“ช่วยให้เกียรติคำพูดตัวเองหน่อย” : คำขอร้องของ ‘ยิปโซ’ ผู้ถูกถ้อยคำทำร้าย

“ความเจ็บปวดหรือความอะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ในชีวิตเรา มันเกิดจากความพยายามหนีคำคำหนึ่ง”

“ยิปไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาลองถามเล่นๆ ว่าในชีวิตนี้เราอยากทำอะไรก่อนไป” ยิปโซ อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีทำ Words Hurt Campaign ในบ้านเรา เพื่อรณรงค์หยุดการทารุณกรรมทางคำพูด โดยมี 18 คนดังเข้าร่วม เล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำโปรเจ็กต์ดังกล่าว

แล้วว่า “ยิปเลยตัดสินใจหยิบเรื่องนี้”

“เพราะเหมือนมีประสบการณ์ส่วนตัว”

ประสบการณ์ที่ถูกคำพูดทำร้ายมาตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน ตอนอายุได้ราว 17 ปี และตอนนี้สาววัย 28 ปีก็ยังเจ็บ

“คือพอเรามานั่งสำรวจตัวเองจริงๆ มันสาวความไปได้ถึงขั้นว่า ไอ้ความเจ็บปวดหรือความอะไรหลายๆ อย่างที่อยู่ในชีวิตเรา ณ ตอนนี้ มันเกิดจากความพยายามหนีคำคำหนึ่ง”

กลายเป็นว่า “วิธีการใช้ชีวิตของเรา มันมาจากปากคนอื่นด้วยซ้ำ”

อีกทั้งเธอยังเชื่อด้วยว่าไม่ใช่แค่เธอ แต่ทุกคนก็น่าจะมี “คำของคนอื่นที่ทำให้ตัวเองเจ็บ” เหมือนกัน

ในส่วนผู้ที่เข้าร่วมรณรงค์กับเธอนั้น โทนี่ รากแก่น บอกว่าสำหรับเขาคือคำว่า “โง่”, อ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์ คือคำว่า “กูไม่ชอบมึง”, เต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ คือ “แอ๊บแบ๊ว”, สายป่าน อภิญญา สกุลเจริญสุข “ก้าวร้าว”, วุ้นเส้น วิริฒิพา ภักดีประสงค์ “ชอบโชว์” ฯลฯ

ส่วนสำหรับตัวเธอ “ที่ยิปโดนคืออ้วน ตัวปัญหา แล้วก็คำว่าใส่อะไรก็ไม่ได้ น่ารำคาญ”

“ซึ่งก็เหมือนกับหลายๆ คนที่เจอ ว่าหลายๆ คำไม่ได้เป็นคำที่หยาบ คำที่รุนแรง แต่ถ้ามันมาถูกที่ ถูกเวลา ถูกคน มันก็รู้สึกทั้งนั้น แล้วหลายๆ คำไม่ใช่ว่ารู้สึกตอนนั้นแล้วมันผ่านไป แต่มันอยู่ยาว จนเข้ามากำกับชีวิตเรา”

“จนวันหนึ่งที่เสียงจากคนอื่น ดันมากลายเป็นเสียงในหัวของเราเอง”

เสียงที่ส่งผลให้ “กลายเป็นคนที่กลัวค่ะ”

“กลัวจนทำอะไรที่ไม่อยากจะโดนกล่าวว่าอ้วน ไม่อยากจะใส่เสื้อผ้าใครไม่ได้อีกแล้ว” ยิปโซพูดแล้วหัวเราะเบาๆ แต่กระนั้นคนที่ได้ยินก็จับได้ว่านั่นไม่ใช่เสียงหัวเราะ เพราะความสุข สนุกสนาน

“ทุกครั้งที่มากอง ยิปจะเครียดและกลัวเสมอ รู้สึกว่าขนาดร่างกายเราแบบนี้ ผิดเหรอ เราไม่ได้ทำอะไรด้วยซ้ำ แต่มันเป็นปัญหา เป็นภาระสำหรับคนอื่น ยิปกลายเป็นคนที่หมกมุ่นมากๆ กับการไม่อยากเป็นภาระ ไม่ว่าจะทางไหน ถ้าเกิดไปสายนิดเดียวจะเครียดมากๆ เครียดเว่อร์ หรือถ้าเวลาเล่นละครแล้วร้องไห้ไม่ได้ ก็จะเครียด แล้วพอคัตปุ๊บ ยิปก็ร้องไห้นะ จะเป็นอะไรประมาณนี้”

ใครที่เข้าไปดูคลิป Words Hurt Campaign th (https://www.youtube.com/watch?time_continue=14&v=Vlo6_Q91Aak) ที่เธอลงไว้ในยูทูปก็คงเห็นว่า คนอื่นๆ ที่เจอคำร้ายๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

การทำแคมเปญนี้ ยิปโซซึ่งรับหลายหน้าที่ ทั้งเป็นต้นไอเดีย เป็นทีมงานในทุกแผนก เป็นนายทุน รวมถึงเป็นคนตัดต่อบอกว่า สิ่งเดียวที่เธอคาดหวัง คือ “อยากให้คนเห็นคุณค่าของคำพูดตัวเองมากขึ้น ให้คนให้เกียรติคำพูดของตัวเองมากขึ้น”

“คลิปที่ยิปและอีกหลายๆ คนที่ช่วยยิปทำจนสำเร็จนี้ ไม่ได้ทำขึ้นมาเพื่อบอกว่า ทุกคนต้องพูดจาอย่างนั้นอย่างนี้ ดีประมาณนั้นนะคะ แต่แค่ขอให้เห็นน่ะ ว่าสิ่งที่คุณทำ สิ่งที่คุณพูด ทุกอย่าง ไม่ว่าคุณตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม มันมีเอฟเฟ็กต์ต่อคนอื่นมากกว่าที่คุณคิดจริงๆ”

“และในเมื่อคุณรู้แล้วว่าคำพูดของคุณมันเอ็ฟเฟ็กต์คนได้จริงๆ ยิปว่ามันจะออโมเมติก ว่าคุณจะใช้มันอย่างประหยัดและระมัดระวัง”

“อย่างที่เขาพูดกันแหละค่ะ ว่าคำพูดที่พูดออกไปแล้ว มันเอากลับมาไม่ได้”

“กับคำคำนั้น ทุกวันนี้มันก็ยังอยู่กับยิป แต่ยิปก็ต้องเรียนรู้ในฐานะของคนที่รับมันมาแล้ว ว่าจะอยู่กับมันแบบไหน”

พูดมาถึงตรงนี้ ยิปโซก็ขอเสริมอีกนิดว่า “มีอีกประเด็นของการทำแคมเปญนี้ คือสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่ในสังคมปกติ คนชอบผลักภาระทั้งหมดให้คนฟัง ว่าแบบ อ้าว! ถ้าเกิดคำพูดนั้นเราไม่เก็บมาคิด ก็ไม่มีใครทำอะไรเราได้ อย่าไปคิดเล็กคิดน้อยกับคำพูดคนอื่นซิ รู้ๆ อยู่นี่ว่าไม่ควรคิด แต่ขอโทษเถอะ ต่อให้ไม่ควรคิด แต่มันรู้สึกน่ะ”

“ความคิดกับความรู้สึกว่าอะไรถูกต้อง ไม่ถูกต้อง มันต่างกัน เราจึงมีทั้งสมอง ทั้งหัวใจไง มีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้”

“เพราะฉะนั้น คนพูดก็ต้องระวังคำพูด คนฟังก็ต้องระวังใจของตัวเองเหมือนกัน”