Fit To Travel Certificate : ก้าวต่อไปของนโยบายรัฐบาล ข้อมูลจาก กต.-สธ. และสิทธิของพลเมืองไทย

ที่ผ่านมามีแรงงานไทยตามชายแดนจำนวนมากไปทำงานในมาเลเซียเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ ขณะนี้มีโรคระบาด COVID-19 และเศรษฐกิจในมาเลเซียมีปัญหาการจ้างงานต่าง ๆ ลดลง แรงงานส่วนหนึ่งจึงต้องการกลับบ้าน

ภายในประเทศไทยเอง การระบาดของ COVID-19 เป็นภัยทางความมั่นคง รัฐบาลพยายามป้องกันและควบคุมโรคในทุก ๆ วิถีทาง หนึ่งในวิธีการ คือ การยกเลิกการเข้าเมืองของคนต่างชาติ และ ชะลอการกลับเข้าประเทศของคนไทยจากประเทศที่มีการระบาดของโรค โดยการกำหนดให้คนไทยต้องมีเอกสาร Fit To Travel

สถานการณ์การระบาดของโรคนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ข้อกำหนดนี้จึงควรได้รับการทบทวนอย่างจริงจังว่ายังคงเหมาะสมสำหรับสถานการณ์หรือไม่ ทั้งด้านเหตุผลทางการแพทย์ คือ ความปลอดภัยหรือความสมบูรณ์ทางสุขภาพของผู้เดินทาง และความปลอดภัยของประชาชนภายในประเทศจากการระบาดของโรค ตลอดจนสิทธิความเป็นพลเมืองไทยของผู้เดินทาง และ หลักแห่งมนุษยธรรมที่จะต้องช่วยเหลือผู้ยากไร้

ประการแรกความปลอดภัยทางสุขภาพของผู้เดินทางเอง

IATA (International Air Transport Association) กำหนดว่าสายการบินอาจจะขอให้ผู้โดยสารที่สายการบินไม่แน่ใจว่าควรจะให้ขึ้นเครื่องหรือไม่ แสดงใบรับรองแพทย์ที่เรียกกันว่า Fit To Fly เพราะสภาพต่าง ๆ ในอากาศยานไม่เหมือนบนพื้นดินสรีรวิทยาของผู้โดยสารจะไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตาม สายการบินอาจจะจัดเตรียมความพร้อมพิเศษสำหรับผู้เดินทางที่ไม่แข็งแรงภายใต้คำแนะนำของแพทย์เป็นราย ๆ ไป

กรณีของ COVID-19 นั้น IATA แนะนำให้สายการบินต่าง ๆ ปฏิบัติตามนำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการจัดการป้องกันปัญหาการระบาดของโรคและการจัดการกับผู้โดยสารที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ ทั้งในอากาศยานและสนามบิน แต่ก็ไม่ได้ระบุห้ามผู้ติดเชื้อเดินทาง

สายการบินเป็นบริษัทเอกชน มีสิทธิที่จะรับหรือปฏิเสธที่จะให้บริการแก่ผู้โดยสารบางคนได้ด้วยเหตุผลอันสมควร

แต่การผ่านแดนจากมาเลเซียเกือบทั้งหมดเป็นการเดินทางทางบก ใช้รถยนต์ รถไฟ เดินเท้า หรือ ทางเรือ มีเหตุผลทางการแพทย์น้อยมาก ที่จะต้องกังวลว่าสรีรวิทยาของผู้เดินทาง ปัญหาหลักคือ ปัญหาทางระบาดวิทยา

รัฐบาลจึงควรเปลี่ยนคำว่า Fit To Travel ซึ่งผมยังไม่พบว่ามีที่ไหนเขาใช้กันเป็น Certificate of SARS CoV-2 test หรือผลการตรวจหาเชื้อนี้ให้ชัดเจนไปเลย

 

ผลการตรวจในต่างประเทศจะเชื่อถือได้ไหม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ลงนาม แต่ขึ้นกับวิธีการเก็บตัวอย่างและคุณภาพของห้องทดลอง รัฐบาลไทยต้องกำหนดว่าวิธีการตรวจต้องดำเนินการตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก เช่น ต้องเก็บตัวอย่างจาก nasopharynx หรือ ล้วงเข้าไปด้านหลังของโพรงจมูก ต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ไม่ใช่ตรวจเลือดหาแอนตี้บอดี้หรือ Rapid test นอกจากนี้ห้องแล็บต้องผ่านมาตรฐานของชาติ

ถ้าผ่านการตรวจที่มาตรฐานแล้วให้ผลลบจะเชื่อใจได้ไหมว่าไม่ติดเชื้อ เชื่อไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเชื้ออาจจะเข้าไปในร่างกายและยังไม่เพิ่มจำนวนพอที่ตรวจพบได้ อย่างไรเสียเมื่อผ่านด่านมากแล้วก็ต้องกักตัวที่ทางราชการกำหนด 14 วัน

ถ้าตรวจแล้วพบว่ามีเชื้อ ควรจะให้อยู่ในต่างประเทศไปก่อน หรือ กลับมาดูแลรักษาในประเทศไทยในฐานะที่เป็นคนไทย เรื่องนี้สุดท้ายแล้ว ต้องไปถามศาลปกครอง แต่ก่อนถึงจุดสุดท้าย ขอให้แง่คิดทางระบาดวิทยา

ในมุมมองทางระบาดวิทยา สถิติผลการตรวจเชื้อของคนไทยที่กำลังขอเข้าประเทศสำคัญมาก ถ้าสถิติพบว่าสัดส่วนของคนไทยเหล่านี้ติดเชื้อไม่มาก คนไทยที่ต้องการเดินทางเข้าไม่มาก และสาธารณสุขไทยพอรับไหว ก็ควรที่จะให้กลับมาตรวจที่เมืองไทยเสียเลย โดยไม่ต้องเสียเงินเสียเวลารอ และไม่แน่ใจกับคุณภาพของใบรับรองแพทย์ ไม่ว่า Fit To Travel ที่หลอก ๆ หรือผลการตรวจทางแล็บที่ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม การเดินทางทางบกก็ต้องมีมาตรฐานป้องกันการแพร่เชื้อเหมือนที่เราทำในประเทศไทย

ถ้าคนไทยในต่างประเทศติดเชื้อมาก และต้องการเดินทางเข้ามามาก ระบบสาธารณสุขชายแดนไทยรับไม่ไหว เราจะทำอย่างไร? ก็ต้องดูกำลังสำรองทางสาธารณสุขรอบใน ว่าพร้อมรับหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องว่ากันต่อไป

 

สรุปสั้นๆ

1. เอกสาร Fit To Travel ที่รัฐบาลกำหนดควรยกเลิก เปลี่ยนเป็นผลการตรวจห้องแล็บด้วยมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกแทน
2. สถานเอกอัครราชทูตและกงสุลต้องเก็บสถิติผลการตรวจว่าอัตราพบเชื้อของคนไทยในต่างประเทศเป็นอย่างไร แจ้งต่อสื่อมวลชนพร้อม ๆ กับรัฐบาล
3. กระทรวงสาธารณสุขประเมินความพร้อมในการรับคนไทยกลับโดยทางบก ของระบบสาธารณสุขในเขตชายแดน และในเขตรอบในถัดมาว่าพร้อมรับผู้ป่วยมากน้อยเพียงไร
4. รัฐบาลนำข้อมูลทั้งสองส่วนมาประมวลเพื่อทบทวนนโยบายการรับคนไทยกลับจากต่างประเทศในทางบก
5. พลเมืองไทยอาจจะร้องศาลปกครอง หากรัฐไม่สามารถชี้แจงเหตุผลในการดำเนินการที่พลเมืองเห็นว่าไม่สมควร