คณิต ณ นคร | เมื่อประธานชมรมข้าราชการอัยการบำนาญ ส่งสารถึงอัยการสูงสุด (2)

1.การทำความเข้าใจกฎหมายในทางทฤษฎีกับนักกฎหมายไทย

ก่อนที่ผู้เขียนจะไม่ได้เป็นผู้บรรยายสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาอีกต่อไปดังกล่าวมาแล้วนั้น ในสมัยแห่งการสอบไล่สมัยที่ 66 สอบวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2557 หลังสมัยการสอบดังกล่าวมา ผู้เขียนก็ได้ออกข้อสอบเกี่ยวกับ “ศาลพิจารณา” (Trial Court) อีกครั้งหนึ่ง โดยมีคำถามดังนี้

คำถาม

คดีอาญาเรื่องหนึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ศาลจังหวัดบัวใหญ่ แต่พยานบุคคลในคดีนี้ซึ่งมีอยู่ 4 ปาก และเป็นประจักษ์พยานต่างมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่ศาลจังหวัดนนทบุรีทั้งสิ้น คดีนี้พนักงานอัยการเห็นว่าตามลักษณะของความผิดและความรู้สึกของประชาชนเป็นคดีที่มีความสำคัญ พนักงานอัยการจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดบัวใหญ่ออกหมายเรียกพยานทุกคนให้มาให้การต่อศาลจังหวัดบัวใหญ่ซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ศาลจังหวัดบัวใหญ่ไม่อนุญาตแต่สั่งให้ส่งประเด็นไปสืบพยานทั้ง 4 คน ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ตามแนวทางที่เคยปฏิบัติกันมา

จำเลยในคดีดังกล่าวนี้แถลงต่อศาลจังหวัดบัวใหญ่ว่าจะขอตามประเด็นไปฟังการสืบพยานที่ศาลจังหวัดนนทบุรีด้วย

พนักงานอัยการแถลงว่า การส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลจังหวัดนนทบุรี เสี่ยงต่อการหลบหนีของจำเลย กรณีจึงเป็นภาระที่หนักของราชการฝ่ายราชทัณฑ์

ดั่งนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจังหวัดบัวใหญ่ ท่านจะดำเนินการอย่างไรจึงจะชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ธงคำตอบ

ทางปฏิบัติที่มีการส่งประเด็นไปสืบพยานบุคคลที่กระทำกันอยู่และกระทำกันตลอดมานั้น เป็นการกระทำไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพราะศาลจังหวัดบัวใหญ่เป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) เป็นศาลที่ในที่สุดก็จะต้องเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(6) ศาลต้องให้เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การที่ศาลจังหวัดบัวใหญ่ซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ไม่ได้รับฟังคำให้การพยานด้วยตนเองนั้น ศาลจังหวัดบัวใหญ่ซึ่งเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ย่อมไม่มีหลักหรือศาสตร์ใดๆ ในการให้เหตุผลในการพิจารณาพิพากษาทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคดี ทั้งทางปฏิบัติที่กระทำกันอยู่และกระทำกันตลอดมานั้น ยังเป็นการก่อปัญหาความปลอดภัยของราชการฝ่ายราชทัณฑ์อีกด้วย

ดังนั้น ศาลจังหวัดบัวใหญ่จึงชอบที่จะดำเนินการตามคำร้องของพนักงานอัยการจึงจะชอบด้วยหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อสอบเกี่ยวกับการปฏิรูป “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ที่ผู้เขียนได้นำเสนอติดๆ กันนี้ กรณีเรียกได้ว่าผู้เขียนเป็นคนไม่รู้จัก “หลาบจำ” แล้วจะให้เลือกเป็นข้อสอบได้อย่างไรกัน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงใคร่ขอสรุปต่อไปอีกว่า การทำตนในทำนองการเป็น “การสอนหนังสือสังฆราช” ในบ้านเรานั้น เป็นเรื่องที่ยากมากๆ

เพราะนักกฎหมายของเราส่วนมากติดยึดกับทางปฏิบัติ โดยไม่พิจารณาถึงหลักวิชาการกันเลยแม้แต่น้อย ผลที่เกิดตามมาจึงเกิดกับผู้เขียน กล่าวคือ ผู้เขียนอดเป็นผู้บรรยายของ “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” ไปเลย

เกี่ยวกับการไม่ได้เป็นผู้บรรยายดังกล่าวมานั้น สำหรับผู้เขียนเองแล้วผู้เขียนไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เพราะก่อนที่สำนักอบรมฯ ไม่เชิญผู้เขียนให้เป็นผู้บรรยายอีกต่อไปอีกนั้น ผู้เขียนก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยายในแต่ละปีเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น

ซึ่งต่างกับในระยะต้นที่ผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บรรยายตลอดปีการศึกษาเลยทีเดียว

2.การจัดการศึกษากฎหมายในประเทศไทย

ก่อนที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงเรื่อง “ศาลพิจารณา” (Trial Court) และเรื่องอื่นๆ ที่ประสงค์จะกล่าวต่อไปในบทความนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำเสนอเกี่ยวกับการจัดการศึกษากฎหมายในประเทศไทยเราบ้าง ว่าเป็นอย่างไร

การจัดการศึกษากฎหมายในบ้านเมืองเรานั้น อาจกล่าวได้ว่า เรามีสถาบันการศึกษากฎหมายสองลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ โดยเรามีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย และเรามีสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เรามี

(1) สถาบันการศึกษากฎหมายในทางวิชาการ และ

(2) สถาบันการอบรมศึกษากฎหมายในทางวิชาชีพ

การเกิดขึ้นของสถาบันการศึกษากฎหมายในทางวิชาการ คือ “คณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทั้งหลาย” และ “สถาบันการอบรมศึกษากฎหมายในทางวิชาชีพ” หรือ “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” นั้น

กล่าวได้ว่าเราลอกเลียนรูปแบบมาจากประเทศอังกฤษ

เพราะในอดีตนักกฎหมายของไทยเราที่จบการศึกษากฎหมายจากต่างประเทศนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ดังจะเห็นได้จากผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในอดีต ล้วนเป็นผู้จบกฎหมายจากประเทศอังกฤษแทบทั้งสิ้น

ยกเว้น ท่านศาสตราจารย์ ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ ซึ่งจบจากประเทศเยอรมนี และศาสตราจารย์ ดร.อำนรรฆ คล้ายสังข์ ซึ่งจบจากประเทศฝรั่งเศส

เกี่ยวกับการศึกษากฎหมายในประเทศอังกฤษนั้น เขามีการศึกษาในมหาวิทยาลัยทั้งหลายเป็นปฐมเช่นเดียวกับในประเทศไทยเรา

ผู้ที่สำเร็จการศึกษากฎหมายจากมหาวิทยาลัยทั้งหลายในประเทศอังกฤษก็จะได้รับปริญญา Bachelor of Laws, Mater of Laws และ Doctor of Laws

ส่วนการศึกษาเพื่อรับเรียกเป็น Barrister-at-Law หรือ “เนติบัณฑิต” ในประเทศอังกฤษนั้น เป็นการศึกษาใน Inns of Court ต่างๆ คือ Lincoln”s Inn, Gray”s Inn, the Inner Temple, และ the Middle Temple

ตัวอย่าง

ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร สำเร็จจาก Gray”s Inn และพระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์) สำเร็จจาก the Inner Temple เป็นต้น

การศึกษาเพื่อรับเรียกเป็น Barrister-at-Law ของประเทศอังกฤษนั้น จะเป็นการศึกษากฎหมายที่เน้นหนักไปในทางปฏิบัติ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการศึกษากฎหมายในบ้านเมืองเรานั้น ก็เป็นการศึกษาทำนองเดียวกับประเทศอังกฤษโดยแท้นั่นเอง

กล่าวคือ เรามีสถาบันการศึกษากฎหมาย 2 ลักษณะ คือ

(1) เรามีคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยทั้งหลาย และผู้ที่สำเร็จการศึกษาก็จะได้ปริญญาทางกฎหมายในชั้นปริญญาตรีถึงปริญญาเอกทางกฎหมาย หรือสำเร็จเป็น “นิติศาสตรบัณฑิต” เป็น “นิติศาสตรมหาบัณฑิต” และเป็น “นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต” และ

(2) เรามี “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” ทำนองเดียวกับ Inn of Court ของประเทศอังกฤษ

แต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษากฎหมายจาก “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” นั้น จะเป็น “เนติบัณฑิต” ได้ ก็ต่อเมื่อ “เนติบัณฑิตยสภา” ยอมรับเป็น “สามัญสมาชิก” แห่งเนติบัณฑิตยสภาแล้ว

ในด้าน “การจัดการศึกษากฎหมาย” ของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย กับ “การจัดการศึกษากฎหมาย” ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภานั้น ก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ

– ในคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทั้งหลายก็จะศึกษาเน้นหนักในทางทฤษฎี

– ส่วนการศึกษาของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาก็จะศึกษาเน้นหนักในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะศึกษาเน้นหนักไปที่การทำความเข้าใจคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลัก จนอาจเรียกกันได้กระมังว่า เป็นการศึกษาให้จำคำพิพากษาของศาลฎีกา

เมื่อผู้เขียนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งกรุงบอนน์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กลับมาเมื่อต้นปี 2520 นั้น ผู้เขียนก็ได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์พิเศษในปีการศึกษา 2520 ทันที โดยเป็นอาจารย์พิเศษในชั้นปริญญาโท ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แล้วต่อมาในปี 2524 ผู้เขียนได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์พิเศษในชั้นปริญญาโท ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และต่อมาผู้เขียนได้รับเกียรติให้เป็นผู้จัดการเรียนการสอนในชั้นปริญญาตรีในลักษณะวิชา “กฎหมายอาญาภาคความผิด” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มในปีการศึกษา 2521

การเรียนการสอนของผู้เขียนในสถาบันการศึกษาทั้งสองแห่งดังกล่าวนั้น เป็นการเรียนการสอนในลักษณะวิชากฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นการเรียนการสอนที่ผู้เขียนเน้นในทางทฤษฎี ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะวิชาในชั้นปริญญาตรีหรือปริญญาโท

และแล้วต่อมาเมื่อปีการศึกษา 2528 ผู้เขียนก็ได้รับเกียรติให้เป็นผู้บรรยายวิชา “กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา” ของ “สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” และเป็นการบรรยายตลอดปีการศึกษาทีเดียว

ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้ใช้ความรู้ที่ทางราชการกำหนดแนวทางให้ผู้เขียนไปเรียนต่อ ณ ต่างประเทศให้เกิดประโยชน์แก่สังคม


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่