วิวิด / เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา: สื่อกลางหรือ Social Bullying  

“สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น”

เป็นคำกล่าวของ อ.สังเวียน อินทรวิชัย อดีตคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แอดมินเพจ “เหตุเกิด ณ​ ตึกตู้ปลา” (ต่อไปนี้จะเรียกสั้นๆ ว่าเพจตู้ปลา) ยกขึ้นมาเป็นสโลแกนประจำเพจเพื่อสร้างความชอบธรรมในการตรวจสอบการทำงานของอดีตคณบดีและทีมงานในกระบวนการปรับปรุงอาคารเรียนคณะ ณ ท่าพระจันทร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และแม้ว่าร้องเรียนกรณีการปรับปรุงอาคารเรียนจะได้รับการหักล้างและคำตัดสินและการแถลงการณ์ว่ากระบวนการดังกล่าวได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการ

แต่เพจตู้ปลาก็ยังคงเดินหน้านำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในตึกตู้ปลาอย่างต่อเนื่อง

 

ในสังคมที่ขาดแคลนการตั้งคำถามต่อแหล่งที่มาของความรู้อย่างประเทศไทย การปรากฏตัวของเพจตู้ปลาจึงเป็นเสมือนกับการปรากฏตัวของนักบุญผู้มาช่วยชี้ทางสว่างให้สาวกได้เห็นลู่ทางการดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้าโดยไม่มีใครตั้งคำถามใดใดกับที่มาและคำสอนของนักบุญคนนี้ ยิ่งมีการบอกใบ้ว่าแอดมินตึกตู้ปลา เป็นถึงด็อกเตอร์ในคณะดัง จึงเป็นโอกาสให้เพจตู้ปลาสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสิ่งที่ตนเองนำเสนอว่าเป็น “ความจริงเพียงหนึ่งเดียว”​ ที่สังคมควรรับฟัง มากกว่าที่จะทำให้สังคมได้ “คิด”​ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

ประเด็นร้อนที่ตึกตู้ปลานำเสนออย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา คือ ประเด็นดร.หนุ่ม/ล่อลวง/เพื่อมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักศึกษาสาว/หลายคน และปั่นกระแสต่อเนื่องว่าผู้ถูกกล่าวหาได้พาพ่อแม่ไปข่มขู่ผู้เสียหายถึงบ้าน

กระแสภายในสังคมเองมีทั้งฝ่ายที่เห็นว่าการลักลอบมีเพศสัมพันธ์กับนักศึกษาเป็นเรื่องผิด ในขณะที่บางฝ่ายก็เห็นว่าควรพิจารณาบริบทของเหตุการณ์นี้ เนื่องจากความรักระหว่างอาจารย์นักศึกษาหลายคู่ก็เป็นความรักที่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยไปจนถึงแต่งงาน มีหลายคู่ที่เลิกรากันหลังจากนั้นแต่ก็ไม่มีใครออกมาเรียกร้องให้ลงโทษอีกฝ่ายย้อนหลัง

หากเราพิจารณาตามข้อความที่เพจได้กล่าวหา คำว่า “ล่อลวง”​ ราชบัณฑิตยสถานได้บัญญัติไว้ว่า “ใช้อุบายทุจริตให้หลงเชื่อในสิ่งที่เป็นเท็จ”​ ในทางกลับกันคำบอกเล่าของนักศึกษาที่ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่ามีการพาไปต่างประเทศ พาไปพบพ่อแม่ ผู้ปกครอง คบกันนานหลายปีจนเชื่อว่าจะจริงจัง แน่นอนว่าการมีสัมพันธ์ทางเพศกับนักศึกษาเป็นข้อห้ามของมหาวิทยาลัย

แต่การตั้งข้อหา “ล่อลวง” อาจจะไม่ตรงประเด็นที่เพจตู้ปลาต้องการจะสื่อนัก

เมื่อมีผู้ตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงเพิ่งมาร้องเรียนหลังจากเหตุเกิดมาหลายปีแล้ว ตึกตู้ปลาก็ได้โต้ว่าเป็นเพราะนักศึกษามีความเกรงกลัวในอำนาจของฝ่ายอาจารย์ จึงไม่ออกมาร้องเรียนในขณะเป็นนักศึกษา แต่เมื่อเราไล่ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะพบว่าอาจารย์และนักศึกษาคู่นี้คบกันเมื่อนักศึกษาอายุ 20 และเลิกรากันเมื่ออายุย่าง 26 ซึ่งถือว่าจบการศึกษามาหลายปีแล้ว ดังนั้นหากนักศึกษาเกรงกลัวอำนาจอาจารย์จริงๆ เมื่อจบการศึกษาช่วงอายุ 22 ก็ควรจะมาร้องเรียนทันที คำร้องเรียนนั้นจึงจะศักดิ์สิทธิ์กว่าที่จะมาร้องเรียนหลังจากเวลาผ่านไปหลายปีแล้ว

นับตั้งแต่วันแรกที่มีการกล่าวหา เรายังไม่เห็นหลักฐานของนักศึกษา “หลายคน” ดังที่เพจได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวและผู้ที่ติดตามจำนวนมากว่าสามารถจะใช้เพื่อเอาผิดอาจารย์ได้ เราเห็นเพียงการคำพูดด้วยอารมณ์โกรธของอดีตนักศึกษาหญิงคู่พิพาทในคลิปสั้นๆ ซึ่งเราเองก็ไม่สามารถจะทราบได้ว่าการเอ่ยถึงชื่อต่างๆ ที่อดีตนักศึกษาหญิงคนนั้นกล่าว มาจาก “ข่าวลือที่นักศึกษาได้ยินมา” หรือ “การพบเห็นด้วยตนเอง” หรือ “การโพล่งออกมาด้วยอารมณ์โกรธ”​ แต่สิ่งที่เราทราบแน่ๆ คือ ณ ตอนนี้ เรายังไม่เห็นหลักฐานอื่นๆ ที่จะมาสนับสนุนการกล่าวหาว่าอาจารย์มีพฤติกรรม “ล่อลวงนักศึกษาหลายคน”

แน่นอนว่าหากเพจตู้ปลาสามารถนำเสนอหลักฐานจากปาก “เหยื่อ” รายอื่นได้ คำกล่าวอ้างในตอนแรกก็จะน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

นอกเหนือไปจากนี้ เพจตู้ปลายังเดินหน้าโจมตีตัวบุคคลด้วยการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกกล่าวหา ด้วยการวิจารณ์รูปลักษณ์ รวมทั้งด่าพ่อล่อแม่เพื่อนฝูงผู้ไม่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมเช่นนี้หากเกิดขึ้นในสังคมที่ได้รับการพัฒนาทางด้านความคิด สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว

ตัวผู้โจมตีนั่นเองที่จะถูกมองว่าไม่สามารถจะหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตัวเอง จนต้องเบี่ยงประเด็นไปโจมตีในเรื่องผิวเผินอย่างหน้าตา ทรงผม การแต่งกาย หรือ บุคลิกลักษณะที่เป็นความแตกต่างทางกายภาพ เพื่อยกตัวเองให้เหนือกว่าและดูมีความชอบธรรมที่จะตัดสินผู้อื่นได้

ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ลองอ่านข้อความที่แอดมินได้พิมพ์ตอบโต้กับลูกเพจท่านหนึ่งในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 ที่ข้าพเจ้าจะยกมาให้ท่านได้อ่านข้างล่างนี้ ลองวิเคราะห์อย่างแยกส่วน แล้วลองอ่านข้อสรุปของข้าพเจ้าดูสักครั้ง

 

คอมเม้นท์เหตุการณ์ที่แอดมินกล่าวว่าอาจารย์หนุ่มพาพ่อแม่วัยชราไป “ข่มขู่” นักศึกษาสาวถึงบ้าน

ลูกเพจ: “Like parent, like son… [คื]อ แบบเลี้ยงลูกให้เป็นลูกที่ไม่มีวุฒิภาวะ ไร้ความสามารถแก้ไขรับผิดชอบสิ่งที่ตนเองกระทำไป ก็เลี้ยงดูกันมาแบบนี้ ก็เป็นเช่นนี้”

คอมเม้นท์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง: …xxx

 

เพจตู้ปลา :“[สิ่]งที่ขาดไปคือสำนึกค่ะ ใช้วิธีโกหกเพิ่ม เพื่อกลบเกลื่อนเรื่องโกหกก่อนหน้านั้น แต่จริงๆ คนรอบตัวเขาทำสิ่งเดียวกัน เขาเลือกคบคนแบบเดียวกัน นอกจากพ่อแม่แล้ว ก็คงมีการ “คบคนพาล พาลพา ไปหาผิด” และตัวเองคงมีธาตุเช่นนั้นอยู่แล้วในตัวค่ะ เพราะพฤติกรรมอื่นๆ นอกจากเคสนี้ ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน

ทั้งเรื่องกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ที่มีวิธีการที่ต่ำทรามไม่แพ้กัน และเลวร้ายมากในการได้เด็กผู้หญิงเหล่านั้น ที่เป็นลูกศิษย์ตัวเอง ใช้เหล้า และโอกาสในการลวนลาม ล่วงเกินทางวาจา ล่วงเกินทางกาย และเรื่องอื่นๆ ในการทำงานที่พร้อมทำผิด พร้อมไม่สุจริต แต่สร้างภาพดีปลอมๆ กลบไว้ ถ้าดูเชิงจิตวิทยา อาจเป็นปมด้อยในวัยเด็กที่เป็น Mr Nobody จึงพยายามสร้างปมเขื่องเป็น Mr Somebody

ดูแล้วมีทัศนคติในทางเพศแบบ เหยียดเพศ แต่เป็นการเหยียดจากความเกลียด และมีปมไม่ได้รับความสนใจจากเพศตรงข้ามในวัยเด็ก อาจเป็นพวก looser ในวัยรุ่น เด็กเรียน เด็กเนิร์ดที่สาวๆ ไม่สนใจ มีพฤติกรรมหลงผิด และหลอกคนอื่น หลอกตัวเองแบบไม่รู้ตัว จึงแสวงหาเงินทอง ชื่อเสียง อำนาจ พอได้มาแล้ว ก็พยายามอย่างเต็มที่ ที่จะสร้างภาพตัวตนใหม่ ตอนนี้กำลังชดเชยปมด้อยในอดีต ด้วยการพยายามกลบฝังสิ่งเหล่านั้น และสร้างภาพจำใหม่ของตัวเอง คนรอบๆ ตัวเขาเป็นทุกคน

[พ่]อแม่ …ดูยาจก ขัดกับภาพลักษณ์ที่พยายามสร้างเสมือนมาจากครอบครัวที่ดี มีการเลี้ยงดูอบรม มีชาติมีตระกูลค่ะ เขาอาจไม่ได้เสียใจที่มาทำแบบนี้ และไม่ได้รู้สึกเสียใจกับผู้หญิง คนอื่น หรือพ่อแม่ตัวเองเลย แต่เขากำลังเสียใจกับการทำลายภาพจำที่เขาสร้างไว้ ภาพนี้ย้ำให้เขาเห็น “ความจริง” และรากเหง้าที่เขาไม่อยากจำ” (แอดมินเพจตู้ปลา, 5 พฤศจิกายน 2562)

ท่านลองอ่านข้อความที่ข้าพเจ้าได้ทำตัวอักษรหนาไว้ แล้วลองทบทวนอีกครั้งว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือเรื่องปรุงแต่ง อะไรคืออารมณ์ และอะไรคือเป้าหมายของข้อความเหล่านั้น

ข้อความนี้เป็นเพียงหนึ่งในข้อความจำนวนมากที่เพจตู้ปลาได้ “วิเคราะห์” เหตุการณ์และตัวบุคคล ตัวข้าพเจ้าเองซึ่งทำงานวิจัยเชิงคุณภาพในด้านที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์พฤติกรรมและการตัดสินใจของปัจเจกที่ส่งผลไปสู่พฤติกรรมทางสังคม จึงได้ลองใช้ทฤษฎีของความรู้ (Epistemology) เพื่อตั้งคำถามว่า “ความรู้” (ที่เราได้รับจากเพจ) ตรงกับความจริงหรือไม่ โดยข้าพเจ้าขอยกตัวอย่างเพียงบางตอน เพื่อเว้นที่ให้ผู้อ่านที่ลองใช้หลักกาลามสูตรของท่านพิสูจน์ว่าสิ่งที่ข้าพเจ้าเขียนนี้จริงหรือไม่

เริ่มจากจุดแรกท่านผู้อ่านที่ดูคลิปเช่นเดียวกับข้าพเจ้า คงได้เห็นว่าบุพการีวัยชราทั้งสองของดร.หนุ่ม ไม่ได้มีพฤติกรรม “ข่มขู่” อย่างที่อดีตนักศึกษาและเพจตู้ปลากล่าวอ้าง วลีที่เราเห็นออกจากปากของพ่อ(หรือแม่)ก็คือขอให้คุยกับ ดร.หนุ่มดีดี แต่นักศึกษาหญิงไม่ได้ใส่ใจ และมุ่งมั่นจะถ่ายคลิปเพื่อใช้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมในการเอาผิดดร.หนุ่มคนนั้น ในขณะที่เพจตู้ปลาอ้างว่าคลิปนั้นเป็นหลักฐานสำคัญที่จะเอาผิดดร.หนุ่มได้ เรายังไม่เห็นเนื้อหาสำคัญใดใด ที่นอกเหนือจากอารมณ์โกรธของผู้ร้อง และความพยายามเจรจาของผู้ถูกร้องเท่านั้น

บทสนทนาระหว่างแอดมินและลูกเพจที่ข้าพเจ้ายกมาข้างต้น ยังแสดงให้เห็นว่า แอดมินพยายามจะยกตัวเองให้เหนือเหตุการณ์ และกดผู้ถูกกล่าวหาให้ต่ำลงด้วยคำเช่น “ทั้งเรื่องทำกับเด็กผู้หญิงคนอื่นๆ ที่มีวิธีต่ำทรามไม่แพ้กัน” อย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ข้างต้น ว่าเรายังไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับ “คนอื่นๆ” นอกจากคำบรรยาย “สเต็ปนรก”​ ที่บอกเล่าโดยเพจตู้ปลาเท่านั้น ข้อความนี้จึงไม่สามารถจะบอกอะไรเราได้มากกว่าการที่แอดมินพยายามจะเน้นย้ำว่าตนเองนั้นได้เล่าความเป็นจริงให้ผู้อ่าน

หรือข้อความที่ว่า “ถ้าดูเชิงจิตวิทยา อาจเป็นปมด้อยในวัยเด็กที่เป็น Mr Nobody จึงพยายามสร้างปมเขื่องเป็น Mr Somebody… [แ]ละมีปมไม่ได้รับความสนใจจากเพศตรงข้ามในวัยเด็ก อาจเป็นพวก looser ในวัยรุ่น” ยิ่งน่าสนใจว่า ตัวแอดมินเบื้องหลังเพจตู้ปลาที่รู้จักกันในระดับเพื่อนร่วมงาน สามารถอธิบายบริบท พฤติกรรม และการรับรู้ในช่วงหลายสิบปีก่อนได้อย่างไร หรือว่าคำบอกเล่านี้เป็นเพียงสิ่งปรุงแต่งที่ทำให้การสนทนาในเพจมีอรรถรสมากยิ่งขึ้น

เมื่อมีคนออกมาทักท้วงและเสนอความคิดเห็นที่แตกต่าง เช่นในบทความเสนอความคิดเห็นของ “เก็ดถะหวา” ในประชาไท เพจตู้ปลาและ top fan จำนวนหนึ่ง ก็ได้ออกมาโต้แย้งด้วยการประชดประชันแทนที่จะให้ข้อมูลดังที่ “เก็ดถะหวา” ได้วิจารณ์และทักท้วงว่ายังขาดไป แต่กลับเบี่ยงประเด็นและทำการดิสเครดิตว่าผู้เขียนไม่ได้ทำการหาข้อมูลอย่างถ้วนถี่ (แต่ลืมมองอีกด้านว่า เพราะผู้เขียนทำการหาข้อมูลอย่างถ้วนถี่แล้ว จึงสามารถระบุหลักฐานที่ขาดหายไปจากคำกล่าวอ้างของเพจตู้ปลาได้) แล้วยังพยายามอ้างถึง “ผู้สื่อข่าว”​ ที่พิมพ์คอมเม้นท์สนับสนุนการตั้งศาลเตี้ยของเพจนี้อีก

แม้ว่าภายหลังเพจตู้ปลาจะออกมาแก้ตัวว่า  “[ป]ระเด็นมันคือ ถูกต้องหรือไม่ และมีเจตนาอะไร เพจนี้ ยังคงหยาบคายเป็นปกติ …ก็เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน ไม่ได้ไปนำเสนอผลงานวิชาการอะไร ไม่ได้นำเสนอลูกค้า ไม่ใช่เพจวิชาการ หรือเพจธรรมะ แต่เป็นเพจรณรงค์ และภาษาที่คุยก็แบบเพื่อนคุยกัน บางเรื่องจริงจัง ก็ให้แต่ข้อมูล บางเรื่องอยากเม้าท์ (เพจตู้ปลา, 8 พฤศจิกายน 2562)

แต่ทางผู้บริหารเพจคงจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์นี้มากจนกระทั่งลืมพันธกิจดั้งเดิมของเพจ นั่นก็คือการนำเสนอ “สิ่งที่ถูกต้อง” แม้ว่าเพจนี้อ้างว่าจะไม่นำการเสนองานวิชาการแต่เป็นการรณรงค์ แอดมินก็ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการนำเสนอข้อเท็จจริง มากกว่าการมุ่งทำลายล้างตัวบุคคลหรือองค์กรอย่างที่กระทำอยู่

แอดมินเพจตู้ปลาที่น่าจะคุ้นเคยกับวิชาบริหารธุรกิจและการตลาดเป็นอย่างดี ก็คงต้องทราบว่า ในบรรดาส่วนประสมทางการตลาดทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ (Product) คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าแพ็คเกจหรือโปรโมชั่นจะดีอย่างไร หากผลิตภัณฑ์หลักไม่ดีแล้วธุรกิจของคุณก็ยากที่จะเดินหน้าต่อไปได้ในระยะยาว  การทำเพจก็เช่นกัน เนื้อหา (content) ย่อมสำคัญกว่าวาจาเผ็ดร้อนที่แต่งเติมเรื่องราวให้ดูมีสีสัน มีดราม่าน่าติดตาม  แต่หากผู้อ่านคนพบว่าเนื้อหาที่แท้จริงมีเพียงน้อยนิด เพจตู้ปลาก็คงจะมีราคาไม่ต่างจากเพจ “ใต้เตียงดารา”​ ในวงการวิชาการเป็นแน่

เมื่อเพจตู้ปลาหลงลืมที่มาและหน้าที่ของตัวเองเสียแล้ว พวกเราเหล่าคนอ่านก็ต้องทบทวน และเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่เพจนี้นำเสนออีกครั้งว่า “ความถูกต้อง”​ ที่เพจต้องการนำเสนอ เป็นความถูกต้องตามกรอบของสังคม หรือเป็นเพียงความถูกต้องในนิยามของแอดมินกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

 

ท่านผู้อ่านที่อ่านบทความนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ จะสามารถบอกได้ว่าข้าพเจ้าไม่ได้ออกมาแก้ต่างให้ ดร.หนุ่มผู้นั้นแต่อย่างใด วัตถุประสงค์หลักของข้าพเจ้าคือต้องการสร้างการตระหนักถึงการเสพข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ที่เราไม่สามารถเห็นหน้าเห็นตัวผู้ให้ข้อมูล

ซึ่งอาจจะใช้เราเป็นเครื่องมือในการทำร้ายคนๆ หนึ่งอย่างไร้เหตุผลอย่างที่เพจตู้ปลาได้กระทำกับดร.หนุ่มและอีกหลายคนไปแล้ว

ท้ายที่สุดนี้ไม่ว่าสิ่งที่เพจตู้ปลารายงานจะเต็มไปด้วยข้อเท็จจริงมากน้อยเพียงใด หากแต่การกระทำของแอดมินและทีมงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเน้นการทำลายตัวบุคคลมากกว่าการตั้งคำถามกับ “เหตุการณ์” ถือเป็นแบบอย่างที่เลวร้ายและเป็นอันตรายของสังคมหรือองค์กรที่เขาเหล่านั้นสังกัดอยู่