คืนสู่เหย้าหลังจากครึ่งศตวรรษ (จบ)

งานคืนสู่เหย้าสำหรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา หรือ reunion นับล่วงหน้าได้เลย คือ ปีที่จบ + 50 ปี จบมาปี 1967 ปี reunion ใหญ่คือ 2017 แต่ระหว่างนั้นก็มี reunion ย่อย 10 ปี 20 ปี ฯลฯ

ที่เรียนจบปริญญาตรีมาเป็นวิทยาลัย (college)

ในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ สถาบันอุดมศึกษาไม่จำเป็นต้องชื่อ “มหาวิทยาลัย” แบบเมืองไทยที่มีสูตรสำเร็จว่า มหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบัน ฯลฯ มีศักดิ์ศรีต่างกัน ที่นั่นศักดิ์ศรีขององค์กรอยู่ที่ศิษย์เก่าและคณาจารย์ในปัจจุบันที่จะสร้างศิษย์เก่าในอนาคต College เดี่ยวแห่งหนึ่งก็มีชื่อเด่นดังได้

ประติมากรรมบรอนซ์ของ Ruben Kramer (American 1910-1999) ยืนอยู่ในร่มไม้ริมทางสัญจรของนักศึกษา ชื่อ Standing Woman และ Standing Boy (โปรดสังเกต-ไม่ใช่ Standing woman กับ standing man นะ) เมื่อ 2 ปีที่แล้วนี่เอง ศิษย์เก่ามอบให้เป็นศิลปะสะสมของวิทยาลัย วิทยาลัยนี้เคยเป็นวิทยาลัยสตรีล้วน

ปัจจุบันรับนักศึกษาชายด้วย

ก่อนจะถึงวันนัดคืนสู่เหย้า ได้ถือเป็นโอกาสได้ไปเยี่ยมอดีต “ผู้ปกครอง” คือผู้เคยทำงานที่ ก.พ. สมัยตนเองเป็นนักศึกษา เธอสร้างครอบครัวอยู่ที่สหรัฐอเมริกาต่อมา แม้จะแก่เฒ่าเข้าวัย 80 เศษแล้วก็ยังแข็งแรง แวดล้อมด้วยพี่น้องเพื่อนฝูงและลูกหลาน พลอยทำให้ลูกเขยและลูกสะใภ้รู้สึกสบายอกสบายใจกับครอบครัวที่มีสมาชิกมากหน้าหลายตาแบบนี้ไปด้วย

เคยได้ยินเรื่องคนไทยไปทำงานในต่างประเทศ บางคนไปแล้วอยู่เลย ยึดต่างประเทศเป็นเรือนตาย ลูกหลานขาดสายสัมพันธ์ที่ยึดโยงแนบแน่นกับเมืองไทย บางคนเกษียณแล้วกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทยที่คุ้นเคยมาแต่เล็กแต่น้อย

บางคนไปทำงานครึ่งชีวิตแล้วกลับมาทำมาหากินอยู่ดีกินดีในเมืองไทย รับได้และกลมกลืนเข้ากับวัฒนธรรมไทยๆ ที่ทุกอย่างผ่านการ “รู้จัก” ด้วยเทคนิควิธีต่างๆ และไม่เดือดร้อนกับความไม่ถูกต้องหลายๆ อย่างตั้งแต่หาบเร่แผงลอยที่ละเมิดสิทธิสาธารณะ ฯลฯ กับบางคนที่กลับมาแล้วเจอ reverse culture shock โบกมือลาจากไปทำงานต่างประเทศต่อไป

กลุ่มที่พบคราวนี้แตกต่างจาก 2 กลุ่มที่เคยรู้จัก กลุ่มนี้ไปๆ มาๆ ประเดี๋ยวก็ทำงานเมืองไทย สักพักก็ทำงานต่างประเทศ สุดแท้แต่จะพอใจอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ และมีงานที่ไหนเหมาะกับตน จัดว่าเป็นคนสองประเทศ อยู่ได้สองโลกอย่างแท้จริง โดยมีอาชีพเฉพาะที่ทำให้อยู่ไหนอยู่ได้

ยกตัวอย่างเช่น เป็นครูสอนกอล์ฟ เริ่มต้นในวัยหนุ่มทำอะไรอื่นแต่แล้วกลับหลงใหลกอล์ฟ และเล่นได้ดีแบบเป็นครูได้ อยู่เมืองนอกมีลูกศิษย์ฝรั่งและลูกศิษย์ไทย นานๆ ไปมีลูกศิษย์ไทยที่กลับมาเมืองไทยชวนให้กลับมา อยู่นานเข้าลูกศิษย์ฝรั่งถามหาก็กลับไปสอนที่อเมริกา

กลับไปกลับมาอย่างนี้

เมื่อครั้งสาวรุ่นปิดเทอมมาอยู่วอชิงตัน ดี.ซี. สองคนสามีภรรยาจะขับรถไปส่งเข้าหอพักทุกครั้งไป ตลอด 4 ปีที่เรียนอยู่ที่วิทยาลัยแห่งนี้ คราวนี้อดีต “ผู้ปกครอง” ก็ยังเอื้ออารีและห่วงใยไม่ต่างกับเมื่อ 50 ปีก่อน จึงขอให้ลูกสาวของเธอขับรถไปส่ง มีคุณน้าน้องของ “ผู้ปกครอง” นั่งรถไปเป็นเพื่อน ซ้ำเดิมกับที่คุณพ่อเคยขับมีคุณแม่นั่งไปเป็นเพื่อน ซาบซึ้งจริงๆ

ก่อนวันนัดหมาย ฝ่ายศิษย์เก่าสัมพันธ์ส่งโปรแกรมยาวเหยียดมาให้ศิษย์เก่าเลือกลงทะเบียนล่วงหน้า เช่น มีหัวข้อน่าสนใจมากมายให้ลองนั่งเป็นนักศึกษาหรือเข้าร่วมสัมมนากลุ่มกับนักศึกษาปัจจุบัน จะได้รู้ว่าเขาเรียนเขาสอนอะไรกันในสมัยนี้และสอนอย่างไร นักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร หรือจะเลือกเป็นรุ่นพี่พบรุ่นน้องในหัวข้องานอาชีพ ฯลฯ

พอได้เจอหน้ากันหลังจากห่างหายไปหลายสิบปี วิชาที่ว่าจะไปฟังก็ไม่ไปซะงั้น มัวแต่สุมหัวคุยกันในห้องให้วิทยาลัยจัดไว้ให้พักสำหรับกลุ่มจนถึงเวลาอาหารกลางวัน แล้วก็เดินตามกันไปกินอาหารกลางวันในหอพัก

สมัยเป็นนักศึกษาเมื่อ 50 กว่าปีมาแล้ว หอพักหลังนี้เป็นหอใหม่ที่สุด โปร่งโล่งร่มรื่นน่าสบายที่สุด แต่มาวันนี้ดูทรุดโทรมเหมือนรอวันจะรื้อทิ้ง ส่วนอีกหอที่เคยอยู่ตอนปีหนึ่งที่ดูไม่เอาไหนกลับยังอยู่ดีและกำลังจะถูกยกย้ายข้ามไปตั้งไว้อีกฝั่งของถนนวงแหวนรอบในของวิทยาลัย เพื่อนกันให้คำอธิบายว่าหอสวยที่เราเคยอยู่เป็นหอที่สร้างหลังสงครามงบประมาณจำกัดวัสดุไม่ดี เป็นงั้นไป

ได้บทเรียนว่าอะไรที่ดูสดใสในช่วงแรกๆ ต้องรอดูกันยาวๆ จึงจะเห็นเนื้อในที่แท้จริงกว่าแกร่งสู้กาลเวลาได้หรือไม่

อาหารในหอเป็นบุฟเฟ่ต์ มีหลายจุดให้เลือกตักเอง แทนการเสิร์ฟแบบคาเฟ่ทีเรียในสมัยก่อน

นี่ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เด็กสมัยนี้คงชอบ แต่ป้างงที่สุด ถ้าให้รีบกินรีบไปเรียน คงไปไม่ทันแน่ๆ เพราะมัวแต่เดินเลือก คิดต่อไปว่าถ้าให้เลือกกินเองทุกวัน คงมีแนวโน้มจะเลือกซ้ำตามชอบ แทนจะถูกบังคับกินอาหารที่หลากหลายแบบคาเฟ่ทีเรียที่มีตัวเลือกจำกัดกว่า

หลังอาหารกลางวัน พร้อมใจกันไป campus tour เดียวกันทั้งๆ ที่เขามีให้เลือกตั้งหลายแบบ จะไปดู freshmen village ก็ได้ ไปทัวร์เลือกประเด็นของแปลกแบบไปค้นพบสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อนก็ได้

แต่ทุกคนตอนนี้กลายเป็นกลุ่มที่เหนียวแน่นแล้วแบบไปไหนไปกัน

ห้องสมุดที่สร้างใหม่และวิทยาลัยภูมิใจนำเสนอ ใหญ่กว่าเดิม โปร่งกว่าเดิม น่านั่งแบบห้องสมุดร่วมสมัยในเวลานี้ที่ไม่ใช่แค่ให้นักศึกษาเข้าไปฝังตัวกับหนังสืออย่างเดียว มีที่ให้นั่งทำงานกลุ่มได้ด้วย

ระหว่างทางเห็นแบนเนอร์ห้อยยาวๆ จากเพดานลงมา ประชาสัมพันธ์ว่าวิทยาลัยติดอันดับเท่าไหร่ในการจัดอันดับที่ไหนบ้าง ซึ่งไม่เคยเห็นเมื่อไปเดินที่ California Institute of Technology, UCLA และฮาร์วาร์ด (หลายปีมาแล้ว) ชวนให้นึกถึงแบนเนอร์หรือป้ายติดกำแพงโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทยขึ้นมาครามครัน

และทำให้เริ่มเข้าใจสถานะของวิทยาลัยเก่าของตัวเองว่า ต้องพยายามอยู่ให้ได้ในตลาดที่การแข่งขันสูง

แต่เดิมมาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นหนึ่งในวิทยาลัยสตรีชั้นแนวหน้าของประเทศ ต่อมาเมื่อมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยชายล้วนปรับตัวเปิดเป็นสหศึกษา ตอนนั้นวิทยาลัยสตรีล้วนมีทางเลือกสองทางคือ 1. อยู่ให้ได้ในฐานะวิทยาลัยสตรี เป็นทางเลือกให้กับสตรีที่อยากมีชีวิตช่วงเรียนในระดับอุดมศึกษาแบบหญิงล้วน ซึ่งทำให้ได้บ่มเพาะความเป็นผู้นำในตนโดยไม่ต้องกังวลกับภาพลักษณ์ต่อเพื่อนชาย

หรือ 2. เปลี่ยนเป็นสหศึกษาด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะได้นักศึกษาทั้งชายและหญิงสู้วิทยาลัยชายที่มีชื่อเสียงมายาวนานไม่ได้ การวางตำแหน่งทางการตลาด การสร้างหลักสูตรเฉพาะของวิทยาลัยสตรีที่เปลี่ยนเป็นสหศึกษาเพื่อหาตลาดเฉพาะ จึงจำเป็น

เพื่อน 2-3 คนแวะที่บอร์ดข้างผนังระหว่างทางเดิน “villanelle เอ๋ เป็นยังไงนะ” ก็เลยได้ทีบอกว่า “ฉันรู้จัก” แล้วก็เล่าโดยย่อให้เพื่อนๆ ฟัง เมื่อกลับมาเล่าให้หลานฟัง สายตาของหลานเป็นประกายอย่างชอบใจ ที่ป้าผู้มาไกลจากแดนตะวันออก เรียนเศรษฐศาสตร์ กลับเป็นคนรู้จัก villanelle (ไม่ได้บอกเขาหรอกว่า หลานสอนวรรณคดีอังกฤษ และเพิ่งสอนให้ป้าแต่งเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง)

จบจากห้องสมุด ก็เดินไปชมหอศิลป์ที่สมัยก่อนไม่มี ทางวิทยาลัยจัดให้นักศึกษามาบรรยายเกี่ยวกับศิลปิน 2 คนให้รุ่นพี่ฟัง มีอาจารย์คอยให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ

โดยรวมแล้ว ทางเข้าวิทยาลัยร่มรื่นยิ่งกว่าเดิม แต่ภายในแน่นกว่าเดิม สนามกว้างๆ สีเขียวหายไป มีตึกผุดขึ้นมาแทน นอกจากตึกหอศิลป์ และห้องสมุด ยังมี freshmen village เพื่อสนองความต้องการที่วิทยาลัยคิดว่าจำเป็น เพราะเราพบว่าพวกเราปีเดียวกัน คนที่เคยอยู่หลายหอหรือเป็นนักกิจกรรมก็รู้จักเพื่อนมากหน่อย บางคนอยู่หอเดียวกับเพื่อนกลุ่มเดียวกันตลอด 4 ปี แทบไม่รู้จักคนนอกกลุ่มเลย มีหอรวมเป็นหมู่บ้านให้ปีหนึ่งอยู่ร่วมกันคงช่วยให้ในรุ่นเดียวกันรู้จักกันมากขึ้น

เพื่อนแต่ละคนมีวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย ในด้านชีวิตส่วนตัวผ่านร้อนผ่านหนาวกันมาทุกรูปแบบ

ในด้านอาชีพการงานก็หลากหลายเพราะ liberal arts college ไม่ได้ให้วิชาอาชีพ หลายคนเกษียณแล้ว หลายคนยังทำงานอยู่ เช่น โครงการวิจัยอยู่ต่างแดน เป็นศิลปินมีผลงานแสดง เป็นช่างภาพด้านภูมิทัศน์มืออาชีพ เป็นที่ปรึกษาในองค์กรหรือบริษัทใหญ่ในประเทศ คนหนึ่งเป็น young republican สมัยเป็นนักศึกษา ก็ยังเป็นจักรกลให้กับพรรคอย่างเหนียวแน่นมาจนบัดนี้

เพื่อน “นักข่าว” ประจำรุ่น แสดงความใส่ใจกับความรู้สึกของเพื่อนอย่างน้อยก็ 2 เรื่องที่เห็นชัดๆ

เรื่องแรก เจ้าหล่อนแยกเพื่อน republican จ๋า กับ democrat จัด ไปนั่งคนละโต๊ะในช่วงอาหารเย็น ตัวเองและเพื่อนสนิทแม้ไม่ชอบคุณประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างแรงก็สงบปากสงบคำ ไม่คุยเรื่องการเมืองในโต๊ะนั้น

เรื่องที่สอง ข่าวเศร้าของตัวดิฉันเอง ที่ได้ทราบว่าน้องชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตั้งแต่ก้าวลงจากเครื่องบิน เมื่อได้แจ้งให้เพื่อนคนนี้ทราบล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนพบกัน เธอเป็น “โฆษก” ที่ดี คือมีวิธีการบอกเล่าให้เพื่อนสนิทและเพื่อนที่จะร่วมโต๊ะอาหารด้วยกันได้รับทราบ

เพื่อนแต่ละคนที่ทราบไม่มีใครมากรี๊ดกร๊าดตกใจใส่ ไม่ถามเหตุ ไม่ซักไซ้ ให้ต้องพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ละคนหาโอกาสมาแสดงความเสียใจเบาๆ เป็นการส่วนตัว เป็นการแสดงความเสียใจกับเรื่องส่วนบุคคลและเคารพความเป็นส่วนบุคคล

เขาทำกันได้อย่างสุขุมและด้วยความยั้งคิด (discreet) มาก

นี่คือ villanelle ที่หัดแต่ง

วางเถิดวาง ไปเบาๆ ไปดีๆ

น้อมใจสู่พระธรรมนำจิตนิ่ง

สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี

ยศถาบรรดาศักดิ์ สังขารนี้

ล้วนหนักหนาถ้าแบกหามไปทุกสิ่ง

วางเถิดวาง ไปเบาๆ ไปดีๆ

โดนนินทา ประสบทุกข์ เสื่อมศักดิ์ศรี

ใจจึงหมองเพราะใจไร้ที่พิง

สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี

รู้ใช่ไหม แล้วไยจึงติดมี

ทั้งแก้วแหวนสรรพสมบัติ โลภะสิง

วางเถิดวาง ไปเบาๆ ไปดีๆ

สระสนานกายจิตปลิดราคี

พ้นกิเลสที่ชักใจให้วนวิ่ง

สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี

ละเถิดละโลกธรรมคู่ทั้งสี่

สุขแท้จริงอยู่ที่เลิกฉกชิง

วางเถิดวาง ไปเบาๆ ไปดีๆ

สุขแท้จริงอยู่ที่ความไม่มี

“Dusty Shingle” 8 Feb. 2017