เปิดอก “ดร.โอม” วิชญะ เครืองาม เพราะกรรมพันธุ์นักกฎหมาย ไม่ใช่บารมี “พ่อ”

ดร.วิชญะ เครืองาม หรือ “โอม” ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ ศ.เกียรติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาล คสช. หนุ่มมาดสุขุม ถอดแบบมาจากผู้เป็นพ่อคนนี้ จบ ดร. ด้านกฎหมายจาก University of California, Berkeley มหาวิทยาลัยเดียวกับพ่อของเขา ด้วยวัยเพียง 25 ปี

เมื่อจบการศึกษาใหม่ๆ ได้เข้าทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายที่บริษัท ไวท์ แอนด์ เคส (ประเทศไทย) จำกัด

จากนั้นเป็นอาจารย์สอนหนังสือ ก่อนจะย้ายมาทำงานที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญงานรัฐกิจสัมพันธ์

นอกจากนี้ ยังมีชื่อในบริษัทชั้นนำและหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย

ก่อนหน้านี้ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม ใน สปท. จนล่าสุด ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้เป็นอา ได้ชักชวนเข้าร่วมคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ใน ป.ย.ป.

ด้วยความที่ ดร.โอม เป็นลูกชายมือกฎหมายใหญ่ของรัฐบาล จึงหลีกเลี่ยงข้อครหาไม่ได้ ว่าการเข้ามาช่วยงานรัฐบาลของเขานั้น เป็นเพราะสายสัมพันธ์ของครอบครัว

: เล่าให้ฟังหน่อยว่าโตมาในครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูแบบไหน

ที่บ้านเป็นข้าราชการ ไม่ใช่นักการเมือง สมัยผมยังเด็ก คุณพ่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย คุณแม่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ อาเป็นหมอ อีกคนเป็นอาจารย์ น้าเป็นผู้พิพากษา ตอนนี้เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ชีวิตก็เหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งที่บ้านพยายามสอนให้รู้จักชีวิต ให้รู้จักมีสัมมาคารวะและเคารพคนอื่น

ที่บ้านชอบพาผมไปทุกงาน และคุณพ่อก็เป็นที่รักของคนอื่นหลายๆ กลุ่ม ทำให้ผมได้เห็นสังคมหลายรูปแบบ

ครอบครัวผมไม่ได้จำกัดกรอบทางความคิด แต่สนับสนุนส่งเสริมให้คิด ไม่งั้นผมคงเป็นข้าราชการไปแล้ว การที่ปัจจุบันทำงานทางด้านนี้ แปลว่า ได้รับอิสระอย่างเต็มที่ ผมอยากทำอะไร ก็สนับสนุนส่งเสริม

: คุณพ่อเป็นต้นแบบ ทำให้อยากเรียนกฎหมายใช่ไหม

การที่คนในบ้านครึ่งหนึ่งเป็นนักกฎหมาย ทำให้เราซึมซับโดยปริยาย และคุณพ่อก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าใกล้ชิดกันที่สุด ผมอยากเรียนกฎหมายจริงๆ ก็ตอนกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งมานั่งนึกว่าเราถนัดทางไหน พบว่ากฎหมายน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง และสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ ซึ่งคุณพ่อก็สนับสนุนเต็มที่

: คิดว่าได้อะไรจากการเรียนทางด้านนี้

กฎหมายสอนให้เราคิดและดำเนินชีวิตอย่างเป็นระบบ คือคิดพูดทำอย่างเป็นระบบ มีหลักการ เหตุผล ที่เรียกว่าตรรกะ และสามารถนำไปช่วยคนอื่นได้ เป็นสาขาที่ไม่ใช่ได้กับตัวเองเท่านั้น แต่สามารถช่วยญาติพี่น้อง หรือเพื่อนได้ด้วย เราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นประโยชน์ คือกฎหมายมีระบบ มีมาตรา มีหลักการอยู่แล้ว เราก็ต้องทำตามกฎกติกา ที่สำคัญคือสอนให้รู้ว่า ที่เรียกว่าความเป็นธรรมนั้นหมายถึงอะไร

: เข้าไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้อย่างไร

ตอนเป็นที่ปรึกษากฎหมายในบริษัท ไวท์ แอนด์ เคส (ประเทศไทย) จำกัด มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับกฎหมายเชิงธุรกิจ และได้มีโอกาสรู้จักกับผู้บริหารทรู จึงมีการแนะนำกัน เขาเคยมาให้เราตรวจสัญญาและให้คำแนะนำทางกฎหมาย

พอคุ้นกันเขาก็ชวนไปเป็นอินเฮ้าส์ ลอเยอร์ คืออยู่ประจำออฟฟิศเสียเลย ถ้าถามว่าสนใจอะไรเป็นพิเศษไหม คิดว่าเป็นเส้นทางชีวิตมากกว่า ถามว่าสนุกหรือไม่ ต้องตอบว่าเป็นการเปิดโลกให้เรา แทนที่จะดูด้านทนายความอย่างเดียว เราก็มาดูกฎหมายของบริษัท ซึ่งแตกต่างออกไป สนุกกว่า ลึกกว่าการเป็นที่ปรึกษากฎหมายทั่วไป

ความจริงทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ทางกฎหมายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีมิติด้านธุรกิจ ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านงานสังคม ด้านซีเอสอาร์อยู่ด้วย

: การเป็นลูกนักกฎหมายใหญ่โตของประเทศไทยส่งผลให้เราทำตัวลำบากหรือไม่

ผมว่าไม่ได้ลำบากเลย แต่ต้องเตือนตัวเองด้วย ว่าอย่าทำผิดกฎหมาย ตัวเองเป็นนักกฎหมาย เป็นลูกนักกฎหมาย ต้องระวังการทำผิดกฎหมาย แม้แต่เรื่องเล็กน้อย เช่น ออกจากบ้านก็อย่าฝ่าฝืนกฎจราจร ต้องไม่มีการใช้อภิสิทธิ์ใดๆ

ที่สำคัญผมไม่ค่อยจะเปิดตัวเองว่าเป็นใคร ที่รู้จักกันเองก็เพราะนามสกุลมันฟ้อง

: ในส่วนของการทำงานต้องพิสูจน์ตัวเองมากหรือไม่

ผมคิดว่ามันจะเหนื่อยถ้ามัวแต่คิดว่าจะต้องพิสูจน์ตัวเอง ในการทำงาน ถ้ามีโอกาสก็จะรับผิดชอบทำเต็มที่ อย่าไปเรียกว่าพิสูจน์เลย ให้เรียกว่ารับผิดชอบดีกว่า คือจะทำให้ดีที่สุดเมื่อได้รับมอบหมาย ผมยึดคติ Beyond the Expectation คือ เขาคาดหวังอะไร เราต้องทำให้เหนือกว่าความคาดหวัง เมื่อผลสำเร็จออกมาเกินความคาดหมายแล้ว เราก็ไม่ต้องพิสูจน์อะไรเลย ดังนั้น ผมจึงไม่รู้สึกกดดัน แม้ทราบว่ามีคนจับตามอง

การไปสู่จุดหมาย ครอบครัวเป็นเพียงส่วนช่วยสนับสนุนให้คำแนะนำ เราเองต้องพยายาม มีความกล้าและไขว่คว้าโอกาส เราจะต้องทำเอง เหมือนกับที่บ้านสอนเราว่ายน้ำ สอนเราตีขา สอนเราลอยตัว แต่ถ้าเราไม่กระโดดลงไปว่ายเอง เราจะว่ายน้ำไม่เป็น เราจะต้องกระโดดลงไปว่ายและฝึกว่ายให้เก่ง จึงจะถึงจุดหมายได้ แต่ผมก็โชคดีจริงๆ ที่มีครอบครัวสนับสนุนด้วย

: เมื่อได้เข้ามาช่วยงานรัฐบาลเช่นในฐานะปรึกษาปฏิรูปกฎหมาย จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิจารณ์ว่าเข้ามาได้เพราะบารมีพ่อ

ผมเห็นหนังสือคำสั่งที่ ดร.บวรศักดิ์ เสนอแต่งตั้งพร้อมๆ กับสื่อ ไม่มีการทาบทามก่อน (หัวเราะ) แต่ผมกับ ดร.บวรศักดิ์ ทำงานด้วยกันมาในหลายบทบาท ตั้งแต่ความเป็นลูกศิษย์จนมาร่วมงานกันในหลายคณะกรรมการ ท่านอาจารย์คงเมตตา เห็นว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ช่วยงานได้ คือมีใจ มีเวลา และมีความตั้งใจ และผมเชื่อว่า ดร.บวรศักดิ์ เลือกผมด้วยความเป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ เพราะคนอื่นๆ ที่เข้ามาทำงานนี้ก็รุ่นราวคราวเดียวกับผมเป็นส่วนใหญ่

คุณพ่อเสียอีกที่ไม่ยอมให้ผมไปเกี่ยวข้องกับงานของท่านเลย ที่ทำงานคุณพ่อที่ทำเนียบ ผมก็ไม่เคยไป ดร.บวรศักดิ์ พูดเสมอว่า การปฏิรูปต้องเป็นไปเพื่อคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่สำหรับคนที่เป็นอาทิตย์อัสดง เพราะคนรุ่นใหม่จะต้องใช้กฎหมายอีกนาน จึงต้องใช้คนเหล่านั้นขับเคลื่อน ดร.บวรศักดิ์บอกว่าท่านได้ความคิดนี้มาจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ผมไม่ได้มองว่าเป็นญาติกับ ดร.บวรศักดิ์ คิดว่างานนี้คืองานช่วยสังคม ไม่ใช่งานเพื่อเอาประโยชน์ให้กับตัวเอง ชื่อเสียงหน้าตาก็ไม่ได้ดิบดีอะไร ค่าตอบแทนก็แค่เบี้ยประชุมไม่เท่าไหร่ ไม่ไปประชุมก็ไม่ได้รับ

ตอนถูกคนวิจารณ์ คุณพ่อก็บอกว่าถ้าไม่สบายใจก็ลาออกเสีย แต่ผมคิดว่างานปฏิรูปกฎหมาย คืองานอาสา ถ้าผมไปทำงานบางตำแหน่ง บางหน่วยงาน ที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสังคม ตรงนั้นสังคมควรตั้งคำถามมากกว่า แต่เมื่อมีคนวิจารณ์ จะบอกว่าไม่รู้สึกคงไม่ได้ แต่เราก็พยายามมองไปยังสาเหตุของเสียงวิจารณ์ ซึ่งพบว่าบางส่วนอาจยังไม่เข้าใจ และอาจเป็นเพราะบางคนมีอคติตั้งแต่แรก บางคนอาจนึกว่างานนี้ใหญ่โตโก้หรูเงินเดือนมากหรือใช้อิทธิพลได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ดร.บวรศักดิ์ เสนอผมเข้ามาร่วมงาน หน้าที่ผมคือทำให้ดีที่สุด ถ้าทำไม่ได้ หรือ ดร.บวรศักดิ์ เห็นว่าคนอื่นน่าจะทำได้ดีกว่าผม ผมก็เลิกทำ

: ในการทำงาน ดร.วิษณุ ได้ให้คำแนะนำอย่างไรบ้าง

การทำงานคุณพ่อให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งจะเป็นหัวใจของการทำงานทุกอย่างให้ประสบผลสำเร็จ ที่สำคัญคือการดูคน การวางตัวในสังคม คุณพ่อสอนเสมอว่า ในสังคมมีคนหลายประเภท แต่ทุกๆ คนล้วนมีข้อดีและเสียอยู่ ไม่มีใครดีหรือเลวร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เราต้องแยกแยะให้ออก และทำงานกับคนเหล่านี้ให้ได้ ไม่ใช่เลือกคบ

: วางแผนอนาคตตัวเองไว้อย่างไร

ผมเป็นนักกฎหมาย เรียนกฎหมายมา และทำงานที่เกี่ยวกับกฎหมายมาตลอด คิดว่าคงทำงานเกี่ยวกับกฎหมายต่อไปเรื่อยๆ อย่างการเป็นที่ปรึกษาปฏิรูปกฎหมายล่าสุดนี้ อยากให้การปฏิรูปกฎหมายสร้างผลอย่างเป็นรูปธรรม ให้ผู้คนสัมผัสได้ ให้รู้ว่ามีการปฏิรูปเกิดขึ้น ผมคิดว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้เลย เหมือนกับการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ก่อให้เกิดประปา ไฟฟ้า คมนาคม ผมคาดหวังและอยากจะมีส่วนในการขับเคลื่อนแบบนั้น นอกจากนี้ ผมยังสนใจการนำทฤษฎีต่างๆ มาสู่การปฏิบัติ ไม่ได้สนใจแค่ด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว

: สนใจเล่นการเมืองหรือไม่

ผมติดตามด้านการเมืองมาโดยตลอด ชอบดูการอภิปรายในสภา ชอบดูนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เก่งๆ ให้สัมภาษณ์ ผมชอบในลักษณะนั้น ถ้าถามว่าจะไปเป็นนักการเมือง เล่นการเมืองหรือไม่ ผมยังไม่มีความคิดตรงนั้น

ผมคิดว่าประชาชนทุกคนควรติดตามการเมือง เพราะบ้านเมืองเป็นเรื่องของเรา ถ้าเราดีแต่สังคมเละเทะ สุดท้ายมันจะมีผลกระทบต่อเรา ดังนั้น จึงต้องสนใจต่อส่วนรวม ผมไม่มีความคิดหรือความฝันอยากเป็นนักการเมือง ผมถนัดในความเป็นประชาชนที่มีส่วนร่วมมากกว่า

: เห็น ดร.วิษณุ ชอบพาออกงานบ่อยๆ จนเหมือนการวางตัวรอรับมรดกทางการเมือง

ที่บ้านผมไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักวิชาการ การออกงานกับคุณพ่อเป็นความโชคดีที่ทำให้ผมได้เห็นสังคมหลายรูปแบบ คุณแม่สุขภาพไม่ดีจึงไม่ค่อยออกงาน คุณพ่อจึงชวนผมไปเป็นเพื่อนตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก

กลับจากงาน คุณพ่อจะถามทุกครั้งว่าคนนั้นคนนี้เป็นอย่างไร อาหารเป็นอย่างไร รู้ไหมว่าทำไมเขาเสิร์ฟอาหารแบบนั้นแบบนี้ กิริยามารยาทในการเข้าสังคมควรเป็นอย่างไร แรกๆ ผมอึดอัดเหมือนกัน กลายเป็นว่าที่ไปงานเลี้ยง งานศพ งานพิธี เป็นการไปเรียนหนังสือ

แต่วันนี้ผมรู้แล้วว่าเป็นประโยชน์แก่ผมมาก คุณพ่อเองคงไม่คิดว่าต้องการสืบทอดหรืออะไร เพราะสิ่งที่คุณพ่อได้มานั้น มาจากความรู้ความสามารถของท่านเอง ส่วนผมหากจะไปเป็นอะไร ก็ต้องด้วยความรู้ความสามารถของตัวเอง เพราะคงไม่ใช่มรดกที่จะหยิบยื่นให้กันได้ และผมไม่ยินดีรับมรดกที่ค้านสายตาคน หรือหยิบยื่นจากคุณพ่อซึ่งมีตำแหน่ง ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น เพราะทุกวันนี้ก็มีความสุข สบายใจในการทำงานอยู่แล้ว การออกงานกับคุณพ่อ ช่วยขับรถให้คุณพ่อ น่าจะเป็นสิ่งที่คุณพ่อต้องการใกล้ชิด และพยายามสื่อสารว่า คนในสังคมมีหลายประเภท จึงต้องดูคนให้ออก

และจะเลือกวางตัวตลอดจนเลือกแบบอย่างที่ดีได้อย่างไร