จากระเบิดในไทยถึงแมนเชสเตอร์ กับข้อเสนอเปิดพื้นที่การเมือง ท่ามกลางความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรง

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

จากเหตุการณ์ระเบิดที่ Big-C ปัตตานี โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ และเหตุการณ์เดียวกันแต่ข้ามทวีปไปที่สนามกีฬา แมนเชสเตอร์ อารีนา ในเมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษ หลังคอนเสิร์ต อาเรียนา แกรนเด ในวันเดียวกัน วันที่ 22 พฤษภาคม 2560

ทั้งสามเหตุการณ์คือการสูญเสียของผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่สาธารณะหรือเป้าหมายอ่อน (Soft Target)

เพื่อสนองเป้าหมายทางการเมืองและอำนาจทั้งในระดับพื้นที่ชายแดนใต้ ศูนย์กลางอำนาจรัฐไทยและอำนาจทุนนิยมโลกที่อังกฤษซึ่งไม่มีความชอบธรรมทั้งหลักศาสนา จริยธรรมสากล กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Humanitarian Law (IHL) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครทั้งสามแห่งมีมุสลิมถูกพาดพิง

ทั้งเป็นผู้ต้องหาที่ระเบิด Big-C ปัตตานี

ถูกกล่าวหาว่าระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เพราะอ้างจดหมายเตือนว่าขบวนการ BRN จะลงมือปฏิบัติการ

และ IS ยอมรับว่าปฏิบัติการที่สนามกีฬา แมนเชสเตอร์ อารีนา ในเมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษ นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อการเหมารวมมุสลิมทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ ประเทศไทยและอังกฤษ ดังที่เราทราบในโลกโซเซียลและรายงานบีบีซีได้กล่าวไว้ในข่าว

(โปรดดูมุสลิมอังกฤษ : เหยื่ออีกกลุ่มจากเหตุระเบิดแมนเชสเตอร์ http://www.bbc.com/thai/international-40045782)

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจสำหรับครอบครัวญาติผู้เสียชีวิต ผู้ได้ผลกระทบไม่ว่าร่างกาย ทรัพย์สิน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือการดำเนินชีวิตเพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายอิสลามนั้นปราชญ์โลกมุสลิมจะรู้จักในนาม (Maqasid al-Shariah) ผดุงไว้ห้าประการหลัก

1.ศาสนา 2.ชีวิต 3.สติปัญญา 4.ทรัพย์สิน 5.เชื้อสาย (ตระกูล)

สำหรับประเทศไทยหลายต่อหลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญในประเทศ กล้องวงจรปิดมักไม่ทำงาน เช่นครั้งล่าสุดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ มีกล้องเสียตั้ง 9 ตัว

นั่นคือปรากฏการณ์ที่เราเห็น แต่สิ่งหนึ่งของทั้งสามเหตุการณ์คือพื้นที่ทางการเมืองที่เห็นต่างทั้งในระดับพื้นที่ชายแดนใต้ ศูนย์กลางอำนาจรัฐไทย และอำนาจทุนนิยมโลกยังมีช่องลมให้หายใจน้อย จึงเป็นโอกาสของผู้แสวงหาอำนาจ ที่จะทำอย่างไรให้อำนาจอีกขั้วสั่นสะเทือน

หรืออาจคิดได้อีกมุมว่า ผู้มีอำนาจอยากคงอำนาจ เพราะสถานการณ์ความรุนแรง ความไม่สงบและการก่อการร้ายอันเป็นใบอนุญาตให้ผู้มีอำนาจใช้ความรุนแรงจัดการ

ในระดับโลกเป็นการต่อสู้ระหว่างทุนนิยมมหาอำนาจโลกกับกระแสอิสลามนิยม

ในระดับประเทศไทยเป็นการต่อสู้ระหว่างอนุรักษนิยมกับประชาธิปไตยเสรีนิยม

ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับการกำหนดใจตนเองภายใต้ชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและศาสนาต่างกัน

อาจารญ์อาทิตย์ ทองอินทร์ จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ทัศนะว่า

“โลกในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะตะวันตก ดำเนินชีวิตอยู่บนสำนึกความเป็นสมัยใหม่ (modernity) …ถูกสร้างขึ้นอย่างคาดหวังว่าจะเป็นสถาบันสำคัญในการทำหน้าที่ดังกล่าว …ตรงนี้เองเป็นรอยต่อที่หลายคนเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่ใช่ทุกเหตุก่อการร้ายที่มุ่งโจมตีโดยตรงต่อสภาวะสมัยใหม่ เพื่อรื้อฟื้นสำนึกยุคก่อนสมัยใหม่ที่ชะตากรรมของมนุษย์ผูกอยู่กับการกำหนดของพระเจ้า เพราะเราจะเห็นว่า เหตุที่เรียกกันว่าการก่อการร้ายหลายครั้งถูกขับดับด้วยความปรารถนาอื่น อาทิ การเรียกร้องเอกราช หรือพูดอีกแบบ คือ การสร้าง “รัฐสมัยใหม่” ของตนเองขึ้นมา เช่น กลุ่ม IRA ของไอร์แลนด์เหนือ หรือใกล้ตัวหน่อยคือ กลุ่ม (ที่ถูกกล่าวหา) BRN ในปาตานี/ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่ถึงแม้ว่ากลุ่มหลังจะแสดงให้เห็นภาษาทางศาสนาอยู่ไม่น้อย แต่เท่าที่มีข้อมูลอยู่ในปัจจุบัน ปลายทางของพวกเขาคือ รัฐสมัยใหม่ อันเป็นลักษณะของรัฐชาติ/รัฐประชาชาติ มิใช่รัฐศาสนา…พูดอย่างกระชับคือ เหตุการณ์การก่อการร้ายหลายครั้งมิได้มุ่งทำลายความแน่นอนตามฐานคติแบบสมัยใหม่ แล้วพาไปสู่ฐานคติชะตาฟ้ากำหนด แต่มุ่งสั่นคลอนสถาบันที่กำลังทำหน้าที่รับประกันความแน่นอนดังกล่าว แล้วเปิดทางไปสู่ความแน่นอนแบบใหม่ที่พวกเขาเชื่อว่าตนจะมีที่ยืนในทางสังคมการเมือง อันเป็นความแน่นอนในโลกนี้ มิใช่โลกหน้า …ทางหนีไฟ จึงขมวดอยู่ตรงนี้ การเปิดกว้างต่อความเป็นไปได้อันมากมาย และสืบค้น ครุ่นคิด พยายามทำความเข้าใจแต่ละกรณีอย่างละเอียดลออ เป็นเรื่องสำคัญเอามากๆ ในขั้นตอนแรก เพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้กับมนุษย์ แม้กระทั่งผู้กระทำความรุนแรงก็ตาม”

(อ่านรายละเอียดเพิ่มใน http://www.deepsouthwatch.org/node/10775)

กล่าวโดยสรุปคือมันเป็นปัญหาการเมือง มันเรื่องการแบ่งสรรอำนาจ

ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาคือ ผู้มีอำนาจ ควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองและฝ่ายต่อต้านต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองด้วยสันติวิธีเช่นกัน

ดังนี้

หนึ่ง ในระดับโลก การเปิดพื้นที่ทางการเมืองอิสลามให้กับขบวนการอิสลามที่ใช้สันติวิธี ซึ่งใช้กระบวนการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นข้อสังเกตว่าจากอดีตนั้น ขบวนการอิสลามเมื่อชนะการเลือกตั้งมักถูกล้มโดยมหาอำนาจร่วมกับคนในชาติที่สูญเสียอำนาจ เช่น ในแอลจีเรีย และอียิปต์ หรือมีความพยายามล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของรัฐบาลตุรกีปัจจุบัน

จากผลพวงดังกล่าวจะทำให้ผลักพื้นที่ให้กับขบวนการสุดโต่งที่อ้างหลักการอิสลามโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

สอง ในระดับประเทศไทย ฝ่ายมีอำนาจเบ็ดเสร็จปัจจุบันต้องให้หลักประกันต่อผู้เห็นต่างกับรัฐไม่ว่านักศึกษา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และขั้วการเมืองเห็นต่างทั้งในและต่างประเทศ มิฉะนั้นจะผลักให้พวกเขาให้ไปอยู่กับแนวคิดสุดโต่งที่จะใช้ความรุนแรงหรือมือที่สามที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์

สาม การเปิดพื้นทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้เห็นต่างจากรัฐทั้งในและต่างประเทศ เพราะมิฉะนั้นก็จะผลักพวกเขาให้ไปอยู่กับขบวนการสุดโต่งหรืออย่างน้อยเป็นแนวร่วมมุมกลับกับรัฐเช่นกัน

ในขณะเดียวกัน ผู้มีอำนาจจะต้องใช้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นมาตรฐานสากล โปร่งใสและตรวจสอบได้ต่อทุกฝ่าย

เพราะหากใช้กระแสสังคมเป็นใบเบิกทางในการจัดการกับศัตรูทางการเมืองแบบนอกกฎหมายก็จะเป็นแรงผลักสู่ความรุนแรงยิ่งขึ้น

เหตุผลการเปิดพื้นที่ทางการเมือง

สำหรับการเมืองระดับชาติและชายแดนใต้

ทําไม…เพราะการเมืองกับความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดำรงคู่กัน

การเมืองคืออะไร การเมืองคือคำถามว่า ใครได้อะไร ได้เมื่อไรและได้อย่างไร ใครที่ตัดสินใจสิ่งเหล่านั้น ชอบหรือไม่ชอบ

การเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง

การเมืองกับความขัดแย้งไม่สามารถที่จะหลีกหนีไปได้การทำให้เป็นการเมืองหรือการต่อสู้ทางการเมืองปรากฏมากขึ้นระดับชาติหรือในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี

ฝ่ายหนึ่งก็บอกว่า ควรจะยุติด้วยการพยายามเอาชนะความเข้าใจผิด จัดการด้วยนิติรัฐ ปรับปรุงระบบการศึกษา รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

ในขณะที่อีกฝ่ายบอกว่า ต้องกลับไปดูว่า อะไรคือบุคลิกภาพของความขัดแย้งทั้งระดับชาติและในพื้นที่ ประเด็นสองมาตรฐาน ความไม่ยุติธรรม ประเด็นความชอบธรรม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการเจรจา การพูดคุยเพื่อปฏิรูปทางการเมือง และหาทางเลือกในการจัดสรรอำนาจ หรือแม้กระทั้งการต้องเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองการปกครองที่เป็นเสรีประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล การแบ่งแยกดินแดน และเอกราช

ขบวนการทั้งหลายที่กำลังเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองนอกประเทศ ในประเทศ ศูนย์กลางอำนาจไทย ชายแดนใต้/ปาตานี เป็นปัญหาหรือเป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออก เพื่อที่จะตอบคำถามอันนี้ขออนุญาตเสนอทางออก ดังนี้

1. การทำให้การเมืองเป็นกระแสโลก เพราะเมื่อเรามองไปยังทั่วโลก การทำให้เป็นเรื่องการเมืองกำลังเป็นกระแส โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบแต่มันเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถที่จะตัดมันทิ้งออกไป

หมายถึง นักวิชาการ นักศึกษา องค์กรต่างๆ เยาวชน กลุ่มสตรี ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ผู้นำศาสนาและทุกภาคส่วน เริ่มมีการถกเถียงประเด็นของการบริหารการปกครอง การปรองดอง

การพูดคุยมากยิ่งขึ้น แนวโน้มตรงนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถที่จะหยุดได้

ดังนั้น ถ้าเรามองในทางบวก การต่อสู้ทางการเมืองจะให้พื้นที่หรือให้ทิศทางแก่คนมากยิ่งขึ้น มีคนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นและหลากหลายขึ้น

สำหรับบางคนที่มองในทางลบ คือ มันคืออุปสรรค มันทำให้แนวโน้มคนคิดเห็นต่างกันเยอะขึ้น จนไปสู่การแบ่งพวกกันมากขึ้น และท้ายสุดคือความแตกแยกของคนในชาติ

2. ทำให้กลุ่มเห็นต่างใช้แนวทางการเมืองเรียกร้อง

แนวโน้มกลุ่มคนบางประเภทใช้การเมืองฝ่ายเดียว ซึ่งจะมีบางคนบางกลุ่มจะใช้สาธารณะในการล็อบบี้ (LOBBY) หรือทำงานทางเมือง ใช้อำนาจอ่อนมากกว่าอำนาจแข็ง

ยกตัวอย่าง ขบวนการต่อต้านในอดีตใช้กองกำลังในการต่อสู้ ใช้กองกำลังในการข่มขู่เพื่อที่จะได้ในสิ่งที่ตัวต้องการหรือเรียกร้อง รัฐก็ใช้กองกำลังสู้กลับ

แต่ถ้าเมื่อไหร่ขบวนการต่อสู้หันมาใช้แนวทางการเมืองมากขึ้น จากที่ใช้อำนาจแข็งมาเป็นอำนาจอ่อน และจะมีการนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ทางการเมืองมากขึ้น

3. ให้รัฐและขบวนการหลายๆ ฝ่ายมีช่องทางระดมสมอง

รัฐและขบวนการเคลื่อนไหวมาจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าเป็นคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคู่ขัดแย้งหรือขบวนการเห็นต่าง ได้มีช่องทางในการระดมสมองว่า ถ้าจะทำให้เกิดความสำเร็จและทำอย่างเป็นขั้นตอน รวมถึงต้องคิดว่า ถ้าหากไม่ประสบความสำเร็จจะรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

4. ยอมรับการสู้กับการเมืองภายในเป็นเรื่องปกติ

จากประสบการณ์ความขัดแย้งหรือกระบวนการสันติภาพทั่วโลกพบว่า ความขัดแย้งภายในกันเอง ความขัดแย้งภายในของรัฐ ความขัดแย้งภายในของขบวนการเคลื่อนไหว เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ที่ศูนย์อำนาจที่กรุงเทพมหานคร พื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีด้วย ซึ่งความขัดแย้งภายในนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและน่าสนใจ คำถามคือว่า จะจัดการปัญหาภายในของแต่ละฝ่ายได้อย่างไร ดังนั้นการยอมรับการสู้กับการเมืองภายในจึงเป็นเรื่องปกติ

5. เราจะสนับสนุนการต่อสู้ด้วยแนวทางการเมืองได้อย่างไร

หลายประเทศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งมีการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการทำโครงสร้างทางการเมืองขึ้นมาเพื่อรองรับการต่อสู้ทางการเมือง

สำหรับชายแดนใต้ เช่น กรณีมาราปาตานีกับรัฐบาลไทยนั้น แม้ว่ามันอาจจะยังมีความไม่แน่นอนหลายอย่าง แต่บทเรียนที่สำคัญคือ ได้เรียนรู้จากกระบวนการพูดคุยที่ผ่านมาว่า จำเป็นที่จะต้องลองหาแนวทางการใช้แนวทางการเมือง เพื่อที่จะแก้ปัญหาในระยะยาว

6. เชิญทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

การใช้แนวทางการเมืองเพื่อรวบรวมทุกฝ่ายให้ได้มากที่สุด จากประสบการณ์กระบวนการสันติภาพทั่วโลกนั้น กระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืนและมั่นคง จำเป็นที่จะต้องเชิญทุกฝ่ายให้มามีส่วนร่วมให้มากที่สุดในกระบวนการสันติภาพนั้นๆ คู่ขัดแย้ง ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

การเปิดพื้นที่ทางการเมืองต่อทุกฝ่ายจะเป็นวิธีหนึ่งและเป็นปัจจัยช่วยบีบกลุ่มสุดโต่ง จนไม่มีที่ยืน และหวังว่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะลดความรุนแรงและสร้างความสันติสุขในพื้นที่ประเทศไทย ชายแดนใต้ ตลอดจนสังคมโลกถึงแม้จะใช้เวลา

หมายเหตุข้อเสนอ 6 ข้อผู้เขียนสรุปและปรับจากทัศนะ

ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอส์ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรสันติภาพ (PRC) หัวข้อ Politicisation of Conflicts : Part of the Problem or Part of the Solution? (การต่อสู้ทางการเมืองในความขัดแย้ง : จะเสริมปัญหาหรือจะสร้างทางออก?) ภายในงานสมัชชาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี 2017 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2560 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อ.เมือง จ.ยะลา

อ่านฉบับเต็มได้ที่

http://www.deepsouthwatch.org/dsj/th/11128