พลเรือโทพัน รักษ์แก้ว : ใครเอาขาเก้าอี้ของฉันไป?

ใช้ทะเล ไม่อยากให้คนอื่นใช้ ก็จะรบกันทางทะเล

ใครรบได้ทั้งทางผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ 3 สาขาปฏิบัติการ เสมือนเก้าอี้นั่ง 3 ขา ย่อมมีทางเลือกและได้เปรียบกว่าผู้มีเก้าอี้ขาน้อยกว่า

กองเรือกรรเชียงกรีกเหนือรบกับกรีกใต้ ครั้งสงครามเพโลพอนเนสุส ก่อนคริสตกาล 400 กว่าปี

ก็รบกันทางผิวน้ำ ในยุคเรือใบ จนถึงยุคเรือกลไฟ

ในการสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย ก่อนสงครามโลกครั้งแรก กองเรือญี่ปุ่นรบกับกองเรือบอลติกของรัสเซียที่รบกันในทะเลญี่ปุ่น ก็ยังรบกันบนผิวน้ำเหมือนยุคเรือกรรเชียง

แต่ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เริ่มมีการใช้เรือดำน้ำในการรบทางเรือ และใช้อากาศยานในงานลาดตระเวนให้แก่กองเรือ

การปฏิบัติการสงครามทางเรือจึงเกิดขึ้นทั้งเหนือน้ำ ผิวน้ำ และใต้น้ำ ตั้งแต่สงครามครั้งนั้นเป็นต้นมา

สําหรับงานรบใต้น้ำ มีผู้คิดหลายชาติที่ประดิษฐ์ยานใต้น้ำไปทำลายเรือข้าศึกได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อครั้งสงครามการเมืองสหรัฐใน พ.ศ.2407

ฝ่ายใต้ ได้ประดิษฐ์ยานใต้น้ำโดยใช้หม้อไอน้ำที่มีความยาวราว 38 ฟุต ขับเคลื่อนไปใต้น้ำโดยลูกเรือ 8 คน ใช้มือหมุนใบพัด นำวัตถุระเบิดไปติดใต้ท้องเรือและจมเรือ USS Housatonic ของฝ่ายเหนือได้

หลังจากนั้น หลายชาติได้คิดค้นสร้างเรือดำน้ำที่ใช้ทั้งเครื่องยนต์ และแบตเตอรี่ ในการขับเคลื่อนเรือพร้อมกับอาวุธตอร์ปิโด จึงกลายเป็นเรือที่ทำการรบได้โดยสมบูรณ์

เยอรมนีเป็นชาติแรกที่สร้างเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซลใน พ.ศ.2449 แทนเครื่องน้ำมันใส และสร้างเรือจำนวนมากกว่าใครประมาณ 300 ลำ ใช้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ผลงานที่โด่งดังของเรือดำน้ำเยอรมนีในเดือนกันยายน พ.ศ.2457 เมื่อเรืออูหมายเลข 9 ใช้ตอร์ปิโดจมเรือลาดตระเวนอังกฤษขนาด 12,000 ตันลง 3 ลำ ใกล้ฝั่งเนเธอร์แลนด์

เพราะทางอังกฤษมัวคิดว่าเรือโดนทุ่นระเบิด จึงจอดเรือช่วยเหลือกัน

ภูมิศาสตร์จำกัดการเคลื่อนไหวทางทะเลของเยอรมนี

กล่าวคือ จากเยอรมนีทางด้านซ้ายสู่ทะเลเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติก มีเกาะอังกฤษอยู่ทางซ้าย ฝั่งทะเลเดนมาร์กและนอร์เวย์ เบียดทางขวา

ถ้าจะออกด้านขวาทางทะเลบอลติก จะต้องผ่านช่องแคบระหว่างเดนมาร์กกับสวีเดนสู่ทะเลเหนือ อันเป็นการยากของเรือผิวน้ำที่จะออกเรือจากฐานทัพเยอรมนีสู่ทะเลลึก

การรบใหญ่ทางเรือระหว่างกองเรือประจัญบานอังกฤษกับเยอรมนีมีครั้งเดียวที่จัตแลนด์ในสงครามโลกครั้งแรก ที่กองเรือเยอรมนีซึ่งมีกำลังด้อยกว่าต้องถอยกลับในการรบหนึ่งวันหนึ่งคืน

เยอรมนีจึงมีกองเรือดำน้ำมากลำ อันเป็นเรือที่ออกไปทำงานจากฐานทัพได้ง่ายกว่าเรือผิวน้ำ

เมื่อเริ่มสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีมีเรือดำน้ำ 56 ลำแล้ว ได้สร้างเพิ่มเติมอีก 1,162 ลำ เพราะกำลังเรือผิวน้ำน้อยกว่าอังกฤษ และออกจากฐานทัพสู่พื้นที่ปฏิบัติการได้ลำบาก เรือผิวน้ำลำสำคัญๆ ตั้งแต่เรือประจัญบานใหญ่ เรือประจัญบานกระเป๋า และเรือลาดตระเวนสงคราม เกือบ 10 ลำถูกทำลายสิ้น

แต่เรือดำน้ำเยอรมนีทำให้อังกฤษแทบหมดกำลังสู้รบ ซึ่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษเชอร์ซิล บันทึกไว้ว่า

“สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าสุดกลัวระหว่างสงครามก็คือมหันตภัยจากเรืออู”

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า สงครามทางทะเลได้กระทำกัน 3 มิติ 3 สาขาปฏิบัติการเหนือทะเล ผิวน้ำ และใต้น้ำ โดยสมบูรณ์ในสงครามโลกครั้งที่สอง เสมือนเก้าอี้นั่ง 3 ขา

ยุคเรือกลไฟของทหารเรือไทยเริ่มในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อด้วยรัชกาลที่ 5 ในสมัยล่าอาณานิคม ซึ่งกองเรือภาคตะวันออกไกลของฝรั่งเศสที่มีเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะเป็นเรือธง ได้ปิดอ่าวไทย 2 ครั้ง โดยไทยต้องแลกเปลี่ยนเสียบางหัวเมืองให้อินโดจีนของฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์ที่เมืองไทยพยายามสร้างกำลังทางเรือ เช่น การเรี่ยไรซื้อเรือพิฆาตพระร่วง ในรัชกาลที่ 6 เป็นต้น

ใน พ.ศ.2453 คณะกรรมการในกองทัพเรือที่มีเสด็จเตี่ย (ของทหารเรือ) กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ร่วมด้วย ได้ทูลเกล้าฯ “โครงการสร้างกำลังทางเรือฉบับสมบูรณ์” ถวายในหลวงรัชกาลที่ 6

มีเรือ 5 ประเภท โดยมีเรือดำน้ำ 6 ลำ “สำหรับลอบทำลายเรือใหญ่ของข้าศึก” แต่ขาดงบประมาณ ต้องระงับโครงการ

ในปีต่อมา เสด็จเตี่ยทรงถูกออกจากประจำการ และมีการจ้างนาวาเอกชาวสวีเดนมาเป็น “ที่ปรึกษาทหารเรือ” ซึ่งท่านได้ทำโครงการกำลังทางเรือ ที่มีเรือดำน้ำ 8 ลำ แต่เสนาบดีกระทรวงทหารเรือไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายในหลวง

นายเรือโท เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ พระองค์ผู้ทรงสำเร็จวิชาการทหารเรือจากเยอรมนี ได้ทรงเสนอเรื่อง “ความเห็นเรื่องเรือ ส.” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2458

อันเป็นเรื่องของเรือใต้น้ำ (Submersible boat) ซึ่งกล่าวถึงความเหมาะสมที่ประเทศไทยควรมีเรือดำน้ำ โดยแจกแจงเรือ 2 แบบ และจำนวนเรือที่ควรมี

แต่ปรากฏว่า เสนาธิการทหารเรือ นายพลเรือโท กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ทรงเก็บเรื่องไว้ ไม่เสนอไปข้างบนตามลำดับชั้น

จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่สมเด็จพระราชบิดาในรัชกาลที่ 8 และ 9 ทรงลาออกจากราชการทหารเรือไปศึกษาวิชาแพทย์ ตามที่ทราบกันอยู่

ใน พ.ศ.2513 ทางกรมยุทธการทหารเรือได้จ้างช่างเอกชนเปิดตู้นิรภัยเก่าแก่ตู้หนึ่ง จึงได้พบเอกสารเรื่องเรือ ส. ทำให้ทราบกันว่ามีความพยายามที่จะมีเรือดำน้ำอีกครั้งหนึ่ง

แต่ “ดำแล้วไม่โผล่”

พระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ.2477 โดยสภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีการสั่งสร้างเรือจากญี่ปุ่นและอิตาลี ที่มีทั้งเรือปืนหนัก เรือตอร์ปิโด เรือทุ่นระเบิด เรือลำเลียงมากลำ และเรือดำน้ำ จากญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำ ระวางขับน้ำ 400 ตัน เข้าประจำการใน พ.ศ.2481

อันจัดได้ว่ามี 2 ประเทศในเอเชียเท่านั้นที่มีเรือดำน้ำในยุคนั้น

กรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ปลาย พ.ศ.2483 ต้น 2484 มีปฏิบัติการเรือดำน้ำ เพิ่มมิติการรบผิวน้ำแก่ทหารเรือไทยอีกมิติหนึ่ง จากเดิมที่มีเพียงมิติเดียว

การรบที่เกาะช้าง ระหว่างกำลังทางเรือไทยกับฝรั่งเศสในเดือนมกราคม พ.ศ.2484 มีหน่วยบินทหารอากาศไทยที่จันทบุรีเข้าร่วมด้วย

ซึ่งก่อนมหาสงครามเอเชียบูรพา ปลาย พ.ศ.2485 ทหารเรือไทยเริ่มสั่งซื้อเครื่องบินจากญี่ปุ่นและตั้งหมวดบินในกองเรือรบ ที่ระหว่างสงครามนั้นก็มีเครื่องบิน 3 แบบจากญีปุ่นเข้าประจำการ ทำให้ทหารเรือไทยสามารถปฏิบติการใต้น้ำ ผิวน้ำ และทางอากาศได้สมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก

ระหว่างสงครามนั้น เรือดำน้ำเดินสมุทร 2 ลำของสหรัฐเข้าก้นอ่าวไทย วางทุ่นระเบิด กั้นทางเข้าออกท่าเรือเกาะสีชัง 2 ครั้ง หน้าอ่าวสัตหีบ 1 ครั้ง

ร.ล. สมุย ที่ใช้ขนน้ำมันจากสิงคโปร์สู่เมืองไทยเที่ยวละ 2,000 ตัน ได้ถูกตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำสหรัฐจมในเที่ยวที่ 18 ไม่ไกลจากนราธิวาสมากนัก

นอกจากนี้ เรือดำน้ำอังกฤษและสหรัฐยังทำงานลับ ส่งเสรีไทยขึ้นฝั่งและสำรวจหาดเพื่อเตรียมการยกพลขึ้นบกหลายครั้ง แสดงชัดว่า เรือดำน้ำสามารถทำงานได้ตั้งแต่ก้นอ่าวไทยออกไป

และเรือดำน้ำข้าศึกทำให้เมืองไทยขัดสนไปทั่วเมือง

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เรือคอร์เวตของทหารเรือเกาหลีใต้ในน่านน้ำระหว่างฝ่ายใต้กับเหนือ เกิดระเบิด เรือขาดกลางลำ ที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากตอร์ปิโดที่เป็นของของเรือดำน้ำเกาหลีเหนือ หรืออย่างสงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ.1937-1939 ระหว่างรีพับลิกกับฝ่ายขวา นายพลฟรังโก เกิดเรือลำเลียงของรีพับลิกระเบิดในทะเลหลายครั้ง อันรู้กันว่าเป็นฝีมือของเรือดำน้ำอิตาลีที่สนับสนุนฟรังโก

แสดงถึงการใช้เรือดำน้ำได้อย่างหลากหลาย ลึกลับ ยิ่งเรือสมัยนี้ใช้อาวุธยิงฝั่งได้ด้วย บอกถึงความสำคัญของปฏิบัติการใต้น้ำของทหารเรือ

นอกจากนี้ การไล่ล่าเรือดำน้ำ ข้าศึกย่อมต้องการเรือดำน้ำเป็นคู่ซ้อม เหมือนนักมวยต้องมีคู่ซ้อม มิใช่ซ้อมแต่ชกลม การมีเรือฝึกซ้อมเองโดยไม่ต้องขอเรือจากคนอื่นมาช่วยฝึก เป็นทั้งความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่ง

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม เรือดำน้ำไทยขาดอะไหล่ ประจวบกับเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2494 หมวดเรือดำน้ำ และหมวดบินทหารเรือ จึงถูกยุบไป

ทำให้ทหารเรือไทยมีเรือผิวน้ำเพียงอย่างเดียว

โดยได้เรือจากการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐ ที่สุดแต่เขาจะให้มา

การประจำการ ร.ล. มกุฎราชกุมาร จากอังกฤษใน พ.ศ.2516 เป็นการเริ่มจัดหาเรือด้วยตนเอง และเป็นเรือลำแรกที่ติดอาวุธจรวด ซึ่งมีการทยอยสั่งต่อเรือใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 2530 “ยกเข่ง” เรือจากจีนและสเปนเป็นเรือใหญ่ทั้งสิ้น ที่ได้มาโดย “การเมือง” พาไป แต่ไม่มีเรือดำน้ำ

ส่วนการบินทหารเรือได้รับอนุมัติจาก “ข้างบน” ให้ตั้งหน่วยบินขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2503 ที่เตาะแตะจากเรือบินของสหรัฐจนถึงเครื่องบินโจมตีที่ติดมากับเรือบรรทุกเครื่องบิน

ทหารเรือไทยจึงทำงานผิวน้ำและทางอากาศได้ 2 ทางอีกครั้งหนึ่ง

ความพยายามที่จะมีเรือดำน้ำ ผ่านการเสียดทานทั้งจากข้างล่าง ข้างๆ ข้างบน เป็นเวลาราว 60 ปี

จนปีนี้มีลางว่าจะมีเก้าอี้นั่งสามขา-เรือดำน้ำจากจีน

ทหารเรือเกิดใหม่หลังสงครามโลกรอบปากอ่าวไทย ล้วนนั่งเก้าอี้ 3 ขา ทำงาน 3 มิติกัน

ส่วนทหารเรือไทยที่อยู่ก้นถุงอ่าวไทยออกไปข้างนอกได้ยากกว่าทหารเรือเยอรมัน รู้ดีว่าต้องมีกำลังเรือดำน้ำเข้มแข็ง กลับมีเพียงช่วงเวลาสั้นๆ โดยบางเวลาเหลือสาขาผิวน้ำอย่างเดียว

อาจเนื่องมาจากการเป็นทหารเรือเก่าแก่กว่า 100 ปี ผ่านมรสุมแรงเสียดทานมามาก

บางเวลาทำได้ 3 มิติ 3 สาขา ปฏิบัติการนั่งเก้าอี้ 3 ขา ได้สมบูรณ์แบบและมั่นคง บางเวลาไม่

“ใครเอาขาเก้าอี้ของฉันไป?”

ไม่ทหารเรือด้วยกันเอง เสนาบดี กระทรวง รัฐสภา ก็หอคอยงาช้างนั่นแหละ