จิ๋วเล่าเรื่องป๋า (5) : ที่มาที่ไปสู่คำสั่ง 66/2523

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ บุญกรม ดงบังสถาน เรียบเรียง

ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต่อเนื่องถึงต้นรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปัญหาได้เกิดในองค์กรโคมินเทินหรือคอมมิวนิสต์สากล

เมื่อได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนความสัมพันธ์ของโคมินเทินอยู่ในระดับที่ดีมาตลอด

ความขัดแย้งนี้ปะทุรุนแรงขึ้นหลังจากเวียดนามได้ขยายอิทธิพลเข้ามาในลาวและกัมพูชา ในกัมพูชาคอมมิวนิสต์สายเวียดนามได้โค่นรัฐบาลเขมรแดงที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนลงแล้วสถาปนาอำนาจรัฐใหม่

การขยายอิทธิพลของเวียดนามซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต ทำให้จีนเห็นว่าเป็นอันตรายต่อจีนเอง ขณะเดียวกันก็จะทำให้จีนถูกลดบทบาทลงและคอมมิวนิสต์สายอื่นก็จะหันไปพึ่งพาโซเวียตและเวียดนาม

อย่างที่ผมได้กล่าวในตอนต้นว่า รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้อาศัยสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ส่งผู้แทนไปคุยกับจีน โน้มน้าวขอให้จีนขจัดอิทธิพลเวียดนามที่กำลังขยายในภูมิภาคนี้และยุติการให้ความช่วยเหลือ พคท.

ซึ่งผลก็เป็นอย่างที่ไทยเสนอ เกิดสงครามสั่งสอน จีนยุติให้ความช่วยเหลือ พคท.ลง

เมื่อ พล.อ.เปรมเข้ามาเป็นนายกฯ ช่วงต้นปี พ.ศ.2523 รัฐบาลและกองทัพได้อาศัยสถานการณ์ความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นกับ พคท.และความขัดแย้งของคอมมิวนิสต์สายจีน โซเวียต เวียดนาม ด้วยการรุกทางยุทธศาสตร์อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ พคท.ได้ทันตั้งตัว

และเพื่อให้เกิดความเอกภาพทางความคิดของเจ้าหน้าที่ เข้าใจในทิศทางและเข็มมุ่งในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ จึงเกิดคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์

หรือเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ได้ใจความว่า คำสั่ง 66/23 เป็นยุทธศาสตร์ต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์

 

เมื่อก่อนการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์เราใช้มาตรการทางทหารเป็นด้านหลัก แต่ไม่ได้ผล ยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ยิ่งโต โดยมีการขยายเขตงานเพิ่มมากขึ้นทั่วทุกภาคของประเทศ การปะทะสู้รบด้วยอาวุธระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) มีขึ้นแทบทุกวัน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียด้วยกันทั้งสองฝ่าย

และคนที่บาดเจ็บล้มตายก็หาใช่ใครอื่น ล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น

พล.อ.เปรมสมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ท่านได้ริเริ่มการนำนโยบายการเมืองนำทหารมาใช้อย่างได้ผล สามารถลดความหวาดระแวง สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้นจนออกมามอบตัวอยู่กับลูก-เมียและทำมาหากินได้อย่างเป็นปกติสุข

ที่ชาวบ้านเข้าป่าร่วมกับ พคท.นั้นไม่ใช่เพราะศรัทธาอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่เพราะความยากจน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกดขี่ข่มเหงจากเจ้าหน้าที่รัฐบ้าง นายทุน ผู้มีอิทธิพลบ้าง ทำให้เขาอยู่ไม่ได้จึงต้องเข้าป่าจับปืน

ซึ่งถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ชาวบ้านที่เข้าป่าไปร่วมกับ พคท.ก็จะวางอาวุธออกมามอบตัว ไม่มีใครหรอกครับที่จะไปทนลำบากอยู่ในป่าในเขา พรากจากลูก-เมีย แถมยังอันตรายด้วยถ้าเขามีทางเลือกที่ดี

ในตอนนั้นเรายังใช้แนวทางเดิมๆ ในการเอาชนะคอมมิวนิสต์ คือมาตรการทางทหารปราบปราม แต่ไม่ได้ผล ยิ่งปราบคอมมิวนิสต์ก็ยิ่งโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ส่งผลให้นักศึกษา ปัญญาชนกว่า 3,000 คนเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ทำให้ พคท.มีทั้งกำลังพลและอาวุธทางปัญญามากขึ้น

เพราะคนเหล่านี้อยู่ในวัยหนุ่มสาว มีสติปัญญา ความรู้ อีกทั้งหลายคนยังเป็นบุตรหลานข้าราชการ พ่อค้าวาณิช ผู้มีอันจะกิน ทำให้รัฐบาลถูกเกลียดชังจากผู้ปกครองของนักศึกษาเหล่านี้

และดีไม่ดีคนเหล่านี้ก็จะเป็นแนวร่วมมุมกลับของ พคท.เสียอีก

 

เมื่อ พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีโดยที่ท่านยังเป็นผู้บัญชาการทหารบกอีกตำแหน่งหนึ่ง จึงคิดหาแนวทางใหม่ในการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยเอาประสบการณ์สมัยเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 มาเป็นบทเรียน

ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.เปรมได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาหาแนวทางใหม่ขึ้นมา 24 คน มี พล.ท.หาญ ลีนานนท์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธาน และผมซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบกยศพลตรีเป็นรองประธาน

และเป็นหัวหน้าคณะทำงานร่างคำสั่ง 66/23 ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 4-5 คน

เราได้ศึกษาค้นคว้าอย่างกว้างขวาง อ่านตำรับตำราเกี่ยวกับ พคท. ลัทธิคอมมิวนิสต์ ความคิดของเหมาเจ๋อตุงและอื่นๆ อย่างหนัก ในสารนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง เล่มแรก หน้าแรก เขียนไว้ว่า การจะปฏิวัติสังคมใดสังคมหนึ่งไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ได้ต้องผ่าน 3 ขั้นตอน คือ การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย การปฏิวัติสังคมนิยม และการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ ซึ่งสังคมที่จะปฏิวัติไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ได้ต้องเป็นสังคมเผด็จการ โดยต้องปฏิวัติสังคมเผด็จการไปสู่ขั้นตอนแรกก่อน คือปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย

ดังนั้น จึงมีคำกล่าวกันว่า เผด็จการแพ้คอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์แพ้ประชาธิปไตย

เมื่อได้ศึกษาแล้วจึงได้ข้อสรุปแนวทางใหม่คือการเมืองนำทหาร ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน นำบ้านเมืองไปสู่ประชาธิปไตย เมื่อได้แนวทางแล้วเราจึงได้ร่างหลักการเสนอ พล.อ.เปรมในฐานะผู้บัญชาการทหารบก

ในตอนนั้นท่านเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก อำนาจบริหารและการควบคุมกองทัพได้รวมศูนย์อยู่ที่ตัวท่าน ถ้า พล.อ.เปรมเห็นชอบ ทุกอย่างก็ง่ายหมด ไม่ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน

แต่เพื่อความรอบคอบ พล.อ.เปรมได้ส่งเรื่องให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พิจารณากลั่นกรองอีกที

ดังที่คุณประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการ สมช.ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “โลกสีขาว” ดังนี้

 

คําสั่ง 66/23 เมื่อร่างกันมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ป๋าเปรมบอกว่าต้องผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติก่อนถึงจะเซ็น จึงมีการเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หลายคนเห็นตรงกันว่าอันนี้คงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะลดปัญหาความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

ป๋าเปรมซึ่งเป็นนายกฯ เอามาให้ผมดูก่อน ซึ่งตอนนั้นผมเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เสร็จแล้วผมก็เขียนด้วยลายมือ ถ้ามีหลักฐานอยู่จะเห็นเลยว่าผมเขียนด้วยลายมือโดยได้ให้ความเห็นว่า

ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบแล้วก็มีความเห็นว่า แนวทางนี้เป็นแนวทางใหม่ที่น่าจะเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ข้อความที่ผมเขียนอย่างนี้ จำได้เลย ถ้า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นชอบด้วย กระผมก็เห็นว่าน่าจะทำให้การแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ในประเทศในแนวทางใหม่อย่างนี้ดีกว่าที่จะใช้กำลังต่อสู้กันอย่างเดียว แล้วผมก็ลงชื่อส่งไปตอนเย็น

ผมจำได้และก็เซ็นออกมาในวันนั้น ก็ออกมาเป็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523

 

ในคำสั่งอันนั้นมันจะต้องมีวิธีการอีกที่ส่วนราชการทั้งหมดจะทำอย่างไร ป๋าเปรมก็สั่งมาว่าให้ลองไปคิดดูว่าจะมีอะไรมารองรับคำสั่ง 66/23 หรือเปล่า จึงมีการเรียกประชุมที่ปรึกษาทางฝ่ายทหาร ทำกันอยู่เกือบครึ่งปี เพราะต้องระดมความเห็นทั้งหมดเลย จากคณะทำงานมาสู่คณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการประสานงานกระทรวง ทบวง กรม แล้วออกมาในรูปคำสั่ง 65/2525 เพื่อเสริมกับคำสั่ง 66/23

ถ้าเอา 66/23 และ 65/25 มาเปรียบเทียบจะเห็นได้ว่า ถ้าเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกมาเสริมกันพอดี

กว่าจะออกมาเป็นคำสั่ง 66/23 ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องเวลา แต่อุปสรรคสำคัญคือ แนวความคิดที่ยังมีความแตกต่างกันอยู่ เราเคยชินกับมาตรการทางทหารปราบปรามมานาน การจะเปลี่ยนมาใช้แนวทางการเมืองนำทหารก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีคนที่ออกมาขวางกันเยอะ

แต่เพราะ พล.อ.เปรมเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก มีอำนาจทั้งในฝ่ายบริหารและกองทัพ ทำให้การผลักดันเรื่องนี้ค่อนข้างจะราบรื่น

เมื่อคณะทำงานร่างหลักการเสร็จแล้ว จากนั้น เพื่อความรอบคอบ พล.อ.เปรมได้ส่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาอีกที

เสร็จแล้วสภาความมั่นคงแห่งชาติส่งกลับมาที่ พล.อ.เปรมตามที่คุณประสงค์ สุ่นศิริ ให้สัมภาษณ์ไว้

และ พล.อ.เปรมก็ได้ลงนามในคำสั่ง 66/23 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2523

 

ผมอยากสะกิดความสนใจของท่านผู้อ่านดังนี้ว่า พล.อ.เปรมได้รับการโหวตจากสมาชิกรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 จากนั้นวันที่ 23 พฤษภาคมปีเดียวกันก็ประกาศใช้คำสั่ง 66/23

คือ ใช้เวลาแค่ 50 วันนับจากวันที่ พล.อ.เปรมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี คำสั่ง 66/23 ก็ประกาศใช้ได้แล้ว แสดงว่าเรื่องนี้ได้มีการศึกษาไว้แล้วใช่หรือไม่

ครับ ความจริงเป็นเช่นนั้น แต่ที่ไม่ได้ผลักดันในช่วงก่อนหน้านั้นเพราะเสถียรภาพรัฐบาลไม่แข็งแรง ความขัดแย้งของทั้งสองแนวทางสูงมาก นักต่อสู้คอมมิวนิสต์สายพิราบมักจะถูกโจมตีกล่าวหาของอีกฝ่ายอย่างรุนแรง

เช่น บ้างก็ถูกโจมตีว่าเป็นพวกยอมจำนน ที่หนักข้อกว่านั้นคือ ยัดเยียดให้เป็นคอมมิวนิสต์ก็มี ทำให้ข้าราชการดีๆ ที่เข้าใจทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น พล.ต.ต.อารี กะรีบุตร พ.อ.หาญ พงศ์สิฏานนท์ เป็นต้น

จึงไม่ค่อยมีใครอยากจะเอาตัวเองมาเสี่ยง แต่เมื่อ พล.อ.เปรมเป็นผู้นำสาย “พิราบ” คือแนวทางการเมืองนำทหาร ทำให้นักต่อสู้คอมมิวนิสต์สายนี้มีกำลังใจและความมั่นใจมากขึ้น ต้องการช่วยงานท่านมากขึ้น

และที่สุดคำสั่ง 66/23 ก็เกิดขึ้นได้จริงในยุคที่มีนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกเป็นคนเดียวกัน คือ พล.อ.เปรม

 

ผมอยากจะบอกอีกว่า การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรมนั้นมีความเป็นเอกภาพค่อนข้างมาก ทั้งในระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ โดยในแต่ละปีจะมีการประชุมสรุปสถานการณ์ปีละ 2 ครั้ง นอกจากมีการวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วยังได้มีการสรุปความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ที่ผ่านมาด้วย

ในส่วนของเหล่าทัพซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ ก็ได้มีการหล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมตำรวจและฝ่ายปกครองได้รวมเป็นองค์กรเดียวกัน คือ “กองทัพแห่งชาติ” ขับเคลื่อนไปทิศทางเดียวกัน ไม่แตกแถวหรือต่างคนต่างทำ

ที่สุดกองทัพแห่งชาติได้ประกาศชัยชนะต่อ พคท.เมื่อปลายปี 2525

เมื่อหลักการถูกต้อง มีความเป็นเอกภาพ ชัยชนะก็ตามมา