จักรกฤษณ์ สิริริน : มอง Disruptive Generation ผ่าน #เยาวชนปลดแอก

หากเราพิจารณาสถิติจำนวนประชากรโลกประจำปี ค.ศ.2020 จำแนกตามช่วงวัย จากการวิเคราะห์ของเว็บไซต์ Statista จะพบว่าทวีปเอเชียมีจำนวนวัยแรงงานมาก (อายุ 15-49 ปี) ที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น คือ 52.7%

เจาะลงมาที่บ้านเรา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้ประมาณการจำนวนประชากรประจำปี พ.ศ.2563 จำแนกตามช่วงอายุ มีจำนวนวัยแรงงาน (อายุ 15-54 ปี) มากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น คือ 58.71% เช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาจากพีระมิดประชากรไทยประจำปี พ.ศ.2562 จากการสังเคราะห์ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ก็จะเห็นว่าประชากรไทยในช่วงอายุ 35-45 ปีมีสัดส่วนใกล้เคียงกับช่วงอายุ 20-30 ปี มากที่สุด

นั่นหมายถึงว่า Generation Z (เกิดปี ค.ศ.1995-2010 ปัจจุบันอายุระหว่าง 10-25 ปี) กำลังขึ้นมาแทนที่ Generation Y (เกิดปี ค.ศ.1980-1995 ปัจจุบันอายุระหว่าง 25-40 ปี)

และจะกลายเป็นกำลังหลักของสังคมในอีก 10 กว่าปีข้างหน้านี้

 

ความที่ Generation Z เกิดและเติบโตมาในระหว่างปี ค.ศ.1995-2010 ซึ่งตรงกับห้วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือที่เรียกกันว่ายุค Digital

ทำให้ Generation Z มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในโลก Online เป็นส่วนใหญ่

ปี ค.ศ.1995-2010 ของ Generation Z คือยุคทองของ Social Media อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีการค้นหาข้อมูล หรือ Search Engine นำโดย Google ช่วยเปิดพรมแดนความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ให้ Generation Z เป็นอย่างมาก

ลักษณะกว้างๆ ของ Generation Z จึงเป็นคนกลุ่มที่ไม่เชื่อใครหรือเชื่ออะไรง่ายๆ มีการสอบทวนข่าวสาร ผ่านการค้นคว้าหาข้อมูลมาเทียบเคียงอย่างรอบด้าน

และที่สำคัญคือ นอกจากเป็นผู้รับสารแล้ว Generation Z ยังเป็นผู้ส่งสารเองอีกด้วย!

อีกทั้งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ยึดติดกับสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้าน แม้แต่ที่พักอาศัย อย่าว่าแต่การยึดติดตัวบุคคล หากเบื่อ หรือไม่พอใจ ก็ลาออกจากงาน หรือย้ายหอ ย้ายคอนโดฯ กันได้ไม่ยาก

นี่คือ Life Style สำคัญอันหนึ่งของ Generation Z

ดังนั้น การงานอาชีพที่เหมาะกับ Generation Z จึงเป็นประเภท Workation หรือ “ทำงานในวันเที่ยว” ที่สอดคล้องกับวิถีทางแบบ TeleLife หรือ “ชีวิตไม่ติดที่” อย่างขายของ Online การเป็น YouTuber หรืองาน Creative ต่างๆ กระทั่งเล่นหุ้น

การไม่ยึดติดตัวบุคคลของ Generation Z ทำให้ดูเหมือนว่า โดยผิวเผินพวกเขาไม่ค่อยสนใจกฎระเบียบเท่าใดนัก

ทว่าอันที่จริง Generation Z มีความเคร่งครัดกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขเสรีภาพ และการปฏิบัติต่อกันในสังคมอย่างเท่าเทียม

พูดอีกแบบก็คือ Generation Z เป็นคนรุ่นที่เชื่อมั่นในระบบสังคม ตราบใดที่ระบบดังกล่าวไม่สร้าง หรือเกิดขึ้นบนความเหลื่อมล้ำ เพราะแม้จะยึดถืออิสรภาพเป็นสรณะ ทว่า Generation Z ก็ยอมรับกฎเกณฑ์สังคมที่ยุติธรรมอย่างเคร่งครัดเช่นกัน

 

ความที่ Generation Z เกิดและเติบโตมาในระหว่างปี ค.ศ.1995-2010 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า นี่คือยุคทองของ Digital ที่ได้เกิดขึ้นมา และกำลังเข้าไปแทนที่สิ่งต่างๆ บนโลกนี้ นั่นคือ Technology Disruption หรือการที่เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่สิ่งต่างๆ

เพราะทุกวันนี้ Technology Disruption หรือ Digital Disruption ได้สร้างกระแสการ Disruption ให้เกิดขึ้นในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การศึกษา แม้กระทั่งธุรกิจบันเทิง

แปลไทยเป็นไทยก็คือ “ทุกวงการ”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 อันประกอบไปด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทอ และการสาธารณสุข ได้ถูก Digital Disruption หรือ Technology Disruption กันไปแล้วอย่างกว้างขวางและน่าตกใจ!

แน่นอนว่า ไม่ว่าการเกิดขึ้นของระบบ Digital ก็ดี โลก Online ก็ดี Social Media ก็ดี หรือเทคโนโลยีการค้นหาข้อมูลอย่าง Search Engine ไปสอดคล้องกับวิถีของ Generation Z ที่ชอบทำงานแบบ Workation ก็ดี หรือใช้ชีวิตแบบ TeleLife ก็ดี

หรือในทางตรงกันข้าม ทุกสิ่งทุกอย่างในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Digital ก็ดี โลก Online ก็ดี Social Media ก็ดี หรือเทคโนโลยีการค้นหาข้อมูลอย่าง Search Engine ก็ดี อาจเป็นการถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขับเคลื่อนชีวิตของ Generation Z

ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสถิติจำนวนประชากร ทั้งของ Statista ทั้งของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และทั้งของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ว่านี่คือยุคใหม่ของ Generation Z

 

ดังนั้น หากเรากลับไปพิจารณาลักษณะสำคัญของ Generation Z ที่ไม่ยึดติดตัวบุคคล ไม่ยึดติดกับสถานที่ ชอบทำงานแบบ Workation มีวิถีแบบ TeleLife อย่างขายของ Online การเป็น YouTuber หรืองาน Creative ต่างๆ แม้กระทั่งการเล่นหุ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณสมบัติที่ Generation Z ไม่เชื่อใคร หรือเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องมีข้อมูลรอบด้านมายืนยัน เทียบเคียง อย่างรอบด้าน ควบคู่ไปกับความเคร่งครัดกับกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่เท่าเทียม

เราจะพบลักษณะเช่นนี้ในข้อเรียกร้องของกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก ที่ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า คือตัวแทนกลุ่ม Generation Z ที่แม้ #เยาวชนปลดแอก จะมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี ทว่าสามารถกล่าวได้ว่า พวกเขาคือตัวแทน Generation Z ทั่วประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์ที่ #เยาวชนปลดแอก หยิบหนังสือคลาสสิคหลายเล่มมาอ่าน ไม่ว่าจะเป็น Common Sense ผลงานการเขียนของ Thomas Paine หรืองานเขียนของ “นายผี” “จิตร ภูมิศักดิ์” หรือ “ธงชัย วินิจจะกูล” ฯลฯ

Common Sense ของ Thomas Paine ตีพิมพ์ครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ.1775-1776 เคยส่งผลสะเทือนต่อสังคมสหรัฐอเมริกา ยุคที่ยังเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักร และมีอิทธิพลสำคัญในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ.1789

ทุกวันนี้ Common Sense ของ Thomas Paine เป็นหนังสือในรายวิชา Civic Education มัธยมต้นของอเมริกา แน่นอนว่า นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ทุกวันนี้ก็คือ Generation Z หรือ Disruptive Generation ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้

และเมื่อ Generation Z กำลังจะก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนโลกในยุค Technology Disruption หรือ Digital Disruption ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ เราก็คงสามารถเรียก Generation Z ได้ว่าเป็น Disruptive Generation ที่จะมาแทนที่ Generation อื่นๆ

เป็น Disruptive Generation ที่จะมาแทนที่ Generation อื่นๆ เรียงไล่ไปตั้งแต่ The Lost Generation ก็ดี The Greatest Generation ก็ดี The Silent Generation ก็ดี The Baby Boomers ก็ดี Generation X ก็ดี มาจนกระทั่งถึง Generation Y ก็ดี

เป็น Disruptive Generation ที่เหมือนกับที่ Technology Disruption หรือ Digital Disruption กำลังเข้าไปแทนที่สิ่งต่างๆ บนโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน การเงินการธนาคาร การศึกษา แม้กระทั่งธุรกิจบันเทิง ชนิดที่เรียกว่า “ทุกวงการ”

ดังนั้น การเกิดขึ้นของ Generation Z อย่าง #เยาวชนปลดแอก จึงถือเป็น Disruptive Generation เพื่อเข้ามาแทนที่ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาแทนที่ Generation อื่นๆ ทุกสาขาอาชีพ ทุกวงการ ในยุคต่อไปอย่างชัดเจน!