงกับของสยามมากๆ และทำไมในปี พ.ศ.2560 ชุดแต่งกายของคนในเชียงเงินจึงต้องเอามาจากเชียงตุง เส้นทางการเมืองของล้านนานับแต่ พ.ศ.2317, 2417 และ 2442 คือคำตอบที่ชัดเจนยิ่ง

ข้อสอง ในแง่นี้ เจ้าศุขวงศ์ในฐานะตัวแทนจากสยามรัฐ ก็คือรูปธรรมของนโยบายยอมตามลัทธิล่าอาณานิคมด้วยการยอมทำสัญญาบาวริ่งกับทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส และชาติอื่นๆ ซึ่งทำให้ทุกฝ่ายพอใจ ไม่มีฝ่ายใดคิดจะเข้ามายึดสยามเป็นเมืองขึ้น

และเราจะเห็นว่าเจ้าศุขวงศ์และผู้แทนจากสยามเน้นคำว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว จะมาแข็งขืนไม่ได้

ส่วนเจ้าหลวงแสนอินทะ เจ้าหน่อเมือง เจ้าแม้นเมือง – 3 ผู้นำแห่งเชียงเงิน ผู้ที่ไม่ยอม “ก้มหัวให้กับความเปลี่ยนแปลง” จึงเป็นตัวแทนของอีกฝ่ายหนึ่ง

และจบลงโดยผู้ประพันธ์กำหนดให้เจ้าแม้นเมืองก่อนตาย กล่าวว่า

“ข้าเจ้าขอยอมพ่ายแพ้ให้แก่ชะตากรรมและความเปลี่ยนแปลง”

ข้อสาม ผู้ประพันธ์เรื่องนี้ระบุว่านี่คือนิยายที่แต่งขึ้นเพื่อบอกว่าเจ้าแม้นเมือง-นางเอกขอทำหน้าที่เป็นรากให้แก่บ้านเมือง เป็นรากของนครา

อ่านผิวเผิน นี่เป็นงานยกย่องสตรีให้ลุกขึ้นสู้ตามโลกสมัยใหม่และเพื่อให้นิยาย สนุก ตื่นเต้นชวนติดตาม ผู้ประพันธ์จึงได้สร้างตัวละครผู้ร้ายที่เป็นคนเอาใจตัวเองอย่างรุนแรง นั่นคือ เจ้าหน่อเมือง เจ้ามิ่งหล้า และพระนางปัทมสุดา แห่งเมืองมัณฑ์

การปฏิเสธสยามอย่างสิ้นเชิง ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงใดๆ และความอาฆาตต่อเจ้าศุขวงศ์, การบังคับให้เจ้าแม้นเมืองกลับคืนเมืองเชียงเงิน, การบังคับให้เจ้าแม้นเมืองใส่ยาพิษให้เจ้าศุขวงศ์ดื่ม, การที่เจ้ามิ่งหล้าบอกว่าเจ้าศุขวงศ์รักเธอ, การที่เจ้าแม้นเมืองคิดว่าเจ้าศุขวงศ์ไม่รักตน แต่รักเจ้ามิ่งหล้า, การต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างเจ้ามิ่งหล้ากับพระนางปัทมสุดา ซึ่งนำไปสู่การพ่ายแพ้ของเจ้ามิ่งหล้า ต้องล้มเจ็บอย่างหนัก และความรู้สึกผิดของเจ้าแม้นเมือง คิดว่าตนเป็นเหตุให้เจ้ามิ่งหล้าต้องไปเผชิญเคราะห์กรรมที่เมืองมัณฑ์ แทนที่จะได้ครองรักกับเจ้าศุขวงศ์ และสุดท้ายการที่เจ้าหน่อเมืองจะบุกมาฆ่าเจ้าศุขวงศ์

ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่ถาโถมเข้าใส่เจ้าแม้นเมืองเป็นชั้นๆ ให้เธอคิดว่าเธอหมดทางเลือก เธอคิดว่าความตายของเธอเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง

แต่ถ้ากล่าวแบบสั้นที่สุด ก็คือ เจ้าแม้นเมืองตัดสินใจตายเพราะคิดว่าสามีไม่ได้รักเธอ ทั้งๆ ที่เธอนั้นรักเขามาก แล้วเธอจะอยู่ไปทำไม

พูดให้งาม ก็คือเพื่อให้เจ้ามิ่งหล้า-น้องรักได้สมรักกับเจ้าศุขวงศ์ บอกฝ่ายอังกฤษว่าเชียงเงินไม่ได้ส่งใครไปถวายตัวที่เมืองมัณฑ์ อังกฤษก็จะไม่มีเหตุผลที่จะเข้ายึดเมืองเชียงเงิน ส่วนลูกชายของเธอก็มีพ่อและแม่เลี้ยงคอยดูแลแล้ว

นี่คือทางเลือกของแม้นเมือง ที่แสนดีคิดเสียสละตนเอง เพื่อทดแทนคุณแผ่นดิน

ข้อสี่ แต่เมื่อพิเคราะห์เนื้อแท้ของนิยายเรื่องนี้ รากนครา มิได้มุ่งเชิดชูการเสียสละของเจ้าแม้นเมือง

รากนครา ในภาพรวมมีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ

1. แนวทางของสยามในการโอนอ่อนผ่อนปรนต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ของเมืองเชียงใหม่และเชียงพระคำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

2. แนวทางแข็งขืนต่อความเปลี่ยนแปลงของเมืองเชียงเงินเป็นสิ่งที่ผิด

3. กษัตริย์เมืองมัณฑ์อ่อนแอ ถูกครอบงำโดยพระราชินีซึ่งมัวเมาอำนาจและหลงผิดคิดว่ากองกำลังของตนเองเข้มแข็ง ไม่มีใครสู้ได้ จึงไม่สนใจรับข้อเสนอใดๆ ของอังกฤษ

ทำให้เมืองมัณฑ์ต้องสูญเสียเอกราชในที่สุด

จุดอ่อนของนิยายเรื่องนี้ที่สำคัญ มี 4 ข้อ คือ

1. ฝ่ายถูกต้องย้ำแต่ว่าโลกเปลี่ยนแปลง เราต้องปรับตัวและอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้น โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน อะไรเล่าคือความเปลี่ยนแปลงนั้น รากนครา ยกย่องการปรับตัว แต่ไม่เคยพูดว่าปรับตัวมีกี่แบบ

2. รากนครา เสนอเพียง 2 ภาพให้คนดูเลือก คือ การปรับตัวตามเจ้าศุขวงศ์ซึ่งเป็นหนุ่มหล่อ ฉลาด สุขุม นิสัยดี รักเดียว เป็นนักเรียนนอก กับท่าทีไม่ยอมรับโลกใหม่ของคนแข็งกร้าว เย่อหยิ่ง โป้ปด เห็นแก่ตัว และจิตใจโหดร้าย เช่น เจ้าหน่อเมือง เจ้ามิ่งหล้า เป็นการเสนอให้เลือกภาพขาวกับดำ ไม่มีทางเลือกอื่นให้

รากนครา จึงควรได้รางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมที่สนองนโยบายรัฐยินยอม รัฐกึ่งเมืองขึ้น ที่ไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของตะวันตก แต่ 1 ศตวรรษผ่านไป รัฐไทยก็ยังคงเป็นรัฐกำลังพัฒนาที่หวังพึ่งเศรษฐกิจของชาติอื่นๆ และล่าสุด ก็อาศัยเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก

3. เพราะความไม่ชัดเจนดังกล่าว รากนครา จึงทำให้เจ้าหน่อเมืองเสียสติหลังฆ่าน้องสาว เชียงเงินตกเป็นของสยาม สุดท้าย ความตายของแม้นเมืองก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร เพราะดูเหมือนไม่มีใครในเรื่องสรุปบทเรียนอะไร

และข้อ 4. เมื่ออังกฤษเข้ายึดครองเมืองมัณฑ์ในปี 2428 และ 20 ปีผ่านไป เจ้าภูแก้วไปเรียนต่างประเทศกลับมาเยี่ยมบ้าน ข้อเท็จจริงก็คือไม่เคยมีเจ้านายรัฐเมืองขึ้นคนไหนมีโอกาสไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าศุขวงศ์หรือเจ้าภูแก้ว ในชีวิตจริง เจ้าอุปราชเมืองเชียงใหม่ (เจ้าแก้วนวรัฐ) จึงต้องแอบส่งลูกชายคือเจ้าศุขเกษมไปเรียนที่เมืองเมาะละแหม่ง จนได้พบกับหมะเมียะ (พ.ศ.2442-2446)

พ.ศ.2448 สยามรัฐผนวกดินแดนของล้านนาผ่านไปแล้ว 6 ปี และ 3 ปีหลังกบฏแพร่ ถ้าเจ้าศุขวงศ์แห่งเชียงพระคำ ไม่ลืมสิ่งที่เขาพูดไว้กับเจ้าแม้นเมือง คือ “เราต้องปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อสอดรับกับโลกภายนอก” เจ้าศุขวงศ์จะตอบอย่างไรที่ล้านนากำลังถูกสั่งให้ล้านนาต้องยุติการเรียนเขียนอ่านภาษาของตนเอง ห้ามพูดภาษาล้านนาในห้องเรียน และห้องประชุม พระสงฆ์และวัดในล้านนาต้องทำลายเอกสารภาษาล้านนาทั้งหมด หรือแอบไปซ่อน ทั้งต้องขึ้นต่อกฎระเบียบทุกอย่างของมหาเถรสมาคมสยาม หลังจากที่สถาบันสงฆ์ล้านนาเคยมีอิสระในการปกครองตนเองมาตลอด

รากนครา ทำให้โศกนาฏกรรมระดับบุคคลอยู่เหนือความจริงในประวัติศาสตร์

และในสังคมที่ความรู้และความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มีจำกัด ความเศร้าสะเทือนใจในชะตากรรมของตัวละครเพื่อจุดมุ่งหมายที่ผิดๆ ของแม้นเมือง; ความดื้อรั้นหลงตัวของหน่อเมือง; และความทะเยอทะยานของมิ่งหล้าถูกหลอมรวมกลายเป็นว่า เมืองเล็กๆ จะต้องไม่มีที่ยืนในประวัติศาสตร์?

ทำไมต้องให้เมืองเล็กๆ ที่อยากจะมีพื้นที่ของตนเองต้องมีผู้นำที่โง่เขลา แข็งกร้าวและหน้ามืดขนาดนั้น มีผู้นำที่พอจะเฉลียวฉลาดบ้างไม่ได้หรือ

ข้อห้า ด้วยความไม่เข้าใจดังกล่าว จึงมีคนเข้าใจว่าปรากฏการณ์ของรากนครา 2 เป็น Neo-Lanna ที่มีชุดแต่งกายสวยงาม สร้างสรรค์ เปล่าเลย ก็เพราะล้านนากับรัฐฉานมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกันและหยิบยืมกัน ชุดแต่งกายและภาษาจึงไม่ต่างกันมาก

แต่รัฐฉานได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระของตนเองตลอดมา และจนถึงขณะนี้ก็ยังคงต่อสู้เพื่อให้เกิดสหพันธสาธารณรัฐเมียนมา

ส่วน Neo-Lanna นั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่มี

มีแต่ล้านนาพาณิชย์ (Commercialized Lanna)

และข้อสุดท้าย ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวเรื่องท้องถิ่นในปัจจุบัน รากนครา 2 กำลังบอกสังคมนี้ว่า ไม่ว่ารัฐรวมศูนย์อำนาจจะพยายามปฏิเสธความจริงเกี่ยวกับท้องถิ่นอย่างไร แต่สุดท้าย ก็ปฏิเสธไม่ได้ ความเป็นล้านนา (ความเป็นอีสาน-ความเป็นใต้) มีรากที่ลึกยิ่งกว่าการขุดเอาเสื้อผ้าสวยงามออกมาขาย

และการที่สังคมท้องถิ่นจะอยู่ได้อย่างเข้มแข็งนั้น ไม่ใช่มีแต่เสื้อผ้าและภาษาพูด สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในท้องถิ่นอาจเปิดวิชาอุตสาหกรรมละครและภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่ให้ความบันเทิงและให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์แก่สังคมได้ สามารถสร้างรายได้มากมายให้แก่สังคม ไทยและส่งไปฉายในภูมิภาคนี้

แต่ก่อนอื่น วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะต้องเป็นวิชาที่บัณฑิตทุกคนต้องเรียน เพื่อพัฒนาและยกระดับความรู้ด้านประวัติศาสตร์ให้คนไทยทั้งหมด

ไม่ใช่ดูละครทีวีที่ผลิตโดยกลุ่มคนที่ศึกษาประวัติศาสตร์และวิจิตรศิลป์เพียงไม่กี่สิบคน

หากสังคมไทยเห็นความสำคัญของท้องถิ่น และสามารถพัฒนาระบบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่เข้มแข็งกว่านี้ได้ทั่วประเทศ เราก็ไม่ต้องนำละครเก่ามาทำใหม่

แต่สังคมนี้จะผลิตละครใหม่ๆ ออกมาจากนิยายที่เขียนขึ้นใหม่นับร้อยๆ เรื่อง

หรือนำเอาวิทยานิพนธ์มากมายมาดัดแปลงเป็นงานที่เรียกว่า “สาระบันเทิง” (Edutainment) เพื่อให้เกิดทางเลือกใหม่

คือการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีบูรณาการ การพัฒนาท้องถิ่นที่มีภูมิปัญญาและเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบการศึกษาและการปรับปรุงการปกครองท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพ

ไม่ใช่เน้นแต่การขายท้องถิ่นเป็นสินค้าที่สวยแต่รูป