จาก ‘พี่ปลอดประสพ’ ถึง ‘น้องประยุทธ์’ ถอดบทเรียน 10 ปีวิกฤตน้ำท่วม ‘คุณพอเถอะ โลกเปลี่ยนไปแล้ว’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จาก ‘พี่ปลอดประสพ’

ถึง ‘น้องประยุทธ์’

ถอดบทเรียน 10 ปีวิกฤตน้ำท่วม

‘คุณพอเถอะ โลกเปลี่ยนไปแล้ว’

 

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทยในขณะนี้ ทำให้ภาพความทรงจำเรื่องเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เกิดคำถามตามมาว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์มติชนทีวี ว่า ถ้ามองการบริหารจัดการวิกฤตมหาอุทกภัยปี 2554 เปรียบเทียบสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 แตกต่างกัน กล่าวคือ ในปี 2554 ประเทศไทยเผชิญกับพายุถึง 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก แต่ในปี 2564 ประเทศไทยเพิ่งเผชิญกับพายุเพียงลูกเดียวเท่านั้น คือพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่

หรือหากเทียบปริมาณน้ำฝนในปี 2554 ปริมาณฝนทั้งปีมากถึง 2,257 ม.ม. ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบ 70 ปี มากกว่าปี 2564 ซึ่งมีปริมาณฝนเพียง 1300 ม.ม.เท่านั้น

ในปี 2554 อ่างเก็บน้ำเกือบทุกอ่างมีปริมาณน้ำมากกว่า 90% ของความจุ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 แต่ในปี 2564 อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำต่ำกว่า 50% ของความจุ หมายความว่าหากมีฝนตกลงมามากกว่านี้ ก็ยังสามารถเก็บกักหรือชะลอไว้ได้

ในปี 2554 น้ำท่วมมากถึง 65 จังหวัด โดยเฉพาะแม่น้ำยมมีน้ำมากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มากที่สุดเท่าที่เคยมี แต่ในปัจจุบันเป็นการท่วมเฉพาะจุด (localized)

ในปี 2554 ปริมาณน้ำมากกว่าความจุของเขื่อนภูมิพล 8-10 เท่า ไหลทั้งตามลำน้ำและแผ่เข้าที่ราบลุ่ม แล้วหลากผ่านภาคกลางและ กทม. เพื่อลงทะเลในช่วงน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ในขณะที่ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังต่ำกว่าตลิ่งอยู่มาก

ในปี 2554 น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีมากมหาศาลถึง 3,000-4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ปัจจุบันมีน้ำไหลระหว่าง 1,500-2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีเท่านั้น เป็นสถานการณ์เกือบปกติ

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้คาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อคนกรุงเทพฯ เหมือนในปี 2554 แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีคนไทยในอีกหลายพื้นที่ยังคงต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำเกือบทุกปี

 

คําถามที่ตามมาคือ จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 วันนี้ผ่านมาแล้ว 10 ปี ประเทศไทยเรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ในอดีต

มีแผนงานและได้ลงมือทำอะไรเพื่อป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีหรือไม่

นายปลอดประสพระบุว่า ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างถนนและอาคารเป็นจำนวนมากซึ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นปัญหาด้านผังเมือง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้มีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ

ยกตัวอย่างเช่น ที่เขาใหญ่ เกิดน้ำท่วมเพราะถนนก้างปลาซึ่งแยกออกจากถนนหลักเป็นตัวปัญหา

หากมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่มีโครงการใหญ่ๆ ที่สามารถตัดน้ำหรือเก็บน้ำแม้แต่แห่งเดียว

มีแต่โครงการลักษณะขุดลอกเอาดินขึ้นมาไว้ที่ฝั่ง เมื่อฝนตกดินก็ไหลกลับลงไปเหมือนเดิม สูญเสียงบประมาณไปหลักหมื่นล้าน และมีข้อครหาว่าเกิดการคอร์รัปชั่น

 

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการตั้งสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เป็นหน่วยงานภายในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำงานคู่ขนานกับกรมชลประทานเป็นหลัก กรมทรัพยากรน้ำเป็นรอง

ต่อมาภายหลังการรัฐประหาร 2557 มีการโอนสํานักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) ไปสังกัดกรมทรัพยากรน้ำ และตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขึ้นมาแทนที่ มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีไปดูแลเป็นหลัก

แต่บทบาทของกรมชลประทานลดน้อยถอยลงไป ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง กรมชลประทานเป็นกรมขนาดใหญ่ ได้รับงบประมาณหลายหมื่นล้าน มีผู้ปฏิบัติงานเกือบแสนคน ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่านี้

นายปลอดประสพกล่าวว่า ในเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เริ่มบริหารงานในเดือนกันยายน 2554 ขณะนั้นปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ สูงถึง 90-100% ของความจุ หรือพูดง่ายๆ คือน้ำท่วมแล้วตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้า คือรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากไปพร้อมกับทิ้งน้ำเอาไว้ให้

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต่อสู้กับน้ำท่วมนานถึง 6 เดือนกว่าที่วิกฤตจะคลี่คลาย จากนั้นจึงได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท

แต่ปรากฏว่าถูกฟ้อง ต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเพื่อพิสูจน์ว่าแผนแม่บทดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย

แต่เมื่อจะเซ็นสัญญาก็เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ขึ้นมาเสียก่อน

และทำให้ต่อมาแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ถูกจัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกล้มเลิกไปโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

งบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลักแสนล้านบาท ถูกเปลี่ยนไปใช้กับนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในลักษณะขุดลอกคูคลองเป็นส่วนใหญ่

ส่วนโครงการใหญ่ๆ เช่น อ่างเก็บน้ำ คลองผันน้ำ เขื่อนกั้นพื้นที่เศรษฐกิจ เกือบทั้งหมดไม่มีการดำเนินการ

มีสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นมาคือศูนย์สารสนเทศทางน้ำ นอกจากนั้น ไม่มีการดำเนินการตามแผนแม่บทเดิม

 

นายปลอดประสพกล่าวถึงการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า หลักคิดในการรับมือภัยพิบัติ

1. ต้องพยากรณ์ให้ได้

2. เมื่อเกิดเหตุต้องเตือนภัย

3. ต้องเผชิญเหตุให้ได้ ช่วงเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปลงพื้นที่คือช่วงของการเผชิญเหตุ ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่เขาทำงาน ต้องปล่อยให้ชาวบ้านอยู่บ้านเก็บของ ไม่ใช่ไปเกณฑ์ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มาต้อนรับอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำ หลังจากเผชิญเหตุแล้ว

4. สำรวจความเสียหาย

5. ดำเนินการฟื้นฟู การลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์อาจเกิดจากความหวังดี แต่เมื่อไปแล้วกลับเป็นภาระ

เมื่อถูกถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรก็ตอบไม่ได้ พื้นที่ที่ไปก็ไม่รู้ว่าเลือกจากมุมมองด้านภัยพิบัติ หรือมุมมองด้านการเมือง

 

สําหรับข้อเสนอต่อการรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 นายปลอดประสพระบุว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์กล้าสั่งการ ขณะนี้มีสิ่งกีดขวางจำนวนมากที่ขวางลำน้ำอยู่ โดยเฉพาะถนนที่สร้างในแนวตะวันตก-ตะวันออก ให้เจ้าหน้าที่ไปดูจะพบจุดปัญหานี้ ถ้าเมื่อไหร่เกิดเหตุน้ำท่วม แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจสั่งรื้อเปิดช่องระบายน้ำ จะทำให้สามารถระบายมวลน้ำมหาศาลลงทะเลให้เร็วที่สุด นั่นคือสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ เพราะทำอย่างอื่นไม่ทันแล้ว

นายปลอดประสพกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลกลับไปดูแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ได้ทำไว้ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะช้าไปแล้วก็ไม่เป็นไร มิฉะนั้นอนาคตจะไม่มีเครื่องมือรับมือกับน้ำ กล่าวคือ ถ้าฝนตกลงมาก็เก็บ ถ้าน้ำไหลเร็วก็ทำให้ไหลช้า ถ้าน้ำไหลมากก็เก็บเอาไว้บ้าง ค่อยๆ ทยอยปล่อยออกมา บริหารน้ำให้เหมือนบริหารรถยนต์ที่วิ่งบนถนน

น้ำกับการจราจรไม่ได้ต่างกันมากนัก

 

นายปลอดประสพกล่าวว่า ตนรู้จัก พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างดี มีความผูกพันกันมา อยากฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ให้พอเถอะ มีงานสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์สามารถทำได้ ไปทางนั้นดีกว่า วันนี้โลกมันเปลี่ยน

แม้แต่ตนเองทั้งที่พยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมก็ยังรู้สึกว่าตามไม่ทัน ควรจะปล่อยให้คนรุ่นอายุ 40-50 ปีเข้ามาทำงานจะดีกว่า สติปัญญา ความรู้ ทิฐิ อัตตาในตัวเรามันเป็นปัญหา ยังอยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ดำรงความสวยงามตลอดไป อย่างที่เคยเห็นมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นผู้บังคับกองพัน ไม่มีอะไรในส่วนลึกที่จะรังเกียจ พล.อ.ประยุทธ์แม้แต่น้อย

แต่ในทางการเมืองบางทีก็อาจจะต้องพูดอะไรบ้าง

โดยส่วนตัวไม่ได้คิดอะไร ฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์อย่าไปเคียดแค้นโกรธอะไรใคร มันไม่ดี