ทำไมเด็กจะนะ ต้องไปร้องถึงทำเนียบรัฐบาลและสภา ?

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด

วันที่ 2 และ 3 กรกฎาคม 2563 สื่อทุกแขนงรายงานข่าวว่า สาวน้อย นางสาวไครียะห์ ระหมันยะ พร้อมกลุ่มตัวแทนเยาวชนและประชาชนในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เดินทางมายื่นหนังสือที่เขียนด้วยลายมือ จำนวน 13 ฉบับ ถึงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นประธาน และถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล

เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะ “ผู้จัดเวที” รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ หลังพบ “ความบกพร่อง” และ “ความไม่ปกติ” ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ดังนี้

มีการว่าจ้างกลุ่มคนที่มีความสามารถในการสื่อสารทำหน้าที่วิทยากรในเวที แต่ไม่มีใครตอบคำถามที่ประชาชนสงสัย

เช่น ธุรกิจปิโตรเคมีจะเกิดขึ้นใน อ.จะนะหรือไม่ โรงงานแต่ละประเภทจะปล่อยน้ำเสียลงทะเลหรือไม่ อีกทั้งยังใช้วิธีสอบถามกลับไปว่า ประชาชนอยากได้อะไรมาทดแทน

มีการใช้อามิสสินจ้าง เช่น น้ำมันพืช น้ำตาล ข้าวสาร มาจูงใจให้ประชาชนไปร่วมเวที โดยแลกกับการมอบชื่อและบัตรประชาชนให้ผู้จัดงาน

จากนั้น ศอ.บต.ได้นำไปอ้างกับรัฐบาลว่า “ชาวจะนะเห็นด้วย” มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมเวที โดยสกัดฝ่ายเห็นต่างออกไป

อีกทั้งยังกำหนดให้เฉพาะประชาชนใน 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ, ตลิ่งชัน และสะกอม เข้าร่วมเวที 11 กรกฎาคม 2563 ณ โรงเรียนจะนะวิทยา ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนอายุ 17 ปี เด็กน้อยลูกชาวประมงบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบุสตานุดดีน (ปอเนาะครูหมูด บ้านจะโหนง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา) ก่อนหน้านี้ 12 พฤษภาคม 2563 ร่วมกับพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อส่งถึง ศอ.บต. และคณะรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ ในวันที่ 14-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลาบังคับใช้กฎหมายพิเศษในวิกฤตโควิด-19 และถูกออกแบบมาจำกัดผู้เข้าร่วม ทั้งเพื่อการป้องกันโควิด-19 และไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงขอให้ทบทวนโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า

ครั้งนั้นไครียะห์พร้อมแม่และชาวจะนะอีก 2 คน ปักหลักค้างคืนรอคำตอบอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา จนเวทีวันนั้นต้องถูกยกเลิก

กล่าวคือ 13 พฤษภาคม ศอ.บต.ออกประกาศเลื่อนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นด้วยนิคมอุตสาหกรรมจะนะออกไป แต่จะจัดอีกครั้ง (11 กรกฎาคม) เนื่องจากมีประชาชน องค์กรภาคประชาชน องค์กรภาคเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ต่างแสดงความห่วงใยต่อการรับฟังความคิดเห็นผ่านรูปแบบการแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาที่อาจจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

และช่วงคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ถือศีลอดเดือนรอมฎอน

แต่ยังสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์และส่งหนังสือแสดงความเห็นไปยัง ศอ.บต.ได้

อย่างไรก็แล้วแต่ ไครียะห์กล่าวหลังจากทราบประกาศการเลื่อนดังกล่าวในวันนั้นว่า “หนูก็ยังรู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี เขาแค่เลื่อน ไม่ได้ยกเลิก โครงการถูกอนุมัติมาแล้ว แต่เพิ่งมารับฟังความคิดเห็น อยากให้ผู้ใหญ่ทบทวนกระบวนการโครงการอีกครั้ง”

แม้ว่าวันนี้จะได้กลับบ้าน แต่ยังยืนยันว่าจะยังคงต่อสู้ต่อไป จะยังคงติดตามสถานการณ์ประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพราะยังคงมีความกังวลอยู่ จนทำให้ไครียะห์ขึ้นมากรุงเทพมหานคร (ทำเนียบรัฐบาลและสภา) วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2563

ผู้เขียนได้เสวนาร่วมกับเจ้าของโรงเรียน โดยท่านและผมเห็นตรงกันว่า

“การต่อสู้ของไครียะห์ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนบุสตานุดดีน อำเภอจะนะ ซึ่งคนในพื้นที่เรียกว่าปอเนาะ ที่เปิดสอนหลักสูตรศาสนาอิสลามและสามัญศึกษาภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ สะท้อนว่าวงการศึกษาได้ผลิตเยาวชนให้เป็นคนดี คนเก่ง กล้าคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ สอดคล้องกับปรัชญาการศึกษาศตวรรษที่ 21 อีกทั้งสามารถผลิตนวัตกรรมด้านประชาธิปไตยที่กินได้”

จากผลงานเชิงประจักษ์ของไครียะห์ในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นผลผลิตของเด็กปอเนาะบ้านๆ จนก้าวสู่นักเรียกร้องสิทธิระดับชาติที่สั่นสะเทือนผู้มีอำนาจ

กล่าวโดยสรุป การที่เด็กจะนะตัวน้อยกับพี่น้องชนบทต้องไปร้องถึงทำเนียบรัฐบาลและสภา สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ ยิ่งรัฐหวงอำนาจเตะถ่วงการกระจายอำนาจมากเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ วังวนคนชนบทจะไปร่วมประท้วงเรียกร้องสิทธิที่กรุงเทพมหานครก็มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างปีศาจให้ฝ่ายเห็นต่างซึ่งจะกระทบกระบวนการสันติภาพในที่สุด

วันที่ 15 พฤษภาคม 2563 พลันที่ ศอ.บต.ออกมาถอยหนึ่งก้าวก็มีกลุ่มที่หนุนโครงการนี้ออกมายื่นหนังสืออ้างเสียงชาวบ้านเช่นกันให้เดินหน้าโครงการนี้ต่อ โดยยื่นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรื่องขอเปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้านก่อนว่าจะเดินหน้าหรือยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ซึ่งกลุ่มนี้มั่นใจว่าเจ้าของพื้นที่ตัวจริงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการพัฒนา สร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่

20 มิถุนายน 2563 ศอ.บต.ประกาศจะส่งบัณฑิตอาสา เด็กในพื้นที่จะนะ จังหวัดสงขลา (ลูกหลานชาวบ้าน) ลุยประชาสัมพันธ์ว่าพร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ถึงแนวทางการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมนี้ (โปรดดู http://www.sbpac.go.th/?p=57388)

ตลอดเดือนมิถุนายน หลังวันอีดมีการทำกระบวนการขายฝันชาวบ้านให้ลงหุ้นลมในโรงไฟฟ้าชุมชนโดยนักธุรกิจหนุ่มมุสลิมเดินสายพบกับผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและผู้นำชุมชนหาสมาชิกโดยต่อรองให้รับโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมนี้ไปก่อน

นอกจากนี้ นักวิชาการในพื้นที่ได้ตั้งข้อสังเกตจนนำไปสู่การอภิปราย ส.ส.ในสภาว่า รัฐใช้สื่อโซเชียลทั้งเว็บไซต์และเพจไอโอ IO (การปฏิบัติการสารสนเทศ) กล่าวหาคนเห็นต่างจากรัฐว่าเป็นภัยความมั่นคง รวมทั้งในโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมนี้ด้วย

หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมขบวนการ BRN

ให้ทัศนะว่า “เปลืองภาษีเราอีกแล้ว ขอ ส.ส.ช่วยตัดงบฯ ให้เหี้ยนเลยครับ

เพจไอโอในชายแดนใต้มีหลายเพจ ล้วนทำหน้าที่โดยบุคลากรที่รับเงินเดือนหลวงจากภาษีของเรา เผลอๆ จะใส่ชุดฟิตคับสีเขียวติดแถบติดดาวด้วย ค่าไฟค่าเน็ตก็งบประมาณ

ไอโอมีภารกิจทำลายฝ่ายตรงข้าม ใช้ทุกวิชามารเพื่อมุ่งเป้าหมาย เชื่อมโยงมั่ว ใส่สีใส่ไข่ สร้างขั้วแตกแยก

ช่วงพิจารณา พ.ร.บ.งบฯ ปี 2564 ท่าน ส.ส.ควรจะตัดงบฯ ไอโอ งบฯ ลับให้หมด เสียดายภาษีประชาชนครับ”

ความเป็นจริงคนที่โดน IO ถูกโจมตีจากชายแดนภาคใต้ไม่เพียงแต่หมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แต่ไม่ว่านักสิทธิมนุษยชน อย่างคุณพรเพ็ญ คุณอังคณา นีละไพจิตร คุณอัญชนา หีมมีนะ คุณสมชาย หอมละออ คนเห็นต่างจากรัฐ อย่างอาเต็ฟจาก Permas คนเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่างนายตูแวดานียา ตูแวแมแง นักการเมืองใหญ่อย่างอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา นักการเมืองเล็กอย่างทวีศักดิ์ และคนทำการศึกษาจากสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนภาคใต้ (สอนศาสนาและปอเนาะ) อย่างนายขดดะรี บินเซ็น นายมูฮำหมัดอายุป ปาทาน อดีตประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เป็นต้น ก็โดน

ที่สำคัญคนเหล่านี้ยังเป็นคนทำงานภาคประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ และบางคนอยู่ในคณะทำงานประสานงานการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขที่รัฐแต่งตั้ง

การสร้างปีศาจให้ฝ่ายเห็นต่างจากรัฐในรูปแบบนี้จะกระทบกระบวนการสันติภาพในที่สุด