ย้อนปมขัดแย้งลิทัวเนีย-รัสเซีย หวั่นจุดชนวนสงครามโลก!/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

ย้อนปมขัดแย้งลิทัวเนีย-รัสเซีย

หวั่นจุดชนวนสงครามโลก!

ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง “ลิทัวเนีย” และ “รัสเซีย” ขึ้นเมื่อรัฐบาลลิทัวเนียสั่งยับยั้งการขนส่งสินค้าของประเทศรัสเซียที่จะมุ่งหน้าไปยัง “แคว้นคาลินินกราด” ของรัสเซียผ่านดินแดนของลิทัวเนีย โดยอ้างมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป (อียู) กลุ่มความร่วมมือที่ลิทัวเนียเป็นชาติสมาชิกอยู่

และนั่นก็สร้างความไม่พอใจให้กับรัสเซียอย่างมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวดูจะเป็นเพียงมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจที่รัสเซียเจอมาตลอดหลังจากนำกำลังรุกรานยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แต่ในครั้งนี้กลับเกิดเสียงสะท้อนออกมาว่าอาจเป็นชนวนที่ทำให้เกิด “สงครามโลกครั้งที่ 3” ขึ้นได้

ก่อนจะไปกล่าวถึงปมปัญหาต้องอธิบายถึง “แคว้นคาลินินกราด” ของรัสเซียก่อน

 

แคว้นนี้เป็นแคว้นของรัสเซียที่แยกขาดจากรัสเซียแผ่นดินใหญ่ มีทะเลบอลติกที่อยู่ทางตะวันตก ติดกับประเทศโปแลนด์ทางตอนใต้ และประเทศลิทัวเนียทางตะวันออกและตอนเหนือคาลินินกราดมีประชากรเกือบๆ 1 ล้านคน มีพื้นที่ราว 15,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอๆ กับพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีของประเทศไทย อยู่ห่างจากชายแดนรัสเซียไปทางตะวันตกราว 400 กิโลเมตร

ดินแดนแห่งนี้เดิมเป็นของเยอรมนี แต่ต้องถูกบังคับยกให้กับสหภาพโซเวียตหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตาม “สนธิสัญญาพอตสดัม” ในปี 1945

หลังจากนั้นดินแดนแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่เป็นทั้งฐานทัพเรือและฐานยิงขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ที่รัสเซียใช้เป็นเครื่องมือความมั่นคงคานอำนาจกับยุโรปมาโดยตลอด

ความขัดแย้งระหว่างลิทัวเนียและรัสเซียรอบล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เมื่อ “ลิทัวเนีย” ประกาศตรวจยึดสินค้าอย่างเหล็กและโลหะประเภทต่างๆ ที่ส่งผ่านเส้นทางรถไฟจากรัสเซีย ผ่านเบลารุส เข้าสู่ลิทัวเนีย เพื่อมุ่งหน้าไปยัง “แคว้นคาลินินกราด”

โดยลิทัวเนียอ้างว่ามาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรรอบที่ 4 ของอียู

นอกจากนี้ ลิทัวเนียยังเตรียมแบนสินค้าซีเมนต์ แอลกอฮอล์ และสินค้าฟุ่มเฟือยอีก ในวันที่ 10 กรกฎาคม และจะแบนถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลแข็งอื่นๆ ในเดือนสิงหาคมต่อไป

รัสเซียแสดงความไม่พอใจและประท้วงในทันทีหลังจากสินค้าสัดส่วนถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าที่ส่งไปยังคาลินินกราดทั้งหมดถูกระงับการส่ง

โดยระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างรัสเซียกับอียูที่ลงนามกันไว้ก่อนหน้านี้

 

การเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียและลิทัวเนียนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ย้อนกลับไปตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ลิทัวเนียและเพื่อนบ้านอย่างเอสโตเนีย และลัตเวีย ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

ทั้ง 3 ประเทศได้รับเอกราชหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตและอียู ทันทีเพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคง และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกทั้งสองกลุ่มพร้อมกันทั้ง 3 ประเทศในปี 2004

นอกจากนี้ ภูมิศาสตร์ในพื้นที่โดยเฉพาะ “ระเบียงซูวัลกิ” หรือช่องแคบซูวัลกิเส้นทางบกที่สั้นที่สุดที่ใช้ในการขนส่งสินค้าและผู้คนจากรัสเซียผ่าน “เบลารุส” เข้าสู่ช่องแคบซูวัลกิ ที่ทอดไปตามแนวชายแดนเบลารุส-โปแลนด์ ไปยังคาลินินกราด ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ชาติตะวันตกเป็นห่วงมาโดยตลอด

เพราะหากรัสเซียใช้กำลังทหารยึด “ช่องแคบซูวัลกิ” ไว้ได้ จะทำให้ 3 ชาติทะเลบอลติกอย่างลิทัวเนีย ลัตเวีย และเอสโตเนีย ถูกตัดขาดจากยุโรป และถูกรัสเซียปิดล้อมทั้งทางบกและทางทะเลโดยสมบูรณ์

 

หลังจากลิทัวเนียประกาศแบนการส่งสินค้าบางรายการเข้าและออกจากคาลินินกราด นิโคไล ปาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และที่ปรึกษาใกล้ชิด นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุทันทีว่าเป็นลิทัวเนีย “กระทำอันเป็นปฏิปักษ์” และเตือนด้วยว่ารัสเซียจะตอบโต้ด้วยมาตรการบางอย่างที่จะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างรุนแรงกับประชาชนชาวลิทัวเนีย

ล่าสุดสถานนีโทรทัศน์รัสเซียก็ดูเหมือนจะส่งสัญญาณบางอย่าง โดยนักวิเคราะห์คนดังอย่างวลาดิมีร์ โซโลฟยอฟ กล่าวหาชาติตะวันตกว่าดำเนินนโยบายที่ “เสี่ยงต่อสงคราม” และกำลังนับถอยหลังไปสู่ “สงครามโลกครั้งที่ 3” อยู่ในเวลานี้

ด้านรัฐมนตรีกลาโหมลิทัวเนียออกมาตอบโต้โดยเตือนถึงอันตรายของการยั่วยุจากรัสเซียแบบเจ็บแสบว่า “เมื่อคุณมีกำลังทหารและปกครองโดยคนบ้า แน่นอนว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้”

ส่วน เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ยืนยันว่าสหรัฐจะยืนเคียงข้างลิทัวเนียและจะทำตามพันธกรณีที่มีต่อนาโตเพื่อปกป้องลิทัวเนียอย่างเต็มที่เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม กายา กัลลัส นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งเอสโตเนีย ยังคงเชื่อว่าลิทัวเนียจะยังคงปลอดภัย เนื่องจากรัสเซียนั้นเพียงแค่พยายามกดดันอียูเพื่อให้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ขณะที่ลิทัวเนียเอง แม้จะเพิ่งผ่านกฎหมายห้ามนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่การส่งก๊าซจากรัสเซียผ่านลิทัวเนีย ไปยังแคว้นคาลินินกราดนั้นยังสามารถทำได้เช่นเดิม

ความคืบหน้าของความขัดแย้งล่าสุดมีรายงานว่าแฮ็กเกอร์จากประเทศรัสเซียก็เริ่มปฏิบัติการ “โจมตีไซเบอร์” เข้าใส่ลิทัวเนียอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีการโจมตีด้วยอาวุธสังหารจากฝั่งของรัสเซียแต่อย่างใด

เหตุผลก็เพราะหากรัสเซียโจมตี “ลิทัวเนีย” แบบเดียวกับที่ทำกับ “ยูเครน” แล้ว ชาติสมาชิกนาโตอีก 29 ชาติจะเข้าสู่สถานสงครามกับรัสเซียโดยอัตโนมัติตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโตในทันที

และนั่นก็หมายถึงการเปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นอย่างเป็นทางการ