“ดวงไฟในขวากหนาม” มรณกรรมของ “หลิวเสี่ยวโป” ให้อะไรกับเรา

รายงานพิเศษ/อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์นับตั้งแต่การเสียชีวิตของ “หลิวเสี่ยวโป” นักเขียน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวจีน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพคนแรกของจีนในปี 2010

นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ไม่เพียงต่อครอบครัวนายหลิว แต่ยังรวมถึงผู้เลื่อมใสในการต่อสู้ของนายหลิวที่อยู่ทั่วโลก สูญเสียบุคคลที่ควรได้โอกาสรับการรักษาเพื่ออย่างน้อยยื้อชีวิตและหลุดพ้นจากความเลวร้ายจากการจองจำโดยรัฐบาลจีน

ในห้วงวาระสุดท้ายจวบจนนายหลิวสิ้นลม ได้ทำให้เห็นหลายสิ่งที่เกิดขึ้น

ส่งผลให้การตายของหลิวนั้น “ทรงพลัง” และมีความหมายควรค่าที่จะจดจำ

 

โฉมหน้าอีกด้านของรัฐบาลจีน

การปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในจัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 นั้นแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า รัฐบาลปักกิ่งไม่ปรารถนาต่อแนวคิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และบุคคลที่ปรารถนาเสรีภาพ ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์ชาตินิยมและพรรคคอมมิวนิสต์จีน หากปล่อยให้เติบโตต่อไป อาจทำให้ประเทศต้องแตกเป็นเสี่ยง รัฐบาลพรรคอมมิวนิสต์อาจต้องสูญเสียเสถียรภาพ

การจับกุมนักเคลื่อนไหว นักคิด และประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย จึงมีอย่างต่อเนื่อง หลายคนรวมถึงนายหลิว

แต่ครั้งล่าสุด ทางการจีนจับกุมและให้โทษกับนายหลิวด้วยการจำคุก 11 ปี ด้วยสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย ได้บั่นทอนร่างกายนายหลิว และพบว่าป่วยเป็นโรคร้าย

ทางการจีนเลือกปกปิดข่าวนี้ เพราะอาจต้องการไม่ให้ถูกนานาชาติตำหนิในเรื่องการจองจำเจ้าของรางวัลโนเบลจนสุขภาพทรุดโทรม กว่าจะเปิดเผยอาการป่วยก็เมื่อเดือนมิถุนายนนี้เอง

นานาชาติยื่นมือเข้ามาช่วยชีวิตนายหลิว อย่างเยอรมนีและไต้หวัน แต่ทางการจีนกลับปฏิเสธโดยอ้างว่านายหลิวได้รับการรักษาจากแพทย์จีน และนายหลิวอ่อนแอเกินกว่าจะเดินทางไหว แต่ความเป็นจริงกลับถูกแยกเดี่ยวในโรงพยาบาลเสิ่นหยางและถูกจับตามองตลอด

จนนายหลิวเสียชีวิตเมื่อ 13 กรกฎาคม

ทางการจีนถูกโจมตีว่าได้ทำในสิ่งที่เรียกว่า “การฆาตกรรม” ด้วยการปล่อยปละละเลยไม่ให้ได้เข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม แทนที่จะเลือกปล่อยตัวนายหลิวให้ไปรักษาตัวในต่างประเทศ ซึ่งอย่างน้อยจะเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับจีน

แต่ทางการจีนกลับเลือกไม่ทำและต้องรับผลที่ตามมาด้วยเสียงประณามจากหลายคนหลายกลุ่มทั่วโลก ตั้งแต่ผู้นำในชาติยุโรป องค์กรสื่อไร้พรมแดน ฮิวแมนไรท์ วอทช์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ รวมถึง มาลาล่า ยูซัฟไซ สาวน้อยชาวปากีสถานเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2014

แม้ทางการจีนจะประกาศให้ หลิวเซีย ภรรยานายหลิวเสี่ยวโปได้รับอิสรภาพ แต่ความจริงเธอกลับถูกบังคับให้ไปอาศัยอยู่ที่อื่นโดยตัดขาดการสื่อสารกับโลกภายนอกเพื่อไม่ให้เธอพูดอะไรเกี่ยวกับนายหลิว ยิ่งตอกย้ำคำพูดที่กลวงเปล่าของจีนที่อ้างว่าจะส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน แต่กลับทำในสิ่งที่คล้ายกับรัฐบาลเผด็จการในหลายประเทศเคยทำมาแล้ว

ทางการจีนไม่เพียงปกปิดเรื่องราวของนายหลิวให้เงียบหายในโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น บนออนไลน์ก็มีความพยายามเซ็นเซอร์ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการไว้อาลัยต่อนายหลิว แม้แต่ตัวย่อ “RIP” ยังถูกห้ามใช้

ความพยายามลบการมีตัวตนของนายหลิวโดยทางการจีน แม้จะสำเร็จผ่านการใช้กลไกรัฐอย่างเข้มข้น แต่นายหลิวจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่ต้องจากไปเพียงเพราะยืนหยัดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ที่ทำให้จีนเป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ

 

“หลิวเสี่ยวโป” คือแรงบันดาลใจ

ในช่วงชีวิตของนายหลิว ได้ทำหน้าที่ในฐานะปัญญาชนอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ นั้นคือ การเผยแพร่ความคิดเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความรักที่อยู่เหนือความเกลียดชัง

นายหลิวล้วนแสดงออกด้วยความปรารถนาดี แม้ผลงานหลายชิ้นไม่ถูกเผยแพร่ในจีนแผ่นดินใหญ่เนื่องจากมาตรการเซ็นเซอร์ แต่ถูกเผยแพร่สู่นอกแผ่นดินใหญ่ และทำให้โลกรู้จักชายสวมแว่นร่างเล็กคนนี้

แนวคิด รวมถึงเจตจำนงของการต่อสู้ของนายหลิว ยังสะท้อนผ่านคำกล่าวรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งยังคงทรงพลังและเป็นบทเรียนให้กับคนที่เดินบนเส้นทางการต่อสู้ด้วยสันติวิธี

“ผมยังคงต้องการพูดต่อรัฐบาลจีน ซึ่งได้พรากเสรีภาพของผมไป ซึ่งผมยืนหยัดด้วยความเชื่อมั่นที่ได้แสดงออกผ่าน “คำประกาศอดอาหารประท้วงครั้งที่สองของเดือนมิถุนายน” เมื่อยี่สิบปีก่อนว่า ไม่เป็นศัตรูและไม่เกลียดชังใคร ไม่มีตำรวจคนใดที่สอดส่อง จับกุมหรือสอบสวนผม ไม่มีอัยการคนใดที่ฟ้องผม และไม่มีผู้พิพากษาคนใดที่ตัดสินคดีว่าเป็นศัตรูของผม แม้ผมไม่มีทางยอมรับการเฝ้ามอง จับกุม ฟ้องร้องหรือตัดสินโทษ แต่ผมเคารพการทำหน้าที่และความซื่อสัตย์ต่อหน้าที่การงานของพวกคุณ”

นี่คือความรักที่อยู่เหนือความเกลียดชังที่นายหลิวยึดถือมาตลอด แม้ต่อให้ต้องพบกับทุกข์ทรมานมากแค่ไหน แต่นายหลิวกลับไม่เกลียดต่อคนที่กระทำกับเขา เพราะเขาเห็นว่าความเกลียดชังมีแต่ทำลายทุกอย่างและเป็นพิษตกค้างต่อขันติธรรมและความเป็นมนุษย์อีกยาวนาน

นับว่าเป็นบุคคลที่แน่วแน่และกล้าหาญ สิ่งเหล่านี้ได้ถูกส่งผ่านไปยังคนหนุ่มสาวและผู้ยึดมั่นในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพโดยไม่ใช้ความรุนแรง แสดงออกมาอย่างทรงพลังยิ่งกว่าอาวุธใดๆ บนโลก

นายหลิวได้สร้างคุณค่าบางอย่างที่ความตายไม่อาจลบเลือนเขาออกจากหน้าประวัติศาสตร์ได้ (ยกเว้นความทรงจำของผู้คนบนจีนแผ่นดินใหญ่ในเวลานี้) ผลงานทางความคิดที่สร้างสรรค์ออกมา จะถูกพูดถึงและนำไปใช้

แม้ตัวจะตายจากไป แต่ผู้คนจะสานต่อเจตจำนงเป็นนิรันดร์ในความทรงจำของผู้คนต่อไป จนกว่าวันนั้นมาถึง วันที่ “หลิวเสี่ยวโป” วาดหวังไว้จะเกิดขึ้น