ศัลยา ประชาชาติ : โจทย์ใหม่ “ค่าเงินบาทแข็ง” ผู้ส่งออกผวา-แบงก์ชาติมึน สัญญาณลบสกัด “ส่งออก”

สถานการณ์ค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยอัตราแลกเปลี่ยนปิดตลาดเมื่อ 30 พฤษภาคม ที่ระดับ 34.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากที่เปิดเมื่อต้นปี 2560 อยู่ที่ 35.83 บาทต่อดอลลาร์ โดยแข็งค่าขึ้นถึง 1.71 บาทต่อดอลลาร์

หรือแข็งค่าขึ้นถึง 4.74%

โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวันที่ 26 พฤษภาคม ระหว่างวันมีการปรับตัวแข็งค่าที่ระดับ 34.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ถือว่าเป็นระดับที่ “แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 22 เดือน”

 

แน่นอนว่าสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้กลุ่มผู้ส่งออกนั่งไม่ติด น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ได้แสดงความกังวลการแข็งค่าของเงินบาทว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่าระดับ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าในไตรมาสที่ 4 ที่อาจชะลอออกไป

“สิ่งที่ สทร. เป็นกังวลขณะนี้คือ ถ้าหากค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเรื่อยๆ ผู้ส่งออกอาจจะยังไม่ได้ปิดรายการคำสั่งซื้อสินค้า โดย สรท. จะเข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อรายงานสถานการณ์ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินแข็งค่าขึ้น พร้อมกันนี้อยากให้ ธปท. ช่วยดูว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาหรือไม่ เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วขึ้น”

ขณะที่ นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ตามที่ค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็วในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 พฤษภาคม ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเห็นว่าค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนลงเมื่อเทียบกับเงินทั้งภูมิภาค หลังการเผยแพร่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ชี้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ น่าจะยังอยู่ในแนวทางค่อยเป็นค่อยไป

แต่อีกส่วนหนึ่งของการแข็งค่าของเงินบาทมาจากปัจจัยเฉพาะของไทย

กล่าวคือ ข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางโดยรวมดีขึ้น และการตีความถ้อยแถลงของ กนง. ว่า กนง. มีความพอใจกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่สอดคล้องกับภูมิภาคในช่วงก่อนหน้านี้ และ กนง. ลดความกังวลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ปัจจัยเฉพาะนี้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน

“ธปท. ยังคงจับตาเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้นที่อาจมีความผันผวนสูงและทำให้ค่าเงินบาทผันผวนสูงตาม โดย ธปท. พร้อมที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อลดแรงจูงใจของการนำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้นๆ ซึ่งแหล่งหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้น คือ พันธบัตร ธปท.” นายเมธีระบุ

ที่ผ่านมา ธปท. ได้ลดปริมาณการออกพันธบัตร ธปท. อายุต่ำกว่า 1 ปี เพื่อลดช่องทางที่นักลงทุนต่างชาติจะนำเงินมาลงทุนระยะสั้นๆ ในประเทศไทย ส่งผลให้ยอดคงค้างพันธบัตร ธปท. อายุต่ำกว่า 1 ปีทยอยลดลง และในเดือนมิถุนายนนี้ ธปท. ยังคงมีนโยบายลดยอดคงค้างพันธบัตรระยะสั้นต่อเนื่อง

 

ขณะที่ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ฝากถึงผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า ว่า ให้ระมัดระวังความเสี่ยงเรื่องความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะในอนาคตแนวโน้มความผันผวนเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินเอาไว้

ผู้ว่าการแบงก์ชาติย้ำว่า สถานการณ์ที่มีผลต่อค่าเงินบาทในช่วงนี้ ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องการทำนโยบายการเงินของเฟด ปัญหาความเข้มแข็งทางการเมืองของประธานาธิบดีสหรัฐที่อาจมีผลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่งผลให้สกุลเงินอื่นๆ แข็งค่าขึ้น ไม่เฉพาะกับเงินบาทอย่างเดียว

แม้ว่าตัวเลขการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้จะค่อนข้างสดใสด้วยตัวเลขการเติบโต 5.69% หรือมูลค่า 73,320.7 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสภาผู้ส่งออกยังคาดการณ์ส่งออกทั้งปีเติบโต 3.5% เนื่องจากราคาส่งออกสินค้าของไทยมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ทำให้สินค้ากลุ่มที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก รวมถึงปัจจัยบวกจากปริมาณฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทำให้ผลผลิตทางการเกษตรจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น

แต่ถ้าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น “เร็วและแรง” แบบนี้ก็อาจทำให้ความคาดหวังเรื่องการขยายตัวของส่งออกสะดุดได้

และสิ่งสำคัญก็คือ ผู้ประกอบการต้องรู้จักช่วยตัวเองด้วยการป้องกันความเสี่ยง เพราะจากข้อมูลของ ธปท. พบว่าในปี 2558 โดยรวมมีผู้ส่งออกเพียง 34% เท่านั้นที่มีการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

นี่อาจเป็นสัญญาณลบที่ต้องจับตา และเป็นปัจจัยกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออก ตลอดจนภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2560 ด้วยนั่นเอง